แม้ปมฉาวกระทบจริยธรรมนักการเมือง สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย จะไม่เกิดขึ้นกับ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมโดยตรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมกระทบต่อภาพลักษณ์และเสถียรภาพของรัฐบาล
เริ่มตั้งแต่บริวารสายตรงอย่าง "แรมโบ้” เสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และ นางจุรีพร สินธุไพร ข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พากันลงเหว
เมื่อเกิดข่าวพัวพันคลิปเสียงเรียกเงิน 15 ล้าน แลกโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาล และฝ่ายหญิงยังมาเจอดาบสอง รับรองเท้ากุชชี่และรองเท้าหลุยส์ วิตตอง มูลค่ารวมกว่า 6 หมื่นบาท กลายเป็นปัญหา เป็นเจ้าหน้าที่รัฐรับผลประโยชน์หรือสิ่งตอบแทนที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท ส่อขัดประกาศ ป.ป.ช. เพิ่มความผิดอีกกระทง
"จึงทำให้เวลานี้ บิ๊กตู่จึงเหลือเพียงตัวเลือกเดียว อาจต้องจำยอมร่วมหัวจมท้ายกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ในสภาวะที่การแย่งชิงอำนาจ และความสัมพันธ์ของพี่น้อง 3 ป. บอบบางลงทุกวัน"
ส่วนของ "แรมโบ้" แม้ได้ชิงลาออกจากทุกตำแหน่งทางการเมืองเพื่อปกป้อง "บิ๊กตู่" แต่ปัญหาไม่ได้หยุดเท่านั้น ในทางการเมืองยังกระทบไปถึงแผนดันพรรคสำรอง "รวมไทยสร้างชาติ" ที่ "นายเสกสกล" เป็นโต้โผต้องสะดุดหยุดลง หรือมีแนวโน้มอาจต้องล้มเลิกไปด้วยหรือไม่
เพราะบรรดาระดับบิ๊กการเมืองหลายคนพากันแสลง ตามกระแสข่าวที่มีชื่อนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค พปชร. ที่ลาออกจากพรรคต้นสังกัดเดิมจะไปนั่งหน้าหน้าพรรค ยังไม่กล้าเข้าไปขับเคลื่อนพรรค
ซึ่งนายพีระพันธุ์กล่าวสั้นๆ ถึงเส้นทางการเมืองในอนาคตว่า "ตอนนี้ยังไม่มี" ส่วนกระแสข่าวที่จะไปเป็นหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ "ไม่มีตอนนี้ ผมยังไม่ได้ตัดสินใจอะไร"
จึงทำให้เวลานี้ "บิ๊กตู่" เหลือเพียงตัวเลือกเดียว อาจต้องจำยอม "ร่วมหัวจมท้าย" กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือไม่ ในสภาวะที่การแย่งชิงอำนาจ และความสัมพันธ์ของพี่น้อง 3 ป. บอบบางลงทุกวัน
รวมทั้งความหวาดระแวงว่า พปชร.ในมือของ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค จะเสนอชื่อ "บิ๊กตู่" เพียงชื่อเดียว เป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือไม่เมื่อถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า
ท่ามกลางความพยายามพร้อมดัน "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร ขึ้นเป็นนายกฯ แทนที่ทุกสถานการณ์ หลังก่อนหน้านี้ลูกพรรคก็ติดป้ายข้อความและมีภาพ พล.อ.ประวิตร อวยพรเทศกาลสงกรานต์ในหลายพื้นที่
ในกรณีสมมุติว่า หาก "บิ๊กตู่" อาจประสบอุบัติเหตุทางการเมือง อาทิ ไม่รอดการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือสภาไม่ผ่านกฎหมายสำคัญของรัฐบาล หลังเปิดสภาในวันที่ 22 พ.ค.ที่กำลังจะมาถึงนี้ หรือถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าไม่สามารถครองตำแหน่งนายกฯ ได้เกิน 8 ปี ที่จะครบในเดือน ส.ค.นี้
รวมทั้งกระแสข่าวบั่นทอนจิตใจ "น้องเล็ก" หลัง "พี่ใหญ่" มีดีลลับกับคนแดนไกลเพื่อเปลี่ยนขั้วรัฐบาล โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย ลูกน้องคนสนิทของ "หัวหน้าพรรค พปชร." และเป็นปรปักษ์กับ "นายกฯ" เป็นผู้เดินเกม ซึ่งแม้ล่าสุด "บิ๊กป้อม" จะออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริงก็ตาม ซึ่งกระแสข่าวเหล่านี้ อาจจะส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์อาจเบื่อ และพอแล้วกับอำนาจการเมือง หลังครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2557
จะหันไปพึ่งบริการพรรคร่วมรัฐบาล "บิ๊กตู่" ก็ไม่สามารถกระทำได้เต็มที่ เพราะแต่ละพรรคก็มีสัญญาใจแค่ประคองรัฐบาลให้อยู่ครบ 4 ปี อีกด้านหนึ่งก็พร้อมจะหันมาเป็นคู่แข่งเมื่อถึงเวลาเลือกตั้ง
ยิ่งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) สถานการณ์อาจหนักกว่าใคร หลังเจอ ปริญญ์เอฟเฟกต์ ยังไม่แน่ว่า คณะกรรมการบริหารพรรคที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคปชป. จะอยู่รอดไปถึงการเลือกตั้งสนามใหญ่ในอีก 11 เดือนข้างหน้าหรือไม่
นอกจาก "นายจุรินทร์" และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดนี้ ยังต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดัน ที่เชื่อว่าจะตามมาอีกหลายระลอก
โดยเฉพาะ หัวหน้าพรรค ปชป. ถือเป็นส่วนสำคัญที่นำพานายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ขึ้นมาเป็นรองหัวหน้าพรรค โดยไม่สกรีนและตรวจสอบประวัติอย่างรอบคอบ และยังยกเว้นข้อบังคับ ข้ามหัวบุคคลอื่นๆ ที่มีความอาวุโส กระทั่งภายหลังทำให้เกิดความเสียหายแก่พรรค
ล่าสุด นายวิทยา แก้วภราดัย อดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป.และอดีต ส.ส.นครศรีธรรมราชหลายสมัย ได้ลาออกจากสมาชิกพรรค เพราะต้องการให้กรรมการบริหารพรรคแสดงความรับผิดชอบ และแสดงสปิริตกับเรื่องที่เกิดขึ้นให้มากกว่านี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามต่อไป จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ ในค่ายการเมืองเก่าแก่แห่งนี้ที่ถูกยกเป็น "สถาบัน"
กลับมาที่ "พล.อ.ประยุทธ์" หากสุดท้ายต้องเลือก พปชร. ต้องยอมรับว่า ภาพลักษณ์อาจไม่
"ป๊อปปูลาร์" เหมือนก่อน เพราะตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีแต่ข่าวความขัดแย้งและการแย่งชิงตำแหน่ง ประกอบกับนายกฯ เองก็ไม่ชัดเจนเปิดหน้า ช่วยเหลือ พปชร.เท่าที่ควร และที่สำคัญวางตัวห่างไกลจาก ส.ส. ถือว่ามีส่วนทำให้ พปชร.เตี้ยลงมาอยู่จุดนี้
อีกทั้งในช่วงขาลงยังถูกอดีตคนเคยรักทยอยตีจาก และย้อนกลับมาท้าชนเป็นคู่แข่ง ตัดแต้มกันเอง รวมกับพรรคการเมืองอื่นๆ ในฝ่ายอนุรักษนิยมอีกด้วย
อย่างเช่นล่าสุดเมื่อวันที่ 20 เม.ย. พรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) ลูกน้องเก่าใน ครม. อย่างสองกุมาร นำโดยนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นเลขาธิการพรรคและอดีตผู้ก่อตั้งพรรค พปชร. พร้อมด้วยอดีตนักการเมืองจากพรรค พปชร. พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศความพร้อมเลือกตั้งแล้ว
พร้อมชู "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" อดีตรองนายกฯ ขึ้นเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ตีปี๊บจุดขายแก้ปัญหาเศรษฐกิจ กระทุ้งจุดอ่อนรัฐบาลในขณะนี้
โดยงานดังกล่าว มีตัวแทนพรรคการเมืองมาร่วมแสดงความยินดีกันอย่างคับคั่ง อาทิ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ในฐานะรองหัวพรรคประชาธิปัตย์, นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา
นายเทวัญ ลิปตพัลลภ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา,นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี, นายอัศนี เชิดชัย และนางลินดา เชิดชัย ตัวแทนพรรคเพื่อชาติ และไฮไลต์สำคัญคือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ในฐานะเลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย มางานนี้ด้วย
ขณะที่ด้านบนเวที สอท. ได้ส่ง "นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ" อดีตเลขาธิการนายกฯ ยุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เพิ่งได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการบริหารพรรค ออกมาท้าทายอำนาจรัฐบาลพร้อมอัด "บิ๊กตู่" ว่า สาเหตุที่กลับมาเล่นการเมืองเพราะรัฐบาลไม่สามารถจัดการระบบสาธารณสุขไทยทำให้คนติดโควิด-19 ตายวันละ 100 คน รัฐบาลบริหารเศรษฐกิจแบบลักปิดลักเปิด ไม่มีแผนสำหรับวันนี้และอนาคตอยู่ไปวันๆ และการบริหารจัดการล้มเหลวของรัฐบาล
"บิ๊กตู่จึงไม่สามารถที่จะขออยู่ต่อไปเกิน 8 ปีได้ ผมเชื่อว่าถ้านายกฯ ประเทศไทยไม่ชื่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประเทศนี้ไปไม่รอด" นายสุรนันทน์กล่าว
ร้อนไปถึงพรรค พปชร. ที่เสนอชื่อ "พล.อ.ประยุทธ์" เป็นแคนดิเดตนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ต้องส่งแกนนำ พปชร.สายตึกไทยคู่ฟ้า และอีกด้านหนึ่งมีส่วนสำคัญขับไล่ 4 กุมารพ้นจาก พปชร. ออกมาแถลงข่าวบลัฟกลับในวันเดียวกันทันที
โดย "เสี่ยเฮ้ง" นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการพรรค พปชร. กล่าวถึงกรณี สอท.เปิดตัวนายสมคิดเป็นแคนดิเดตนายกฯ ว่า ถือเป็นแนวคิดของแต่ละพรรคที่จะเสนอใคร เราไม่ขอก้าวล่วงความคิดของพรรค พร้อมยืนยัน "แคนดิเดตนายกฯ ของเราก็ต้องดีกว่าสิ...เราต้องดีกว่า”
สอดคล้องกับ "เสี่ยโอ๋" นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พปชร. บอกว่า พรรคใหม่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ชัดเจนและถูกต้อง ต้องมองหลายๆ ด้าน ในพรรคการเมืองมีหลายอย่าง
"เรื่องเศรษฐกิจที่นายสมคิดทำมา ผมคิดว่าประชาชนที่ติดตามมีข้อมูลรู้กันอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามในทางการเมือง พปชร.พร้อมจะทำงานกับทุกพรรค" รองหัวหน้าพรรค พปชร.กล่าว
สถานการณ์ภายในพี่น้อง 3 ป., พปชร. และบริวารเป็นพิษ กำลังบีบกระดานให้ "บิ๊กตู่" เหลือทางเลือกน้อยลง รวมทั้งอดีตคนเคยรัก กลับมาเป็นคู่แข่งและตัดแต้มกันเอง จึงถึงเวลาที่นายกฯ ต้องกล้าตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีความชัดเจน และชิงความได้เปรียบกลับคืนมา มิเช่นนั้น หากยังลอยตัว อาจเข้าทางอีกขั้วหนึ่ง ที่ประกาศว่าจะกวาดคะแนนแลนด์สไลด์ปลุกผีระบบเผด็จการรัฐสภากลับมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โค่นแชมป์เก่า! 'วาริน' คว้าชัย 'นายก อบจ.เมืองคอน' ทิ้งห่าง 'กนกพร'
ผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครศรีธรรมราช อย่างเป็นทางการ ประกาศว่า นางสาววาริน ชิณวงศ์ ผู้สมัครหมายเลข 2 จากทีมนครเข้มแข็ง
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567