ว่ากันตามสภาพอย่างที่หลายคนเห็น ถึงต่อให้ไม่เกิดปมฉาว-คดีดัง "ปริญญ์ พานิชภักดิ์ " อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์-อดีตหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัยพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ผอ.เลือกตั้ง กทม.ประชาธิปัตย์ ที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีถูกกล่าวหาก่อเหตุล่อลวงหญิงสาวผู้เสียหายหลายรายไปกระทำอนาจาร ซึ่งเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินีได้แจ้ง 2 ข้อหา ประกอบด้วย กระทำอนาจาร และข่มขืนกระทำชำเรา
ที่ล่าสุด ปริญญ์ได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ไปเมื่อวันเสาร์ที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา
โดยแม้ต่อให้ไม่เกิดกรณีคดีปริญญ์ แต่หากประเมินกระแส-สถานการณ์การเลือกตั้งสนาม กทม. ทั้งการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. จนถึงช่วงกลางเดือนเมษายน ว่ากันตามจริง คนในพรรคประชาธิปัตย์ต่างก็ประเมินออกว่า ยากมากแล้วที่ ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ของประชาธิปัตย์ จะพลิกเอาชนะการเลือกตั้งจนได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.ในช่วงเวลาที่เหลืออีกเดือนกว่าก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง 22 พ.ค.
เพราะอย่างที่บางฝ่ายยังเชื่อว่า โค้งสุดท้ายสถานการณ์อาจพลิก ดร.เอ้อาจชนะก็ได้ แบบตอนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2556 แต่หากไปดูจากบริบทและสถานการณ์แวดล้อมทางการเมือง จะพบว่าสถานการณ์ตอนนี้กับตอนปี 2556 แตกต่างกันมาก
ด้วยเพราะตอนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2556 ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากประชาธิปัตย์ เอาชนะ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากเพื่อไทย มาได้แบบหักปากกาเซียน จะพบว่าตอนปี 2556 ตัวแคนดิเดตที่ลงเลือกตั้ง ซึ่งตอนนั้นสองขั้วการเมืองส่งคนลงสมัครแค่ฝั่งละคน คือฝั่งไม่เอาเพื่อไทย-ทักษิณ ชินวัตร-เสื้อแดง ก็มีแค่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จากประชาธิปัตย์ ขณะที่ฝั่ง ทักษิณ-เพื่อไทย-เสื้อแดง ก็มีแค่ พล.ต.อ.พงศพัศ ทำให้ยังไงต่อให้คนกทม.ไม่ชอบสุขุมพันธุ์ ก็ต้องเลือกสุขุมพันธุ์อยู่ดี ไม่สามารถไปเลือกคนอื่นได้เพราะไม่มีตัวอื่นให้เลือก แต่รอบนี้ สองขั้วการเมืองส่งคนลงสมัครกันหลายคน และต่างก็ตัดคะแนนกันเองกันกระจุยกระจาย เพราะฝ่ายไม่เลือกชัชชาติ-ก้าวไกล หากไม่เลือก ดร.เอ้ ก็สามารถไปเลือกคนอื่นๆ ได้เช่น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง, สกลธี ภัททิยกุล, รสนา โตสิตระกูล เป็นต้น ทำให้ ดร.เอ้ กระแสจึงไม่แรง เพราะมีตัวเลือกคนอื่นมาร่วมแย่งซีนแย่งคะแนน
อีกทั้งผลสำรวจโพลหลายสำนักเวลานั้น ที่ พล.ต.อ.พงศพัศ นำสุขุมพันธุ์มาตลอด ยกเว้นแค่บางโพล เช่น นิด้าโพลและโพลบ้านสมเด็จ ที่ฟันธงว่าสุขุมพันธุ์จะชนะ
หากไปดูผลโพลที่สำรวจตอนนั้นจะพบว่า แม้ พล.ต.อ.พงศพัศจะนำมาตลอด แต่คะแนนที่นำก็ไม่ได้ทิ้งห่าง สุขุมพันธุ์แบบหลายช่วงตัว เหมือนรอบนี้ที่ ดร.เอ้ ตามหลังชัชชาติและ พล.ต.อ.อัศวินหลายช่วงตัว
ซึ่งตามหลักการทำโพล หากคะแนนของคู่แข่งขันรายใดห่างกันเกินระดับ 20-25 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป โอกาสพลิกยากแล้ว ยกเว้นมีปัจจัยแทรกซ้อนตอนช่วงใกล้ๆ วันลงคะแนนเสียง ที่เข้ามาพลิก-เปลี่ยนการตัดสินใจของคนที่ใช้สิทธิเลือกตั้ง
อย่างล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา 10 เม.ย.2565 ที่ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 65 รอบที่ 1”
นิด้าโพลระบุว่า บุคคลที่ประชาชนจะเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 38.84 คือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
อันดับ 2 ร้อยละ 26.58 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ
อันดับ 3 ร้อยละ 10.06 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
อันดับ 4 ร้อยละ 6.83 ระบุว่าเป็น ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
ช่องว่างที่ห่างกันมากของชัชชาติกับดร.เอ้ จากผลโพลหลายสำนัก ไม่ใช่แค่ของนิด้าโพลแบบนี้
ใครต่อใคร รวมถึงคนประชาธิปัตย์เอง ต่างก็รู้ดีว่าไม่ใช่แค่ผลโพลเท่านั้น แต่เมื่อดูกระแสตอบรับต่างๆ และจากการลงพื้นที่หาเสียง
มีหรือคนประชาธิปัตย์-ทีมงานหาเสียงผู้ว่าฯ กทม.ของประชาธิปัตย์จะไม่รู้ อ่านสถานการณ์ไม่ออก ว่าประชาธิปัตย์ลุ้นยากที่จะให้ ดร.เอ้ชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
แล้วยิ่งมาเจอกรณีคดีปริญญ์เข้ามาอีก ที่ถึงแม้ต่อให้ปริญญ์ดีดตัวเองออกมาจากประชาธิปัตย์ไปแล้ว ทิ้งหมดทุกเก้าอี้ รวมถึงสมาชิกพรรคด้วย แต่ "ภาพจำทางการเมือง-ภูมิหลังของปริญญ์" ก็คืออดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์-อดีตหัวหน้าทีมเศรษฐกิจสมัยใหม่ของ ปชป.
ของแบบนี้ หากคนประชาธิปัตย์ไม่คิดกันแบบโลกสวย ประเภทมองว่า ทุกอย่างจบไปแล้ว เป็นเรื่องส่วนตัวของปริญญ์ ไม่เกี่ยวกับประชาธิปัตย์ ถ้าคิดแบบนั้น เพราะมองว่าผลของคดีปริญญ์ จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อประชาธิปัตย์และการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ของพรรค
มันก็คือการไม่มองข้อเท็จจริงถึงกระแสความรู้สึกของคน กทม.และคนในสังคม ที่ยังไงก็ตาม คดีปริญญ์-เรื่องอื้อฉาวครั้งนี้ กระทบกับประชาธิปัตย์ไม่มากก็น้อย และแน่นอน อาจกระทบกับการหาเสียงของประชาธิปัตย์ในสนามผู้ว่าฯ กทม.และสนามเลือกตั้ง ส.ก.
ทำให้จากชั่วโมงนี้ ที่เดิมทีประชาธิปัตย์แทบจะหมดลุ้นกับสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ไปแล้ว พอยิ่งมาเจอกรณี ปริญญ์เข้ามาอีก เรียกได้ว่าประชาธิปัตย์ หืดจับ-บักโกรก
โอกาสพลิกฟื้น ทำแต้มไล่กวดชัชชาติและ พล.ต.อ.อัศวิน ถ้าโค้งสุดท้ายก่อนวันลงคะแนนเสียง หากไม่มีเหตุการณ์พลิกสถานการณ์แบบที่เป็นใหญ่ๆ จริง ก็เรียกได้ว่าหากมองตอนนี้ ดร.เอ้-ประชาธิปัตย์แทบหมดลุ้นไปแล้ว
สิ่งที่ประชาธิปัตย์น่าจะพอลุ้นได้มากกว่า น่าจะเป็นสนามเลือกตั้งส.ก. 50 เขต ชิง 50 เก้าอี้
เพราะเกณฑ์การลงคะแนนเลือก ส.ก.ของคน กทม.แต่ละเขต น่าจะมีปัจจัยเรื่อง "ความแนบแน่น-ความคุ้นเคย-ฐานเสียงของผู้สมัคร ส.ก.แต่ละเขต แต่ละพรรค แต่ละกลุ่ม" มาเป็นเกณฑ์ในการเลือกมากกว่าผู้ว่าฯ กทม.แน่นอน
จะเห็นได้ว่า ผู้ลงสมัคร ส.ก.แต่ละพรรค แต่ละกลุ่มอิสระ เช่น กลุ่มรักษ์กรุงเทพ ของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง หรือกลุ่มของสกลธี ภัททิยกุล ในบางเขต คนที่ลง ส.ก. จะเป็นคนในพื้นที่โดยตรง เป็นคนที่ประชาชนในเขตเลือกตั้ง รู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดี มีฐานเสียงเป็นทุนเดิม ที่พบว่าหลายคนก็คืออดีต ส.ก. บ้างก็เป็นอดีตสมาชิกสภาเขต กทม. หรือส.ข.ที่ขึ้นมาลงสมัคร ส.ก.รอบนี้ เพราะส.ข.โดนยุบไปแล้ว และอีกเป็นจำนวนมากที่ลงสมัครรอบนี้เป็นครั้งแรก แต่ที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ก็ทำพื้นที่มานานแล้วเพื่อเตรียมลง ส.ก.ครั้งนี้
ด้วยเหตุนี้ ทำให้กรณีของปริญญ์ อาจไม่กระทบกับประชาธิปัตย์มากนัก ในสนามเลือกตั้ง ส.ก. หรืออาจกระทบบ้าง แต่ก็ไม่มาก หากตัวผู้สมัคร ส.ก.ของประชาธิปัตย์ ฐานเสียงในพื้นที่แน่นอยู่แล้ว โดยหากจะกระทบ ประเมินว่าก็น่าจะมีผลกับเขตเลือกตั้้ง ส.ก.ในพื้นที่เขต กทม.โซนชั้นในมากกว่า ที่เป็นพื้นที่ซึ่งมีความอ่อนไหวและตื่นตัวทางการเมืองสูง ก็อาจทำให้คน กทม.ในพื้นที่เหล่านี้อาจมีการตั้งคำถามบางอย่างกับประชาธิปัตย์ก่อนลงคะแนนเสียง
ตรงจุดนี้ก็คงเป็นหน้าที่ของทีมวางแผนหาเสียงเลือกตั้ง กทม. โดยเฉพาะการวางแผนหาเสียงเลือกตั้ง ส.ก.ของประชาธิปัตย์ ต้องเช็กกระแสต่างๆ ในพื้นที่อย่างหนักตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อประเมินว่าผลของคดีปริญญ์จะส่งผลใดๆ ต่อการเลือกตั้ง ส.ก.หรือไม่
โดยต้องไม่ลืมว่า ประชาธิปัตย์ก่อนหน้านี้ถือว่าเป็นเจ้าถิ่นสนามเลือกตั้งส.ก.มาหลายสมัย อย่างการเลือกตั้งส.ก.รอบล่าสุดเมื่อสิงหาคม ปี 2553 พบว่า พรรคประชาธิปัตย์ตอนนั้น กระแสฟีเวอร์ใน กทม.มาก จนทำให้ พรรคกวาดเก้าอี้ ส.ก.ที่ชิงกัน 61 เก้าอี้ ประชาธิปัตย์ได้ ส.ก.มากถึง 45 ที่นั่ง ทิ้งห่างส่วนคู่แข่งคือเพื่อไทย ที่ได้ ส.ก.แค่ 15 คน ส่วนอีกหนึ่งคนเป็นผู้สมัครอิสระ
อย่างไรก็ตาม กับการเลือกตั้งรอบนี้ ประชาธิปัตย์ก็รู้ดีว่าสถานการณ์แตกต่างจากอดีต เพราะตอนปี 2553 การช่วงชิงเก้าอี้ ส.ก. มีแค่ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย สองพรรคแข่งขันกัน แต่เลือกตั้งส.ก.รอบนี้ ที่เก้าอี้ ส.ก.ลดลงเหลือ 50 เก้าอี้ แถมมีคู่แข่งขันเพิ่มขึ้นมาอีกเพียบ
เห็นได้จากพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองอิสระที่ส่งคนลงสมัคร ส.ก. ครบ 50 เขตรอบนี้ไม่ได้มีแค่เพื่อไทยแล้ว แต่ยังมีพลังประชารัฐ-ก้าวไกล-ไทยสร้างไทย-กลุ่มรักษ์กรุงเทพของพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง และยังมีที่ส่งแค่บางเขตไม่ได้ส่งครบหมดอีก เช่น พรรคกล้า-กลุ่มของสกลธี เป็นต้น
จนมีข่าวว่า ก่อนหน้านี้ประชาธิปัตย์ วางเป้าต้องการได้ ส.ก.แค่สัก 20 เก้าอี้จาก 50 ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะรอบนี้คู่แข่งมีเยอะ และคนที่พรรคส่งลง ส.ก. ก็เป็นพวกผู้สมัครหน้าใหม่ป้ายแดง ยังไม่เคยมีฐานเสียงในพื้นที่มาก่อน
แต่ทว่าเป้าหมายขั้นต่ำ 20 เก้าอี้ คือการวางเป้าไว้ก่อนจะเกิดกรณีคดีปริญญ์ แต่เมื่อตอนนี้มาเจอเคสคดีปริญญ์ ซึ่งแนวโน้มอาจยืดเยื้อ คงเป็นกระแสในสังคมไปอีกหลายวัน ส่วนจะกระทบกับการเลือกตั้ง ส.ก.หรือไม่ ประเมินว่าน่าจะกระทบไม่มากเหมือนกรณีเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
ประเมินจากสถานการณ์สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก. ถึงตอนนี้ช่วงกลางเดือนเมษายน โดยมีสถานการณ์คดีฉาวปริญญ์เข้ามาสอดแทรกกลางทาง ต้องบอกเลยว่า เป็นอาฟเตอร์ช็อกการเมืองของประชาธิปัตย์ ที่ตอนนี้ความรุนแรงส่งผลกระทบทั้งภายในพรรคและนอกพรรคหลายริกเตอร์เลยทีเดียว
เรียกได้ว่า ปัจจัยแรงบวกที่จะทำให้ ประชาธิปัตย์ได้แต้มในสนามเลือกตั้งกทม. ไม่มีเข้ามาสักเรื่อง
แต่ซ้ำร้าย ยังมาเจอปัจจัยลบ กระแทกซ้ำ
ประชาธิปัตย์กับสนามเลือกตั้ง กทม.
หากคดีปริญญ์ยืดเยื้อ และยิ่งมีเรื่องฉาวออกมาอีก
โดยถ้าประชาธิปัตย์ไม่สามารถพลิกเกม แก้สถานการณ์ได้ทัน เพื่อกอบกู้ชื่อเสียงและคะแนนนิยมกลับคืนมาให้ได้โดยเร็วอย่างน้อยก่อนเลือกตั้งสองสัปดาห์
ผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก. 50 เก้าอี้ วันที่ 22 พ.ค. ที่ออกมา อาจทำให้ประชาธิปัตย์ระส่ำพอๆ กับผลเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2562 ที่กทม.สูญพันธุ์ใน กทม.ก็เป็นได้ หากสถานการณ์ของประชาธิปัตย์ยังไม่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว
สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์
โค่นแชมป์เก่า! 'วาริน' คว้าชัย 'นายก อบจ.เมืองคอน' ทิ้งห่าง 'กนกพร'
ผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครศรีธรรมราช อย่างเป็นทางการ ประกาศว่า นางสาววาริน ชิณวงศ์ ผู้สมัครหมายเลข 2 จากทีมนครเข้มแข็ง
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย