การที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีครอบครองที่ สปก.4-01 ใน จ.ราชบุรี โดยไม่มีคุณสมบัติและไม่มีเอกสารสิทธิ
ถือเป็นการกระทำที่เสื่อมเสียเกียรติ และมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงข้อ 17 ที่ต้องรักษาชื่อเสียง ตำแหน่งหน้าที่ของ ส.ส. และไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์
จึงสั่งให้พ้นตำเเหน่ง ส.ส.ตั้งเเต่วันที่ 25 มี.ค.64 เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง 10 ปี เเละไม่มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง เเละดำรงตำเเหน่งทางการเมืองตลอดไป ทำให้ ‘เอ๋ ปารีณา’ ไม่สามารถเล่นการเมืองตลอดชีวิต กำลังทำให้นักการเมือง และ ส.ส.หลายคนรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ ไปตามกัน
นั่นเพราะข้อหาผิดจริยธรรมร้ายแรง ที่ ‘เอ๋ ปารีณา’ ถูกพิพากษา เป็นข้อหาที่ ‘เร็ว’ และ ‘แรง’
เพราะกระบวนการไต่สวนจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จนมาถึงศาลฎีกานั้นใช้เวลาไม่นาน
จะเห็นว่า คดีครอบครองที่ดิน สปก.ของ ‘เอ๋ ปารีณา’ ใช้เวลาเพียงไม่นาน โดย ป.ป.ช.มีมติชี้มูลเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ขณะที่ศาลฎีกาตัดสินวันที่ 7 เมษายน 2565 ใช้เวลาเพียงปีเศษเท่านั้น
ขณะที่กรณีที่ดิน ภ.ท.บ.5 ที่ ‘ปารีณา’ ถือครองในบัญชีทรัพย์สิน ได้รับความสนใจในช่วงปี 2562 และถูก ป.ป.ช.รับเรื่องแจ้งข้อกล่าวหาในเดือนกันยายน ปี 2563
นับตั้งแต่วันที่มีการร้องเรียน ป.ป.ช.ไต่สวน และศาลฎีกามีคำพิพากษา ต้องถือว่าเป็นคดีนักการเมืองที่ใช้เวลารวดเร็วมากเมื่อเทียบกับคดีนักการเมืองอื่นๆ ในอดีต
ทั้งนี้ สาเหตุที่คดีของ ‘ปารีณา’ ค่อนข้างเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความผิดฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2562 ข้อ 11 และข้อ 17 นั้น ไม่ต้องส่งให้ ‘อัยการ’ เหมือนกับคดีอาญาที่ ป.ป.ช.ชี้มูล แต่สามารถส่งให้ ‘ศาลฎีกา’ ได้เลย
โดยในมาตรา 234 ของรัฐธรรมนูญ (1) เขียนไว้ว่า “ถ้าเป็นกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย ทั้งนี้ ให้นําความในมาตรา 226 วรรคเจ็ด มาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาโดยอนุโลม”
เมื่อไม่มีขั้นตอนอัยการที่ปกติค่อนข้างจะใช้เวลานาน จะต้องมีการตรวจสอบสำนวนของ ป.ป.ช. และหากสำนวนไม่สมบูรณ์ จะต้องตั้งคณะทำงานร่วมอัยการ-ป.ป.ช.ขึ้นมาอีก มันจึงประหยัดเวลาไปได้มากและรู้ผลเร็ว
ส่วนที่ว่า ‘แรง’ เพราะแม้ความผิดจริยธรรมอันจะฟังดูเบา แต่หากดูจากคำวินิจฉัยของ ‘เอ๋ ปารีณา’ ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตลอดไป มันสร้างความขนลุกขนพองให้กับนักการเมืองเป็นอย่างมาก
เพราะข้อหานี้ค่อนข้างนามธรรมและกว้าง ใช้กลั่นแกล้งทางการเมืองได้
ดังจะเห็นที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาที่ น.ส.ปารีณาโดน ซึ่ง ‘ปิยบุตร’ ไม่น่าจะเห็นใจ ‘เอ๋ ปารีณา’ หากแต่น่าจะมองในมิตินี้มากกว่า
สำหรับปัจจุบัน มี ส.ส.ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลข้อหาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงแล้ว 4 คน ได้แก่ 1.นายฉลอง เทิดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย 2.นายภูมิศิษฏ์ คงมี ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย 3.นางนาที รัชกิจประการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และ 4.น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ กรณีเสียบบัตรแทนกัน
3 ใน 4 ยกเว้นนางนาที ถูกศาลฎีกา สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่แล้ว หากเทียบกับระยะเวลาในคดี ‘เอ๋ ปารีณา’ อีกไม่นานน่าจะรู้คำตอบ
ในมือของ ป.ป.ช.ยังมีคดีเกี่ยวกับการถือครองที่ดิน สปก./ภ.บ.ท.5 ของ ส.ส.คล้ายๆ กับของ ‘เอ๋ ปารีณา’ ที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ร้องเอาไว้อีกร่วมเป็น 19 คน
ขณะนี้ ‘เอ๋ ปารีณา’ ถูกชี้มูลและมีคำพิพากษาไปแล้ว 1 คน คำร้องของนายศรีสุวรรณในมือ ป.ป.ช.เหลือ 18 คน
แต่อย่างไรก็ดี นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช.ออกมาเปิดเผยว่า ไม่ได้มีเพียงที่นายศรีสุวรรณยื่นเอาไว้ แต่หลังจากนั้นยังมีที่คนอื่นเข้ามายื่นอีก และมีที่ ป.ป.ช.ตรวจพบจากการยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วย
รวมๆ แล้วอยู่ที่ 50-60 ราย!
มีตั้งแต่ผู้บริหารในฝ่ายนิติบัญญัติ ระดับรัฐมนตรี ผู้บริหารพรรคการเมือง อาทิ น.ส.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย
บางรายมีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนไปแล้ว อย่างในกรณี นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 แจ้งถือครองที่ดินของรัฐ (น.ส.2) โดยมิชอบ ที่มีการแต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนไปก่อนหน้านี้แล้ว และมีความคืบหน้าไปมาก
หากดูจากกรณี ‘เอ๋ ปารีณา’ และคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ที่ ป.ป.ช.จะถอดออกมาเพื่อเอามาเป็นบรรทัดฐานในกรณีต่อๆ ไป ต้องบอกว่าเสียวสันหลังกันทั้งสภา เพราะนักการเมืองแต่ละคนถือครองที่ดินกันไม่น้อย
ใครที่ได้มาไม่ถูกต้อง รู้ทั้งรู้ว่าไม่ถูกต้อง แต่ยังจะครอบครองถือไว้จนรัฐได้รับความเสียหาย ลักษณะนี้เสี่ยงซ้ำรอย ‘เอ๋ ปารีณา’ ทั้งนั้น
‘เอ๋ ปารีณา’ ไม่รอด แล้ว ส.ส.คนอื่นที่ถือครองอยู่ หรือได้มาไม่ถูกต้องเหมือนกันรอด คงตอบคำถามสังคมยาก!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'
ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1
ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง
การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี
‘ทักษิณ’ไม่กล้าเขี่ย‘ภท.-รทสช.’
เป็นความสัมพันธ์ที่แม้แต่คนภายนอกยังมองออกว่ากระท่อนกระแท่น สำหรับความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร
สวมบท'อินฟลูอาเซียน' จุดเสี่ยงใช้ประเทศเดิมพัน?
ยืนยันชัดเจนจาก นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anwar Ibrahim พร้อมรูปภาพคู่กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี