วันจันทร์ที่ 4 เมษายน คือวันสุดท้ายของการรับสมัครคนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. หลังเปิดรับสมัครมาครบ 5 วัน แต่รายชื่อระดับตัวเต็งที่มีสิทธิ์ลุ้นคงไม่มีอะไรให้เซอร์ไพรส์ เพราะตอนนี้หลังผู้สมัครแต่ละคน ทั้งคนที่ลงผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก. ได้เบอร์ก็ลงพื้นที่หาเสียงกันอย่างเข้มข้น ทำให้ดูแล้วพอไปถึงช่วงโค้งสุดท้ายเดือน พ.ค. การหาเสียงคงเร้าใจดุเดือดกว่านี้แน่
สำหรับการเลือกตั้ง กทม.ครั้งนี้ ที่จะเลือกกัน 22 พ.ค. เมื่อไปดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่คนกรุงเทพฯ รอคอยมายาวนาน หลังเลือกตั้งผู้ว่าฯ เมืองหลวงครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 หรือเมื่อเกือบ 9 ปีที่แล้ว ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ชนะเลือกตั้งได้กลับมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.รอบ 2 ด้วยคะแนนหนึ่งล้านสองแสนกว่าคะแนน โดยเอาชนะ พลตำรวจเอกพงศพัศ พงษ์เจริญ อดีตรอง ผบ.ตร. จากพรรคเพื่อไทย ไปแบบ หักหน้าสำนักโพล หลายสำนักให้หน้าแหกไปตามกัน หลังก่อนหน้านี้โพลเกือบทุกสำนักบอกว่า พล.ต.อ.พงศพัศจะชนะเลือกตั้ง ขณะที่การเลือกตั้ง ส.ก.แบบรอบใหญ่ทั้งหมดทุกเขตก็ยิ่งนานกว่านั้นอีก เพราะเลือกครั้งสุดท้ายคือ 29 สิงหาคม 2553 หรือร่วม 12 ปี ไม่นับรวมเลือกตั้งซ่อม ส.ก.
โดยผลการเลือกตั้ง ส.ก.รอบดังกล่าว ที่มีการเลือก ส.ก. 50 เขต รวม 61 เก้าอี้ เพราะบางเขตมีประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเกินหนึ่งแสนคน ทำให้มี ส.ก.ได้ 2 คน ปรากฏว่า เมื่อปี 2553 พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ก.เข้าไปตอนนั้นถึง 46 คน ขณะที่พรรคเพื่อไทยได้ 14 คน และผู้สมัครอิสระ 1 คน
ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.รอบปัจจุบันที่จะหย่อนบัตรกันวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคมนี้ เป็นการเลือกตั้งภายใต้กฎหมายที่มีการแก้ไขในยุค คสช.ที่ทำผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่แก้ไขและทำคลอดกฎหมายออกมา 2 ฉบับ ที่จะใช้ในการเลือกตั้ง กทม.ครั้งนี้คือ
1.พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ฉบับแก้ไข พ.ศ.2562 ที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 2.พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ที่แก้ไขฉบับเดิม พ.ศ.2545 ทำให้การเลือกตั้ง กทม.รอบนี้จะแตกต่างจากที่ผ่านมาอย่างน้อย 5 จุดสำคัญ ประกอบด้วย
1.เป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีการเลือกสมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานคร หรือ ส.ข.ที่คน กทม.คุ้นเคย
เพราะกฎหมายที่มีการแก้ไขได้ยุบทิ้งแท่งอำนาจ ส.ข. พร้อมกับคุมกำเนิดไว้แน่นหนา ด้วยเพราะที่ผ่านมามีการมองว่า ส.ข.ไม่มีความจำเป็น ภารกิจซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองงบประมาณ อย่างเลือกตั้ง ส.ข.ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2553 พบว่ามีการเลือก ส.ข.เข้าไปถึง 256 คน ซึ่งเป็นพรรคประชาธิปัตย์ที่กวาดเก้าอี้ ส.ข.ไปมากสุด 210 คน ตามด้วย เพื่อไทย 39 คน และผู้สมัครอิสระ 7 คน
จึงไม่แปลกที่ก่อนหน้านี้ ทางพรรคประชาธิปัตย์จะพยายามขอฟื้น ส.ข. ให้กลับมา ด้วยการเสนอร่างแก้ไขกฎหมาย เพื่อหวังให้มีการฟื้น ส.ข. โดยตอนแรกหวังให้ทันกับการเลือกตั้งใหญ่รอบนี้ด้วย แต่ปรากฏว่าแทบไม่มีกระแสตอบรับจากสังคม ทำให้เรื่องเงียบหายไป จนไม่ทันกับการเลือกตั้งรอบนี้
2.คุณสมบัติของผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.
ซึ่งเดิมให้คนสมัครต้องมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด อายุ 25 ปีขึ้นไปในวันเลือกตั้ง แต่กฎหมายปัจจุบันบัญญัติให้ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง และต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า จากเดิมไม่มีเรื่องต้องจบปริญญาตรี
3.เรื่องการมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตกรุงเทพมหานครของคนที่จะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.
พบว่ากฎหมายปี 2528 บัญญัติว่า ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในกรุงเทพมหานครเป็นเวลาติดต่อกันจนถึงวันสมัครไม่น้อยกว่า 180 วัน เป็นต้น
แต่กฎหมายปัจจุบันบัญญัติโดยให้สอดรับไปกับกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น นั่นก็คือ คนที่จะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน 1 ปีขึ้นไป ไม่ใช่ไม่น้อยกว่า 180 วัน จนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง โดยหลักดังกล่าวใช้กับการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับ
4.การกำหนดพื้นที่แบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ก.กับระบบ 1 เขต 1 เก้าอี้ ใครดีใครอยู่
โดยกฎหมายเดิม จำนวน ส.ก.แต่ละเขตคิดตามจำนวนประชากร มีเกณฑ์คือ แต่ละเขตให้มี ส.ก. 1 คน บนฐานประชากร 100,000 คน แต่หากเขตเลือกตั้งใดมีประชากรเป็นเศษเกิน 50,000 คน ให้มี ส.ก.เพิ่มอีก 1 คน ทำให้ตอนเลือกตั้ง ส.ก. ปี 2553 ที่มี 50 เขตเหมือนปัจจุบัน แต่มีการเลือก ส.ก. 61 คน เพราะหลายเขตมีประชากรเกิน 100,000 คน ส่งผลให้หลายเขตมี ส.ก. 2 คน เช่น จตุจักร บางกะปิ ดอนเมือง จอมทอง เป็นต้น
แต่กฎหมายปัจจุบันบัญญัติว่า ให้มี ส.ก.เขตละ 1 คน แต่เขตใดมีประชากรเกิน 150,000 คน ให้มี ส.ก.เพิ่มขึ้นทุก 150,000 คนต่อ ส.ก. 1 คน โดยเศษของ 150,000 คน ถ้าเกิน 75,000 คน ให้มี ส.ก.เพิ่มขึ้นอีก 1 คน หรือก็คือประชากร 150,000 คนต่อ ส.ก. 1 คนนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม หลังกรมการปกครอง และสำนักงาน กกต.มีการสำรวจจำนวนประชากรใน กทม.ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งในรอบนี้พบว่า ไม่มีเขตใดที่มีประชากรเกิน 150,000 คนแต่อย่างใด ทำให้สุดท้ายมีการแบ่งเขตเลือกตั้งออกมาเป็น 1 เขตจะเลือก ส.ก.ได้เขตละ 1 คน เท่ากับ ส.ก.ลดลงไปจากเดิม 11 คน ทำให้การแข่งขันดุเดือดขึ้นไปอีกกับการเลือกตั้งแบบ 1 เขต 1 เก้าอี้ สู้กันยิบตา
5.คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง
มีการเปลี่ยนแปลงใน 2 จุดสำคัญคือ
1.กฎหมายเดิม อายุของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง แต่ปัจจุบันใช้หลักคือ “ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี โดยให้นับถึงวันเลือกตั้ง” ที่ก็คือ 22 พฤษภาคมนี้ และ 2.ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจากเดิมแค่ไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่ปัจจุบันคืออย่างน้อย 1 ปี
ทั้งหมดคือ 5 จุดสำคัญ ที่ทำให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ในวันที่ 22 พ.ค.ที่จะถึงนี้ มีรูปแบบและกติกาต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากการเลือกตั้ง กทม.ในอดีต.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’
ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'
ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1
ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง
การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี
‘ทักษิณ’ไม่กล้าเขี่ย‘ภท.-รทสช.’
เป็นความสัมพันธ์ที่แม้แต่คนภายนอกยังมองออกว่ากระท่อนกระแท่น สำหรับความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร