อีกทางเลือก ‘พรรคปัดเศษ’
คงสถานะ ‘หัวหมา’ บนความขัดแย้ง
แม้จะยังมีควันหลง ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. เพราะสามารถหาพรรคการเมืองสังกัดใหม่ได้ภายใน 60 วันตามกฎหมาย จากกรณียุบพรรคประชาชนปฏิรูปและย้ายมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ
หลายคนเห็นว่า เป็นการทำลายระบบการเมืองไทย ย้อนกลับไปสู่สิ่งที่พรรคไทยรักไทยเคยทำ แต่นั่นเป็นเพียงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และความเห็นทางกฎหมายเท่านั้น เพราะถึงตรงนี้ย่อมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้
ขณะเดียวกัน สิ่งที่มีการคาดการณ์กันไว้ว่า หากนายไพบูลย์ไม่พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ย่อมก่อให้เกิดเป็นไพบูลย์โมเดลให้พรรคขนาดเล็ก โดยเฉพาะพรรคที่มี ส.ส.เพียงคนเดียว เลียนแบบและทำตาม
ซึ่งเป็นจริงเช่นนั้น สิ้นเสียงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่กี่ชั่วโมง พิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย ออกมาเปิดเผยว่า ได้มีมติเลิกพรรคประชาธรรมไทยไปตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคมแล้ว และเตรียมจะย้ายเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ
กลายเป็นพรรคเล็ก พรรคที่ 3 ที่เลิกพรรค และย้ายมาอยู่พรรคพลังประชารัฐ ต่อจากพรรคประชาชนปฏิรูปของนายไพบูลย์ และพรรคประชานิยมของ พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ที่เปิดตัวไปตั้งแต่กลางปีที่แล้ว
มีการจับตากันอย่างมากว่า หลังจากนี้อาจจะมีพรรคเล็กเดินตามไพบูลย์โมเดลอีก โดยเฉพาะคนที่ต้องการต่อยอดทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า เนื่องจากกติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เอื้ออย่างยิ่งต่อพรรคขนาดเล็ก
เหมือนที่นายพิเชษฐระบุเอาไว้ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงกติกาเลือกตั้งที่ไปใช้บัตร 2 ใบ ทำให้พรรคเล็กไปต่อไม่ได้ และนโยบายพรรคไม่สามารถขับเคลื่อนได้ในหลายเรื่อง จึงต้องอาศัยพรรคใหญ่ขับเคลื่อน
ปัจจุบันพรรคเล็ก ที่มี ส.ส.เพียงคนเดียว ซึ่งยังไม่ได้มีการเลิกพรรค เหลือทั้งสิ้น 10 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยใหม่, พรรคพลังธรรมใหม่, พรรคพลังชาติไทย, พรรคประชาภิวัฒน์, พรรคพลังไทยรักไทย, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, พรรคพลเมืองไทย, พรรคไทรักธรรม, พรรคไทยศรีวิไลย์ และพรรคพลังปวงชนชาวไทย
1 ใน 10 พรรคขนาดเล็กที่เหลือ มีเพียงพรรคพลังปวงชนชาวไทยของ นายนิคม บุญวิเศษ พรรคเดียวที่อยู่กับฝ่ายค้านมาตั้งแต่ต้น ขณะที่พรรคไทยศรีวิไลย์ของนาย มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เพิ่งแยกตัวออกจากรัฐบาลไปเมื่อไม่นาน
อย่างไรก็ดี ยังมีพรรคขนาดเล็กบางพรรคยืนยันที่จะไม่เดินตามไพบูลย์โมเดล อย่าง นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ และนายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม
สาเหตุที่บางพรรคเลือกที่จะไม่ยุบ ทั้งที่กฎหมายเปิดอ้า ส่วนหนึ่งเพราะยังมีความหวาดระแวงถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองไทย ตลอดจนกติกา แม้จะมีการทูลเกล้าฯ ถวายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้วก็ตาม
เหมือนที่ นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เตือนเอาไว้ ตราบใดที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขยังไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา อะไรย่อมเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เพราะการเมืองไทยยุคนี้มักมีอะไรที่เป็นปาฏิหาริย์ หรือมีสิ่งที่เหนือความคาดหมายเกิดขึ้นได้เสมอ
เพราะหากยึดตามกฎหมายที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยระบุไว้ หากมีการยุบสภาก่อนที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งจะมีผลบังคับใช้ การเลือกตั้งในครั้งต่อไปจะยังใช้กติกาเดิมคือ บัตรเลือกตั้งใบเดียว
แม้โอกาสจะเกิดเหตุการณ์แบบนั้นค่อนข้างยาก แต่รัฐบาล 3 ป. มักทำในสิ่งที่คาดไม่ถึงมาเสมอตั้งแต่ยังเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
อีกสาเหตุหนึ่งคือ พรรคเล็กหลายพรรคยังพอใจในสถานะความเป็นพรรค 1 เสียง แม้ปัจจุบันเสียงของรัฐบาลกับฝ่ายค้านจะมีช่องว่างห่างกันหลายช่วงตัวจนอยู่ในระยะปลอดภัยแล้วก็ตาม แต่พรรคเล็กยังคงมีความสำคัญ
โดยเฉพาะความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล ตลอดจนภายในพรรคพลังประชารัฐที่ยังดำรงอยู่ ทำให้ทุกๆ เสียงมีความหมาย สามารถใช้เป็นกลเกมในสภาเพื่อต่อรองบางอย่างได้
เหมือนกับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา พรรคเหล่านี้คือตัวแปรที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการสร้างความแตกต่างของคะแนนรัฐมนตรีที่ถูกซักฟอกแต่ละคน
รวมไปถึงการพิจารณากฎหมายสำคัญของสภาหลังจากนี้ ซึ่งบางฉบับหากไม่ผ่านสามารถทำให้รัฐบาลกระเด็นตกจากคานอำนาจได้ ดังนั้นในภาวะที่ความขัดแย้งภายในของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐยังมีอยู่ จึงยิ่งทำให้พรรคเล็กเหล่านี้มีราคาค่างวด
ถึงขนาดมีการค่อนแคะกันว่า หลังความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กฎหมายทุกฉบับในสภาจะเจอสารพัดกลเกม และอาจมีสิ่งที่เรียกว่า ค่าบริการ
ประกอบกับย้ายไปตอนนี้ อาจจะดูมีค่า เพราะยังเป็น ส.ส. แต่ครั้งหน้าอาจหาที่ลงยาก ต้องแก่งแย่งชิงดีกับคนที่อยู่มาก่อนอีกจำนวนมาก
สู้เป็น ‘หัวหมา’ ตอนนี้ ดีกว่าไปเป็นหางราชสีห์ ที่ยังไม่มีอะไรแน่นอน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ
นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2
ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
'ทักษิณ'พังการเมืองท้องถิ่น กระหายอำนาจ ไม่สนขัดแย้ง
“นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ต้องการฟื้นคืนชีพระบอบทักษิณโดยไม่สนใจบทเรียนในอดีต จนตัวเองและน้องสาวต้องหนีออกนอกประเทศ รวมถึงบริวารต้องติดคุกแทน
คดีป่วยทิพย์ชั้น14ในมือ‘ป.ป.ช.’ ‘รอด-ร่วง’สะเทือนการเมือง
เป็นอีกหนึ่งคดีที่ท้าทายสำหรับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังมีมติแต่งตั้ง องค์คณะไต่สวน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ ป.ป.ช.ทุกคน เพื่อตรวจสอบกรณีกล่าวหานายสหการณ์
นับถอยหลัง 2567 5 ฉากร้อนการเมืองไทย
นับถอยหลังต่อจากนี้ ก็เหลือเวลาอีกแค่ 2 สัปดาห์ ก็เข้าสู่ช่วง “นับถอยหลังอำลา 2567 ต้อนรับปีใหม่ 2568” กันแล้ว
ควักใบแดงถีบพ้นรัฐบาล ในโฟกัส"พีระพันธุ์-รทสช." ทักษิณจ้องยึด"ก.พลังงาน"
แวดวงการเมืองต่างเทน้ำหนักไปทางเดียวกัน โดยมองว่าน่าจะเป็นจริงอย่างที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ-รมว.มหาดไทยและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวกับสื่อมวลชนว่า “สัญญาณเตือน-เตรียมควักใบแดง ถีบออกจากรัฐบาล” ของทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยตัวจริง