‘ประยุทธ์’ กระชับอำนาจพรรคร่วมรัฐบาล ละเลย 'ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม’

หากนับถอยหลังรัฐบาลชุดนี้เหลือเวลา 1 ปีจะครบเทอม 4 ปีพอดี แต่ความเคลื่อนไหวของแต่ละพรรคการเมืองในช่วงนี้มีความคึกคักราวกับว่าจะมีการเลือกตั้งในเร็ววันนี้

แม้แกนนำรัฐบาล ภายใต้การนำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะการันตีว่ารัฐบาลมีเสถียรภาพ จะอยู่บริหารประเทศจนครบเทอม แต่ก็มีความเคลื่อนไหวที่สะท้อนถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองอยู่เป็นระยะๆ  

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ นัดกินข้าวเย็นกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นพรรคขนาดใหญ่และขนาดกลางแล้ว ต่อมาได้นัดกินข้าวเย็นกับพรรคขนาดเล็กในวันที่ 17 มี.ค. ที่สโมสรราชพฤกษ์ 

แต่จู่ๆ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กลับนัดพรรคเล็กมาหารือที่ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5  จังหวัดในวันที่ 14 มี.ค.

ในการหารือระหว่าง พล.อ.ประวิตร กับกลุ่มพรรคเล็ก พล.อ.ประวิตรได้ขอให้ ส.ส.พรรคเล็กนำข้าวสารไปแจกประชาชนที่เดือดร้อนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังพูดถึงสถานการณ์ทางการเมือง โดยระบุว่าขอให้รอยุบสภาในช่วงปลายปีนี้หลังการประชุมเอเปก

ทำให้เรื่องการยุบสภากลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีก โดย พล.อ.ประวิตร ยอบรับในภายหลังว่า ตนพูดเองว่าพอจบเอเปกแล้วรัฐบาลก็ว่างแล้ว ถ้าจะยุบก็ยุบได้ตอนนั้น ส่วนจะยุบหรือไม่ยุบก็ขึ้นอยู่กับนายกฯ

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า ยุบสภาเมื่อไหร่ขึ้นกับสถานการณ์ ตนเองจะตัดสินใจเอง

จะว่าไปแล้วหลังการประชุมเอเปกปลายปีนี้ รัฐบาลก็จะเหลือเวลาไม่กี่เดือนก็จะครบเทอมในเดือน มี.ค.2566 จะยุบสภาหรือไม่ยุบในเรื่องระยะเวลาแทบไม่มีความหมายอะไร

ในกรณีรัฐบาลอยู่จนครบวาระ 4 ปีตามรัฐธรรมนูญ ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน ส.ส.ต้องสังกัดพรรคไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่การยุบสภามีเวลาเลือกตั้งมากถึง 60 วัน ส่วนเวลาสังกัดพรรคเพียง 30 วันเท่านั้น จะทำให้พรรคการเมืองซีกรัฐบาลสามารถดูด ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่นเข้าสังกัดพรรคตัวเองได้สะดวกขึ้น

โดยส่วนใหญ่แล้วกรณียุบสภาจะเป็นเรื่องความขัดแย้งภายในรัฐบาลเอง หรือเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง แต่การที่รัฐบาลจะเลือกยุบสภาหรืออยู่ครบเทอมเป็นเรื่องการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองมากกว่า

สำหรับการหารือกับพรรคเล็ก บรรยากาศเป็นไปด้วยความชื่นมื่น พรรคเล็กพร้อมสนับสนุนรัฐบาลและขอรัฐบาลอย่ายุบสภา  ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางกลับ พล.อ.ประวิตรพร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลมาส่ง โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้สวมกอด พล.อ.ประวิตร ก่อนจะยกมือไหว้หัวหน้าพรรคเล็กที่มายืนส่ง พร้อมบอกว่า "มีอะไรขอให้บอกและพูดคุยกัน เชื่อใจกัน อยู่ด้วยกันมีอะไรก็บอกนายกฯ ได้เลย" จากนั้นหันมาโบกมือให้สื่อมวลชน ก่อนเดินทางกลับนายกฯ ยังได้ลดกระจกลงและกล่าวว่า "ไม่มีใครทำให้ 3 ป.แตกแยกกันได้"

จะสังเกตได้ว่าช่วงที่มีข่าวเกิดรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มักแสดงออกให้เห็นว่ารัฐบาลมีเสถียรภาพ การันตีว่า พี่น้อง 3 ป. จะไม่มีวันแตกแยกกันได้

แต่อีกแง่มุมหนึ่งเหมือนกับเป็นการแสดงอาการกลบเกลื่อนรอยร้าวเพื่อไม่ให้ใครล่วงรู้ความจริง เพราะหลังพรรคพลังประชารัฐมีมติขับกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ออกไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย พล.อ.ประวิตรก็ส่งคนใกล้ชิด พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ไปเป็นหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย โดยมี ร.อ.ธรรมนัสนั่งเลขาธิการพรรค  

ภายหลังเปิดตัวและเลือกกรรมการบริหารพรรคเศรษฐกิจไทย ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีหากมีการเชิญไปร่วมรับประทานอาหารในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ร.อ.ธรรมนัส ตอบว่า “ต้องถามหัวหน้าพรรคก่อน แต่ผมไม่ไป” ส่วนในการโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร.อ.ธรรมนัสยืนยันเหมือนเดิมว่า "ผมมีความชัดเจนว่ารัฐมนตรีคนใดที่ทำให้เกิดความเสียหายกับบ้านเมือง เราไม่โหวตให้แน่นอน ไม่มีการกั๊ก"

ในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจต้นเดือน มิ.ย.นี้ จึงน่าจับตาการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ ร.อ.ธรรมนัส อีกระลอกว่าจะขย่ม พล.อ.ประยุทธ์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่

จากปัญหาเสียงรัฐบาลปริ่มน้ำและความไม่ลงรอยในพรรคพลังประชารัฐ ส่งผลกระทบเสถียรภาพรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องกระชับอำนาจพรรคร่วมรัฐบาลไม่ให้เกิดการแตกแถว

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่รัฐบาลสาละวนอยู่กับการบริหารจัดการเสถียรภาพของตัวเอง ประเทศชาติกำลังเผชิญกับปัญหาสารพัด การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่จบ เกิดสงครามรัสเซียบุกยูเครน ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ทำให้ปัญหาด้านพลังงานสูงขึ้น ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นทันที เป็นต้นทุนการผลิตสินค้า ทำให้ราคาสินค้าหลายรายการจ่อขยับขึ้น ค่าไฟฟ้าขึ้นไปแตะ 4 บาท/หน่วย ค่าครองชีพขยับตัวสูงขึ้น ประชาชนได้รับความลำบากทุกข์เข็ญมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ ประชาชนกำลังรู้สึกคับข้องใจจากปัญหาในกระบวนการยุติธรรมกรณีการเสียชีวิตอย่างปริศนาของ แตงโม-ภัทรธิดา (นิดา) พัชรวีระพงษ์ ดาราสาวชื่อดัง ผ่านมาเกือบ 1 เดือน เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่สามารถให้คำตอบกับสังคมได้ว่าสาเหตุที่ดาราสาวตกเรือเสียชีวิตมีพฤติการณ์แห่งการตายอย่างไร

โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีพิรุธหลายอย่าง ทำให้กลุ่มเพื่อนพี่้น้องดาราและประชาชนทั่วไปกังขาว่าจะช่วยเหลือผู้กระทำผิดหรือไม่ สังคมโซเชียลจึงทำการขุดคุ้ยเหตุการณ์ดังกล่าวเพื่อหาข้อเท็จจริงและแสวงหาความยุติธรรมให้กับดาราสาวว่า "แตงโมต้องไม่ตายฟรี"  

หลังการชันสูตรศพที่สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ แม่ของดาราสาวจึงขอนำศพไปชันสูตรอบสองที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เพื่อให้เกิดความชัดเจนและน่าเชื่อถือ โดยมีการตั้งคณะกรรมการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญร่วมชันสูตรศพด้วย

ทั้งนี้เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ก็เกิดกระแสเรียกร้องปฏิรูปตำรวจดังขึ้นอีกแทบทุกครั้ง ขณะที่รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ ก็ทำขึงขังกำชับให้ดำเนินการตามกฎหมาย ตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงตามสูตร

ก่อนหน้านี้เกิดเหตุ หมอกระต่าย-พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล ถูก ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ขี่บิ๊กไบค์ชนเสียชีวิตคาทางม้าลาย สังคมก็เรียกร้องให้หามาตรการป้องกันเหตุดังกล่าว ซึ่งมูลเหตุสำคัญก็มาจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไร้ประสิทธิภาพ จึงมีคนกล้าทำผิดกฎหมาย ขี่รถไม่ติดป้ายทะเบียนด้วยความเร็วจนชนคนข้ามถนนเสียชีวิต

กรณี พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผู้กำกับโจ้ ใช้ถุงดำคลุมหัวซ้อมทรมานรีดเงินผู้ต้องหายาเสพติดจนเสียชีวิต หรือกรณี นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ขับเฟอร์รารีชนตำรวจเสียชีวิต โดยมีขบวนการช่วยเหลือให้ผู้ต้องหาพ้นผิด ล้วนประจานความไม่น่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง

และยังมีเหตุการณ์ที่ประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรมและตกเป็นเหยื่อกระบวนการยุติธรรมที่ล้าหลังอีกมากมาย แต่ไม่เป็นข่าว เช่น ถูกรีดไถ่ เก็บส่วย ยัดข้อหา เป็นต้น นอกจากนี้ตำรวจยังตกเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจใช้ออกหมายเรียก-หมายจับฝ่ายตรงข้าม ทั้งที่ไม่มีหลักฐานอันเชื่อได้ว่าจะกระทำความผิด เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลจึงมีคดีที่ศาลลงโทษเพียง 60% 

ปัญหาความอยุติธรรมเหล่านี้สั่งสมมานาน ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จึงบัญญัติเรื่องการปฏิรูปตำรวจไว้ชัดเจน มาตรา 260 บัญญัติไว้ว่า ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี แต่ผ่านมา 5 ปีก็ยังไม่มีความคืบหน้า

โดยมีการเตะถ่วงไม่ให้การปฏิรูปตำรวจสำเร็จ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตํารวจแห่งชาติ พิจารณาเสร็จแล้วส่งให้นายกฯ แต่กลับมีการส่งไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกครั้ง ทั้งที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตาม รธน.มาตรา 77 แล้ว สตช.ได้ส่งร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ กลับมาอีกครั้ง และพบว่าถูกแปลงสาร หมกเม็ดจนไม่เหลือสาระสำคัญต่อการปฏิรูปแต่อย่างใด ปัจจุบันอยู่ในชั้นการแปรญัตติของกรรมาธิการฯ

สำหรับร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา ก็ถูกวางยาง คดีที่มีโทษเกิน 10 ปีจึงจะให้อัยการเข้ามาตรวจสอบสำนวนการสอบสวนได้ "คดีแตงโม" ในข้อหาประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี อัยการก็เข้ามาไม่ได้ ต้องนั่งรออ่าน "นิยายสอบสวน" ไปก่อน ส่วนร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.วิอาญา ที่ถือว่าก้าวหน้ากว่าทุกฉบับ ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนฯ และส่งมาให้ ครม.แล้ว ก็ถูกดองไว้อีก

ปัญหาในวงการตำรวจซึ่งเป็นต้นทางกระบวนการยุติธรรม เป็นเรื่องที่ต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างทั้งระบบ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยแสดงวิสัยทัศน์และภาวะผู้นำในการปฏิรูปตำรวจให้เกิดความก้าวหน้าแต่อย่างใด มีแต่ออกมาปกป้องตำรวจและบ่นพึมพำถึงปัญหาการทำงาน ในขณะที่ประชาชนขาดความเชื่อถือตำรวจจนเกิดความคับข้องใจกันไปทั่วแผ่นดิน

ภาพที่นายกฯ นั่งดินเนอร์กับนักการเมืองพรรคร่วมรัฐบาล ท่ามกลางความทุกข์ยากของประชาชนจากวิกฤตประเทศรอบด้าน ทั้งการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจตกต่ำ ส่งผลให้สินค้าราคาแพง ค่าครองชีพสูงขึ้น "ดาราสาวชื่อดัง" ตายปริศนายังแสวงหาความยุติธรรมไม่ได้ ยังมีประชาชนตกเป็น "เหยื่อ" ของ "กระบวนการยุติธรรมล้าหลัง” อีกมากมาย ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกประชาชนให้เกิดความคับข้องใจมากขึ้น กลายเป็น "ระเบิดเวลา" ที่รอวันปะทุออกมาในวันข้างหน้า!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า

‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’

แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี