ยังเป็นประเด็นร้อนที่ยังต้องตามกันอย่างต่อเนื่องสำหรับการเสียชีวิตของ แตงโม-ภัทรธิดา (นิดา) พัชรวีระพงษ์ ดาราสาวชื่อดัง ที่ประชาชนทั่วประเทศต่างตั้งตารอบทสรุปในคดีดังกล่าว โดยมีนักสืบโซเชียลเกิดขึ้นมากมาย ตีความไปหลายทิศทางถึงความเป็นไปได้ของการเสียชีวิตในคดีนี้
สำหรับการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้นทางกระบวนการยุติธรรม สังคมกลับไม่ไว้วางใจในการสืบสวนสอบสวนว่าจะทำให้เกิดความยุติธรรมต่อผู้เสียชีวิตหรือไม่
กระบวนการสำคัญในคดีการเสียชีวิตที่สำคัญที่สุดของคดีไม่พ้นการผ่าชันสูตรพลิกศพ ที่มักจะเป็นบทสรุปสำคัญในทุกคดี สำหรับคดีของแตงโม ถ้าย้อนกลับในการตรวจชันสูตรครั้งแรกที่ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2565 การแถลงผลชันสูตรรอบแรกอย่างละเอียดดังนี้
1.ไม่มีฟันหัก 2.ไม่มีร่องรอยการทำร้ายร่างกาย 3.แผลขนาดใหญ่ตรงต้นขา ที่มีข่าวว่าเป็นแผลลึกถึงกระดูกไม่เป็นความจริง 4.การเน่าเปื่อยบริเวณใบหน้า เป็นเรื่องปกติของกระบวนการเน่าเปื่อยของศพ 5.รอยเหมือนฟกช้ำตามตัว เป็นภาพที่มีคนถ่ายตอนเพิ่งกู้ร่างขึ้นมา ซึ่งยังไม่มีการทำความสะอาด ภายหลังการทำความสะอาดแล้ว พบว่าไม่มีรอยฟกช้ำ ส่วนบาดแผลต้นขาขวา ชันสูตรพบว่าเกิดขึ้นก่อนเสียชีวิต แต่ไม่ชี้ว่าบาดแผลเกิดก่อนตกน้ำ หรือหลังตกน้ำ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ทาง นางภนิดา ศิระยุทธโยธิน มารดาของแตงโม-นิดา พร้อมทนายความ ได้ขอทางกระทรวงยุติธรรมให้มีการชันสูตรรอบ 2 โดย ร่างของแตงโมอยู่ที่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ โดยทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ได้ทำหนังสือเชิญคณะกรรมการตรวจพิสูจน์ โดยเป็นแพทย์นิติเวชจากหน่วยงานภายนอก 3 โรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลรามาธิบดี, รพ.จุฬาลงกรณ์ และ รพ.ธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ ร่วมกับผู้แทนจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ 3 คน พร้อมแพทย์นิติเวชผู้ผ่าพิสูจน์ครั้งแรกจากสถาบันนิติเวช รพ.ตำรวจ เข้าร่วมสังเกตการณ์ รวมทั้ง แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะอดีต ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์
โดยได้ตั้งคณะกรรมการการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย กรรมการ 11 คน มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวีร์ ไวยวุฒิ รองผู้อํานวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นประธานกรรมการ
นอกจากนี้ยังได้ตั้งคณะกรรมการ จำนวน 15 คน ให้ร่วมพิจารณากับแพทย์นิติเวชจาก 3 โรงพยาบาลก่อนที่จะมีการผ่าชันสูตรซ้ำในรอบที่ 2 ในวันที่ 22 มี.ค. โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะมี นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ และกรรมการประกอบด้วย ผบ.ตร., อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, นายกแพทยสภา และ ผบช.พฐ. รวมทั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 8 คน
ล่าสุด ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการ รมว.ยุติธรรม พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ พร้อมทีมของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ แถลงผลการผ่าชันสูตรเบื้องต้นรอบ 2 โดย ว่าที่ ร.ต.ธนกฤตกล่าวว่า วันนี้ทีมคณะกรรมการได้เริ่มตรวจตามที่แม่ของแตงโมอยากให้ตรวจรอบ 2 ประกอบด้วย 11 จุดคือ 1.บริเวณศีรษะโดยรอบของผู้ตาย 2.บริเวณใบหน้าของผู้ตาย 3.บริเวณลำคอที่ผู้ตายสวมใส่สร้อย 4.บริเวณหน้าอกใต้ลำคอ 5.บริเวณบาดแผลที่ขา 6.บริเวณบาดแผลบริเวณน่องและข้อพับทั้ง 2 ข้าง 7.บริเวณเล็บมือทั้ง 2 ข้างของผู้ตาย 8.บริเวณแผ่นหลังของผู้ตาย 9.บริเวณหลอดลมของผู้ตาย 10.บริเวณอวัยวะเพศของผู้ตาย และ 11.เสื้อผ้าที่ผู้ตายสวมใส่ในวันเสียชีวิต
ว่าที่ ร.ต.ธนกฤตระบุว่า เจ้าหน้าที่วางไทม์ไลน์ บางประเด็นคงต้องใช้เวลา เพราะต้องนำสิ่งที่ผ่าวันนี้เข้าห้องแล็บและรอแพทย์แต่ละท่านสรุปผลดำเนินการ จากนั้นเป็นเรื่องของกรอบการทำงาน โดย ผอ.นิติวิทยาศาสตร์ (พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล) จะแจ้งผล ซึ่งใน 2 สัปดาห์จะได้คำตอบทั้งหมด
ขณะที่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า จากการดูและสังเกตการณ์พบว่า ลูกตาปกติเท่ากัน ไม่มีบาดแผล แต่อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงหลังเสียชีวิต โดยศพไปค้างที่โรงพัก ก่อนส่งไปนิติเวช เมื่อดูภาพและการผ่าศพ สรุปว่าฟันอยู่ครบ อาจมีหายไป เป็นเรื่องการครอบฟัน ส่วนกะโหลกศีรษะไม่แตกและไม่มีแผล ไม่มีรอยช้ำ โดยสถาบันนิติเวชตรวจอย่างละเอียด ส่วนเรื่องรัดคอนั้น ตาไม่มีเลือดออก ประเด็นแผลที่ขานั้น จากการร่วมกันดู ทำให้เห็นบาดแผลเป็นลักษณะเฉพาะ ต้องให้ตำรวจคุยกับหมอ เพราะแผลมีลักษณะเฉพาะที่น่าจะหาได้ว่าเกิดจากอะไร ซึ่งไม่ใช่แผลใหญ่ เพื่อสรุปว่าโดนอะไรมา
การรับไม้ต่อของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อชันสูตรศพรอบ 2 ในครั้งนี้ ถือเป็นการถ่วงดุลอำนาจของตำรวจที่สังคมตั้งข้อสงสัยถึงการทำงานโดยสุจริตหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้มีข้อสงสัยว่ามีคำสั่งลึกลับให้ ไทด์-เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์ นำร่างของแตงโมที่กำลังอยู่ระหว่างเดินทางไป รพ.ธรรมศาสตร์ฯ เพื่อให้แพทย์นิติเวชตรวจตามปกติ ให้นำกลับไปส่งที่ รพ.ตำรวจ
หลังจากนี้ถ้าชันสูตรในรอบที่ 2 เสร็จสิ้น ต้องส่งข้อมูลไปฝั่งตำรวจ ซึ่งกระบวนการของตำรวจหลังจากนี้ สังคมจะจับตามองอย่างพิเศษ เพราะมีความไม่ไว้วางใจให้การทำหน้าที่ของตำรวจมาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่หน่วยงานสันติราษฎร์-ต้นทางกระบวนการยุติธรรม จะพิสูจน์การทำหน้าที่กอบกู้ชื่อเสียงของตัวเอง ให้กลับมาน่าเชื่อถืออีกครั้ง แต่ถ้าปล่อยให้มือที่มองไม่เห็น อำนาจอิทธิพลเข้ามาครอบงำ ก็จะทำให้ต้นทางกระบวนการยุติธรรมเสื่อมถอยลงไปอีก
ที่สำคัญหากไม่สามารถตอบข้อกังขาต่างๆ ให้สังคมเกิดการยอมรับและไว้วางใจ ก็ยิ่งจะทำให้เกิดความคับแค้นใจของประชาชน เกิดแรงกระเพื่อมสะเทือนถึงรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่สัญญาว่าจะปฏิรูปตำรวจ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!
แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่
โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้
นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า
‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’
แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี