พี่น้อง 3 ป.พยายามลดภาพความขัดแย้ง เพื่อสร้างภาพความแข็งแกร่งและความมั่นคงต่อเสถียรภาพของรัฐบาลเพื่อให้อยู่ครบวาระ 4 ปี
หลังเจอพรรคฝ่ายค้านออกมาเสี้ยม เมื่อก๊วน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย พร้อม ส.ส. 18 คน จาก 16 เสียง แยกตัวจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ทำให้เสียงในสภาหมิ่นเหม่กระทบต่อองค์ประชุมสภา
ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณากฎหมายสำคัญของรัฐบาล หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจหลังเปิดสภาระหว่าง 22 พฤษภาคม-18 กันยายน 2565 ที่ฝ่ายค้านโหมกระแสว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม จะต้องยุบสภาก่อนการเปิดประชุมสภาอีกครั้ง
แม้ฝ่ายรัฐบาลจะออกมายืนยันประสานเสียงว่า นายกฯ จะไม่ยุบสภา แต่ในเรื่องภาพลักษณ์ความสัมพันธ์ของพี่น้อง 3 ป.ยังเป็นที่คลางแคลงใจจากสังคมว่ายังเหมือนเดิมหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่ผู้จัดตั้งรัฐบาลจะต้องสยบให้สิ้นกระแสความสงสัย
สัปดาห์ก่อนหน้านี้จึงเห็นภาพ พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เดินทางไปรับประทานอาหารกลางวันกับ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค พปชร. ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ เพื่อ กลบภาพความขัดแย้ง
อีกด้านหนึ่งยังเป็นการส่งสัญญาณไปที่บรรดาพรรคร่วมรัฐบาล เกิดความเชื่อมั่นว่าทั้ง 3 คน ที่คบหากันมา 30-40 ปี ว่ายังเหนียวแน่น และเชื่อว่าจะไม่ทิ้งกัน หรือทิ้งใครไว้กลางทาง
ต่อมาตามมาด้วยดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาลที่สโมสรราชพฤกษ์เมื่อค่ำวันที่ 8 พฤษภาคม พี่น้อง 3 ป.เป็นเจ้าภาพร่วมกับหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในฐานะเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา, นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ
“ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ของรัฐบาล จึงเป็นเรื่องแทบเป็นไปไม่ได้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ตกเก้าอี้นายกฯ โดยเฉพาะเวทีซักฟอกที่ต้องได้เสียงไม่ไว้วางเกินกึ่งหนึ่งของสภา"
ภาพที่สื่อสารออกมาหวานชื่น โดยเฉพาะภาพ "บิ๊กตู่" กับ "พี่ป้อม" โอบกอดกันโชว์สื่อมวลชน ท่ามกลางการรายล้อมของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่ชัดเจนว่าพร้อมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ทำหน้าที่ต่อไป กระทั่งครบวาระในเดือนมีนาคมในปี 2566
สอดรับกับกระแสข่าวที่ออกมา ที่ พล.อ.ประวิตรได้พูดกลางวงตอนหนึ่ง โดยยอมรับว่าไม่สามารถควบคุม ร.อ.ธรรมนัสได้ และ ร.อ.ธรรมนัสจะเป็น ส.ส.เพียงเสียงเดียวของพรรคเศรษฐกิจไทยที่จะไม่ยกมือโหวตให้นายกฯ ฉะนั้นจึงตีความได้ว่า ส.ส.ที่เหลือของพรรคเศรษฐกิจไทยอีก 15 คนจะอยู่กับ "บิ๊กป้อม" และสนับสนุนรัฐบาลใช่หรือไม่
โดยมีรายงานตอกย้ำอีกว่า ในช่วงปิดสมัยประชุมนี้ อาจมีการปรับ ครม. และจัดสรรอำนาจในวงพี่น้อง 3 ป.เสียใหม่ให้ลงตัว เพื่อเตรียมพร้อมการเลือกตั้งในปีหน้า รวมทั้งพิจารณาโควตา 2 ตำแหน่งเดิมของ พปชร.ที่ว่างอยู่ และยกไปให้พรรคเศรษกิจไทย แต่ไม่ใช่ ร.อ.ธรรมนัสมานั่งเป็นรัฐมนตรี ถ้าดีลนี้ลงตัว ทุกอย่างก็แฮปปี้
เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่ "อนุทิน" แสดงความมั่นใจด้วยการโชว์โพย 260 เสียง ซึ่งไม่นับรวมพรรคเศรษฐกิจไทย ที่หมายรวม ส.ส.ที่ฝากเลี้ยงกับพรรคเพื่อไทย ไว้อีกประมาณ 10 คน และพรรคก้าวไกล 5 คน
ดังภาพที่ปรากฏออกมา เช่น ระหว่างไปพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 47 ที่ จ.ศรีสะเกษ ที่หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยนั่งโต๊ะอาหารเช้ากับ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย ร่วมกับ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้แก่ นพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ, นายธีระ ไตรสรกุล ส.ส.ศรีสะเกษ และนายปวีณ แซ่จึง สามีนางผ่องศรี แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ
รวมทั้งนายศุภชัย นพขำ ส.ส.ปทุมธานี พรรคเพื่อไทย ไปคุยเรื่องการเมืองกับนายอนุทิน
หลังมีรายงานแจ้งว่ากำลังมีปัญหากับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ที่พรรคเพื่อไทยจะมอบให้เป็นหัวหน้าทีมจังหวัดปทุมธานี เป็นต้น
ทั้งหมดทั้งมวลที่ปรากฏออกมาเป็นส่วนหนึ่งที่จะมาอยู่พรรคภูมิใจไทย จากที่ประมาณการเอาไว้อีก 20 คน ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ของรัฐบาล จึงเป็นเรื่องแทบเป็นไปไม่ได้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ตกเก้าอี้นายกฯ โดยเฉพาะเวทีซักฟอกที่ต้องได้เสียงไม่ไว้วางเกินกึ่งหนึ่งของสภา เพราะแค่ ส.ส.ฝ่ายค้านที่มีความสัมพันธ์กับฝ่ายรัฐบาลงดออกเสียง หรือใช้แท็กติกลาประชุม เสียงก็ไม่ถึงแล้ว
เมื่อเสถียรภาพและความสัมพันธ์กลับมาแน่นปึ้ก สิ่งที่ฝ่ายผู้มีอำนาจมองข้ามช็อต เพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป ว่าจะใช้อภินิหารทางกฎหมาย พลิกกลับมาใช้สูตรคำนวณ ส.ส.แบบจัดสรรปันสวนผสม หรือ MMP ตามความต้องการของ พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ ที่เชื่อว่าฝ่ายตัวเองจะได้ประโยชน์ เช่น ผลการเลือกตั้งปี 2562
ล่าสุดในชั้นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และพรรคการเมือง กำลังรอสัญญาณจากผู้มีอำนาจว่าจะเดินเกมอย่างไร
ตามข่าวที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญชุดดังกล่าว อ้างว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลคนอื่นๆ ก็ให้ความสนใจ
ฉะนั้นหาก "บิ๊กป้อม" เอาด้วย เมื่อรวมกับพรรคการเมืองที่เหลือไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์บางส่วน พรรคขนาดกลาง พรรคเล็ก และที่สำคัญเสียงของ ส.ว.ทั้ง 250 เสียง ก็เชื่อว่าจะสามารถ พลิกกลับมาใช้สูตร MMP ได้
ดังที่มือกฎหมายของรัฐบาลอย่าง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ก็ออกมาการันตีและชี้ช่องว่าสูตรคำนวณ ส.ส.สามารถทำแบบใดก็ได้ แต่สุดท้ายต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 83, 86 และมาตรา 91
นอกจากนี้ยังมีอีกช่องทางที่ฝ่ายผู้มีอำนาจจะล้มกระดาน หลัง "นพ.ระวี" ได้ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรรมนูญ จากบัตรเลือกตั้งหนึ่งใบ เปลี่ยนไปเป็นบัตรสองใบ
ฉะนั้นหากส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ และสมมุติว่าวินิจฉัยขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 60 ก็ต้องกลับไปใช้กติกาเลือกตั้งปี 62 และสิ่งที่ดำเนินการและทำกันอยู่ก็ถือเป็นโมฆะไปทั้งหมด
ดังนั้นการเมืองแบบไทยๆ อะไรที่ว่าแน่ก็อาจกลับตาลปัตร หากสุดท้ายฝ่ายผู้ถืออำนาจได้เปรียบ
สัญญาณเหล่านี้ร้อนไปถึง เจ้าของคอก อย่าง โทนี่ วู้ดซัม หรือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ถึงกับขวัญผวา อยู่ไม่สุข ต้องบินมาประเทศสิงคโปร์ เฉียดเข้าใกล้เมืองไทยในรอบหลายปี
ด้านหนึ่งเพื่อเช็กเลือดแท้ และตรึงกำลัง ส.ส.ว่าเหลือใครที่ยังภักดีอยู่ หรือถูกดูด และเตรียมโบกมือลาในสถานการณ์ที่กติกาเลือกตั้งอาจเปลี่ยนกลับไป และพรรคเพื่อไทยอาจเสียค่าโง่ไม่ได้เป็นรัฐบาลด้วยกติกาเลือกตั้งเหมือนปี 62 หรือสูตร MMP
เนื่องจากเป้าหมายที่เจ้าของคอกเคยคุยโวเอาไว้ว่าจะชนะแบบแลนด์สไลด์ จะไม่ได้ตามนั้น และหนทางที่จะกลับเมืองไทยแบบเท่ๆ เป็นเพียงแค่ความฝัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แรงต้าน'เสี่ยโต้ง'คุมธปท.แรง ลือสลับไพ่เปลี่ยนตัวปธ.บอร์ด
การที่คณะกรรมการคัดเลือกประธานธนาคารแห่งประเทศและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธปท. ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เลื่อนประชุมลงมติเลือก ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการ ธปท.ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 ตำแหน่ง จากวันที่ 4 พ.ย.ออกไปอีก 1 สัปดาห์เป็นวันจันทร์ที่ 11 พ.ย. วิเคราะห์ไว้ว่าอาจเกิดจาก 2 สาเหตุ
'หมอวรงค์' จับโป๊ะ! ยิ่งฟังรัฐบาลแจง ยิ่งต้องรีบยกเลิก 'MOU 44'
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ยิ่งฟังคำชี้แจงต้องยิ่งยกเลิก MOU 44
'นายกฯอิ๊งค์' ถกหัวหน้าส่วนราชการ ลุยลงทุน 9.6 แสนล้าน กระตุ้นจีดีพีประเทศ
นายกฯ ถกหัวหน้าส่วนราชการฯ กำชับผลักดันเม็ดเงินลงทุน 9.6 แสนล้าน สู่ระบบเศรษฐกิจ กระตุ้น ‘จีดีพี’ ประเทศ
'เอ็ดดี้' ชำแหละ! แผนรัฐบาลคุม 'แบงก์ชาติ' บรรลุ 6 เป้าหลัก
นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เอ็ดดี้ อัษฎางค์" ในหัวข้อ "อะไรคือจุดประสงค์ของการแทรกแซงแบงก์ชาติจากฝ่ายการเมือง"
'กูรูใหญ่' แฉเบื้องลึก! ทำไมนักการเมืองยุคนี้ไม่กลัว 'ยึดอำนาจ'
นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย และอดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การเมืองไทยกำลังเข้าสู่ทางตัน
‘อดีตรองหน.เพื่อไทย’ เตือนสติ ‘ไว้ใจ-ศรัทธา’ คือพื้นฐานเสถียรภาพความมั่นคงรัฐบาล
สามารถ แก้วมีชัย อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เตือนสติรัฐบาล