'เชียงใหม่' เร่งฉีดวัคซีนให้เด็กหลังยอดฉีดล่าสุดแค่ 11%

เชียงใหม่เร่งฉีดวัคซีนให้นักเรียนอายุ 5-11 ปี หวังรับมือโอมิครอนขาขึ้น​ หลังพบฉีดเพียง 11%

02​ มี.ค.2565 - นางยุพิน บัวคอม ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า​ การให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 1 กลุ่มนักเรียนดังกล่าว ณ วันที่ 1 มีนาคม 2565 พบว่า​ มีนักเรียนได้ทยอยเข้ารับการฉีดวัคซีนไปเพียง 11.12% หรือ 9,686 คน จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 152,064 คน ซึ่งจากการสำรวจความประสงค์ฉีดวัคซีน พบว่า มีแจ้งยืนยันประสงค์ฉีดทั้งหมด 87,137 คน และไม่ประสงค์ฉีดมากถึง 64,927 คน โดย 3 สังกัดที่มีนักเรียนเข้ารับการฉีดวัคซีนมากที่สุด ได้แก่ สังกัดการศึกษาพิเศษ (สศศ.) สังกัดสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏ และสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 4 ขณะที่สังกัดที่ยังไม่มีนักเรียนเข้ารับการฉีดวัคซีนเลย มี 4 สังกัด ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.ศพด.) โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถานรับเลี้ยงเด็ก สังกัดสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยหากแยกเป็นรายอำเภอ พบว่า อำเภอที่มีนักเรียนอายุ 5-11 ปี สมัครเข้ารับการฉีดวัคซีนมากที่สุด ได้แก่ อำเภอดอยหล่อ อำเภอหางดง และอำเภอสันป่าตอง ตามลำดับ ส่วนอำเภอที่ยังไม่มีนักเรียนได้รับการฉีดวัคซีนเลย ได้แก่ อำเภอสันกำแพง อำเภอแม่วาง และอำเภอแม่แจ่ม

“ได้มีการจัดลำดับการฉีดวัคซีนจากเด็กโต ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ลงมา ที่ผู้ปกครองสมัครใจให้เข้ารับการฉีด จนถึงปัจจุบันไล่ระดับลงมาจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 แล้ว จึงขอเชิญชวนถึงผู้ปกครอง ให้นำบุตรหลาน สมัครเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และลดการป่วยรุนแรง ซึ่งจากการฉีดในห้วงที่ผ่านมา ไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรงในเด็กกลุ่มนี้แต่อย่างใด​ ทั้งนี้เพื่อร่วมสร้างภูมิ​คุ้มกัน​หมู่ในการ​รับมือการระบาดของสายพันธุ์​ Omicron​ เวลานี้ที่กำลัง​อยู่​ในช่วง​ขาขึ้น​ ซึ่งมีการคาดการณ์​ว่าจะมีจุดสูงสุด​ของการระบาดระลอกนี้ราวกลางเดือนเมษายน​นี้”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หมอยง’ สะท้อนความรู้สึกโควิด-19 ปีที่ 2 'ยุ่งเหยิง-ดราม่าวัคซีน-เซียนคีย์บอร์ด'

หลังการระบาดใหญ่ทั่วโลก ในปีแรก ทุกคนมุ่งหวัง ที่จะยุติการระบาดด้วยวัคซีน จึงมีการผลิตคิดค้นวัคซีนกันมากมาย มากกว่า 10 platform