ส่วนหนึ่งของผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นจากทั้งหมดกว่า 300 คน
พอช / กระทรวง พม.เปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) พ.ร.บ. ‘การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ…..’ ครั้งแรก โดยมอบหมายให้ ‘พอช.’ จัดเวทีรับฟังผ่านระบบ Zoom โดยมีผู้แทนภาคประชาชน ประชาสังคม Ngo ผู้นำชุมชน ฯลฯ กว่า 300 คนร่วมแสดงความคิดเห็น เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เสนอให้ยกเลิกทั้งฉบับ เพราะซ้ำซ้อนกับกฏหมายที่มีอยู่ และเป็นกฎหมายที่ควบคุมภาคประชาชน
ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 เห็นชอบแนวทางการยกร่าง ‘พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การดำเนินกิจกรรมขององค์กร ไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ….’ ของคณะกรรมการกฤษฎีกา และมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ และตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ก่อนเสนอ ครม. ต่อไป โดยกระทรวง พม.มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นนั้น
3 หน่วยงานภาคีชี้แจงร่าง พ.ร.บ.ครั้งแรกผ่านระบบ Zoom
ล่าสุดวันนี้ (17 กุมภาพันธ์) ระหว่างเวลา 08.00-12.30 น. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบ zoom cloud meeting ครั้งแรก โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมชี้แจงวัตุประสงค์ ความเป็นมา สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. โดยเบื้องต้น ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีทั้งหมด 28 มาตรา มีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบล กองทุนสวัสดิการชุมชน ผู้นำชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม ฯลฯ จากทั่วประเทศกว่า 300 คนร่วมรับฟัง
นายปฏิภาณ จุมผา รักษาการผู้อำนวยการ พอช.
นายปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าวว่า ตามที่มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา เห็นชอบแนวทางการยกร่างพระราชบัญญัติการดําเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากําไร พ.ศ. …. และกระทรวง พม. ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดจัดให้มีช่องทางการรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง รอบด้าน และเป็นระบบ
“เวทีในวันนี้เป็นเวทีที่จัดขึ้นตามนโยบายของ รมว.พม. และขอย้ำว่าเวทีครั้งนี้เป็นการจัดเวทีอย่างสร้างสรรค์ ไม่มีธง เพื่อที่จะรับฟังพี่น้องประชาชนและประชาสังคมอย่างเป็นธรรมและเป็นกลาง พอช. เป็นกลไกของรัฐ เป็นเครื่องมือของประชาชน เป็นหน่วยงานกลางที่เป็นเครื่องมือของพี่น้องประชาชนที่แปลล่างสู่บน แปลบนสู่ล่าง เพื่อให้เกิดนโยบายที่เกิดขึ้น ที่ต้องเอื้อต่อความเข้มแข็งของคนข้างล่าง เป็นพลังที่จะส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง สอดรับกับนโยบายของท้องถิ่นไปด้วยกัน วันนี้มีพี่น้องสภาองค์กรชุมชนตำบล สวัสดิการชุมชน และพี่น้องเครือข่ายพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งเมืองและชนบททั่วประเทศ รวมถึงพี่น้องประชาสังคมที่เป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาและร่วมพลังในการขับเคลื่อน สิ่งสำคัญในวันนี้ต้องเกิดการอธิบายความ เกิดการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ การรับฟังครั้งนี้เป็นหน้าประวัติศาสตร์ของภาคประชาชนที่มีการรับฟังอย่างเป็นกลาง มองถึงอนาคตของลูกหลาน เพราะกฎหมายฉบับนี้มีความเกี่ยวข้องกับพี่น้องประชาชนทุกคน” นายปฏิภาณกล่าว
นางสาวนุชนาถ เกษมพิบูลย์ไชย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
นางสาวนุชนาถ เกษมพิบูลย์ไชย ผู้อำนวยการกองกฎหมายต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวชี้แจงสาระสำคัญ “ร่าง พ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ..…’ ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นเรื่องการส่งเสริม หลักการกำกับดูแล มีการกำหนดหน้าที่องค์กรไม่แสวงหากำไรได้ปฏิบัติ ส่วนความหมายขององค์กรไม่แสวงหากำไร คือเป็นองค์กรที่ทำกิจกรรมทางสังคมไม่มุ่งแสวงหากำไร
ตัวอย่าง มาตรา 19 การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับองค์กร ชื่อ วัตถุประสงค์ วิธีดำเนินงาน แหล่งที่มาของเงินทุน รายชื่อผู้รับผิดชอบดำเนินงาน เพื่อให้หน่วยงานของรัฐและบุคคลทั่วไปเข้าถึงข้อมูลนั้นโดยง่าย
หากองค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งใดไม่เปิดเผยข้อมูล ให้นายทะเบียนแจ้งเตือนให้องค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งนั้น
ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลภายในเวลาที่กำหนด หรือภายในเวลาที่องค์กรไม่แสวงหากำไรขอผ่อนผันการดำเนินการ หากพ้นกำหนดเวลาแล้วยังมิได้ดำเนินการเปิดเผย ให้นายทะเบียนมีอำนาจออกคำสั่งให้องค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งนั้นหยุดการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไรจนกว่าจะดำเนินการเปิดเผยข้อมูล
มาตรา 20 องค์กรไม่แสวงหากำไรต้องไม่ดำเนินงานในลักษณะดังต่อไปนี้ (1) กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รวมถึงความมั่นคงของรัฐด้านเศรษฐกิจ หรือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (2) กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือก่อให้เกิดแตกแยกในสังคม ฯลฯ
มาตรา 21 องค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งใดที่ได้รับเงินอุดหนุนหรือเงินบริจาคจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (1) แจ้งชื่อแหล่งเงินทุนต่างประเทศ บัญชีธนาคารที่จะรับเงิน จำนวนเงินที่จะได้รับ และวัตถุประสงค์ของการนำเงินไปใช้จ่ายต่อนายทะเบียน
(2) ต้องรับเงินผ่านบัญชีของธนาคารตามที่องค์กรไม่แสวงหากำไรแจ้งไว้ต่อนายทะเบียน (3) ต้องใช้เงินที่ได้รับจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศเฉพาะตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งต่อนายทะเบียนตาม (1) และ (4) ต้องไม่ใช้เงินที่ได้รับจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศเพื่อดำเนินกิจกรรมในลักษณะการแสวงหาอำนาจรัฐ หรือเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง
“ขอย้ำว่า ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่ใช่ร่างฉบับสุดท้าย หากมีการให้ความคิดเห็นต่าง ๆ จะนำมาวิเคราะห์ โดยทางกระทรวง พม.จะตั้งคณะกรรมการมาพิจารณาว่าจะต้องปรับปรุงหรือไม่อย่างไร” ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากล่าว
เบญจวรรณ บุตรเพชรรัตน์ ผู้แทนกระทรวง พม.
เบญจวรรณ บุตรเพชรรัตน์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม กระทรวง พม. กล่าวชี้แจงช่องทางการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ของกระทรวง พม. และกติกาการรับฟังความคิดเห็นว่า กระทรวง พม.มอบให้กรมการพัฒนาสังคมและสวัสดิการเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการเรื่องนี้ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการ
รับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.ตามกฎหมายมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ และตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562
ส่วนขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นมี 5 ช่องทาง คือ 1.ระหว่างวันที่ 18 มกราคม-25 มีนาคม 2565 ผ่านทางเว็บไซต์กระทรวง พม. เช่น www.m-society.go.th 2.การรับฟังผ่านอีเมล์ [email protected] 3.นำส่งด้วยตนเองที่กองส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. 4.การประชุมรับฟังความคิดเห็นผ่านเวที onsite และ online สำหรับประชาชนทั่วไปและผู้มีส่วนได้เสีย และ 5.การรับฟังความคิดเห็นระดับพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัด “หลังจากนั้นจะมีการวิเคราะห์ผลกระทบร่างกฎหมาย โดยกระทรวง พม.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำข้อมูลที่ได้มาเปิดเผยต่อสาธารณะ จากนั้นจะนำเสนอผลการรับฟังความคิดเห็นต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่ใช่ร่างสุดท้าย เราต้องรวบรวมผลการรับฟังทั้งหมดเพื่อให้ ครม.ตัดสินใจพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป” ผู้แทนกระทรวง พม.กล่าว
ภาคประชาชนระดมเสียงค้านร่าง พ.ร.บ.
จากนั้น ดร. ศักดิ์ณรงค์ มงคล มหาวิทยาลัยรังสิต ประธานกรรมการรับฟังความคิดเห็น เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั่วประเทศผ่านระบบ Zoom Meeting โดยในช่วงแรกมีเข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน ใช้เวลารับฟังความคิดเห็นประมาณ 2 ชั่วโมง ผู้แสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่แสดงความเห็นคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยเสนอให้ยกเลิก พ.ร.บ.ทั้งฉบับ และไม่ต้องอภิปรายเป็นรายมาตรา
ดร. ศักดิ์ณรงค์ มงคล ประธานกรรมการรับฟังความคิดเห็น
นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้ช่วยมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวว่า พ.ร.บ.นี้ ไม่มีความจำเป็นที่จะออกมาในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะมีกฎหมายอื่นรองรับอยู่แล้ว ไม่เอากฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลเผด็จการ ลากตั้ง รัฐบาลแบบนี้จะเข้าใจองค์กรไม่แสวงหากำไรได้อย่างไร เป็นกฎหมายมัดมือมัดเท้า ให้อำนาจพนักงานปิดกิจกรรมขององค์กรภาคประชาชนที่มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน หลักกฎหมายต้องคุ้มครองประชาชนเป็นหลัก ต้องเป็น civil law ขอคัดค้านทั้งฉบับ
นายเอกนัฐ บุญยัง ผู้แทนในที่ประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เร่งรีบปราศจากเหตุผล นอกจากนัยยะทางการเมือง คือ 1. การบัญญัติกฎหมายต้องผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ ไม่ใช่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่วินิจฉัย บทบัญญัติใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่มีหลักการ 2. การควบคุมระบบข้อมูลของประชาชน ใช้อำนาจโดยมิชอบ เป็นการละเมิดสิทธิ การกำหนดบทลงโทษทางอาญาสูงมาก การกำหนดแบบนี้บ่งชัดว่าต้องการปรามองค์กรที่เห็นต่างกับภาครัฐ
นางสาวอรษา โภคบุตร ตัวแทนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดพังงา กล่าวว่า ขอคัดค้านและให้ยกเลิก พ.ร.บ.ฉบับนี้ทั้งฉบับ เพราะจากการศึกษารายละเอียดแล้วเห็นว่าไม่มีประโยชน์กับการทำงานขององค์กรชุมชน ไม่เอื้อต่อการให้ภาคประชาชนได้มีหุ้นส่วนในการพัฒนาประเทศ ไม่ได้สร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม อีกทั้งยังให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ในการวินิจฉัยองค์กรชุมชนแทนการตัดสินของศาล และกำหนดโทษไว้สูงเกินกว่าเหตุ ซึ่งในต่างประเทศยังไม่ทำกันมากขนาดนี้ การออก พ.ร.บ.ฉบับนี้เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพของภาคประชาชนโดยตรง เราจึงขอคัดค้านและให้ยกเลิกทั้งฉบับ
ขณะเดียวกันมีความคิดเห็นที่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยนายสาโรจน์ สินธู ตัวแทนคณะกรรมการสนับสนุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นองค์กรขับเคลื่อนกิจกรรมในรูปแบบไม่แสวงหาผลกำไร คิดว่าไม่กระทบ ถ้าติดตามสถานการณ์ปัจจุบันจะเห็นว่ามีการทำกิจกรรมที่กระทบสถาบันอย่างรุนแรง กระทบต่อความมั่นคง ถ้ามี พ.ร.บ.นี้ก็ไม่น่ากลัว ถ้าเราทำงานที่ไม่กระทบต่อความมั่นคง ถ้ามี พ.ร.บ.รองรับก็เป็นสิ่งดี ในอนาคตเราจะมาเรียกร้องหากฎหมายรองรับ มองว่า พ.ร.บ.นี้เป็นเรื่องก้าวสำคัญที่มารองรับการทำงาน
ทั้งนี้ในตอนท้ายของการเปิดรับฟังความคิดเห็น ที่ประชุมเสนอให้งดการอภิปรายเป็นรายมาตรา และให้มีการโหวตเสียงว่าใครจะเห็นคัดค้านหรือสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผลปรากฏว่ามีผู้ที่คัดค้านไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ รวม 210 คน มีผู้เห็นด้วย 5 คน โดยหลังจากนี้กระทรวง พม.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เว็บไซต์ อีเมล์ รวมทั้งเปิดรับฟังความเห็นในพื้นที่ทั่วประเทศ รวม 77 จังหวัดต่อไป
รัฐบาลแจงเหตุผลเสนอร่าง พ.ร.บ.
ก่อนหน้านี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยหลัง ครม.มีมติเห็นชอบ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมาว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มุ่งเน้นส่งเสริมองค์กรไม่แสวงหากำไร ให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการดำเนินกิจการให้เป็นไปอย่างเปิดเผย โปร่งใส และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ รวมทั้งมีการกำหนดกลไกการกำกับดูแลเท่าที่จำเป็น ไม่ให้เป็นภาระแก่องค์กรไม่แสวงหากำไร
ขณะเดียวกันก็ให้ความคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ รักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อบและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งนี้การดำเนินกิจกรรมขององค์กรต่างๆ ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญ
นายธนกรกล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงเป้าหมายสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อประโยชน์สาธารณะ โปร่งใส และเป็นประโยชน์ ซึ่งยังต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ซึ่งข้อกำหนดต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐานสากลว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ป้องกันการสนับสนุนด้านการเงินในการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งหลายประเทศก็มีกลไกและกฎกติกาเช่นนี้ ขณะที่รอร่าง พ.ร.บ. เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้กฏหมายที่มีอยู่ พร้อมขอสนับสนุนจากวิปรัฐบาลในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฯ เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาต่อไป
เครือข่ายภาคประชาชนร่วมยื่นหนังสือคัดค้านที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2564
สำหรับบทกำหนดโทษตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เช่น มาตรา 25 องค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งใดไม่หยุดการดำเนินกิจกรรมตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 19 วรรคสี่ หรือมาตรา 22 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และปรับอีกวันละหนึ่งพันบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
มาตรา 26 องค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งใดไม่ยุติการดำเนินงานตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 20 วรรคสอง หรือมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท และปรับอีกวันละหนึ่งหมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
แถลงการณ์ ‘เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน’
ขณะเดียวกัน ภาคประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ‘เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน’ ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มทางสังคม เพื่อร่วมกำหนดอนาคตของตนเองในการพัฒนาประเทศ" มีเนื้อหาสรุปว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2565 แสดงให้เห็นถึงความไม่สนใจใยดีต่อเหตุผลที่เครือข่ายภาคประชาชนพยายามนำเสนอเพื่อให้รัฐบาลได้พิจารณาทบทวนความคิดในการตรากฎหมายฉบับดังกล่าว
เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับเสรีภาพในการรวมกลุ่ม การชุมนุมสาธารณะ การแสดงออก และสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มีการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขต โดยเฉพาะอำนาจข้าราชการในการใช้ดุลพินิจว่ากิจการใดขัดต่อความสงบเรียบร้อย ขัดต่อความมั่นคงของรัฐได้ตามอำเภอใจ มีอำนาจสั่งห้ามไม่ให้มีการกระทำนั้นๆ ได้โดยไม่สามารถฟ้องร้องศาลปกครองได้
เครือข่ายองค์กรชุมชนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.
โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเจตนาและเนื้อหาต้องการควบคุม กำกับ และเข้าข่ายคุกคามการรวมกลุ่มของประชาชนในทุกรูปแบบ โดยอ้างเหตุผลว่าต้องการจัดระบบกลุ่มองค์กรทางสังคมในประเทศให้มีความสงบเรียบร้อยมากขึ้น ทั้งที่ในความจริงแล้ว ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับ ได้ทำหน้าที่กำกับดูแลและตรวจสอบการรวมกลุ่มทางสังคมเพื่อสาธารณประโยชน์อยู่แล้ว และองค์กรเหล่านี้ก็ได้ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดเสมอมา
ดังนั้นความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ กำลังส่อเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์และกำลังใช้ระบบราชการอำนาจนิยมแบบเผด็จการทหาร ในการกำกับ ควบคุมภาคประชาชนให้ดำเนินกิจกรรมอยู่ภายใต้การรวมศูนย์อำนาจของตนเองเท่านั้น อันเป็นภัยคุกคามการรวมกลุ่มของประชาชน มากกว่ามองเห็นเป็นหุ้นส่วน ซึ่งเป็นปฏิปักษ์และบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างสิ้นเชิง และขัดต่อหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
“เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน ขอยืนยันว่าพวกเราไม่ได้ปฏิเสธการถูกตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส แต่เราไม่ยอมรับและขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อย่างถึงที่สุด จนกว่าจะมีการถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ตามเหตุผลที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น ทั้งนี้จะมีการนัดหมายองค์กรและเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศที่ได้มีการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันแล้ว 1,800 กว่าองค์กรให้ออกมาคัดค้านรัฐบาลในเรื่องนี้ ก่อนที่จะมีการนำร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีครั้งต่อไป” แถลงการณ์คัดค้านระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
การเคหะแห่งชาติเข้าร่วมงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวง พม. ครบรอบ 22 ปี
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีสงฆ์และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ