ชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น 3 อำเภอริมโขงเชียงราย แสดงพลังค้านเขื่อนปากแบง

ชาวบ้าน-ผู้นำท้องถิ่น 3 อำเภอริมแม่น้ำโขงเชียงรายแสดงพลังค้านเขื่อนปากแบง เผยไม่เคยมีส่วนร่วม-ภาครัฐไม่แจ้งข้อมูล หวั่นพื้นที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยวจมน้ำตลอดกาล

7 ธันวาคม 2567 - ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ชาวบ้าน ตัวแทนชุมชน ผู้นำสตรี และผู้นำท้องถิ่น อาทิ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายกเทศมนตรี ตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ประมาณ 150 คน ใน 3 อำเภอริมแม่น้ำโขง จ.เชียงรายคือ อ.เชียงแสน อ.เชียงของและ อ.เวียงแก่น ได้มารวมตัวกันเพื่อแสดงออกและเล่าถึงเหตุผลการไม่เอาโครงการสร้างเขื่อนปากแบง (Pak Beng dam) ซึ่งเป็นเขื่อนที่จะก่อสร้างในประเทศลาวห่างจากชายแดนพรมแดนไทยด้าน อ.เวียงแก่นไปราว 96 กิโลเมตร ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ได้ลงนามในสัญญาซื้อไฟฟ้ากับบริษัทเอกชนผู้พัฒนาโครงการสร้างเขื่อนเรียบร้อยแล้ว ขณะที่การศึกษาผลกระทบข้ามแดนยังไม่มีความชัดเจน

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่าปีนี้ได้เกิดอุทกภัยใหญ่ทำให้น้ำโขงเท้อเข้าไปในแม่น้ำอิงกว่า 21 กิโลเมตร เช่นเดียวกับแม่น้ำกก น้ำอิง ที่เท้อสูงเพราะน้ำไม่มีที่ไหลลง หากมีเขื่อนปากแบงอีกจะยิ่งซ้ำเติมปัญหา การสร้างเขื่อนปากแบงชุมชนได้เรียกร้องให้หยุดมาโดยตลอดเพราะผลการศึกษายังไม่ชัดเจนโดยไม่รู้ว่าเมื่อสร้างแล้วน้ำจะเท้อถึงไหน หากดึงดันทำต่อไปความเสียหายที่เกิดขึ้นจะแก้ไขยาก ดังนั้นประชาชนหลายภาคส่วนริมแม่น้ำโขงจึงมาร่วมกันแสดงความคิดเห็นเพื่อส่งเสียงจากผู้ได้รับผลกระทบไปถึงคนที่รับผิดชอบ

“ตอนนี้ถึงกระบวนการสำคัญ คือธนาคารยังไม่ลงนามสัญญาสินเชื่อแก่โครงการเขื่อนปากแบง การแสดงพลังครั้งนี้จะส่งเสียงไปยังธนาคารต่างๆ หากธนาคารชะลอการปล่อยเงินกู้ก็ทำให้การสร้างเขื่อนเลื่อนออกไป และเสียงของชาวบ้านวันนี้น่าจะดังไปถึงรัฐบาลโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง เพราะเกาะแก่งต่างๆและพื้นที่ริมแม่น้ำโขงจำนวนมาก กำลังจะหายไปหากมีการสร้างเขื่อนปากแบง” นายนิวัฒน์กล่าว

ครูตี๋กล่าวว่า วันนี้เป็นวันสำคัญเพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะร่วมกันสะท้อนข้อเท็จจริง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ภาคส่วนต่างๆ ทั้งนักวิชาการ คณะกรรมาธิการฯ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่และต่างแสดงความคิดเห็นในประเด็นเหล่านี้ไปแล้ว

“สิ่งหนึ่งที่ประชาชนเป็นห่วงคือเรื่องน้ำเท้อ น้ำจะท่วมถึงพื้นที่ใดบ้าง จุดแรกคือแก่งผาได ซึ่งอยู่ที่ อ.เวียงแก่น ตรงนี้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวจัดกิจกรรมต่างๆ แก่งผาไดมีประโยชน์ด้านต่างๆ แก่งนี้จะจมหายไปเพราะน้ำท่วมร้อยเปอร์เซ็นต์ เราจะได้ไม่ใช้ประโยชน์อีกต่อไป หาดหลายแห่งจะจมหายไป โดยเฉพาะหาดบ้านดอนมหาวัน อ.เชียงของ ซึ่งเป็นหาดพักผ่อนฤดูร้อนของคนเชียงของ หากสร้างเขื่อนปากแบงหาดบ้านดอนจะจมหายไปตลอด นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เกษตรริมโขงในฤดูแล้งจะได้รับผลกระทบทันที ยังมีลำน้ำสาขา เช่นน้ำงาว น้ำอิง” นายนิวัฒน์กล่าว

นายนิวัฒน์กล่าวว่า นอกจากนี้ไก หรือสาหร่ายแม่น้ำโขง จะได้รับผลกระทบจากน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นเพราะแดดส่องไม่ถึงแหล่งเกิดไก และถ้ามีอุทกภัยเกิดขึ้นยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ เพราะเขื่อนจากจีนปล่อยน้ำปริมาณมาก ทำให้มวลแม่น้ำโขงขึ้นสูง และแม่น้ำสาขาต่างๆ ไม่มีทางออกทำให้เกิดน้ำท่วมในลุ่มน้ำสาขาและแช่ท่วมอยู่เป็นเดือน และพืชผลการเกษตรโดยเฉพาะพื้นที่ทำนาเสียหาย

นายอภิธาร ทิตตา นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย กล่าวว่า ไม่ได้คัดค้านการพัฒนา แต่การพัฒนามีหลายรูปแบบโดยเฉพาะเทคโนโลยี เช่น ความต้องการไฟฟ้า ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อน แต่มีเทคโนโลยีที่สะอาด เช่นพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นมิตรต่อโลกและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปีนี้ทำให้เป็นห่วงหากมีการสร้างเขื่อนปากแบงจะทำให้ปริมาณน้ำยกสูงและท่วมพืชผลการเกษตร และชาวบ้านก็ยังไม่รับรู้ข้อมูล และหน่วยงานรัฐก็ยังไม่ได้แจ้งข้อมูลที่แท้จริง ตอนนี้ชาวบ้านยังไม่รู้ว่าหากสร้างเขื่อนปริมาณน้ำจะท่วมถึงขนาดไหน

นายอภิธารกล่าวว่า ชาวบ้านคาดหวังผลผลิตการเกษตร แต่กลับไม่สามารถวางแผนได้เพราะไม่รู้ข้อมูล ในเวียงแก่นมีสวนส้มโอจำนวนมากซึ่งเป็นพืชเศรษกิจสำคัญ ถูกน้ำท่วมและต้องตัดทิ้งเริ่มต้นจากศูนย์ใหม่ หากมีการสร้างเขื่อนปากแบงชาวบ้านจะต้องเริ่มต้นจากศูนย์อีกหรือไม่ บางคนมีลูกที่กำลังเรียนหนังสือ หากมีการสร้างเขื่อนและส้มโอที่ปลูกไว้ในปีที่ 6 ที่หวังจะส่งลูกเรียนต่อ เขาต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ที่ศูนย์แล้วจะทำอย่างไร

“ท่านจะพัฒนาก็พัฒนาไป เราไม่ได้คัดค้าน แต่อย่าให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม เขาบอกว่าจะมีกองทุนเพื่อชดเชยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ จะช่วยจริงหรือ อย่างกรณีแม่ไฮ ขันจันทา ที่ต้องทุบเขื่อน เพราะพื้นที่นาถูกท่วม ท่านต้องใช้เวลานับสิบปีกว่าจะได้รับการชดเชย แล้วถ้าเรื่องนี้เกิดกับชาวเวียงแก่น เราจะทำอย่างไร เพราะขนาดเขื่อนในไทยกว่าจะได้รับการเยียวยายังใช้เวลานาน แล้วถ้าเกิดในต่างประเทศเราจะไปเรียกร้องเอาจากใคร และต้องใช้เวลาเท่าไร” นายกเทศมนตรี กล่าว

นายไผท นำชัย ผู้ใหญ่บ้านยายเหนือ ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น กล่าวว่าน้ำท่วมปีนี้ 3 รอบ หนักหน่วงทำให้ส้มโอตายและไม่ได้รับความช่วยเหลือ มีเพียงคนที่ขึ้นทะเบียนไว้กับเกษตรอำเภอซึ่งเป็นส่วนน้อย เงินเยียวยายังไม่ได้เลย หากมีการสร้างเขื่อนปากแบงขึ้นมา พื้นที่ที่เคยเป็นไร่สวนคงกลายเป็นทะเลสาบ คงต้องพากันซื้อเรือเป็นชาวประมงกันหมด

“มีการสอบถามผมและชาวบ้านเรื่องสร้างเขื่อน แต่ถามแล้วก็เงียบหายไป ปีนี้น้ำท่วมสูงซึ่งชาวบ้านเสียหายหนัก บางส่วนเคยขายส้มโอได้ปีละหลักล้าน แต่ปีนี้ไม่ได้สักบาท บางคนมีสวนส้มโอ 2 ไร่ บางคนมี 5 ไร่ เสียหายโดยสิ้นเชิง”นายไผท กล่าว

นายสงบ อินเทพ ตัวแทนภาคประชาสังคมเวียงแก่น กล่าวว่าโครงการเขื่อนปากแบงเกิดขึ้นเพราะความโลภของคนบางคน โดยเขื่อนปากแบงไม่ได้เกิดจากความคิดของลาว แต่มีคนไทยบอกว่าจะไปซื้อไฟฟ้าจากลาวซึ่งเป็นการสนับสนุนให้สร้างเขื่อนในลาว เขาว่าต้องการซื้อไฟฟ้ามาเป็นไฟฟ้าสำรอง ทั้งๆที่ปัจจุบันประเทศไทยมีพลังงานไฟฟ้าสำรองสูงถึง 61% แต่กลับสนับสนุนให้สร้างเขื่อนโดยการกู้จากธนาคารในประเทศไทย


นายประยุทธ โพธิ กำนัน ต.เวียง อ.เชียงของ กล่าวว่าแหล่งท่องเที่ยวหาดบ้านดอนมหาวัน ชาวบ้านมีรายได้นับแสนบาทต่อปี หากมีการสร้างเขื่อนปากแบงย่อมได้รับผลกระทบ การเยียวยาก็เหมือนแค่แจกยาพาราให้เม็ดเดียว แค่บรรเทา ไม่ได้หายขาด การพัฒนาของเขาคือการทำลาย เราได้ประโยชน์เล็กน้อย ตอนนี้ปลาแม่น้ำโขงในธรรมชาติแทบไม่มีแล้วโดยเฉพาะปลาใหญ่ เช่น ปลาบึก เมื่อก่อนปีหนึ่งจับได้ร้อยกว่าตัว แต่ทุกวันนี้ที่ได้กินปลาบึกเลี้ยงจากบ่อ ตนไปจับปลาในแม่น้ำโขงได้แต่ปลานิล

“ถ้าไปดูที่คาสิโนสามเหลี่ยมทองคำจะเห็นท่อขนาดใหญ่ทิ้งไหลลงแม่น้ำโขงจนไม่น่าใช้น้ำ ขณะที่จีนได้สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงไว้หมดแล้ว ผมรู้สึกเสียใจมากหากเขาสร้างเขื่อนปากแบงแล้วท่วมหาดบ้านดอนมหาวัน”นายประยุทธ กล่าว

นายสุวิทย์ การะหัน ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำบ้านบุญเรือง อ.เชียงของ กล่าวว่าหากสร้างเขื่อนปากแบงความเสียหายคงใหญ่โตปีนี้น้ำเท้อจากน้ำโขงเข้ามาน้ำอิง ทำให้ที่นาเสียหายกว่า 80% ขนาดไม่มีเขื่อน แต่หากมีเขื่อนปากแบง เราประเมินกันแล้ว ความเสียหายจะหนักขึ้นแน่ ค่าเยียวยาต่างๆ จะได้จากไหน

“อยากฝากสื่อมวลชนบอกคนใหญ่คนโตให้ศึกษาข้อมูลเพียงพอก่อน ขอให้ท่านไปเก็บข้อมูลไปให้ถึงบันไดบ้านชาวบ้านเชียงของ เชียงแสน เวียงแก่น เสียก่อน แต่มีเรื่องที่ดีใจคือในวันนี้ชาวบ้านที่มาร่วมได้แสดงออกถึงความเข้มแข็งที่คัดค้านไม่เห็นด้วยกับเขื่อนปากแบง” ประธานป่าชุมน้ำบ้านบุญเรือง กล่าว

น.ส.ประกายรัตน์ ตันดี ผู้ใหญ่บ้านทุ้งงิ้ว และรองประธานสภาแม่หญิง อ.เชียงของ กล่าวว่า เรามีป่าที่เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์กว่า 500 ไร่แต่ป่าผืนนี้เคยถูกเสนอให้เอาไปใช้รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่เราได้ต่อต้านจนรักษาป่าผืนนี้ไว้ได้ โดยป่าผืนนี้ติดแม่น้ำอิง เมื่อแม่น้ำโขงเท้อก็ทำให้น้ำท่วม การที่จะสร้างเขื่อนปากแบง อยากให้ทุกคนช่วยกันเป็นพลังต่อต้าน เพราะได้รับผลกระทบโดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงริมแม่น้ำโขงทั้งการเก็บไกและการปลูกถั่วงอก

นายนิรันดร์ กุณะ ผู้ใหญ่บ้านสบกก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย กล่าวว่าปีนี้น้ำท่วมแม่สายหนักและเป็นดินโคลนเข้ามาเนื่องจากมีการทำเหมืองแร่ในพม่า ขณะที่หากมีการสร้างเขื่อนปากแบงก็ยังไม่รู้ว่าจะมีน้ำท่วมถึงที่ไหน ถ้าเท้อเข้าแม่น้ำสาขา ทั้งน้ำกกและน้ำคำหรือไม่ แล้วใครจะเป็นผู้เยียวยา

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อบูรณาการน้ำ กล่าวว่าตนได้มาลงพื้นที่ 3 อำเภอ เห็นสภาพน้ำท่วมลำน้ำอิงยาวเข้าไปกว่า 20 กม. ที่เวียงแก่นส้มโอข้าวโพดตาย 3-4,000 ไร่ นี่คือข้อเท็จจริง ส่วนที่ อ.เชียงแสน ปริมาณน้ำจากจีน ข้อมูลจากต้นน้ำไม่มี น้ำเท้อปีนี้สูงกว่า 350 ม.รทก. แต่เขื่อนปากแบง ระดับกักเก็บ 340 ม.รทก. ห่างจากไทยระยะทาง 90 กว่ากม. น้ำเท้อจะสูงกว่าหน้าเขื่อน ตนห่วงว่าหากข้อมูลระดับน้ำเท้อไม่ชัดเจนว่าอยู่ตรงไหน จะกระทบประชาชน 3 อำเภอ ตรงไหน สุดท้ายก็จะมาบอกว่าเป็นภัยธรรมชาติไม่ใช่เขื่อน กรณีปากมูล ราษีไศล ผลกระทบชัดเจน กรณีปากแบงจะต่างจาก เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนไซยะบุรี ซึ่งน้ำท่วมอยู่ในลาว แต่ปากแบง สร้างในลาวน้ำจะท่วมมาถึงไทย ไม่มีการศึกษาผลกระทบ กฟผ. ไปลงนามสัญญาไว้ควรศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนให้ยุติก่อน จนขณะนี้ยังไม่มีการสำรวจชุมชนริมโขงอย่างจริงจัง หากเกิดปัญหาภาระจะตกกับประชาชน ขอให้ยุติก่อน จะศึกษาเสร็จพฤศจิกายน 2567 เสนอให้รัฐบาลยกเลิกโครงการเขื่อนปากแบง หากยกเลิกสัญญาไม่ได้ก็ขอให้ข้อมูลทั้งหมดชัดเจนก่อน ภาระจะเกิดกับประชาชนทั่วประเทศเพราะไฟฟ้าล้นเกิน วันนี้เราผลิตไฟฟ้าเกิน โครงการปากแบงเราสามารถยืดออกไปได้อีกสิบปีก็ไม่สาย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร้องผู้ตรวจการฯ สอบ สทนช. ละเว้นปฏิบัติหน้าที่-ข้อมูลไม่ครบ แต่เดินหน้าจัดเวทีสร้างเขื่อนสานะคาม

ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินสอบ สทนช. ละเว้นปฎิบัติหน้าที่-ข้อมูลไม่ครบแต่เดินหน้าจัดเวทีโครงการสร้างเขื่อนสานะคาม

อลังการ! อุโมงค์ไฟดาวล้านดวง ชมแสงหลากสีระยิบระยับริมโขงรับลมหนาว

ลานกินลมชมวิว ริมแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม  นางสงวน มะเสนา รอง ผวจ.นครพนม นางสาวศุภพานี โพธิ์สุ นายก อบจ.นครพนม นายนิวัต เจียวิริยบุญญา นายกเทศบาลเมืองนครพนม นางสางนงนุช สีทาน้อย ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครพนม

จับล็อตใหญ่ริมน้ำโขง! ยาบ้าสูตรฟรุ้งฟริ้ง-ไอซ์ มูลค่ารวม 700 ล้านบาท

พล.ร.ต.ณรงค์ เอมดี ผบ.นรข. พ.อ.ปราโมทย์ เนียมสำเภา รองผู้บัญชาการกองกำลังสุรศักดิ์มนตรี (รอง ผบ.กกล.ฯ) นายวรวิทย์ พิมพนิตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม น.อ.แมนรัตน์ บุญสวัสดิ์ ผู้บังคับการ นรข.เขตนครพนม (ผบ.นรข.เขตฯ)

อีสานสกูตเตอร์ เลาะตามสายแม่น้ำ 8 จังหวัด ปลดพันธนาการเขื่อนแม่น้ำโขง

กลุ่มแม่โขงอีสานสกูตเตอร์รณรงค์ผลกระทบจากการพัฒนาในแม่น้ำโขง  จากเขื่อนสานะคาม จ.เลย ถึง เขื่อนภูงอย จ.อุบลฯ ผ่าน 8 จังหวัดติดแม่น้ำโขงระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร

เปิดโปรแกรมทัวร์ 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรกที่เมืองเหนือ

เปิดโปรแกรม 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรก จัดที่แม่ริม เชียงใหม่ 29 พ.ย. ก่อนถก 'คลังสัญจร' เชียงราย ฟื้นฟูพื้นที่เศรษฐกิจ พร้อมพบประชาชน

'ครูแดง' ชี้มติ ครม. ลดขั้นตอนให้สัญชาติ 4.8 แสนคน ปฏิรูประบบสถานะบุคคลครั้งสำคัญ

"ครูแดง" ชี้มติ ครม.ลดขั้นตอนให้สัญชาติ 4.8 แสนคน ถือว่าปฎิรูประบบพัฒนาสถานะบุคคล จี้ "สมช.-มท." ออกกฎหมายเร่งช่วยคนเฒ่าไร้สัญชาตินับแสนคนที่กำลังเปราะบาง