ชาวบ้านอยู่ป่าลุกฮือค้าน พรฎ.ของกรมอุทยานฯ จี้นายกฯ-ครม.ชะลอนำเข้าที่ประชุม 12 พย. ชมรมนายก อบต.แม่ฮ่องสอนชี้สร้างความขัดแย้งให้สังคม คนภาคเหนือแสดงพลัง-ชาวบ้านบางกลอยเตรียมยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯ
11 พ.ย.2567 - ชมรมนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) จ.แม่ฮ่องสอน ได้ทำหนังสือถึงนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เพื่อขอให้ยกเลิกการออกพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ และจะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนครั้งใหญ่
นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)แม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย ในฐานะสมาชิกชมรมฯกล่าวว่า สืบเนื่องจากเจตนารมณ์ของการปรับแก้กฎหมาย พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ได้มุ่งปรับปรุงข้อจำกัดในการจัดการปัญหาเรื่องคนอยู่กับป่า โดยได้ปรับเปลี่ยนคำนิยามความหมายของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ คือ พื้นที่ที่มีความโดดเด่นสวยงามทางธรรมชาติเป็นพิเศษหรือมีความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสัตว์ป่าหรือพืชป่าประจำถิ่นที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ หรือโดดเด่นด้านธรณีวิทยา หรือมรดกทางวัฒนธรรมที่สมควรสงวนหรืออนุรักษ์ไว้เพื่อประโยชน์ของคนในชาติหรือเพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติหรือนันทนาการของประชาชนอย่างยั่งยืน
นายพงษ์พิพัฒน์กล่าวว่า เมื่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการสำรวจการถือครองที่ดินที่อยู่อาศัยที่ทำกิน และมีแผนการจัดการร่วมกันระหว่างรัฐกับชุมชน เช่น แผนการจัดการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่า แผนการป้องกันบุกรุกขยายพื้นที่ ซึ่งได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและชุมชนในการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ดังจะเห็นได้จาก สถิติการสูญเสียพื้นที่ป่าจากเดิมระหว่างปี 2550 ถึง 2562 มีการสูญเสียพื้นที่ป่า 327,143 ไร่ เฉลี่ยปีละ 25,164 ไร่ แต่ในช่วงระหว่างปี 2563 ถึง 2567 มีการสูญเสียป่า 20,375 ไร่ เฉลี่ยปีละ 4,075 ไร่ ซึ่งมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ดีนำไปสู่ขีดความสามารถในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้อย่างเหมาะสม
นายก อบต.แม่สามแลบ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่มีการจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่า สัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 หากผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี จะทำให้กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับภาครัฐ ตามมาในหลายเรื่อง
นายพงษ์พิพัฒน์กล่าวว่า มาตรา 11 ที่ระบุไว้ว่า ผู้อาศัยหรือทำกินภายใต้โครงการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม อาทิ ความในวรรค 2 ที่ระบุว่า การอยู่อาศัยและทำประโยชน์บนที่ดินที่อยู่อาศัยหรือทำกินตามโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง และไม่มีที่ดินทำกินอื่นนอกเขตพื้นที่โครงการ (วรรค 3) ไม่มีที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองในที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัยอื่น แต่ตามสภาพข้อเท็จจริง มีหลายหมู่บ้านมากที่ตั้งบ้านเรือน ทำมาหากิน มายาวนาน หากแต่บางพื้นที่ถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ และต่อมาก็มานำพื้นที่บางส่วนไปประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ทำให้กลายมาเป็นปัญหาป่าทับคนที่เป็นปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนาน
“การไปกำหนดรายละเอียดในลักษณะกลับกลายเป็นว่ากำลังขัดแย้งกับสาระสำคัญของความเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ โดยการไปกำหนดคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการฯ ไว้อย่างคับแคบ และไม่เข้าใจบริบทแห่งสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ ทางชมรมนายกองค์การบริหารส่วนตำบล จังหวัดแม่ฮ่องสอน เห็นว่าการออกพระราชกฤษฎีกา ทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าว จะกระทบต่อชุมชนประชาชนในวงกว้าง ซึ่งจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีทั้งหมด 415 หมู่บ้าน มีพื้นที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ 242 หมู่บ้าน หากร่างทั้ง 2 ฉบับนี้ผ่าน ทำให้ประชาชนจำนวน 242 หมู่บ้าน มากกว่าครึ่งหนึ่งของจังหวัด จะได้รับผลกระทบทันที อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในทางปฏิบัติระหว่างเจ้าหน้ารัฐ กับประชาชน สู่ความขัดแย้งในสังคม และอาจเป็นชนวนสร้างปัญหาบานปลายในอนาคตได้”นายพงษ์พิพัฒน์กล่าว
นายก อบต.แม่สามแลบ กล่าวว่า ชมรมนายกองค์การบริหารส่วนตำบล จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับชุมชนท้องถิ่นที่มีภารกิจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ จึงขอการคัดค้านการออกพระราชกฤษฎีกาครั้งนี้เพราะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ และจะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนครั้งใหญ่ โดยขอให้ท่านรัฐมนตรี ทส.ได้พิจารณาดำเนินการประสานงาน และดำเนินการเพื่อให้เกิดการยุติ ยับยั้ง ชะลอ การออกพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวออกไป แล้วจัดให้มีการรับฟัง
ความเห็นของประชาชนในเขตป่าอนุรักษ์อีกครั้ง เพื่อปรับแก้สาระที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงของชุมชน
ในวันเดียวกัน ที่ลานครูบาศรีวิชัย สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือกับเครือข่ายประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move)และ เครือข่ายภาคประชาชน 47 เครือข่าย ร่วมแสดงพลังคัดค้านและเรียกร้องให้รัฐบาลแพทองธารหยุดผลักดันร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติและร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า รวม 2 ฉบับ ซึ่งจะเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.)ให้วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567
ทั้งนี้ประชาชนผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมได้ตั้งขบวนเคลื่อนขบวนไปยังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการชูป้ายรณรงค์ข้อความ เช่น เราคือผู้บุกเบิกมิใช่บุกรุก ,หยุด พรฎ.ป่าอนุรักษ์, หยุดกฎหมายป่าปลอดคน, สิทธิชุมชนเท่ากับสิทธิมนุษยชน เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
นายดิเรก กองเงิน ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวปราศรัยว่า หลายทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มผู้มีอำนาจได้ออกกฎหมายและนโยบายที่ลดทอนสิทธิและกดดันให้ชนพื้นเมืองถูกขับไล่จากป่าที่ดูแลมาอย่างยาวนาน แม้เราจะพยายามต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและสร้างความเข้าใจในสังคมว่าเราเป็นผู้รักษาป่าและดูแลสิ่งแวดล้อม แต่การกระทำของรัฐกลับสร้างความรุนแรงและทำลายวิถีชีวิตของเรา ชุมชนของเราถูกข่มขู่และบังคับให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตโดยไม่ให้ความมั่นคงหรือเสรีภาพในการดำเนินชีวิต ขณะที่กฎหมายและนโยบายยังคงกดดันเราอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตป่าอนุรักษ์ที่สถานะของเรากำลังถูกทำให้ยากลำบากขึ้น
“การออกกฎหมายที่จะมีผลบังคับใช้ในวันอังคารที่ 12 นี้ เพื่อให้เราต้องออกจากพื้นที่ป่า เป็นการทำลายวิถีชีวิตและสิทธิของชุมชนพื้นเมืองที่ไม่ยุติธรรมและขัดต่อความจริงที่เราควรได้รับการเคารพ เราชาวเจียงเมืองและชาวเชียงใหม่รู้ดีว่า ป่าที่สมบูรณ์มาจนถึงวันนี้เพราะเราเป็นผู้ดูแลรักษาและอยู่ร่วมกับป่าอย่างใกล้ชิด การออกกฎหมายสองฉบับนี้ที่บังคับให้เราต้องออกจากพื้นที่ป่า จะทำลายชีวิตและวิถีการดำรงอยู่ของชุมชนอย่างสิ้นเชิง เราจึงเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีช่วยยับยั้งการดำเนินการนี้และทบทวนร่างกฎหมายอย่างรอบคอบ เพื่อปกป้องสิทธิของเราในการดูแลป่าและชีวิตที่เรารัก เราจะต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิดและสังคมที่ดีกว่า สำหรับลูกหลานของเรา” นายดิเรก กล่าว
ทั้งนี้ได้มีการออกแถลงการณ์ระบุว่า ท่ามกลางการรุกไล่ประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามนโยบายของหลายรัฐบาลสืบเนื่องกันมาทำให้สถานการณ์การเร่งรัดประกาศป่าอนุรักษ์ด้วยการออกกฎหมายและใช้กำลังป่าเถื่อนเกิดเป็นกรณีความขัดแย้งทั่วประเทศ ข้อพิพาทอันปรากฏเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนหลายกรณีตอกย้ำความรุนแรงจากผู้ถือกฎหมายที่กระทำต่อผู้คนในเขตป่าอย่างเลือดเย็นไม่จบสิ้น
“ท่ามกลางช่วงเวลาอันเจ็บปวดเหล่านั้นที่พวกเราในฐานะผู้บุกเบิก และผู้ดูแลรักษาป่าถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุกและผู้ทำลายป่า แต่พี่น้องของเราก็ได้ยืนยันสิทธิและร่วมต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมมาโดยตลอด นอกจากนี้ที่ผ่านมา หลายชุมชนยังได้ร่วมกันดูแลรักษาป่า และปกป้องผืนป่า ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ทำให้ปัจจุบันสภาพป่าได้ฟื้นตัวและมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นกว่าเดิม” แถลงการณ์ระบุ
แถลงการณ์ระบุว่าภัยคุกคามใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ คือความพยายามของ ทส. ที่เร่งผลักดันร่างพรฎ.ป่าอนุรักษ์ภายใต้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ และพรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ให้มีผลบังคับใช้ผ่านที่ประชุมครม.ในที่ 12 พฤศจิกายนนี้ เนื้อหาในร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ทั้ง 2 ฉบับนั้นเต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน เปลี่ยนประชาชนผู้บุกเบิกให้กลายเป็นผู้บุกรุก สอดแทรกแนวทางการยึดที่ดินของประชาชนบีบบังคับจำกัดสิทธิ์การถือครองที่ดิน และยังรวบอำนาจผูกขาดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติไว้ที่หน่วยงานป่าไม้เท่านั้น แนวทางดังกล่าวเป็นการผลักคนออกจากป่าไม่ต่างจากอดีตที่ผ่านมาแม้แต่น้อย
“เราขอประณามการกระทำของทส. และกรมอุทยาน ฯ ที่พยายามผลักดันกฎหมายอนุรักษ์อันล้าหลังและอำนาจนิยมขนาดนี้มากดขี่ประชาชนโดยไม่สนใจกระแสโลกที่เปลี่ยนไปสู่การกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรสู่ชุมชนท้องถิ่น แม้ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ตาม เราขอเรียกร้องนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ว่าจะต้องแสดงความกล้าหาญปกป้องประชาชนที่อยู่ในป่าอนุรักษ์กว่า 4 พันชุมชนที่กำลังถูกฝ่ายรัฐราชการ กดขี่รังแก โดย รัฐบาลต้องยุติการนำร่างพระราชกฤษฎีกา เข้าสู่ที่ประชุมครม.โดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข” แถลงการณ์ระบุ
เช่นเดียวกับชาวบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ในนามกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น ได้เตรียมเดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดเพชรบุรีเพื่อยื่นหนังสือนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการฯในวันที่ 12 พฤศจิการยน เพื่อขอให้ยุติการนำร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าอนุรักษ์เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและให้เร่งรัดการดำเนินการแก้ไข พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ดร.เฉลิมชัย” ชูโครงการธรรมจักรสีเขียว สร้าง “วัดต้นแบบ” - เพิ่มพื้นที่ป่าให้ประเทศ
ป่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งปวง รวมถึง “พระพุทธศาสนา” ที่มีความสัมพันธ์กับป่าไม้อย่างลึกซึ้ง
'ประเสริฐ' แจงม็อบพีมูฟ ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.ฎ. 2 ฉบับ แก้ที่ทำกินให้คนอยู่กับป่าได้
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ) นำโดย นายจำนงค์ หนูพันธ์ ประธานและที่ปรึกษาพีมูฟ รวมตัวจัดกิจกรรมคัดค้านการพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562
ครม. ไฟเขียวร่างพ.ร.ฎ. 2 ฉบับ แก้ปัญหาที่ดินทำกินในเขตป่าอนุรักษ์ ยันไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบทบทวนร่างพระราชกฤษฎีกา โครงการอนุรักษ์ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ มาตรา 64
ฉีกสัญญาพีมูฟ 'กรมอุทยาน' ดันร่างกม.ลูกเข้า ครม.ส่อพิพาทป่าทับคนรุนแรงขึ้น
ส่อความขัดแย้งเพิ่ม พีมูฟเบรกร่างกม.ลูกกรมอุทยานฯ เข้า ครม . ชี้ยิ่งจุดชนวนสร้างข้อพิพาทป่าทับคนรุนแรงขึ้น
'ดอยอินทนนท์' หนาว! เริ่มเปิดเส้นทางชมธรรมชาติ
นายเกรียงไกร ไชยพิเศษ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า วันนี้อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กำหนดจัดกิจกรรมเปิดการท่องเที่ยว
ดร.เฉลิมชัย เปิดเวที TCAC 2024 การประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 3 “
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอาก