"ครูแดง" ชี้มติ ครม.ลดขั้นตอนให้สัญชาติ 4.8 แสนคน ถือว่าปฎิรูประบบพัฒนาสถานะบุคคล จี้ "สมช.-มท." ออกกฎหมายเร่งช่วยคนเฒ่าไร้สัญชาตินับแสนคนที่กำลังเปราะบาง พ่อเฒ่าแม่เฒ่ากลุ่มชาติพันธุ์คึกคักสอบสัมภาษณ์ขอสัญชาติไทย เผยอยู่ไทยร่วม 50 ปีแต่ไม่มีบัตรประชาชน
1 พ.ย.2567 - ที่ห้องประชุมธรรมลังกา ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ได้มีการประชุมคณะทำงานสัมภาษณ์ สังเกตพฤติการณ์ และทดสอบภาษาไทยของผู้ยื่นคำขอถือสัญชาติไทยและคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทย โดยมีนายลิขิต มีเสรี ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงราย (แทนหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงราย) เป็นประธาน นายชำนาญ สรรพลิขิต จ่าจังหวัดเชียงราย เป็นเลขา มีคณะกรรมการอาทิ อัยการจังหวัดเชียงราย ตำรวจภูธรเมืองจังหวัดเชียงราย ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงราย นายอำเภอ 8 แห่ง โดยนางเตือนใจ ดีเทศน์ หรือ “ครูแดง”กรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.)และอดีตสมาชิกวุฒิสภาเชียงราย ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมเข้าร่วม
ทั้งนี้ประชาชนที่มาสัมภาษณ์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆซึ่งสูงอายุโดยบางชาติพันธุ์ได้แต่งกายชุดประจำเผ่า เช่น อาข่า สร้างความสนใจให้กับข้าราชการในศาลากลาง ขณะที่คณะกรรมการฯ ได้พิจารณากรณีขอแปลงสัญชาติเป็นไทยของคนต่างด้าวซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พศ.2551 กรณีผู้ของแปลงสัญชาติเป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ หรือผู้เฒ่าไร้สัญชาติ จำนวน 234 คำร้อง
ประธานในที่ประชุม กล่าวว่าทุกคำร้องในวันนี้ได้มีการตรวจสอบแล้วว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน สำหรับคุณสมบัติเรื่องการประกอบอาชีพ พิจารณาอาชีพที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ โดยมีการรับรองโดยนายอำเภอ และให้ยกเว้นเรื่องการเสียภาษีและเกณฑ์รายได้ ซึ่งจังหวัดเชียงรายได้รับคำร้องจำนวน 1,566 คำร้อง นำเข้าสู่การพิจารณาวันนี้จำนวน 243 คำร้อง ซึ่งจะถือว่าไม่มีคำร้องขอแปลงสัญชาติสำหรับผู้เฒ่าในจ.เชียงรายแล้ว วันนี้จะทำครบ 100 %
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมพิจารณาครั้งนี้ มีผู้เฒ่าจำนวน 2 รายที่ต้องให้สัมภาษณ์แก่คณะกรรมการทางวิดีโอ เนื่องจากป่วยเป็นเส้นเลือดสมองอุดตัน อายุ 77 ปี และอีกรายอายุ 86 ปี เป็นไส้เลื่อน ไม่สามารถเดินทางมาด้วยตนเองได้จึงบันทึกเทปวิดีโอมาฉายในห้องประชุม จากนั้นคณะกรรมการฯ ได้ทำการสัมภาษณ์ผู้เฒ่าทีละราย ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ผู้เฒ่าต่างมีอาการตื่นเต้นและดีใจที่ได้มาสอบสัมภาษณ์ในระดับจังหวัด แม้บางรายต้องนั่งรถเข็นแต่ก็มีความตั้งใจในการเข้าสอบสัมภาษณ์ในครั้งนี้ หลายคนมีลูกหลานมาให้กำลังใจและลุ้นผลการสอบด้วยความกระตือรือร้น เมื่อสอบแล้วเสร็จต่างเดินออกจากห้องประชุมด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม
นายแสง และนางคำ แสงเพ็ชร สามี-ภรรยาวัย 73 ปี ชาวบ้าน ต.โป่งน้อย อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย ให้สัมภาษณ์ว่า หนีภัยสังครามมาจากพื้นที่สิบสองปันนา ตอนใต้ของจีนตั้งแต่อายุ 25 ปีและมาปักหลักทำการเกษตรจนมีลูก 2 คน และทั้งคู่ได้สัญชาติไทยตั้งนานแล้ว ขณะที่พวกตนพยายามยื่นคำร้องขอทำบัตรประชาชนมาร่วม 20 ปี แต่ก็ยังไม่ได้ ครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสสำคัญที่ทางจังหวัดเรียกมาสัมภาษณ์
“พวกเราอยู่ที่นี่มาร่วม 50 ปีแล้ว ไม่เคยคิดที่จะกลับไปสิบสองปันนา เพราะกลับไปก็ไม่รู้จักใครแล้ว เราอยากได้บัตรประชาชนเผื่อจะมีโอกาสได้ใช้สิทธิเลือกตั้งกับเขาบ้าง อยากได้เบี้ยผู้สูงอายุเหมือเพื่อนๆรุ่นๆเดียวกันบ้าง เดือนละ 700 บาทก็มีค่ากับเรามาก”สามี-ภรรยาคู่นี้ กล่าว
นางเตือนใจ ดีเทศน์ กล่าวว่าชื่นชมจังหวัดเชียงรายเป็นอย่างยิ่งที่ดำเนินการพิจารณาคำร้องฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจังหวัดเชียงรายมีสถิติการส่งคำร้องฯ ไปยังกรมการปกครองมากที่สุด เนื่องจากความร่วมมือที่ดีระหว่างสำนักทะเบียนและภาคประชาสังคม ทั้งนี้โครงการขับเคลื่อนแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาอย่างต่อเนื่องกว่าสิบปี และเห็นความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามยังมีผู้เฒ่าไร้สัญชาติในไทยกว่าแสนคนทั่วประเทศที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหา
นางเตือนใจ กล่าวอีกว่าสำหรับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ที่ได้อนุมัติหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดแก้ปัญหาสถานะบุคคลให้ผู้ที่อพยพเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเป็นเวลานานและแก้ปัญหาสัญชาติให้กลุ่มบุตรที่เกิดในประเทศไทยของบุคคลเหล่านี้ ซึ่งบุคคลเหล่านี้กรมการปกครองได้สำรวจจัดทำทะเบียนประวัติไว้แล้ว คือ กลุ่มที่เข้ามาก่อน พ.ศ. 2542 ถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย (บัตรกลุ่มเลข 6) กลุ่มที่ถูกสำรวจตามยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาสถานะบุคคล พ.ศ. 2548 (สำรวจพ.ศ. 2548 ถึง 2554) ถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (บัตรเลข 0 กลุ่ม 89) และกลุ่มที่อยู่มานานแต่ตกหล่นจากการสำรวจทั้ง 2 ครั้งนี้ ถือบัตรประจำตัวเลข 0 กลุ่มทั่วไป รวมทั้งหมด 483,626 คน โดยมติครม. เห็นชอบให้ปรับหลักเกณฑ์คุณสมบัติและขั้นตอนการดำเนินงานเสนอโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งได้พิจารณาอย่างรอบคอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ตนเห็นด้วยกับมติครม. นี้ เพราะจะช่วยให้ผู้ที่อพยพเข้ามามีภูมิลำเนาเดิมในไทยนานเกิน 15 ปี บางกลุ่มอยู่นาน 30 - 60 ปี จนกลมกลืนกับสังคมไทย ได้ทำประโยชน์ทางเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้เฒ่าที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย แต่ยังมีสถานะเพียงสิทธิอาศัยชั่วคราว มติครม. 29 ตุลาคม 2567 จะช่วยให้ได้สิทธิขอสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย (ได้ใบสำคัญถิ่นที่อยู่) และกลุ่มบุตรที่เกิดในประเทศไทยจะได้สิทธิ์ในการยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทย”นางเตือนใจ กล่าว
อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงรายกล่าวว่า มติครม. เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมาเห็นชอบให้ลดหลักเกณฑ์คุณสมบัติและขั้นตอนในการดำเนินการ ของทั้ง 2 กลุ่ม ดังนี้ 1.ให้ผู้ยื่นคำร้องรับรองคุณสมบัติความเป็นพลเมืองดีด้วยตนเอง ไม่ต้องใช้พยานบุคคลที่น่าเชื่อถือ และไม่ต้องถูกตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ความมั่นคงของรัฐ และยาเสพติด 2. ให้นายอำเภอ เป็นผู้ใช้อำนาจพิจารณาอนุมัติ แทน การใช้ดุลยพินิจโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในกรณีขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (กรณีมีภูมิลำเนาในจังหวัดต่างๆ) และผู้อำนวยการสำนักกิจการความมั่นคงภายใน (สน.มน. กรมการปกครอง กรณีมีภูมิลำเนาเดิมในกทม.) 3. ลดระยะเวลาดำเนินงานจาก 270 วันเหลือ 5 วัน
“การปรับทั้ง 3 เกณฑ์นี้ เป็นการปฏิรูประบบการดำเนินการพัฒนาสถานะ และการพิจารณารับรองสัญชาติ ครั้งสำคัญ เป็นการยกเลิกขั้นตอนคณะทำงาน คณะกรรมการระดับอำเภอ จังหวัด กรมการปกครอง และระดับกระทรวง ลดภาระของหน่วยงานกระทรวงต่างๆ ในการพิจารณากลั่นกรองการอนุมัติ และลดเวลาในการดำเนินงานของประชาชนผู้ยื่นคำร้องที่รอคอยด้วยใจจดจ่อ แต่การได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว มิใช่สิทธิรับรองสัญชาติไทย ซึ่งต้องรออีก 5 ปี จึงจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติตามมาตรา 10 หรือ 11 แห่งพรบ.สัญชาติ ซึ่งกระบวนการแปลงสัญชาติเป็นไทย มีขั้นตอนมากถึง 14 ขั้นตอน ผู้มีอำนาจพิจารณาใช้ดุลยพินิจ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แล้วขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติให้แปลงสัญชาติจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นให้ปฏิญาณตนเป็นพลเมืองดี” นางเตือนใจกล่าว
ผู้ก่อตั้งมูลนิธิพชภ. กล่าวอีกว่าตนเห็นว่ากลุ่มผู้เฒ่ามีภูมิลำเนามา 15- 60 ปี เป็นกลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มพิเศษ Irregular person ซึ่งสภาความมั่นคงแห่งชาติ ควรร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินกรยกร่างกฎหมายพิเศษเพื่อแปลงสัญชาติให้ผู้เฒ่าอีกราว 100,000 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โฆษก มท. แจงมติครม.เร่งแก้ปัญหาคนไร้สถานะทางทะเบียน 4.8 แสนราย ไม่ใช่ให้สัญชาติคนต่างด้าว
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติ และสถานะให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามา
'บิ๊กอ้วน' วอนอย่าดราม่าให้สัญชาติไทย 4.8 แสนราย
'ภูมิธรรม' วอนอย่าดราม่า หลัง ครม.ให้สัญชาติผู้อพยพ 4.8 แสนคน ย้ำทุกอย่างมีกระบวนการ กม. หากมองทุกอย่างเป็นปัญหาจะห่อเหี่ยว
ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศมหาดไทย เสียสัญชาติไทยจำนวน 52 ราย
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การเสียสัญชาติไทย
ราชกิจจาฯ ประกาศเสียสัญชาติไทย 41 ราย
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การเสียสัญชาติไทย
“อนุทิน” พบ “ฮุน มาเนต” นายกฯกัมพูชา ย้ำสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ชูจุดแข็งค้าชายแดน แปลงวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงเป็นซอฟท์เพาเวอร์ร่วมกัน
วันที่ 23 ตค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้นำคณะ เข้าพบเยี่ยมคารวะ สมเด็จมหา+
ราชกิจจาฯ ประกาศมหาดไทย 'สละสัญชาติไทย' จำนวน 86 ราย
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การเสียสัญชาติไทย