18 ม.ค.2565 - คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้จัดเสวนาออนไลน์เรื่อง กระเหรี่ยงแก่งกระจาน การช่วงชิงอำนาจการจัดการทรัพยากรและการรุกคืบของทุน โดย ศ.ดร.วีระ สมบูรณ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเปิดว่า การช่วงชิงทรัพยากรไปจากพื้นที่ชุมชนพบได้มากมายในประเทศไทยโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงพื้นที่แก่งกระจาน ทำให้ชนเผ่าพื้นถิ่นถูกผลักไปยังชายขอบมากขึ้นเรื่อยๆแต่กะเหรี่ยงแก่งกระจานมีความแตกต่างเพราะถูกปราบปรามจากอำนาจรัฐเพื่อสร้างข้อจำกัดในการอยู่อาศัย มีการกระทำความรุนแรงจนเกิดการไล่รื้อเผาที่อยู่อาศัย ทั้งๆที่มีประวัติศาสตร์ระบุว่าอยู่มาก่อนอุทยานฯ
“คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต ขอส่งกำลังใจให้กับการเรียนร้องสิทธิของชาวบ้านในผืนป่าแก่งกระจานทุกท่าน และขอให้วิถีชีวิตอยู่กับป่าได้สืบเนื่องต่อไป จนกว่าจะประสบความสำเร็จ”ศ.ดร.วีระ กล่าว
ดร.ภัทรมน สุวพันธุ์ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งทำดุษฎีนิพนธ์ เรื่องกะเหรี่ยงแก่งกระจาน การช่วงชิงอำนาจการจัดทรัพยากรและการรุกคืบของทุน กล่าวว่า ชุมชนกะเหรี่ยงอยู่ในพื้นที่บางกลอยมานาน ปู่คออี้ยืนยันว่าอยู่บริเวณนั้นมาตั้งแต่ดื่มน้ำนมหยดแรก ซึ่งมีหลักฐานต่างๆยืนยัน ทั้งที่เป็นเอกสารในหอจดหมายเหตุแห่งชาติและหลักฐานอื่นๆ เช่น การสำรวจของรัฐไทยโดยชาวบางกลอยได้รับเหรียญชาวเขาปี2512 ขณะที่อุทยานฯประกาศปี 2524 จึงชัดเจนว่าชาวบ้านอยู่มาก่อน
ดร.ภัทรมนกล่าวว่า กะเหรี่ยงแก่งกระจานต่างได้รับผลกระทบจากกลไกของรัฐ มีการบังคับให้พวกเขาเข้ามาในระบบทุนทำให้ต้องตกขอบมากขึ้น โดยราชการพยายามลบประวัติศาสตร์บางกลอยบน เมื่อถูกย้ายมาอยู่ด้านล่างชาวบ้านบางกลอยได้รับค่าจ้างวันละ 120 บาท ขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเพชรบุรีวันละ 330 บาท ส่งผลกระทบถึงวัฒนธรรมประเพณี เมื่อปลูกข้าวไม่ได้ก็ต้องเป็นแรงงานรับจ้างทอผ้าตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น โดยต้องทอตามลายที่ตลาดหรือมูลนิธิฯต้องการ ทำให้ลายที่เป็นอัตลักษณ์ของชาวบ้านจึงหายไป
“ผู้วิจัยอยู่ข้างเดียวกับผู้ถูกขูดรีด เป็นจุดยืนญาณวิทยามุ่งช่วยเหลือชาวบ้าน เพราะชาวบ้านเสียงเบาถูกกลบด้วยมายาคติ เราจึงต้องสลายมายาคตินี้ เราใช้ระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพแบบมีส่วนร่วม ผลการศึกษาที่เราค้นพบ เราไม่สามารถเรียกกะเหรี่ยงแก่งกระจานว่าเป็นคนชายขอบได้ แต่เป็นคนตกขอบมากกว่า ทฤษฎีความเป็นชายขอบจึงอาจใช้ไม่ได้ที่นี่ แต่ต้องใช้ว่าภาวะการณ์ตกขอบ”ดร.ภัทรมน กล่าว
นายนิยม เที่ยวไพร ชาวบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน กล่าวว่า บางกลอยมีการละเมิดสิทธิมากที่สุด แต่รอบป่าแก่งกระจานไม่ได้มีเฉพาะบางกลอยเท่านั้น แต่ชาวบ้านอีกหลายกลุ่มที่ถูกละเมิดสิทธิแต่เสียงของชาวบ้านไม่ดัง หรือไม่กล้าออกมาสื่อสาร หรือสื่อสารแล้วสังคมไม่ได้ยิน ยิ่งชาวบ้านถูกข่มขู่ด้วย ทำให้ไม่กล้าออกมาพูดอีก หลายพื้นที่ในป่าแก่งกระจานกำลังถูกโครงการของรัฐรุกรานโดยไม่ฟังชาวบ้าน ขณะที่อุทยานฯบอกว่าอนุรักษ์ป่าแต่กลับยอมให้กรมชลประทานมาสร้างเขื่อน
นายพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ชาวบ้านบางกลอย กล่าวว่า ผืนป่าแก่งกระจานประกอบด้วยคนกะเหรี่ยงอยู่รอบๆตะเข็บป่า เดิมมีวิถีที่พึ่งพาธรรมชาติและวิถีวัฒนธรรมเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง และมีเกษตรผสมผสานคือไร่หมุนเวียนโดยชาวบ้านพอมีพอกินและอยู่กันได้ โดยในส่วนของชาวบ้านบางกลอยที่มีการอพยพตั้งแต่ปี 2539 โดยเจ้าหน้าที่ไปบอกกับชาวบ้านว่าอยู่ที่เดิมไม่ได้แล้ว แต่ชาวบ้านต่อรองจนเจ้าหน้าที่บอกว่าให้ลองลงมาอยู่ก่อน หากอยู่ไม่ได้ก็ให้กลับไป และมีข้อตกลงว่าหากลงมาจะให้ที่ดินครอบครัวละ 7 ไร่และดูแลอาหารการกินให้ 3 ปี ทำให้ชาวบ้านชุดแรก 57 ครัวเรือนลงมา ปรากฏว่าได้ที่ทำกินกันไม่ครบ และที่ได้ก็ไม่ครบ 7 ไร่ บางแปลงไม่สามารถปลูกพืชได้เพราะเป็นหิน และที่บอกว่าว่าจะดูแลอาหารการกิน 3 ปี กลับได้ไม่ถึง 3 เดือนทำให้ชาวบ้านทยอยอพยพกลับขึ้นไป
“ชาวบางกลอยอยู่มา 20 ปีและไม่ได้รับการดูแล เมื่อต้นเดือนมกราคม 2564 จึงตั้งใจกลับไปพื้นที่เดิม 30 ครอบครัว และถูกจับ ถูกดำเนินคดีรวม 30 คน คดีอยู่ในชั้นอัยการ ชาวบ้านกำลังลุ้นอยู่ว่าอัยการจะส่งฟ้องหรือไม่”นายพงษ์ศักดิ์กล่าว
นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า มีโครงการและมูลนิธิบางแห่งเข้าไปสนับสนุนชาวบ้าน แต่ไม่สอดคล้องกับวิถีของชาวกะเหรี่ยงที่ทำไร่หมุนเวียน การใช้ระบบน้ำในการเกษตรก็มีปัญหาทำให้ต้องทะเลาะกันเอง การที่กลับไปอยู่ที่เดิมจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด เราไม่ได้เปิดป่าใหม่ แต่เป็นป่าที่เราเคยทำกินมาก่อน จะทำให้บางกลอยบนเป็นอนาคตของชาวบ้าน ซึ่งหลังจากชาวบ้านอพยพลงมาทำให้ความสามัคคีของชุมชนน้อยลง การแบ่งปันกันน้อยลงต้องพึ่งเงินมากขึ้น อัตลักษณ์ต่างๆเช่นการแต่งชุดกำลังสูญหาย
นายวุฒิ บุญเลิศ ที่ปรึกษาเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่ากะเหรี่ยงย่านนี้แตกต่างจากกะเหรี่ยงภาคเหนือ คือไม่ได้ปลูกบ้านเป็นชุมชนและต่างคนต่างอยู่ ทำให้ไม่เห็นสถาบันของชุมชนที่เข้มแข็ง สาเหตุที่ต้องอยู่กระจายเพราะไม่ได้อยู่บนที่ราบ โดยทำข้าวไร่หมุนเวียน ซึ่งอยู่กันมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 มีบันทึกว่าต้นน้ำเพชรมีกะเหรี่ยงและละว้าอยู่ ขณะที่หน่วยราชการบางส่วนพยายามบอกว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่กะเหรี่ยงแต่เป็นชนกลุ่มน้อย แต่จริงๆแล้วกะเหรี่ยงเพชรบุรีสนิทกับคนเพชรบุรีมาก เห็นได้จากภาพคนกะเหรี่ยงในจิตกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆในเพชรบุรี เห็นถึงความสัมพันธ์การเป็นพี่น้องกัน และยังมีภาพสะท้อนด้านอาหาร เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อ-พริกกะเหรี่ยง ซึ่งบอกถึงความคุ้นเคยแลกเปลี่ยนภูมิปัญญากัน ยอมรับซึ่งกันและกัน น่าเสียดายภายใต้การพัฒนาและอนุรักษ์ที่ต้องการชื่อเสียงโดดเด่นให้กลายเป็นการท่องที่ยวมรกดโลก ทำให้บางอย่างต้องขาดหายไป
นางสุนี ไชยรส รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าชาวบางกลอยเจ็บปวดที่ต้องรอรับข้าวจากการบริจาคเพราะคนกะเหรี่ยงไม่เคยแบบมือขอข้าวใครกิน ขณะนี้มีกว่า 4 พันหมู่บ้านอยู่ในป่าอนุรักษ์แต่ทำไมชาวบ้านบางกลอยถึงอยู่ไม่ได้สร้างความข้องใจให้ประชาชนมาก ในเมื่อคนบางกลอยอยู่กันมาก่อนทำไมไม่มีสิทธิกลับไป ข้าราชการปกป้องอยู่กับหลักการเอาคนต้นน้ำออกจากพื้นที่ แล้วหลักการที่บอกว่าเขาเป็นชนพื้นเมืองและอยู่มาก่อนต้องทำอย่างไร คนบางกลอยถอยไม่ได้ หากรัฐบาลผิดพลาดคือต้องยอมรับ
“การกระทำมาจากอำนาจรัฐชัดเจน รุนแรง แล้วเราปล่อยละเลยมาตั้งแต่ปี 2539 ที่อพยพชาวบ้านลงมา เขาเอาหลักการอะไรไปอพยพชาวบ้านมา ขณะที่คดีต่างๆไม่มีความคืบหน้า ทั้งคดีนายทัศน์กมล โอบอ้อม และคดีบิลลี เราต้องทำทุกอย่างให้ปรากฏ เมื่อเขาอยู่มาก่อน ไม่งั้นไม่ต้องพูดเรื่องประชาธิปไตย ไม่ต้องพูดเรื่องวิถีชีวิต”นางสุนี กล่าว
ในวันเดียวกันที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กรุงเทพฯ นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนางพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มึนอ อดีตภรรยานายพอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ แกนนำชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่ถูกบังคับให้สูญหาย ได้เดินทางเข้าพบ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีดีเอสไอ เพื่อติดตามความคืบหน้าของคดีและขอบคุณดีเอสไอ ที่ดำเนินการตามกฎหมาย กรณีการหายตัวไปของบิลลี่ ตามคดีพิเศษที่ 13/2562 ซึ่งมีการส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาสั่งฟ้องแล้ว
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า หลังจากอัยการรับเรื่องพิจารณามีความเห็นว่าข้อมูลการฆาตกรรมยังมีไม่เพียงพอและสั่งฟ้องเพียงข้อหา ม.157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทางดีเอสไอก็มีความเห็นแย้งไปว่าพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว กระทั่งล่าสุดเมื่อเดื่อนกันยายน 2564 อัยการส่งเรื่องให้ดีเอสไอสืบสวนเพิ่มอีก 4 ประเด็น ขณะนี้ทราบว่าดำเนินการสืบสวนสอบสวนเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว จึงเดินทางมาติดตามความคืบหน้าและขอบคุณดีเอสไอ ซึ่งเข้ามาทำคดีที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ
ขณะที่นางพิณนภา หรือ มึนอ ได้ยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด เพื่อขอให้เร่งรัดดำเนินคดีอาญาต่อนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรและพวกรวม 4 คนตามความเห็นสั่งฟ้องของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและดำเนินการตามกฎหมายให้ได้รับความเป็นธรรมเพื่อนำคนผิดมาลงโทษ
ด้าน นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีดีเอสไอเผยว่า ดีเอสไอได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งของอัยการที่ขอให้สอบเพิ่มเติม และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดแล้วในวันนี้ มีการสอบพยานเพิ่มเติม 7 ปาก ใน 4 ประเด็น ซึ่งดีเอสไอให้ความสำคัญเรื่องนี้มาโดยตลอด และยังให้ความคุ้มครองดูแลนางพิณนภา เพราะถือเป็นบุคคลสำคัญในคดี โดย 4 ประเด็น ประกอบด้วยพยานเทคนิคที่รวบรวมพยานหลักฐาน, การตรวจสอบวัตถุพยานเพิ่มเติม, เครือญาติผู้สูญหาย และเจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับการตรวจพิสูจน์หลักฐาน แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ทวี' สั่ง 'DSI' ตรวจสอบข้อเท็จจริง รื้อคดี 'แตงโม' ก่อนยื่นอัยการสูงสุดหรือไม่
ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ ขอให้กระทรวงยุติธรรม ทำหนังสือถึงอัยการ
DSI หอบสำนวน 161 ลัง ส่งอัยการฟ้อง 'ดิไอคอน-18 บอส' 5 ข้อหาหนัก
พันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร้อยตำรวจเอกวิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
'ดีเอสไอ' ประชุมใหญ่ สรุปสำนวนดิไอคอน ก่อนส่งอัยการ 23 ธ.ค.นี้
จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ
พยานฝั่งดิไอคอน ร้อง 'กมธ.ความมั่นคง' หวั่นไม่ได้รับความเป็นธรรม
ผู้เสียหายและพยานที่ได้รับความเดือดร้อน จากการอายัดทรัพย์โดยไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับความผิดที่ถูกกล่าวหา กรณี บริษัท ดิ ไอคอนกรุ๊ป เข้ายื่นหนังสือถึง นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ
'ADDA FEST ON THE BEACH' เทศกาลดนตรีส่งท้ายปีที่จัดเต็มความสนุกล้นหาด!
เรียกได้ว่าเป็นเทศกาลดนตรีที่มอบความสุขท่วมท้นจนล้นหาดชะอำกันเลยทีเดียว กับงาน “ADDA FEST ON THE BEACH” ที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ TRIPLE TREE BEACH RESORT จ.เพชรบุรี
'เคนโด้-อี้' จี้ดีเอสไอ สอบบริษัทเครือข่ายขายซิม-รถยนต์ของ 'สามารถ' หลังยึดได้ 15 คัน
ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายเกรียงไกรมาศ พจนสุนทร หรือ เคนโด้ และ นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานชมรมสันติประชาธรรม