โวยเจ้าหน้าที่บริษัทเอกชนไร้คุณธรรม ตัดไฟบ้านหญิงวัย 68 ปี ผู้ป่วยหนักนอนติดเตียง ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ค้างชำระ 2 เดือน รวม 1,500 บาท ไม่สนคำขอร้องให้งดตัดไฟ ญาติกำลังจะไปจ่ายเงินตอนนี้ แต่กลับยกมิเตอร์ไฟฟ้าไป สุดท้ายเสียชีวิตคาบ้าน
3 ต.ค.2567 - ที่ จ.นครพนม กลายเป็นปัญหาซ้ำซาก สร้างความเดือดร้อนกับชาวบ้านจนนับครั้งไม่ถ้วน เกิดปัญหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เกี่ยวกับพนักงานบริษัทเอกชนที่ประมูลได้จากการไฟฟ้า ทำหน้าที่จดมิเตอร์และตัดกระแสไฟฟ้า ในกรณีผู้ใช้ไม่ชำระเงินตามกำหนด โดยไม่ยอมฟังเหตุผลใดๆ อ้างคำเดียวว่าทำตามหน้าที่
ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา เกิดเรื่องสลดขึ้นเมื่อนางสาวนงลักษณ์ จันทร์ชนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านนาขาม (ผอ.รพ.สต.นาขาม) ต.วังยาง อ.วังยาง จ.นครพนม พร้อมญาติผู้เสียชีวิต ออกมาร้องเรียนผ่านสื่อ เพื่อสะท้อนปัญหาไปยังผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรณี นางเกียน ลี้พล อายุ 68 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ชาวบ้านนาขาม ต.วังยาง อ.วังยาง จ.นครพนม มีเป็นผู้ป่วยติดเตียง ขยับร่างกายและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทำให้มีแผลกดทับนานหลายเดือน โดยอาการทรุดลงเรื่อยๆ จึงต้องใช้อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องผลิตอ็อกซิเจนช่วยหายใจ รวมถึงเครื่องดูดเสมหะ และเตียงลม โดยนางเกียนอาศัยอยู่บ้านเพียงลำพัง เนื่องจากสามีเสียชีวิต เมื่อ 10 ปีที่แล้ว และไม่มีลูกเป็นคนดูแล จึงต้องอาศัยน้องสาว รวมถึงลูกหลานคอยดูแลเป็นบางเวลา
จนกระทั่งเมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา มีพนักงานบริษัทเอกชน รับเอกสารจากสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขา อ.วังยาง จ.นครพนม มายืนยันเพื่อยกมิเตอร์ไฟฟ้า ออกจากบ้านพักของนางเกียน ระบุว่าบ้านหลังนี้ค้างชำระค่าไฟฟ้าประมาณ 2 เดือน ขณะที่เจ้าหน้าที่บริษัทเอกชน กำลังจะตัดกระแสไฟฟ้า หลานสาวของนางเกียน ได้เข้าไปอ้อนวอน ให้เหตุผลว่าคุณยายเจ้าของบ้านป่วยติดเตียง อาศัยอยู่เพียงลำพังไม่มีคนดูแล พร้อมให้เหตุผลว่าแต่เดิมไม่เคยเสียค่าไฟ เนื่องจากใช้กระแสไฟไม่เกินหน่วยตามรัฐบาลให้ความช่วยเหลือ จนกระทั่งคุณยายเจ้าของบ้าน ป่วยหนักต้องมีอุปกรณ์การแพทย์ ทั้งใช้เครื่องช่วยหาย ใจ เครื่องดูดเสพหะ และเตียงลม จึงต้องใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้น เข้าเกณฑ์ต้องชำระเงิน เมื่อตรวจสอบพบว่า มีบิลแจ้งชำระ 2 เดือน รวมประมาณ 1,500 บาท ทางญาติยืนยันพร้อมรับผิดชอบ จะเร่งไปดำเนินการจ่ายค่าไฟฟ้า และขอร้องให้งดการตัดไฟ เพราะเกรงว่าจะกระทบการรักษาผู้ป่วย
แต่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ยอมฟังเหตุผล อ้างต้องทำตามหน้าที่ จึงดำเนินการยกมิเตอร์ไฟฟ้าไป โดยไม่อีนังขังขอบว่าในบ้านมีผู้ป่วยติดเตียง ทำให้อุปกรณ์การแพทย์หยุดทำงาน หนักสุดคือเครื่องผลิตอ็อกซิเจนไม่ทำงาน ทำให้ยายเกียนเจ้าของบ้าน ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มีอาการทรุดหนัก และเสียชีวิตช่วงคืนที่ผ่านมา ทั้งที่ญาติพยายามเร่งไปชำระค่าไฟ และมีเจ้าหน้าที่มาติดตั้งมิเตอร์คืน ในช่วงเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ผู้ป่วยไม่สามารถหายใจเองได้จึงเสียชีวิต
ทั้งนี้หลังบ้านนางเกียนถูกตัดกระแสไฟ ทางด้านยายกรม เชื้อบริหาร อายุ 73 ปี พี่สาวของผู้ตาย อาศัยในหมู่บ้านเดียวกันรีบนำเงินไปชำระตามใบแจ้งบิล โดยซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ หลานสาวขับไปชำระที่สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขา อ.วังยาง ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 10 กิโลเมตร
โดยทางญาติรวมถึงหลานสาวยังคาใจ ถามหาคุณธรรมผู้ที่มาตัดกระแสไฟ ทั้งที่มีการพูดคุยแจ้งเหตุผล ที่ค้างชำระค่าไฟ แต่ไม่ยอมรับฟัง มองข้ามชีวิตคน พร้อมระบุว่าหากไม่เจอกับญาติพี่น้องตัวเองคงไม่รู้สึกหรอก พร้อมเรียกร้องให้ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)ออกมาชี้แจง และแสดงความรับผิดชอบ เชื่อว่าเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วย ถึงแม้จะนอนติดเตียงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่ยังดีที่ผู้ป่วยยังพูดคุย ใช้ชีวิตกับญาติพี่น้องได้ จึงไม่ควรจะมาเสียชีวิตคาเตียงแบบนี้ แทนที่จะได้ใช้เงินหมื่นจากรัฐบาล ที่เพิ่งได้รับมาไม่ถึงวัน แต่ยังดีได้นำมาจ่ายค่าไฟ และซื้ออาหารให้ทานก่อนเสียชีวิต
ส่วน นางสาวสุธารินี อายุ 42 ปี หลานสาวของผู้ตาย เปิดเผยว่าลูกหลานทุกคนจะออกไปทำงานกันหมด พอเลิกงานจะกลับมาดูแลยายเกียนผู้เสียชีวิต และมีคนสลับสับเปลี่ยนกันมานอนเฝ้าทุกวัน โดยในช่วง 1- 2 เดือนที่ผ่านมา ยายเกียนมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ รวมถึงเครื่องดูดเสมหะ แต่ยังพูดคุยรู้เรื่องมีสติดี รับประทานอาหารได้
"วันเกิดเรื่องมีเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นบริษัทเอกชน ทำหน้าที่ตัดไฟที่เกินกำหนดชำระ มาทำการยกหม้อมิเตอร์ไฟหน้าบ้านยาย ตนจึงไปสอบถามและขอร้อง โดยให้เหตุผลว่าจะไปชำระทันที เพราะตอนนี้ไม่มีคนดูแลยาย แต่กลับถูกปฏิเสธไม่ฟังเหตุผลใดๆ พร้อมยกหม้อไฟไปต่อหน้าต่อตา"
น.ส.สุธารินี บอกว่าได้ประสานหาทางช่วยเหลือเพื่อนำเงินไปชำระ แต่ระยะทางไกลประมาณ 10 กิโลเมตร ใช้เวลานับชั่วโมง จึงมีเจ้าหน้าที่กลับมาติดตั้งหม้อไฟ แต่อาการยายทรุดลงแล้ว และเสียชีวิตตอนกลางดึก ถึงแม้ตนไม่สามารถยืนยันได้ว่า เสียชีวิตเพราะเครื่องผลิตออกซิเจนไม่ทำงาน แต่ยังคาใจถึงคุณธรรมในการทำงานด้านบริการ เชื่อว่าหากไม่ตัดไฟยายยังใช้ชีวิตต่อได้ หากจะอ้างไม่มีข้อมูลยืนยันเป็นผู้ป่วย เมื่อหลายเดือนก่อนเคยเกิดเรื่องลักษณะเดียวกันมาแล้ว ครั้งนั้นมีการอ้อนวอนขอให้แจ้งก่อนการตัดไฟ เพราะไม่มีคนดูแล ผู้ป่วยอยู่คนเดียวลำพัง ไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องร้ายซ้ำอีก
ด้าน น.ส.นงลักษณ์ จันทร์ชนะ ผอ.รพ.สต.นาขาม ต.วังยาง อ.วังยาง จ.นครพนม ในฐานะมีหน้าที่ดูแลสุขภาพของคนในชุมชน เปิดเผยว่าได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปดูแลยายเกียนทุกสัปดาห์ ช่วยเหลือในส่วนที่ญาติไม่สามารถทำเองได้ เพราะบางวันต้องล้างแผลกดทับ ยอมรับยังรับไม่ได้ พอรู้ว่ามีเจ้าหน้าที่มายกมิเตอร์ไฟ ทำให้ยายอาการทรุดและเสียชีวิต จึงขอถามหาคุณธรรมคนทำงานบริการประชาชน ทั้งที่รู้ในบ้านคนจะตาย แต่ไม่ยอมฟังเหตุผลทั้งที่ญาติอ้อนวอนขอความเมตตา
ตนในฐานะพยาบาล ยังไม่เลือกที่จะช่วยเหลือรักษาชีวิตคน ไม่ว่าจะเป็นคนผิดคนถูก จรรยาบรรณต้องรักษาอาการเจ็บป่วยเพื่อให้รอดชีวิตทุกคน แต่หน่วยงานการไฟฟ้า อ้างทำตามหน้าที่ ทั้งรู้ว่าจะเกิดผลกระทบกับผู้ป่วย ฝากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทบทวนหาทางแก้ไข ได้ยินเรื่องนี้ทางสื่อบ่อยมาก อยากให้แก้ไขจริงจังเสียที น่าจะมีทางออกที่ดี เชื่อว่ามีมาตรการแก้ไข ถามว่าเมื่อเกิดความสูญเสียใครจะรับผิดชอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับปัญหาการยกมิเตอร์ไฟฟ้า ถือเป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ มีการร้องเรียนผ่านสื่อประจำ เพื่อให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีมาตรการดูแลช่วยเหลือ พิจารณาเป็นรายบุคคลตามความเหมาะสม เพราะบางรายมีความจำเป็น โดยไม่มีเจตนาเบี้ยวค่าไฟ แต่บางครั้งมีปัญหาเกี่ยวกับระบบจ่ายค่าไฟผ่านแอพพลิเคชั่น รวมถึงบิลค่าไฟไม่ถึงมือเจ้าของบ้าน จึงเกิดการชำระล่าช้า แต่ผู้รับจ้างเอกชนไม่สนใจฟังเหตุผล อ้างทำตามหน้าที่ เพราะมีค่าตอบแทนในการตัดยกหม้อไฟหลังละ 100 กว่าบาท ถึงรู้ว่าเกินกำหนดจ่ายเพียงแค่ชั่วโมงเดียว ยังตัดไฟเพราะได้ค่าตอบแทน ทั้งที่ชาวบ้านยอมจ่ายค่าปรับตามระเบียบ แต่ยังยืนยันที่จะยกหม้อไฟฟ้า โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อธุรกิจการค้า รวมถึงคนที่เจ็บป่วย ที่ต้องใช้เครื่องมือแพทย์ช่วยเหลือตามชุมชนหมู่บ้าน จึงอยากถามการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สะกดคำว่าคุณธรรมเป็นไหม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แก๊งยาเสพติดข้ามชาติ ยัดผงขาว-ไอซ์ มูลค่ากว่า 100 ล้าน ในองค์พระพุทธรูป
ที่หน้ากองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 237 กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 23 (ร้อย ตชด.237 กก.ตชด.23) พล.ต.ฉัฐชัย มีชั้นช่วง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 (มทบ.210) และ รองผู้บัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด
'การไฟฟ้าไทย-สปป.ลาว' แข่งกีฬามิตรภาพ บรรยากาศสุดชื่นมื่น
ชาวการไฟฟ้า 2 ชาติ "ไทย-ลาว" กฟผ และ ฟฟล. สุดชื่นมื่น หลังร่วมแข่งขันกีฬามิตรภาพ ประจำปี 2567 ซึ่งฝ่ายไทย เป็นเจ้าภาพ ที่ปากช่อง เมืองโคราช
'นครพนม' ขานรับ 'ธวัชบุรีโมเดล' นำร่อง อ.ศรีสงคราม เส้นทางโจรลำเลียงยาบ้าเข้าตอนใน
พล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 (มทภ.2) ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 (ผอ.กอ.รมน.2) ผู้บัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 24 (ผบ.นบ.ยส.24)
ตม.นครพนม คุมเข้มสกัด 'แก๊งสแกมเมอร์ทิพย์' ปมเจ๊อ้อยโอนเงิน 39 ล้าน
กรณี ตำรวจกองปราบปราม กองบังคับการ 3 ร่วมกับชุดสืบสวนของกองกำกับการ 5 ตำรวจทางหลวง นำกำลังเข้าสกัดจับกุม ทนายตั้ม-นายษิทรา เบี้ยบังเกิด อายุ 43 ปี ในคดีหลอกลวงเงิน น.ส.จตุพร อุบลเลิศ หรือ เจ๊อ้อย ตามหมายจับศาลอาญา
พี่สาวร่ำไห้ตามหา 'ครูวี' เจอมรสุมชีวิตทับถม ชิงลาออกไปเป็นกรรมกรก่อสร้าง
กรณีมีข่าวลือหนาหูว่ามีครูชำนาญการพิเศษ ลาออกไปเป็นกรรมกรก่อสร้างในกรุงเทพฯ หลังประสบมรสุมชีวิตอย่างเดียวดาย และล้มป่วยสารพัดโรค ก่อนจะตัดสินใจลาออก เพื่อรับเงินบำเหน็จ นำไปใช้หนี้เงินกู้
แจงดราม่า! งานตักบาตรพระ 1 พันรูป ปล่อยนั่งตากแดด โยนออแกไนซ์รับผิด
จังหวัดนครพนม ได้รายงานข้อเท็จจริง กรณีงาน "มหาบุญแห่งศรัทธานครพนม" โดยตามที่ปรากฏข่าวบนสื่อสังคมออนไลน์ ประเด็น "ทัวร์ลงยับ นิมนต์พระ 1 พันรูป ปล่อยนั่งตากแดด" เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมานั้น