เทศบาลเชียงราย เก็บขยะได้แล้วครึ่งหนึ่งจาก 5 หมื่นตัน คาดเสร็จทันเปิดเมือง 1 พ.ย.

เทศบาลนครเชียงราย เชื่อเก็บขยะทันก่อนเปิดเมือง 1 พย. เผยขยะน้ำท่วมมหาศาลถึง 5 หมื่นตัน จัดเก็บแล้วครึ่งหนึ่ง นักวิชาการแนะแผนเตรียมความพร้อมจัดการขยะ หวั่นฝังรวม-ไม่คัดแยกยิ่งส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม

30 ก.ย.2567 - นายณรงค์ศักดิ์ เตือนสกุล รองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดการขยะภายหลังอุทกภัยใหญ่ในเขตเทศบาลเชียงรายว่า กล่าวว่า ขณะนี้สามารถเก็บขยะได้แล้วประมาณครึ่งหนึ่งจากปริมาณขยะหลังน้ำท่วมทั้งหมด 5 หมื่นตัน โดยนำไปทิ้งที่บ่อขยะของเทศบาล และจุดพักขยะต่างๆที่ขอความอนุเคราะห์จากหน่วยงานและภาคเอกชน และล่าสุดยังได้รับความกรุณาจากกองทัพอากาศอนุญาตให้สามารถนำขยะไปทิ้งฝังกลบที่สนามบินเก่าในเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่

นายณรงค์ศักดิ์กล่าวว่า เทศบาลฯได้ว่าจ้างรถเอกชนร่วม 100 คัน ในการขนขยะ เพราะเทศบาลมีรถขยะจำนวนไม่มาก อย่างไรก็ตามมาเทศบาลหลายพื้นที่ได้ส่งรถขนขยะมาช่วย

“ขยะตามบ้านเรือนปกติมีประมาณ 100 ตัน ซึ่งส่วนนี้ไม่มีปัญหา เราสามารถขนเอาไปทิ้งได้ทัน แต่ขยะหลังน้ำท่วมมากมาย เราก็พยายามขนออกให้เร็วที่สุด ตอนนี้บนถนนสายหลัก เราก็ขนออกไปจนเกือบหมดแล้ว เพื่อให้การสัญจรใช้ได้ตามปกติ แต่ที่มีปัญหาคือขยะที่อยู่ตามซอกซอยต่างๆซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกนิดหน่อย” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ว่าจะเร่งฟื้นฟูเมืองให้เสร็จภายในสิ้นเดือนตุลาคม จะสามารถดำเนินการได้ทันหรือไม่ รองนายกเทศมนตรีกล่าวว่า น่าจะแล้วเสร็จทัน โดยขยะหลังน้ำท่วมเป็นขยะเปียกทั้งหมดซึ่งต้องนำไปฝังกลบเท่านั้น ซึ่งน่าจะทำได้ทันก่อนเปิดเมืองในวันที่ 1 พฤศจิกายน


นายนพฤทธิ์ สุทธศิลป์ นักวิชการสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดการขยะหลังน้ำท่วมใหญ่ในอำเภอเมือง จ.เชียงราย ว่าเทศบาลนครเชียงรายและหน่วยงานภาครัฐได้ทำตามระบบตามตัวชี้นำ หรือ guideline ไว้ 70-80% แต่จริงๆแล้วยังสามารถทำได้ดีกว่านี้ โดย guideline คือ ปกติขยะช่วงน้ำท่วมควรนำไปกองไว้ที่ใดที่หนึ่งเพื่อให้มีการคัดแยก แล้วเลือกเอาที่รีไซเคิลไม่ได้ไปไว้ที่บ่อขยะ ซึ่งครั้งนี้เทศบาลมีพื้นที่นำขยะไปพักกองไว้ แต่ไม่สามารถคัดแยกได้ ทำให้ขยะทั้งหมดต้องถูกนำไปที่บ่อฝังกลบเหมือนเดิม ถ้าจะให้ดีกว่านี้คือต้องไปหาพื้นที่ที่ใหญ่กว่าเดิมแล้วให้พวกคัดแยกขยะ เช่น ซาเล้ง เข้าไปจัดก่อนก่อน แต่ก็เข้าใจเทศบาลว่ามีพื้นที่อยู่เยอะ จึงไม่ได้สนใจประเด็นนี้

“เหตุการณ์ครั้งนี้ฉุกหุกละหุก และเทศบาลไม่เคยเจอมาก่อน แต่ถ้าเปรียบเทียบกับเทศบาลแม่สายที่เขาคัดแยกเองได้ คนที่เคยมีประสบการณ์เรื่องโคลนมาหลายครั้งเขารู้ว่าจะคัดแยกอย่างไร ถ้ามีประสบการณ์ก็สามารถทำได้เหมือนที่แม่สายทำ” นักวิชาการด้านการจัดการขยะผู้นี้ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าการนำขยะทุกชนิดไปฝังกลบจะทำให้มีปัญหาอะไรตามมาหรือไม่ นายนพฤทธิ์กล่าวว่า มีแน่นอน อย่างแรกคือถ้าเป็นขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้จำทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและเป็นมลพิษทางอากาศ ส่วยขยะที่เป็นสารพิษหรือขยะอันตราย เช่น ถ่ายไฟฉาย เมื่อฝังกลบ หากไม่มีแผ่นรองก้นหรือรองพื้น ทำให้สารเคมีซึมลงไปปนเปื้อนกับน้ำใต้ดิน ส่วนขยะอิเลคทรอนิกส์เวลาย่อยสลายก็จะปล่อยสารเคมีออกมาซึ่งน่ากลัว แต่ก็มีวิธีแก้ไขคือตอนนี้เทศบาลนครเชียงรายกำลังเปิดบ่อขยะใหม่ที่สนามบินเก่าโดยขุดลงไป 4 เมตรแล้วฝังกลบโดยใช้เวลาให้เกิดการย่อยสลายแล้วจะขุดร่อนได้ง่ายขึ้น แต่บ่อขยะใหญ่ของเทศบาลที่ ต.ห้วยสักซึ่งเปิดแล้ว 6 บ่อ โดยเข้าใจว่าได้เอาขยะน้ำท่วมไปทิ้งบนขยะอื่นๆที่เคยถมไปแล้วซึ่งมีแผ่นรองรับอยู่ทำให้ป้องกันการปนเปื้อนใต้ดินได้ระดับหนึ่ง

นายนพฤทธิ์กล่าวถึงกองขยะที่ ต.บ้านดู่ ว่าเป็นกองขยะอีกลักษณะหนึ่งที่เรียกว่า Open Dump คือเปิดหน้าดินแล้วเอาขยะไปเทเฉยๆโดยไม่มีการฝังกลบ หรือเรียกว่าการเทกอง แตกต่างจากการฝังกลบซึ่งถูกสุขลักษณะมากกว่า การปล่อยให้มีการเทกองไปเรื่อยๆ ต่อไปจะทำให้มีสัตว์ประเภทนก หนูและพาหะนำโรคเข้าไป เมื่อฝนตกน้ำจากกองขยะก็จะไหลลงไปตามคูคลองต่างๆทำให้น้ำเน่าเสีย และกลายเป็นประเด็นปัญหากว่าการฝังกลบ

ผู้สื่อข่าวถามว่าในระยะยาวการบริหารจัดการขยะในจังหวัดเชียงรายควรเป็นอย่างไร นายนพฤทธิ์กล่าวว่า ประเด็นแรกการจัดการขยะทั่วไปนั้น เทศบาลนครเชียงรายทำดีอยู่แล้วเพราะมีการคัดแยกขยะก่อนที่จะนำไปที่บ่อขยะ แต่ขยะในยามน้ำท่วมจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการในพื้นที่โดยหาพื้นที่สำรองในการจัดเก็บชั่วคราว แต่ตอนนี้เทศบาลยังไม่มี หากมีพื้นที่สำรองเอาขยะมากองไว้แล้วให้มีการคัดแยก จะทำให้ไม่มีปัญหานี้

เมื่อถามว่า ทางเทศบาลประเมินว่ามีขยะหลังน้ำท่วมประมาณ 5 หมื่นตันและจัดเก็บไปแล้วครึ่งหนึ่ง เหลือเวลาอีก 1 เดือนจะมีการเปิดเมืองเชียงรายจะทันหรือไม่ นักวิชการผู้นี้กล่าวว่า น่าจะทันหากแค่เคลียร์ตามหน้าบ้านหรือหน้างาน แต่ขยะก็จะไปกองหลังบ้านของเทศบาล

“ภัยพิบัติจากน้ำท่วมครั้งนี้ สิ่งที่ผมเห็นคือเรื่องการเตรียมตัวที่ยังไม่พร้อมของการจัดการขยะ และองค์ความรู้ที่ไม่ทั่วถึง ผมเคยเสนอเรื่องนี้ให้เทศบาลว่าควรจัดการขยะอย่างไร จริงๆ แล้วเรามีชุดความรู้นี้อยู่ เพียงแต่ตอนนั้นเขายังคิดว่าไม่มีความจำเป็น แต่สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ทำให้เข้าใจมากขึ้น” นายนพฤทธิ์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศปช. ยันพายุหยินซิ่งไม่เข้าไทย แจงข่าวน้ำท่วมแม่สายอีกรอบเป็นเฟกนิวส์

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ในฐานะโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย

ครม.อนุมัติงบกลาง 2.5 พันล้าน ฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินแผนงาน

นายกฯ สั่งส่วนราชการเก็บรายละเอียดช่วยเหลือประชาชนต่อไป แม้จะคืนพื้นที่น้ำท่วมแล้ว

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ในฐานะโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ส่วนราชการในพื้นที่ ศปช.ส่วนหน้า แม้จะปิดไปแล้ว แต่ขอให้ส่วนราชการในพื้นที่ประจำ

ศปช. เตือน 10 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วม-ดินโคลนถล่มจากฝนตกหนัก

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 2 - 5 พ.ย. 67 จะมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ ที่ประชุม ศปช.

'กกร.เชียงใหม่' จ่อชง 'ครม.สัญจร' เยียวยาผู้ประกอบการน้ำท่วม

นายอาคม สุวรรณกันทา ประธานสมาพันธ์ SMEs ไทย จังหวัดเชียงใหม่ และรองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า มาหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับเชียงใหม่ปีนี้

'เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร' ล่องเรือ นำของทำบุญแบ่งปันผู้ประสบภัยน้ำท่วม

พระราชสิทธิเวที,รศ. ดร. เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร เจ้าอาวาสวัดท่าหลวง พระอารามหลวง พร้อมด้วยคณะสงฆ์ รวมถึงญาติธรรม ได้ร่วมกันนำสิ่งของซึ่งเป็นข้าวสาร อาหารแห้ง