ภาคประชาสังคม-นักวิชาการเชียงรายระดมสมองหาทางออกหลังภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ เห็นพ้องเร่งจัดทำแผนฟื้นฟูเมืองให้ทันฤดูท่องเที่ยว-นักวิชาการเสนอเลือกตั้ง ผวจ.แก้ปัญหาอยู่รอวันเกษียณ วิพากษ์ไร้ระบบเตือนภัย
24 ก.ย.2567 - ณ ห้องประชุมวัดพระสิงห์ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ได้มีการประชุมของภาคประชาสังคมและภาควิชาการ เรื่องสถานการณ์การแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมเชียงราย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 35 คน โดยมีนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) เป็นประธาน
นางเตือนใจ ดีเทศน์ กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้เพื่อระดมความรู้ในสถานการณ์และสภาพปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นใน จ.เชียงราย โดยเน้นที่เมืองเชียงรายซึ่งเกิดเหตุการณ์น้ำกกไหลท่วมเป็นทะเลโคลน และแนวทางการแก้ปัญหาที่อยากเห็นร่วมกัน ภัยพิบัติครั้งนี้ยิ่งกว่าสึนามิ ลำน้ำไม่รู้กี่สายพัดพาเอาโคลนถล่มลงมามหาศาล แต่คณะรัฐมนตรี(ครม.)กลับตั้งงบไว้เพียง 3 พันล้าน นายกรัฐมนตรีหรือผู้นำลงมาควรมีหลักการที่ชัดเจนว่าจะแก้ไขอย่างไรกับเรื่องเฉพาะหน้า และการฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ
นายสืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการ สำนักนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) และผู้ประสานงานศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติเชียงราย กล่าวสภาพที่เห็นในเชียงรายขณะนี้คือ 1. เราไม่รู้ว่าต้นแม่น้ำกก แม่น้ำสาย เป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน มวลน้ำมีเท่าไหร่ จะเดินทางมาถึงตอนไหน รู้แค่ว่าน้ำมาถึง อ.ท่าตอน และก็มาถึงเชียงราย 2. ระบบเตือนภัยเราอ่อนแอมาก ไม่มีเลยดีกว่า แม่น้ำสายท่วมทุกปี ไม่มีระบบเตือนภัย ไม่มีแผนว่าจะไปต่ออย่างไร ขณะที่เกิดเหตุเทศบาลนครเชียงรายเปิดไซเรน ซึ่งก็ไม่มีความหมายแล้วในเวลานั้น ประชาชนเราได้ข้อมูลจากมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติ และจากโซเชียลมีเดีย เราเห็นจากน้ำที่ผุดจากท่อหน้าบ้านในขณะที่น้ำท่วมทำอะไรไม่ได้แล้ว
นักวิชาการจาก มฟล.กล่าวว่า ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำเรามีหมด แต่กระจายอยู่กับองค์กรต่างๆ ในระบบราชการ แต่ไม่เอามาใช้ แผนจัดการภัยพิบัติ ผมว่าหากมี เราต้องรู้ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้มแข้ง เยียวยาไว เทศบาลนครเชียงรายจ่ายเงินค่าบ้านเรือนเสียหายแล้ว แต่ภัยพิบัติครั้งนี้เกินมือองค์กรส่วนท้องถิ่น เช่น การจัดเก็บขยะจากบ้านเรือนอาคารซึ่งกองเป็นภูเขา รถขนขยะมีจำนวนจำกัด ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เกินมือ คาดหวังกับผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) และป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แต่สองหน่วยนี้ทำอะไรอยู่ ช้า จังหวัดควรประสานความร่วมมือไปที่ต่างๆ
“ในครั้งนี้ภาคประชาสังคม องค์กรเอกชน บริษัท ทำงานรับภัยพิบัติได้เข้มแข็งมาก หน่วยกู้ภัย ส่งข้าวของความช่วยเหลืออย่างเข้มแข้ง หากไม่มีภาคนี้ถือว่าลำบากมาก ผมเองก็ต้องพึ่งข้าวกล่องบริจาควันละ 3 มื้อ ที่บ้านน้ำซัดเสียหาย ทำอาหารไม่ได้ ร้านแก๊สก็ปิด พูดได้ว่าน้ำท่วมครั้งนี้คือโคลน ที่สร้างวความเสียหาย อยากเสนอว่ารัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นในการฟื้นฟูทันที และควรมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯเพราะจะได้ไม่ต้องมีปัญหาเรื่องเกษียณอายุ” นักวิชาการกล่าว
อริศรา เหล็กคำ รองคณะบดี สำนักวิชานิติศาสตร์ มฟล. กล่าวว่าตนได้ทำวิจัยแม่น้ำสายและแม่น้ำรวก พบว่าแม่น้ำสายมีสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ ทีมวิจัยทำได้เพียงงานภายในประเทศ มีข้อจำกัดสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำ ทำได้แค่การเตือนภัยในประเทศ เพราะมีข้อจำกัดของเรื่องระหว่างประเทศ และไม่สามารถทำให้คนออกไปจากพื้นที่เนื่องจากมีการปลูกสิ่งก่อสร้างบ้านเรือนร้านค้าแล้ว การติดมาตรวัดก็ทำได้แค่ที่หัวฝาย ฝ่ายความมั่นคงเคยพยายามแต่ก็ยังมีข้อจำกัด ล่าสุดฝ่ายทหารขอทางการพม่าติดตั้งระบบเตือนภัย
“ครั้งนี้แม่น้ำสายมาสูง 3-4 เมตร และมาแรง ทำให้ที่เคยเข้าใจว่าน้ำท่วมเกิดสม่ำเสมอเป็นเรื่องธรรมดา แต่กลับรุนแรงมาก ข้อมูลจากฝั่งพม่าเราไม่เคยรู้ว่ามีอ่างเก็บน้ำอยู่ รู้ก็คือทะลักมากเลย มีคนที่ติดในพื้นที่สีแดง 5 วัน สิ่งที่ต้องการนอกจากกู้ภัย คือการช่วยเหลือแบบโดรน หรือใช้เทคโนโลยีที่ช่วย แผนอพยพกลุ่มเปราะบาง ต้องพัฒนาระบบแจ้งเตือน ศูนย์ข้อมูลประสานงานส่งต่อไปยังผู้ที่จะมาช่วยเหลือเพื่อให้ไม่ซ้ำซ้อน ว่าใครได้รับการช่วยเหลือหรือยัง ผู้ประสบภัยไม่ทราบว่าจะต้องแจ้งใคร การฟื้นฟู อาสาสาสมัครก็ทำได้ช่วงหนึ่งเพราะเหนื่อย ต้องมีการสับเปลี่ยน”อริศรา กล่าว
นางอมรรัตน์ รัตนาชัย สมาชิกสมาคมลาหู่ในประเทศไทย กล่าวว่าจากการสำรวจความเสียหายสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าตลอดน้ำกก จากท่าตอน ลงมาถึง อ.เมืองเชียงราย มีชุมชนชาติพันธุ์ลาหู่ได้รับผลกระทบกว่า 10หมู่บ้าน ที่บ้านจะเด๊อะ น้ำพัดไปทั้งหมดอย่างน้อย 7 หลังคา ชาวบ้านหมดสิ้นทุกสิ่ง จะไปสร้างบ้านใหม่ได้ตรงไหนเพราะเป็นเขตอุทยานแห่งชาติลำน้ำกก (เตรียมประกาศ) และพบว่ามีผู้ประสบภัยที่ไม่มีสัญชาติไทย การแก้ไขปัญหา การช่วยเหลือเยียวยาอาจเข้าไม่ถึง การสร้างบ้านโดยใช้วัสดุที่ไม่เหมาะสมกับพื้นที่บนพื้นที่สูง ชาวบ้านสร้างบ้านปูนไม่มีวิศวกรลงเสาปูน ทำให้ฝนหนักก็เสียหายพังทั้งหลัง ชุมชนบนดอย ปกติมีปัญหาหมอกควัน ตอนนี้มีดินสไลด์โคลนถล่ม
อรอุมา เยอส่อ เจ้าหน้าที่สิทธิเด็ก มูลนิธิพชภ. กล่าวว่า อ.แม่ฟ้าหลวง 4 ตำบล มีสถานการณ์ดินถล่มบ้านเรือนพังเสียหาย ชาวบ้านไม่เคยคิดว่าอยู่บนดอยจะมีน้ำท่วม เมื่อเกิดเหตุผู้ที่มาถึงมาช่วยกันก่อนคือชาวบ้านด้วยกัน แต่ชาวบ้านไม่มีความรู้ว่าควรรับมืออย่างไร เช่น บ้านถล่มฝนยังตก การช่วยคนออกมาให้ปลอดภัยได้อย่างไร บนดอยถูกสังคมประณามว่าบนดอยตัดไม้ทำลายป่าทำให้น้ำท่วม จริงๆ ควรมองให้เกิดการแก้ปัญหา
“บ้านเรือนบนดอยที่สร้างโดยขาดความรู้ทางวิศวกรรม ทำให้ปัญหาหนักขึ้น เสียหายรุนแรง หน่วยงานท้องถิ่น อบต.มีอำนาจในการอนุมัติแบบแปลนสิ่งก่อสร้าง ต้องเข้มงวดเรื่องเพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้มากกว่านี้ หากเกิดเหตุการณ์ในอนาคต”อรอุมา กล่าว
นายอภิชิต ศิริชัย นักประวัติศาสตร์ กล่าวว่าจะเข้าใจภัยพิบัติครั้งนี้ต้องเข้าใจประวัติที่ตั้งชุมชนลุ่มน้ำกก ซึ่งเมืองเชียงรายที่ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มน้ำกก ถูกพัฒนาเมืองเชียงรายราวร้อยปีมานี้ มีการรื้อกำแพงเมือง ถมคูเมือง ดึงน้ำกกมาล้างเมือง ชุมชนฮ่องลี่ จริงๆ แล้วเป็นแควน้ำอ้อม ก่อนหน้านี้บ้านป่างิ้วไม่เคยท่วม เพราะฮ่องลี่ถูกปิดไว้ แต่น้ำไหลทะลักกลับเข้ามา เมื่อดูแผนทางอากาศราว 70 ปีก่อน เห็นชัดว่าแม่น้ำกกไหลอ้อมไปที่ถ้ำตุ๊ปู่ น้ำลัด ต่อมาสร้างเป็นหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ เป็นทางเดินน้ำกกเดิม เกาะลอย คือคนไปขุดเป็นคลองเมื่อราวปี 2490 น้ำกก กักเซาะพื้นที่เทศบาลเมืองเชียงราย มีการปักหลัก ลงไปถึงกกโท้ง
“ชื่อหมู่บ้านทุกหมู่บ้านล้วนบอกที่มา หมู่บ้านที่ชื่อ สัน... จะไม่ท่วม ส่วนหมู่บ้านที่ชื่อ ร้อง.... ฮ่อง... จะท่วมทั้งหมด ศูนย์ราชการเชียงรายก็สร้างบนหนอง ซึ่งปกติแม่น้ำกกปลายน้ำตวัด ไปถึงบ้านขัวแคร่ หนองป่าไคร้ พื้นที่รับน้ำกกและถ่ายน้ำไป ทุกวันนี้กลายเป็นสนามบิน ซึ่งเคยเป็นพื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติ หากมีการศึกษาประวัติศาสตร์พัฒนาการนิสัยแม่น้ำกก เราจะเข้าใจและสามารถบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติให้เบาบางได้มากกว่านี้”
ผู้แทนมูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เห็นควาอลหม่าน แม้แต่ในการช่วยผู้ประสบภัย recue ซึ่งเป็นความเป็นความตายนาทีต่อนาที การจัดการข้อมูล การชี้เป้า ผู้เข้าไปช่วยกลายเป็นประสบภัยเอง ที่อ.แม่สายมีหลายซอย ผู้เข้ามาช่วยมาจากที่อื่นก็ไม่รู้ตำแหน่งที่เป็นสากล การบริหารจัดการข้อมูล การร้องเรียนเรื่องของยังชีพที่ไม่กระจาย การเช็คข้อมูลกับหน่วยต่างๆ มีของบริจาคมาแต่ไม่มีระบบให้ของกระจายได้ ไม่มีการออกแบบระบบการกระจายของที่ควรจะเป็น
“เราพบว่าขยะจากพื้นที่ประสบภัย ขนจากบ้านเรือนออกมาหลายรอบ รอบที่สองคือขยะที่เจ้าของมีการพิจารณาว่าไปไม่รอด เป็นเรื่องธรรมดา เรามองไปข้างหน้า จะโทษธรรมชาติ หรือระบบของโลกที่สูญเสียสมดุล เราต้องเตรียมการรับมือที่อาจใหญ่กว่านี้ หากเวลานี้เกิดแผ่นดินไหวเราจะทำยังไง” มูลนิธิกระจกเงากล่าว
ผศ.ดร.ชไมพร รัตนเจริญชัย ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงราย (มทร.) กล่าวว่ามทร. ได้ดำเนินการในความโกลาหล ช่วงแรกเปิดครัวทำอาหาร แจกของให้ผู้ประสบภัย นำนักศึกษา ไปช่วยตามการร้องขอของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งสถาบันความเชี่ยวชาญ มีนักศึกษาวิศกรรมที่มีความรู้ระบบไฟฟ้าอาคาร ไปช่วยโรงเรียนต่างๆ เช็คระบบไฟฟ้าก่อนทำการเปิดเรียน และร่วมกับมูลนิธิอื่นๆ สำหรับในด้านวิศวกรรมโยธา ผู้ประสบภัยต้องกรอกแบบฟอร์มขอค่าเสียหาย ซึ่งนักศึกษาวิศวกรรมโยธาได้เข้าไปช่วยหน่วยงานท้องถิ่นทำข้อมูล
“มทร. นักวิชาการที่เชี่ยวชาญโดรน และวิศวกรรมน้ำ ก่อนหน้าที่เน้นเรื่องแล้ง แต่วันนี้ต้องคิดใหม่เรื่องภัยพิบัติทางน้ำ นอกจากนี้อนาคตที่เห็นคือปัญหาขยะ ขยะอีเลคทรอนิกส์ล้าสมัย เช่น ทีวีจอแก้ว สามารถดำเนินการคัดแยกได้ มีเทคโนโลยี โดยมทร.พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ บรรเทาปัญหาภัยพิบัติครั้งนี้” ผู้ช่วยอธิบการบดี กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าจะต้องมีแผนฟื้นฟูชีวิตประชาชนผู้ประสบภัย และเศรษฐกิจของเมืองเชียงราย ซึ่งจะมีโอกาสในการสร้างรายได้ช่วงฤดูท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึง แต่เหลือเวลาเพียงไม่กี่เดือนก่อนที่จะถึงฤดูฝุ่น PM2.5 ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นว่าต้องมีนโยบาย แผนปฏิบัติการ และงบประมาณ เพื่อดำเนินการในทันที
“เชียงรายรอไม่ได้อีกแล้ว ประชาชนอยู่ในสภาพที่สาหัสมากแล้ว รัฐบาลต้องเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ การฟื้นฟูภัยพิบัติเชียงรายเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน” นางเตือนใจ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สิงห์ปาร์ค'ร่วมฉลองครบ10ปี 'เชียงราย โร้ด คลาสสิค 2024' กระตุ้นเศรษฐกิจ-สู่เมืองกีฬา
บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ร่วมกับ สิงห์ปาร์ค เชียงราย, จังหวัดเชียงราย, สำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงราย และเครือข่ายชมรมจักรยาน จังหวัดเชียงราย จัดกิจกรรมปั่นจักรยาน “เชียงราย โร้ด คลาสสิค 2024” ปีที่ 10 ที่ สิงห์ปาร์ค เชียงราย
ศปช. ยันพายุหยินซิ่งไม่เข้าไทย แจงข่าวน้ำท่วมแม่สายอีกรอบเป็นเฟกนิวส์
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ในฐานะโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย
“พิพัฒน์” จ้างงานเร่งด่วน ระดมช่างไฟฟ้าซ่อมในอาคารกว่า 100 หลัง สร้างเชียงรายโมเดล ช่วยฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลดให้ประกอบอาชีพได้
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน KICK OFF กิจกรรมการให้บริการซ่อมแซมระบบไฟฟ้าภายในอาคารบ้านเรือนผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในจังหวัดเชียงราย
TSB ลุยช่วยสังคมต่อเนื่อง จับมือนักธุรกิจเอกชน ฟื้นฟูน้ำท่วมเชียงราย
ไทย สมายล์ บัส และบริษัทในเครือ ร่วมกับ มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ และนักธุรกิจภาคเอกชน เดินหน้าสานต่อโครงการ “สังคมร่วมใจ คืนความสดใสให้วัดและโรงเรียน จ.เชียงราย” เร่งฟื้นฟูวัดและโรงเรียนน้ำท่วม
ครม.อนุมัติงบกลาง 2.5 พันล้าน ฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินแผนงาน
นายกฯ สั่งส่วนราชการเก็บรายละเอียดช่วยเหลือประชาชนต่อไป แม้จะคืนพื้นที่น้ำท่วมแล้ว
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ในฐานะโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ส่วนราชการในพื้นที่ ศปช.ส่วนหน้า แม้จะปิดไปแล้ว แต่ขอให้ส่วนราชการในพื้นที่ประจำ