อีสานระทึก! ระดับน้ำโขงพุ่งพรวดเดียวเกือบเมตร เสี่ยงท่วมฉับพลัน

นครพนมลุ้นระทึกอีกครั้ง! ระดับน้ำโขงพรวดเดียวสูงขึ้นอีกเกือบเมตร ฝนกระหน่ำซ้ำทั้งคืน ท้องฟ้าปกคลุมด้วยเมฆ ลาวแจ้งด่วนเขื่อนจีนปล่อยน้ำ

13 ก.ย. 2567 – ผู้สื่อข่าวจังหวัดนครพนมรายงานว่า สืบเนื่องเกิดสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคเหนือ อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยมวลน้ำได้ไหลลงแม่น้ำรวก ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย และจะไหลเข้าไปใน สปป.ลาว และวกออกมาโผล่พื้นที่ภาคอีสานของไทย ลักษณะเช่นนี้ ทำให้จังหวัดภาคอีสานที่อยู่แถบลุ่มแม่น้ำโขง ตั้งแต่ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบล ต้องเฝ้าระวังปริมาณน้ำทุกๆ ชั่วโมง ประกอบกับทางลาวแจ้งเตือนว่าจีนได้ปล่อยน้ำออกจากเขื่อนไฟฟ้า จึงจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำในเขื่อนไซยะบุรี เพื่อรองรับมวลน้ำจำนวนมหาศาลดังกล่าว โดยจังหวัดภาคอีสานของไทยที่อยู่ท้ายเขื่อน จึงเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำล้นตลิ่งในระยะ 12-18 กันยายน นี้

ในส่วนของ จ.นครพนม เป็นพื้นที่หนึ่งที่อยู่ใต้เขื่อนไซยะบุรี นอกจากจะเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำแล้ว มีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคอีสานตอนบน จึงมีฝนตกลงมาตั้งแต่กลางดึกของวันที่ 13 กันยายน จวบจนถึงเช้าก็ยังคงตกต่อเนื่อง ท้องฟ้าถูกปกคลุมด้วยเมฆฝน ด้านระดับน้ำโขงล่าสุดวัดได้ 10.11 เมตร เพิ่มขึ้นจากวานนี้ถึง 62 เซนติเมตร ถือว่ายังอยู่ในจุดต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากห่างจากจุดล้นตลิ่งประมาณ 2 เมตรเศษคือที่ 13 เมตร หากน้ำโขงยังเพิ่มระดับจะส่งผลให้ลำน้ำสาขาไม่สามารถไหลระบายลงได้ มีโอกาสสูงจะเอ่อล้นท่วมพื้นที่ลุ่ม ชุมชน ย่านเศรษฐกิจการค้า ส่งกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงสูง ที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน เพราะมีมวลน้ำจากภาคเหนือ บวกกับเกิดร่องมรสุมพาดผ่าน ทำให้น้ำโขงมีปริมาณน้ำสูงต่อเนื่อง ทั้งนี้พื้นที่เสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือ 4 อำเภอชายแดนติดกับแม่น้ำโขง ได้แก่ อ.บ้านแพง, อ.ท่าอุเทน, อ.เมืองนครพนม และ อ.ธาตุพนม โดยหน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้วางมาตรการแนวทางป้องกัน เสริมเครื่องสูบน้ำ หากมีฝนตกหนักต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (เลขาธิการ สทนช.) พร้อมคณะได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและอุทกภัยลุ่มน้ำโขง ในพื้นที่จังหวัดแถบลุ่มน้ำโขงรวมถึงนครพนม พร้อมหารือรับทราบปัญหา วางแนวทางรับมือกรณีน้ำโขงล้นตลิ่ง กำชับให้ทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมรับมือตลอด 24 ชั่วโมง

เลขาธิการ สนทช. เปิดเผยว่า ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยทางรัฐบาลมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยเป็นอย่างมาก ในส่วนของพื้นที่ภาคอีสานมีการวิเคราะห์สถานการณ์แล้ว ในช่วงสัปดาห์นี้มีแนวโน้มที่จะมีปริมาณฝนในพื้นที่ค่อนข้างมาก ประกอบกับในส่วนของน้ำในแม่น้ำโขงมีปริมาณน้ำสูงขึ้น เนื่องจากฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ และ สปป.ลาว ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 12-18 กันยายน 2567 และมีแนวโน้มล้นตลิ่งบริเวณที่ อ.เชียงคาน จ.เลย จ.หนองคาย และ จ.บึงกาฬ

จึงขอให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มขึ้น เตรียมพร้อมรับมือจากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง และท่วมขังบริเวณริมแม่น้ำโขงรวมถึงลำน้ำสาขา เนื่องจากไม่สามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงได้โดยสะดวก นอกจากนี้ในส่วนของเขื่อน อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก ๆ ต้องเร่งระบายออกมาก่อน เพื่อเตรียมรองรับน้ำฝนชุดใหม่ที่จะตกลงมาเติม ทาง สนทช. ได้มีการแจ้งเตือนไปแล้วว่าในแต่ละจังหวัด มีพื้นที่ไหนที่มีความเสี่ยงบ้าง ขอให้หน่วยงานต่าง ๆ เอาข้อมูลเหล่านี้ไปบริหารจัดการดูแลพี่น้องประชาชนทั้งชีวิตและทรัพย์สินเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พยากรณ์อากาศ 10 วันล่วงหน้า มีฝนเพิ่มตกหนัก คนกรุงต้องเฝ้าระวัง!

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 10 วันล่วงหน้า

กลุ่ม ปตท. เร่งส่งมอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยต่อเนื่อง

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยผู้บริหารและพนักงาน ปล่อยรถบรรทุกถุงยังชีพไปยัง จ.เชียงราย

นักวิชาการ กางแผนที่เตือนด่วน 'หนองคาย' น้ำโขงหนุนสูงสุด 16 ก.ย.

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊กว่า #ช่วยกันแชร์ให้พี่น้องชาวหนอง

วิจัยกรุงศรี คาดการณ์อุทกภัยปี 67 เสี่ยงสูงช่วงกันยายน-ตุลาคม แต่ไม่รุนแรงเท่าปี 54

วิจัยกรุงศรี วิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มอุทกภัยในประเทศไทยปี 2567 ชี้ความเสี่ยงเพิ่มสูงในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี โดยเฉพาะเดือนกันยายนและตุลาคม เนื่องจากการเข้าสู่ภาวะลานีญาและอิทธิพลของมรสุม อย่างไรก็ตาม คาดว่าอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในปีนี้จะไม่รุนแรงเท่ามหาอุทกภัยปี 2554

'นายกฯอิ๊งค์' ควง 3 รมต. ช่วยน้ำท่วมเชียงราย ห่วงทะลักอีสาน สั่ง มท. เร่งดูแล

'นายกฯอิ๊งค์' ควง 'กลาโหม-คมนาคม-มหาดไทย' บินเชียงรายช่วยน้ำท่วม ก่อนถกกลางอากาศ เร่งอพยพคนพ้นพื้นที่เสี่ยงทันที สั่ง มท. กำกับใกล้ชิดอีสาน