สั่งปิดศูนย์การเรียนฯ จ.สุราษฎร์ เด็กเคลื่อนย้ายถิ่นนับพันเคว้ง จี้นโยบายรัฐเอาให้ชัด

สั่งปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะลอยแพเด็กนับพัน หลังคลิปนักเรียนร้องเพลงชาติพม่าในไทยกลายเป็นไวรัลในสื่อออนไลน์ หวั่นเด็กเคลื่อนย้ายอีกหลายหมื่นได้รับผลสะเทือน-จี้นโยบายรัฐเอาให้ชัด

5 ก.ย.2567 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในกลุ่มคนทำงานด้านการศึกษา ภายหลังจากเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้นำป้ายประกาศไปติดไว้หน้าศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ บางกุ้ง อ.เมือง จ.สุราษฎร์ฯ โดยระบุว่า “ศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ จัดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการตาม พรบ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 จึงให้ยุติกิจการดังกล่าวทันทีและปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินคดีตามกฏหมาย จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน”

ทั้งนี้ในเฟสบุคของของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีระบุว่า เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 นายโชคดี ศรัทธากาล ศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี มอบหมายให้ ดร.เสาวพจน์ รัตนบุรี รองศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนายสุภนันทน์ จันทรา นิติกรชำนาญการ ดำเนินการร้องทุกข์/กล่าวโทษ กรณีการจัดตั้งสถานศึกษาและการจัดการศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และวันที่ 4 กันยายน 2567 นายโชคดี ศรัทธากาล ศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย นางสาวพรรณา พรหมวิเชียร ดร.เสาวพจน์ รัตนบุรี รองศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนายสุภนันทน์ จันทรา นิติกรชำนาญการ ลงพื้นที่ติดประกาศให้ยุติกิจการดังกล่าวทันที และปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินคดีตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานจัดการศึกษาให้เด็กเคลื่อนย้ายถิ่นฐานจากประเทศพม่าในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีเด็กอยู่ร่วมพัน แต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามมาตรา 12 แห่ง พรบ.การศึกษาแห่งชาติ อย่างไรก็ตามการสั่งปิดศูนย์การเรียนแห่งนี้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากปัจจุบันมีศูนย์ประสานงานการศึกษาในลักษณะนี้อยู่ในประเทศไทยถึง 63 แห่ง มีเด็กเคลื่อนย้ายจากประเทศพม่ากำลังศึกษาอยู่ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อสัปดาห์ก่อนได้มีคลิปเด็กนักเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่งร้องเพลงชาติไทยและเพลงชาติพม่าหน้าเสาธง ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าร้องเพลงชาติพม่าชัดกว่าเพลงชาติไทย และมีความเห็นต่างๆจากคนไทยจำนวนมากในลักษณะที่ระบุว่าไม่เหมาะสมเพราะเป็นแผ่นดินไทย เรื่องนี้ได้กลายเป็นประเด็นในโลกออนไลน์ทำให้ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งให้มีการตรวจสอบสถานศึกษาอย่างเข้มข้น

ขณะที่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ส่งกลับเด็กนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร 126 คนจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา6 จ.อ่างทอง กลับประเทศพม่า นอกจากนี้เมื่อเดือนมีนาคม 2567 ได้มีการส่งกลับสามเณรไร้สัญชาติ 19 คนที่กำลังศึกษาอยู่ที่วัดสว่างอารมณ์ อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี กลับพม่า ซึ่งได้กลายเป็นประเด็นที่ทำให้ประเทศไทยถูกจับตามมองเป็นอย่างมากจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ เพราะความไม่ชัดเจนในนโยบายด้านการศึกษาสำหรับเด็กเคลื่อนย้ายซึ่งส่วนใหญ่อพยพตามพ่อแม่ที่เป็นแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labor Protection Network : LPN) กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าการปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ เป็นความบ้าจี้ของกระทรวงศึกษาเนื่องจากคลิปเด็กร้องเพลงชาติพม่าในไทยหรือไม่ แต่ปัจจุบันมีเด็กเคลื่อนย้ายจากพม่านับหมื่นคนเรียนอยู่ในศูนย์การเรียนในลักษณะเดียวกับศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ เพียงแต่ศูนย์การเรียนที่สุราษฎร์ฯแห่งนี้เป็นการออกแบบและประสานงานกันเองของคนพม่าที่เชื่อมต่อกับภาคเอกชนไทยที่ให้เช่าสถานที่แต่ไม่มีร่มใหญ่ และเท่าที่รู้เขาก็พยายามที่จะจดทะเบียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ แต่เนื่องจากไม่มีเจ้าภาพทำให้ระบบการจัดการอาจมีปัญหา แต่การปิดครั้งนี้เป็นการใช้อำนาจของศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่ใช่อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด

ผู้อำนวยการ LPN กล่าวว่าในส่วนของจังหวัดสมุทรสาครซึ่งมีศูนย์ในลักษณะเดียวกับที่สุราษฎร์ฯอยู่หลายแห่งโดยมีศูนย์ใหญ่อยู่ที่ อ.กระทุ่มแบน แต่การออกแบบและบริหารเป็นเครือข่ายชาวพม่าที่อยู่ภายใต้ร่มของ LPN และประสานกับทุกหน่วยงานซึ่งได้เคยมาเยี่ยมดูที่ศูนย์กันหมดแล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อมีคลิปไวรัลของเด็กนักเรียนที่ร้องเพลงชาติพม่าเกิดขึ้นในโลกออกไลน์และกระทรวงศึกษาสอบถามมาว่าใช่เป็นโรงเรียนที่ LPN เป็นร่มให้หรือไม่ ซึ่งตนก็ตอบว่าไม่ใช่ โดยที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัด ตม.และหน่วยงานต่างๆได้เข้าไปเยี่ยมแล้วเพื่อให้เห็นการจัดการร่วมกันอย่างไรในการดูแลคุ้มครองเด็ก ซึ่งเราได้ทำเอกสารประวัติเด็กครบทุกคนและรู้ว่าพ่อแม่อยู่ที่ไหน เพื่อให้รู้ตัวตน

นายสมพงค์กล่าวว่า การจดทะเบียนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น การจัดทำหลักสูตร ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่

“ที่ผ่านมามีเด็กจำนวนหนึ่งทะลักเข้าประเทศไทยเนื่องจากต้องหนีสงครามและความขัดแย้งในประเทศพม่า และผู้ปกครองหนีการเกณฑ์ทหาร ทำให้เข้าเรียนระหว่างเทอมไม่ได้ และไม่รู้จะไปไหนจึงต้องใช้ศูนย์การเรียนในลักษณะนี้ และผมเรียกว่าเป็นฝึกอบรมเด็กเพื่อเตรียมความพร้อม ตอนนี้มีเด็กเข้ามาเยอะมาก ทั้งใน กทม.และปริมณฑล”นายสมพงค์ กล่าว

ผู้อำนวยการ LPN กล่าวว่าในระดับนโยบายรัฐบาลต้องเข้าใจต้นทางของเด็กเหล่านี้ให้มากเพราะการใช้เรื่องความมั่นคงเป็นหลักโดยการจับและผลักดันกลับอย่างเดียวก็ไม่เป็นผลดีเพราะเหมือนกับส่งเขากลับไปตายและคนเหล่านี้ต่างหนีร้อนมาพึ่งเย็น ที่สำคัญคือการดูแลและคุ้มครองเด็กควรประกาศให้ชัดเจนว่าเด็กทุกคนที่เกิดและอยู่ในประเทศไทย หรือเป็นผู้ติดตาม รัฐต้องให้การปกป้องคุ้มครอง

“ศูนย์การเรียนแต่ละแห่งที่ตั้งขึ้นมา ภาครัฐควรเข้ามาส่งเสริมและกำกับดูแล ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ไม่ใช่จ้องที่จะปิดเขา ควรมีความยืดหยุ่นสูงเพื่อเป้าหมายในการดูแลคุ้มครองเด็ก อย่าลืมว่าศูนย์เหล่านี้ทำหน้าที่ดูแลเด็กแทนรัฐด้วยซ้ำไป เพราะรัฐเองไม่มีนโยบายเชิงรุกที่จะเข้ามาดูแลเด็กกลุ่มนี้ แต่การที่รัฐไปชี้นิ้วบอกอันนั้นผิด อันนี้ผิด ทำให้จะตายกันหมด ถ้าคุณเอากฎหมายเข้าไปจัดการกับศูนย์การเรียนทั่วประเทศ ผิดหมดเลยเพราะบางศูนย์ไม่ได้มีสถานภาพที่จะไปจดเบียน มีเด็กไม่น้อยกว่า 5-6 หมื่นคนอยู่ในศูนย์การเรียนแบบนี้”นายสมพงค์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คปภ. ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัย กรณีรถทัวร์เสียหลักพุ่งชนต้นไม้ 'เสียชีวิต 5 ราย - บาดเจ็บจำนวนมาก' ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

จากกรณีรถทัวร์นำเที่ยว หมายเลขทะเบียน 30-1097 นครปฐม เสียหลักตกเกาะกลางถนนพุ่งชนต้นไม้ บริเวณถนนเพชรเกษม หมู่ที่ 1 ตำบลป่าเว อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย และบาดเจ็บ 22 ราย ในจำนวนนี้มีผู้บาดเจ็บสาหัส 8 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2568

โรงเรียนอนุบาลบางเท่าแม่ จ.กระบี่ รักษาแชมป์ 2 สมัย ชนะเลิศแข่ง 'ฮูล่าฮูป' ระดับประเทศ

หนูน้อย จาก ร.ร.อนุบาลบางเท่าแม่ ต.เขาต่อ อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ คว้ารางวัลชนะเลิศมาครอง จากเวทีแข่งขันฮูล่าฮูปประกอบเพลง ในการแข่งขันทักษะวิชาการ และมหกรรมการจัดการศึกษาท้องถิ่น ระดับประเทศ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2567

นายกฯ ตรวจเตาเผาขยะเกาะสมุย ห่วงการท่องเที่ยวเจริญ ขยะล้น ยันดูแลทุกปัญหา

นายกรัฐมนตรีและรมว.การคลัง ตรวจติดตามแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะในอำเภอเกาะสมุย ณ เตาเผาขยะสมุย ตำบลมะเร็ต อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

นายกฯฟุ้งวางแผนส่งออกทุเรียนสร้างรายได้ 1 ล้านล้านบาท

นายกฯ รับฟังปัญหาเกษตรกรสวนทุเรียนสมุย ตั้งเป้าผลผลิตส่งออกไปไกลกว่า 5 หมื่นล้านบาท ยันมาช่วยแก้ปัญหาไม่ได้หาเสียงเลือกตั้ง เพราะมันจบไปแล้ว

‘เศรษฐา’ ยาหอมชาวสมุย รับปากเข็นบิ๊กโปรเจกท่าเทียบเรือสำราญ

“เศรษฐา” ยาหอมชาวสมุยรับปากเข็นบิ๊กโปรเจกท่าเทียบเรือสำราญ Cruise Terminal ตั้งเป็น KPI เข้าครม.สิ้นปีนี้แน่เป็นของขวัญให้ประชาชนพร้อมย้ำฟังเสียงในพื้นที่ฝากสส.ช่วยรัฐบาลโปรโมทดึงการท่องเที่ยว

'บิ๊กตู่' ลุยหาเสียงสุราษฎร์ ลั่นถ้าไม่สู้จะมายืนอยู่ตรงนี้หรือ ยันสู้เพื่อชาติ ทำงานหนักเพื่อประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคฯ และแคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พร้อมคณะ ขึ้นรถแห่หาเสียง โดยมี นายชุมพล กาญจนะ อดีตส.ส.สุราษฎร์ธานีหลายสมัย ร่วมขึ้นรถแห่ เชิญชวนประชาชนมาเลือกพรรครวมไทยสร้างชาติ