ชาวบ้านด่านขุนทดลากภัยเหมืองโปแตช ตบหน้า ขรก.โคราชทั้งโขยง

ภาพจากเฟซบุ๊ก เหมืองแร่โปแตชแอ่งโคราช

คณะทำงานตรวจสอบฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบผลกระทบเหมืองโปแตชด่านขุนทด ชาวบ้านระอาหนักพฤติกรรมอุตสาหกรรมจังหวัดป่วนวงประชุม ขีดเส้นผู้ว่าฯร่วมวงหาข้อเท็จจริง

5 ส.ค.2567 – ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า  คณะกรรมการตรวจสอบผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่โปแตชที่แต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ประมาณ 100 คน โดยล่าสุดได้นัดหมายการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบฯ ครั้งที่ 2 เพื่อประชุมนัดหมายลงจุดตรวจสอบผลกระทบ ที่วัดสระขี้ตุ่น ตำบลหนองบัวตะเกียด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการทุกคนร่วมลงชื่อก่อนเข้าที่ประชุม ยกเว้น นายยงยุทธ นพนิช ตัวแทนอุตสาหกรรมที่ไม่ยอมลงชื่อ อ้างว่ามีบัตรข้าราชการ ไม่จำเป็นต้องลงชื่อ เพราะเป็นสิทธิของตัวเองที่จะลงชื่อหรือไม่ลง อย่ามาบังคับให้ลงชื่อ อีกทั้งแสดงพฤติกรรมกร่าง ๆ เหมือนไม่ใช่ข้าราชการระดับชำนาญการ โดยที่ประชุมได้เปิดประชุมด้วยการแนะนำตัว  มีตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการและหน่วยงานราชการที่ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ ประกอบด้วย ศูนย์ดำรงธรรม, สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 3 (นครราชสีมา) , สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด , สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 5 (นครราชสีมา) , กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ , อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา

โดยการประชุมครั้งนี้ผู้ว่าราชการ (ประธานคณะกรรมการ) ติดภารกิจราชการ และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 11 ติดภารกิจด้วยเช่นกัน และไม่ได้มีตัวแทนผู้ว่าราชการ ซึ่งไม่เป็นไปตามมติการประชุมครั้งแรก เพราะมติในที่ประชุมคณะกรรมการชุดนี้จะต้องมีผู้ว่าหรือรองผู้ว่าฯ เป็นประธานในการประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศในการประชุม เริ่มด้วยวาระแรกของการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบผลกระทบฯ ครั้งที่ 2 ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ได้ทวงถามเอกสาร และฐานข้อมูล ของการตรวจดินและน้ำ ก่อนทำเหมือง ระหว่างทำเหมือง และหลังจากเหมืองขุดอุโมงค์น้ำท่วม ซึ่งรองผู้ว่าฯ ประธานการประชุมครั้ง 1 ได้มีคำสั่งในที่ประชุมให้เตรียมข้อมูล เอกสารเกี่ยวกับการทำเหมืองในการประชุมครั้งต่อไป

ด้านผู้อำนวยการ กพร.เขต 6 กล่าวว่า “ไม่ได้เตรียมข้อมูลที่เป็นหนังสือ แต่มีข้อมูลที่จะย่อสรุปให้ปากเปล่า” ส่วนอุตสาหกรรมจังหวัดโดยหัวหน้ากลุ่ม กพร. ตอบว่า “เอกสารบางอย่างมีความสำคัญไม่สามารถนำมาได้”

จากที่หน่วยงานราชการไม่ได้เตรียมเอกสาร ฐานข้อมูลใด ๆ ที่เป็นเอกสารมาด้วย ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงโดยการบรรยาย สาระสำคัญข้อมูลมีดังนี้ ภาพผลกระทบของน้ำและดินก่อนทำเหมืองและหลังทำเหมือง พร้อมทั้งตั้งคำถามการรั่วไหลของน้ำเค็ม อัตราการไหล 18,000 ลิตรต่อนาที (ข้อมูลจาก กพร.) น้ำเหล่านั้นไปที่ไหน ตลอด 3 ปีที่มีการสูบน้ำขึ้นมาออกจากอุโมงค์ การสูบน้ำเค็มออกจากอุโมงค์แต่บ่อพักน้ำในเหมืองแร่ไม่มีการปูผ้ายาง และส่วนใหญ่น้ำถูกปล่อยออกมานอกเหมือง การรั่วซึมของน้ำ และการปล่อยน้ำที่สูบออกมาอย่างมหาศาลไหลไปทิศทางไหน และสาเหตุความเค็มที่ผิดปกติจนไม่สามารถทำการเกษตรได้เกิดจากอะไร

จากนั้นคณะกรรมการได้ประชุมหารือกันเรื่อง การใช้เครื่องมือในการตรวจสอบ และวิธีการในการตรวจสอบ โดยวิศวกรจาก กพร.กล่าวว่า “มีเครื่องมือที่ชื่อว่า กราวิตี้ สามารถวัดความหนาแน่นของดิน ของหิน วัดค่าความโน้มถ่วงของโลกได้ ส่วนไซมิส เป็นเครื่องมือที่สามารถวัดความสั่นสะเทือนได้ และโซน่า สามารถวัดคลื่นในน้ำได้ สามารถวัดที่ปากอุโมงค์ของเหมืองได้” ด้านสำนักงานน้ำบาดาลกล่าวว่า “มีเครื่องมือในการสูบน้ำ และมีแลบในการตรวจวัดค่าของน้ำ สามารถนำมาได้ แต่ต้องมีหน่วยงานอื่นตรวจด้วยเช่นกันเพื่อสามารถเปรียบเทียบค่าวัดกับหน่วยงานอื่น ๆ”

จากนั้นตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ได้เสนอในที่ประชุมว่า “ขอให้มี สำนักสิ่งแวดล้อมภาค 11 เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมตรวจ ดิน น้ำในครั้งนี้ด้วย” ส่วนอุตสาหกรรมจังหวัดกล่าวว่า “ทางอุตสาหกรรมได้ตรวจน้ำ ดิน แต่ทางสิ่งแวดล้อมภาค 11 ไม่เคยเชื่อถือ เพราะผลที่ออกมาไม่ตรงกัน ฉะนั้นการตรวจวัดต้องการให้สิ่งแวดล้อมภาค 11 ลงมาด้วย พร้อมทั้งกล่าวหาว่า สิ่งแวดล้อมภาค 11 ขัดคำสั่งผู้ว่าฯ ไม่ลงพื้นที่ และไม่ส่งตัวแทนลงพื้นที่ในการประชุมคณะกรรมการครั้งนี้ อีกทั้งกล่าวทิ้งท้ายว่า ผลตรวจของสิ่งแวดล้อมภาค 11 ไม่น่าเชื่อถือด้วยเช่นกัน และไม่ให้ความสำคัญกับชาวบ้าน” หลังจากที่หารือกันเรื่องวิธีการตรวจสอบผลกระทบแล้วเสร็จ ได้บทสรุปคือ วัดค่าของ ดิน น้ำ โดยต้องมี 3 หน่วยงานตรวจสอบ ประกอบด้วย กพร. กรมน้ำบาดาล และสำนักสิ่งแวดล้อมภาค 11

จากนั้นเวลาประมาณ 12.00 น. ได้มีการประชุมเพื่อชี้จุดตรวจ โดยกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ได้ 14 จุด ที่สำคัญ เช่นบ่อหนองมะค่านอก บ่อหนองมะค่าใน บ่อน้ำข้างวัดหนองไทร บ่อน้ำชาวบ้าน (ที่สามารถอุปโภคบริโภคได้ก่อนมีเหมือง) ที่ดินชาวบ้านข้างโรงต้มเกลือ ลำน้ำลำมะหลอด เป็นต้น ด้าน กพร. เสนอ 7 จุด กรมน้ำบาดาล 5 จุด จากที่คณะกรรมการฯได้ข้อสรุป ตรวจดินน้ำ นอกโครงการ 14 จุด ในโครงการ 5 จุด และบ่อบาดาล 5 จุด แต่ละจุดต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อไขความกระจ่างปัญหาที่เกิดขึ้น ในที่ประชุมได้มีการนัดหมายเพื่อลงพื้นที่ในช่วงบ่าย โดยนัดหมายที่วัดหนองไทร

เวลา 14.00 น. หน่วยงานต่าง ๆ ที่เป็นคณะกรรมการฯ และตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ได้มารวมตัวกันที่วัดหนองไทร และได้หารือกัน เพื่อลำดับการไปยังจุดต่าง ๆ เพื่อความสะดวกรวดเร็วทันเวลาในการตรวจ ทุกหน่วยงานพร้อมลงพื้นที่ แต่

ทางด้าน นายยงยุทธ นพนิช ตัวแทนอุตสาหกรรมจังหวัด โวยวายไม่ขอลงพื้นที่ด้วยเพราะต้องการลงพื้นที่วันที่ตรวจน้ำตรวจดิน และอ้างว่าสามารถตรวจชี้จุดตาม GPS ได้ ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามมติครั้งก่อนของคณะกรรมการฯ ที่จะต้องลงพื้นที่ชี้จุดพื้นที่สำรวจ ดินน้ำ หลังจากนั้นนายยงยุทธ ก็ยังกล่าวว่า “ถ้ามีการไปชี้จุดและระบุจุดตรวจ อาจมีชาวบ้านไปทำให้ค่าของจุดนั้น ๆ เปลี่ยนแปลง และยังยืนยันที่จะชี้จุดโดยการใช้ GPS ”

 และคณะกรรมการชี้แจงว่า หากนายยงยุทธ ไม่เห็นความสำคัญของการลงพื้นที่ชี้จุดตามมติ คณะกรรมการก็กลับไป หลังจากนั้นนายยงยุทธก็ขับรถกลับ ส่วนคณะกรรมการฯเห็นความสำคัญร่วมในการต้องลงพื้นที่ชี้จุด ได้ลงพื้นที่ชี้จุดพร้อมทั้งนัดหมายลงพื้นที่ตรวจดิน น้ำ เป็นวันที่ 29-30 สิงหาคมนี้

ด้านตัวแทนชาวบ้านกล่าวว่า “การประชุมวันนี้รู้สึกผิดหวังที่ผู้ว่าฯ ไม่ได้มาร่วมเป็นประธานและยังไม่ส่งตัวแทนผู้ว่าฯ มาเป็นประธานด้วย ทำให้การประชุมวันนี้ เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงของคณะกรรมการฯ เบี่ยงเบนประเด็นตลอดการประชุม แต่ก็ยังดีที่คณะกรรมการฯ ก็ยังทำหน้าที่ ไปลงพื้นที่ แสดงความคิดเห็น และร่วมหารือแก้ไข หาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับปัญหาผลกระทบจากเหมืองแร่โปแตช”

“การประชุมครั้งนี้หากมีผู้ว่าฯ หรือรองผู้ว่าฯ มาเป็นประธานในการประชุม สถานการณ์และบรรยากาศการประชุมคงราบรื่นกว่านี้ ตัวแทนอุตสาหกรรมไม่น่าจะกร่าง แสดงพฤติกรรมขัดมติที่ประชุม พูดจาก่อกวน ไม่ยึดหลักธรรมาภิบาลในการเป็นข้าราชการที่ควรจะเป็น และหวังว่าการประชุมครั้งหน้า จะมีผู้ว่าฯ มาเป็นประธานในการประชุมเพื่อไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกในที่ประชุม” ชาวบ้าน ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปลุกสำนึกรับผิดชอบ! ไล่บี้ผู้ว่าฯโคราชคนใหม่ เดินหน้าปิดเหมืองโปแตช

ชาวบ้านด่านขุนทด ปักหลักยาวหน้าศาลากลางโคราช บี้"ชัยวัฒน์" ผู้ว่าฯคนใหม่ รับไม้ต่อเดินหน้าปิดเหมืองโปแตช หลัง"สยาม"ลอยตัวหนีปัญหา  ประกาศอยู่ยาวจนกว่าได้คำตอบ  กระตุกสำนึกความรับผิดชอบเจ้าหน้าที่รัฐปล่อยลอยนวลเหมืองเคลื่อนไหวต่อเนื่อง แต่เมินเฉยความเดือดร้อนฝั่งชาวบ้าน