โครงการชะลอขายข้าวเปลือกนาปีของรัฐบาลที่อุตรดิตถ์ “ส่อมีกลิ่น” ชาวนาลับแล ชูป้ายจะครบปีแล้วยังไม่ได้เงิน เรียกร้องให้ผู้ว่าช่วยด้วยชาวนาเดือดร้อน ใครอมเงินชาวนา เตรียมนำม็อบบุกศาลากลางจังหวัด พ่อเมืองอุตรดิตถ์ตรวจพบมีการ “เบิกจ่ายยอดเงินที่ไม่ตรงกันกับรายการตั้งเบิก” สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริง
25 ก.ค.2567 - ที่บริเวณแปลงนาข้าวพื้นที่หมู่ 6 ตำบลไผ่ล้อม อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ นายดอกรัก ทองคต สมาชิกสภาเกษตรกรตำบลไผ่ล้อม พร้อมตัวแทนชาวนากลุ่มเกษตรผู้ปลูกข้าวตำบลไผ่ล้อม ได้รวมตัวกันพร้อมป้ายข้อความว่า “โครงการชะลอข้าวปี 66/67” “จะครบปีแล้วเงินยังไม่ได้ เมื่อไหร่จะได้เงิน” “ผู้ว่าช่วยด้วย ชาวนาเดือดร้อน” “สหกรณ์เมืองอุตรดิตถ์ จ๋า..เรารอไม่ไหวแล้ว” “ข้าวล่องหนไปแล้ว ใครจะรับผิดชอบ” “ใครอมเงินชาวนา”
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากรัฐบาลได้มีโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 ตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อรักษาราคาข้าวเปลือกให้มีเสถียรภาพ โดยเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรไม่ให้ออกสู่ตลาดพร้อมกันจำนวนมาก และเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่เกษตรกรในระหว่างรอการขายผลิตผลข้าวเปลือก ซึ่งชาวนาผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ตำบลไผ่ล้อม จำนวน 174 ราย โดยเกษตรกรได้นำผลผลิตข้าว(ข้าวเปลือก)เข้าร่วมกับสหกรณ์การเกษตรเมืองอุตรดิตถ์ โดยใช้สำเนาทะเบียนเกษตรกรเล่มสีเขียวพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อยื่นเข้าร่วมโครงการชะลอการขายผลผลิตข้าวเปลือกของรัฐบาลโดยผ่านสหกรณ์การเกษตรเมืองอุตรดิตถ์ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีการช่วยเหลือทุกปีการผลิต
ที่ผ่านมาได้รับการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง จนเมื่อรอบฤดูนาปี 66/67 เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการยังไม่ได้รับเงินชดเชยโครงการชะลอการขายข้าว เกษตรกรจึงได้มีการสอบถามไปยังสหกรณ์การเกษตรเมืองอุตรดิตถ์ ได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถจ่ายเงินดังกล่าวได้ จึงทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวพื้นที่ตำบลไผ่ล้อมได้รับผลกระทบและได้รับความเดือดร้อนไม่มีเงินไปจ่ายหนี้สินที่กู้ยืมมา เพื่อจ่ายเป็นค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าแรงค่าเก็บเกี่ยวและค่าขนข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการ รวมถึงเงินที่ต้องใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
จึงได้ร่วมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้นายนายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ให้ลงมาช่วยแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในครั้งนี้ ปัญหาเรื่องเงินที่ยังไม่จ่ายให้กับชาวนาผู้เข้าร่วมโครงการแท้จริงแล้วเกิดจากอะไร ติดขัดตรงส่วนไหนและชาวนาจะได้เมื่อไหร่
นายดอกรัก สมาชิกสภาเกษตรกรตำบลไผ่ล้อม กล่าวว่า เกษตรกรตำบลไผ่ล้อม ตำบลทุ่งยั้งและตำบลชัยจุมพลบางส่วน ทุกปีเกษตรกรได้นำข้าวเปลือกร่วมโครงการกับสหกรณ์การเกษตรเมืองอุตรดิตถ์ เป็นเวลา 3 ปี ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้รับเงินเป็นปกติ ในปีนี้เช่นกันชาวนาผู้ปลูกข้าวได้นำข้าวเปลือกไปเข้าโครงการฯ และ เป็นปีสุดท้ายของงบประมาณการชะลอขายข้าวราคาตันละ 500 บาท และปีนี้ถูกสหกรณ์การเกษตรเมืองอุตรดิตถ์ปฏิเสธไม่จ่ายเงินค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก ให้กับเกษตรกรตำบลไผ่ล้อม ตำบลทุ่งยั้งและตำบลชัยจุมพลบางส่วนที่เข้าร่วมโครงการได้รับผลกระทบจาการที่สหกรณ์การเกษตรเมืองอุตรดิตถ์ไม่จ่ายเงินให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งปกติจะได้รับเงินในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม
แต่ในปีนี้กินเวลานานหลายเดือนแล้วเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ ยังไม่ได้เงิน ปริมาณข้าวเปลือกเกือบ 5,000 ตัน ตันละ 500 บาท คิดเป็นเงินจำนวนกว่า 2.25 ล้านบาท (สองล้านสองแสนห้าหมื่นบาท) เงินจำนวนดังกล่าวเกษตรกรจะต้องนำไปจ่ายเป็นค่าเกี่ยวข้าว ค่าขนย้ายข้าวเปลือกจากแปลงนาเข้าโรงสีหรือโครงการ ค่าเล่าเรียนบุตรหลาน ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน บางคนต้องกู้หนียืมสินคนอื่นมาใช้หนี้ ธกส.และหนี้สหกรณ์ ส่งผลทำให้ชาวนาปลูกข้าวที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก
แม้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวจะมีเพียงไม่กี่ล้านบาท แต่ชาวนามีความจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนนี้ และหวังว่าจะได้นำเงินจำนวนดังกล่าวมาเป็นค่าใช้จ่ายการทำนางวดใหม่นี้ ซึ่งยังไม่ได้จ่ายเงินเป็นค่าหว่าน ค่าไถนา อยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นสื่อกลางช่วยเคลียร์ปัญหาให้กับเกษตรกรด้วย ผลความคืบหน้าหากไม่ได้ชาวนาผู้ได้รับความเดือดร้อน จะรวมตัวกันนำรถไทยแลนด์ไปที่ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ และจากศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์จะนำรถไทยแลนด์เป็นขบวนไม่ต่ำกว่า 500 คันเข้ากรุงเทพ เพื่อเข้าพบ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ช่วยเหลือ
ด้าน นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า การที่มีข่าวว่าการเบิกเงินชดเชย โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 ให้กับชาวนาจังหวัดอุตรดิตถ์นั้น ในเบื้องต้นรับทราบว่า มีการเบิกจ่ายยอดเงินที่ไม่ตรงกันกับรายการตั้งเบิก ทางจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้มีการมอบหมายให้ทางสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ไปดำเนินการ เนื่องจากว่าการเบิกจ่ายครั้งนี้เป็นเรื่องโดยตรงระหว่างสหกรณ์การเกษตรเมืองอุตรดิตถ์กับ ธกส.จังหวัดอุตรดิตถ์ ในการดำเนินการในส่วนของจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ดูแลสหกรณ์อยู่จำเป็นต้องเข้าไปตรวจสอบว่า “เรื่องราวทั้งหมดเป็นอย่างไร” ขณะนี้รอทางสกหรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ชี้แจงว่า มีความถูกต้องหรือความคลาดเคลื่อนอย่างไร รายละเอียดจะแจ้งให้เกษตรกรผู้ได้รับความเดือดร้อนได้รับทราบอีกครั้งหนึ่ง
การให้ความเป็นธรรมกับพี่น้องเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนี้ 1.หากเกษตรกรเป็นผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลก็จะต้องได้รับ ซึ่งต้องดูเอกสารเป็นสำคัญว่า ในการตั้งเบิกจ่ายจากสหกรณ์การเษตรเมืองอุตรดิตถ์กับธนาคารเพื่อการเกษตร และ สหกรณ์การเกษตร(ธกส.)จังหวัดอุตรดิตถ์ ข้อมูลเป็นอย่างไร เพราะโดยข้อมูลปกติ ข้อมูลทั้ง 2 ฝ่ายเป็นการตรวจสอบซึ่งกันและกันอยู่แล้ว ไม่น่าจะมีขข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดอะไร ครั้งนี้ยังไม่ทราบประเด็นที่ชัดเจนว่า ความผิดพลาดหรือข่าวที่ออกมาเป็นอย่างไรที่แท้จริง ซึ่งได้รับทราบจากนายอำเภอลับแลรายงานเบื้องต้นมา
“อยากจะฝากบอกพี่น้องเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนี้ว่า เกษตรกรที่คิดว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้เตรียมเอกสารข้อมูลที่ได้ยื่นเอาไว้ให้แก่ทางสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์และทาง ธกส. เพราะหลักฐานนี้จะเป็นสิ่งที่บ่งชี้และยืนยันว่า การดำเนินการนั้นโปร่งใสหรือไม่อย่างไร ขอให้เกษตรกรได้เตรียมข้อมูลหลักฐานมาให้กับเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบ เพราะจะทำให้การดำเนินการตรวจสอบเป็นไปด้วยความรวดเร็ว”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอำเภอลับแลได้รับแจ้งขอความช่วยเหลือเกษตรกร มีเกษตรกรตำบลไผ่ล้อม ตำบลทุ่งยั้งและตำบลชัยจุมพล ยื่นความประสงค์ขอความช่วยเหลือจากโครงการดังกล่าวเพิ่มเติม จากเดิม 115 ราย รวมจำนวนทั้งหมด 174 ราย และได้ประสานไปยังสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดอุตรดิตถ์ ในการตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/2567 ของสหกรณ์การเกษตรเมืองอุตรดิตถ์ จำกัด ปรากฎว่า มีรายชื่อเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนตรงกับทะเบียนรายชื่อที่นำมายื่นขอเบิกเงินกู้ ตามโครงการฯ จำนวนเพียง 116 ราย
ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงของการเข้าร่วม โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/2567 ของสหกรณ์การเกษตรเมืองอุตรดิตถ์ จำกัด โดยมีสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ ผู้ตรวจการสหกรณ์จังหวัด หัวหน้าสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด และพาณิชย์จังหวัดอุตรดิตถ์ เข้าร่วมตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2567 ณ สหกรณ์การเกษตรเมืองอุตรดิตถ์ จำกัด
ตรวจพบว่า สาเหตุที่มีรายชื่อเกษตรกรผู้ร้อง จำนวน 116 ราย ปรากฎอยู่ในทะเบียนรายชื่อเกษตรกรที่นำมายื่นขอโครงการฯนั้น เมื่อ ธ.ก.ส. โอนเงินตามจำนวนปริมาณข้าวและทะเบียนรายชื่อเกษตร กรไปยังสหกรณ์การเกษตรเมืองอุตรดิตถ์ จำกัด เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นสหกรณ์การเกษตรเมืองฯ ได้มีการขอปรับเปลี่ยนรายชื่อที่ใช้จ่ายเงินจริง เป็นมติที่ประชุมของคณะกรรมการสหกรณ์ฯ ที่ต้องให้สิทธิสมาชิกของสหกรณ์ก่อน ซึ่งหน่วยงานที่เข้าร่วมตรวจสอบได้สอบถามไปยังผู้แทนสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัด ว่า
“ขั้นตอนการดำเนินโครงการที่มีการปรับเปลี่ยนรายชื่อเกษตรกรหลังจากได้รับเงิน เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักการและเงื่อนไขของโครงการหรือไม่ โดยผู้แทนฯแจ้งว่าสำหรับเรื่องบริหารจัดการให้เป็นหน้าที่ของสหกรณ์การเกษตรเมืองฯ ธ.ก.ส. มิได้เกี่ยวข้อง”
เจ้าหน้าที่ส่วนที่เกี่ยวข้องในการลงพื้นที่ได้รายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์รับทราบแล้ว และเตรียมประชุมคณะอนุกรรมการบริหารโครงการสินเชื่อ เพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ระดับจังหวัด ปีการผลิต 66/67 ในวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2567 เวลา 14.30 น. เพื่อพิจารณาแนวทางปฏิบัติและช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนต่อไป โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประธาน
รายงานข่าวแจ้งว่า ชาวนาลับแล เตรียมนำม็อบบุกศาลากลางจังหวัด ทวงเงินโครงการชะลอขายข้าวเปลือกนาปีของรัฐบาลที่อุตรดิตถ์ ชูป้ายจะครบปีแล้วยังไม่ได้เงิน เรียกร้องให้ผู้ว่าช่วยด้วยชาวนาเดือดร้อน ข้างล่องหนไปไหนแล้ว ใครอมเงินชาวนา พ่อเมืองอุตรดิตถ์สั่งตรวจพบมีการ “เบิกจ่ายยอดเงินที่ไม่ตรงกันกับรายการตั้งเบิก ส่อมีกลิ่น” สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมเรียกประชุมคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดหาทางช่วยเหลือชาวนา.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กระทรวงเกษตรฯ เคาะช่วยชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่! วงเงิน 3.8 หมื่นล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากกรณีมติของที่ประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิตครั้งที่
โฆษก กษ. เผยข่าวดี! ปรับเงินช่วยชาวนาเป็น 1000 บาทต่อไร่แล้ว
นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยผลประ
ชาวนาเฮ! รัฐบาลเคาะแจกไร่ละ 1 พันบาท เล็งปรับโครงสร้างเกษตรทั้งระบบ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันนี้ เห็นชอบหลักการช่วยเหลือเกษตรกร ผ่านโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท
ชาวนารับจ้างอัดก้อนฟางข้าว โกยรายได้งามช่วงหาซื้อยาก ราคาแพง
ชาวนาที่ จ.บุรีรัมย์ นำรถไถนาขนาดใหญ่ มาดัดแปลงติดตั้งเครื่องอัดฟาง ออกบริการรับจ้างอัดก้อนฟางข้าว จากชาวนาเพื่อนบ้าน
ชาวนาต้นทุนกระฉูด! ปุ๋ยคนละครึ่งไม่ตอบโจทย์
บุรีรัมย์ ชาวนา เรียกร้องให้รัฐบาล ช่วยค่าเก็บเกี่ยวไร่ละพัน แบ่งเบาภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ยังขายได้ราคาต่ำ
ชาวนาเฮ! กนช. เตรียมประกาศพื้นที่ทำนาปรังรวม 12 ล้านไร่ เกษตรกรได้ปลูกข้าวเพิ่ม
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 5/2567