ชาวบ้านริมแม่น้ำโขง 8 จังหวัดส่งจดหมายถึงนายกฯหวั่นเขื่อนปากแบงกั้นแม่น้ำโขงเฉียดเขตแดนทำไทยเสียดินแดน-ทำลายแหล่งทำมาหากินของคนเล็กคนน้อย-เอื้อประโยชน์แค่กลุ่มทุนใหญ่-วอนทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
13 ก.ค.2567 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายทองสุข อินทะวงศ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย นายนิวัตน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ส่งจดหมายถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้ทบทวนและยกเลิกการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง ในโอกาสที่นายเศรษฐาและคณะจะเดินทางมาลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายโดยในวันที่ 13 กรกฎาคม โดยนายกรัฐมนตรีจะเดินทางมายังริมแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน เพื่อรับฟังสถานการณ์เกี่ยวกับแม่น้ำโขงและศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาระบบชลประทานเพื่อการอุปโภคบริโภคและพบปะประชาชนใน อ.เชียงแสน
เนื้อหาในจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีและนายพีระพันธุ์ระบุว่า ในการประชุมของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ที่นครหลวงเวียงจันทน์ ได้มีการนำเสนอความคืบหน้าของโครงการเขื่อนปากแบง (Pak Beng HPP) ซึ่งจะเป็นเขื่อนที่จะก่อสร้างกั้นแม่น้ำโขงสายหลัก ที่เมืองปากแบง แขวงอุดมไซ สปป.ลาว ห่างจากชายแดนไทย-ลาว ที่ อ.เวียงแก่น 70-92 กิโลเมตร มีกำลังการผลิตติดตั้ง 920 เมกะวัตต์ มีเป้าหมายขายไฟฟ้า 95 % ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน และจะต้องนำส่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิดแห่งประเทศไทย แล้วจึงดำเนินการเกี่ยวกับสินเชื่อจากสถาบันการเงินของไทย
ในจดหมายระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการจัดกระบวนการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง มาตรา 5 ปี 2538 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559-19 มิถุนายน 2560 ดำเนินการโดยกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ในขณะนั้น มีการจัดเวทีให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเขื่อนปากแบงแก่ประชาชนจำนวน 4 ครั้ง โดยประชาชนที่ได้เข้าร่วมเวทีมีคำถามและข้อกังวลจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตข้ามพรมแดนที่จะเกิดขึ้นจากเขื่อนปากแบงอย่างยิ่งในประเด็นดังนี้
1. ผลกระทบจากภาวะ “น้ำเท้อ” จากอ่างเก็บน้ำของเขื่อนปากแบงในเขตชายแดนไทยในเขต อ.เวียงแก่น, อ.เชียงของ และ อ.เชียงแสน ซึ่งมีชุมชนตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง และบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำสาขาน้ำโขง เช่น น้ำอิง น้ำงาว เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรจำนวนมาก 2. ผลกระทบสะสมจากเขื่อนจิงหง ที่ตั้งอยู่ในประเทศจีน ทางตอนบน ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและประชาชนไทยที่อยู่ท้ายน้ำในเขตจ.เชียงราย มากว่า 20 ปี โดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าและไม่มีมาตรการบรรเทาผลกระทบ 3.ผลกระทบต่อการอพยพของปลาและการประมงของชุมชนริมแม่น้ำโขง 4. ผลกระทบต่อการเก็บ ไก-สาหร่ายแม่น้ำโขง ในช่วงฤดูแล้งที่เป็นสินค้าเศรษฐกิจท้องถิ่นสำคัญของคนทั้ง 3 อำเภอ ที่สร้างรายได้คนละร่วมแสนบาท 5. ผลกระทบต่อเส้นเขตแดนชายแดนไทย-ลาว ที่มีเกาะแก่งเป็นจำนวนมาก อาจจะเสียดินแดนทางอธิปไตยจากกรณีภาวะน้ำเท้อตลอดทั้งปี
จดหมายระบุด้วยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 8 ปี เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ส่งความคิดเห็นต่อหน่วยงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงความไม่จำเป็นและความบกพร่องของเขื่อนปากแบงในประเด็นต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ 1.ความไม่สมบูรณ์ของเอกสารรายงานการศึกษาผลกระทบทั้งหมดของโครการเขื่อนปากแบง มีการใช้ข้อมูลเก่า ไม่เป็นปัจจุบัน ส่งผลกระทบทำให้เกิดการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนและมาตรการที่จะป้องกัน ติดตามและบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดน ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง และไม่มีมาตรฐาน
2.ประชาชนในพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอติดแม่น้ำโขง ในจังหวัดเชียงราย ไม่เคยได้รับข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับภาวะน้ำเท้อจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนปากแบง ว่าน้ำจะท่วมเข้ามาในพื้นที่ของชุมชนตนอย่างไร มีระดับสูงขนาดไหนและจะเสียหายอย่างไร ระยะเวลาเท่าใด ซึ่งหากเกิดผลกระทบจากน้ำเท้อดังกล่าว จะทำให้แม่น้ำโขงมีสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำ และจะมีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี ประชาชนไทยที่อาศัยการไหลของน้ำในการประมง จะไม่สามารถทำมาหากินทั้งการจับปลา การเก็บไก และยังมีความเสี่ยงของน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่ในที่ราบลุ่มน้ำงาว และน้ำอิง ซึ่งเป็นที่ทำกินของประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะเป็นพื้นที่ปลูกส้มโอและข้าว พืชเศรษฐกิจของชุมชนอำเภอเวียงแก่นและเชียงของ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบและผู้พัฒนาโครงการยังไม่สามารถชี้แจงข้อมูลผลกระทบที่แท้จริง มาตราการ และกลไกที่ใช้ในกระบวนการแก้ไขปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดนดังกล่าวได้
3.ความไม่จำเป็นของการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง เนื่องจากพลังงานสำรองของไทยนั้นมีมากถึง 45% และปัจจุบันคนไทยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาแพง พลังงานจากเขื่อนนี้จึงไม่จำเป็นต่อประชาชนไทย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทั้งยังไม่สามารถที่จะเรียกได้ว่า เป็นพลังงานสะอาด เพราะต้องแลกด้วยวิถีชีวิต เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตชายแดนไทยลาว ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ และระบบนิเวศของแม่น้ำโขงที่ต้องเสียสมดุลอย่างรุนแรง สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และเสียพื้นที่ดูดซับคาร์บอนที่สำคัญ
“การตรวจสอบผลกระทบข้ามพรมแดนและการละเมิดสิทธิของประชาชน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ได้ทำหน้าที่ในการปกป้องสิทธิของประชาชน และไม่มีแนวทางที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนจากการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ตามรัฐธรรมนูญ
พวกเราขอแสดงความคิดเห็นว่าตลอดการดำเนินการในการปกป้องแม่น้ำโขงและเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการปรึกษาหารือและกระบวนการตัดสินใจ ตามรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทย และ พรบ.ข้อมูลข่าวสาร ปี 2540 กระบวนการร้องเรียนตามกลไกของรัฐที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมและนำความคิดเห็นเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจดังกล่าวในครั้งนี้ถือว่า ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง พวกเราในฐานะประชาชนหมดความเชื่อมั่น”จดหมายของชาวบ้านลุ่มน้ำโขงระบุ
ในช่วงท้ายของจดหมายระบุด้วยว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงขอยืนยันว่าพลังงานจากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจากแม่น้ำโขง ไม่ใช่พลังงานสะอาด แต่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศรุนแรง แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบกลับไม่มีการนำความเสียหายนี้มาคำนวณในต้นทุน ทำให้เอกชนรายใหญ่เป็นผู้ได้ผลประโยชน์ ขณะที่ความเสี่ยงและภาระตกอยู่กับประชาชน ผู้พัฒนาโครงการซึ่งเป็นเอกชนรายใหญ่นำเสนอว่าเขื่อนแม่น้ำโขงเป็นพลังงานที่เสถียรและต้นทุนต่ำ เป็นการมองไม่เห็นผู้คนลุ่มน้ำได้รับผลกระทบ ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งโขง ขอให้ท่าน ในฐานะนายกรัฐมนตรี พิจารณาทบทวนและยกเลิกการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง โดยขอให้คำนึงถึงประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่ต้องแบกรับภาระผลกระทบข้ามพรมแดนเป็นกลุ่มแรก ท่ามกลางความไม่ชัดเจนของกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากผลกระทบข้ามพรมแดนดังกล่าวในอนาคตต่อไป รวมทั้งประชาชนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือนที่ต้องแบกภาระต้นทุนจากเขื่อนที่ไม่มีความจำเป็นใดๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สิงห์ปาร์ค'ร่วมฉลองครบ10ปี 'เชียงราย โร้ด คลาสสิค 2024' กระตุ้นเศรษฐกิจ-สู่เมืองกีฬา
บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ร่วมกับ สิงห์ปาร์ค เชียงราย, จังหวัดเชียงราย, สำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงราย และเครือข่ายชมรมจักรยาน จังหวัดเชียงราย จัดกิจกรรมปั่นจักรยาน “เชียงราย โร้ด คลาสสิค 2024” ปีที่ 10 ที่ สิงห์ปาร์ค เชียงราย
“พิพัฒน์” จ้างงานเร่งด่วน ระดมช่างไฟฟ้าซ่อมในอาคารกว่า 100 หลัง สร้างเชียงรายโมเดล ช่วยฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลดให้ประกอบอาชีพได้
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน KICK OFF กิจกรรมการให้บริการซ่อมแซมระบบไฟฟ้าภายในอาคารบ้านเรือนผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในจังหวัดเชียงราย
TSB ลุยช่วยสังคมต่อเนื่อง จับมือนักธุรกิจเอกชน ฟื้นฟูน้ำท่วมเชียงราย
ไทย สมายล์ บัส และบริษัทในเครือ ร่วมกับ มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ และนักธุรกิจภาคเอกชน เดินหน้าสานต่อโครงการ “สังคมร่วมใจ คืนความสดใสให้วัดและโรงเรียน จ.เชียงราย” เร่งฟื้นฟูวัดและโรงเรียนน้ำท่วม
โฆษกศปช. เผยเคลียร์พื้นที่น้ำท่วมเชียงรายเสร็จเกือบ 100% แล้ว
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เสียงจากใจไทยคู่ฟ้า” ตอนหนึ่งว่า สรุปศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.ส่วนหน้า) โดย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม
เคลียร์ชัด! 'กรมป่าไม้' ตรวจสอบแล้ว 'ไร่เชิญตะวัน' พระ ว.วชิรเมธี ไม่บุกรุกป่า
นายบรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะโฆษกกรมป่าไม้ กล่าวว่า จากกรณีที่สาธารณชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจและติดตามข่าวการอนุญาตใช้ประโยชน์และอยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยปุย