วันที่ 7 เดือน 7 ฉลองยิ่งใหญ่ 'แลนด์มาร์กพญานาค'

ครบ 8 ปีกำเนิดแลนด์มาร์กพญานาค จากพลังศรัทธาสู่เมืองท่องเที่ยวหลัก ถือฤกษ์บวงสรวงวันที่ 7 เดือน 7 ทุกปี พานบายศรีสูงสุดในประเทศ และนางรำ 9 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ

7 ก.ค.2567 – ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 8 ปีเต็ม  และถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ จ.นครพนม หลังมีการผลักดันก่อสร้างแลนด์มาร์คริมแม่น้ำโขง ต่อมากลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งใหม่ของ จ.นครพนม รวมถึงเป็นการสร้างสัญลักษณ์เมือง ทำให้เศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยว ภายใต้ความเชื่อเกี่ยวกับองค์พญานาค ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ตามคติความเชื่อ ที่ดูแลปกปักษ์รักษาแถบลุ่มน้ำโขง

โดยมีการวางแผนออกแบบก่อสร้าง ใช้เวลานานถึงเกือบ 5 ปี กระทั่งเสร็จสมบูรณ์แบบ นำมาประดิษฐานเมื่อปี 2559 ได้นามอันเป็นมงคลจากพระธรรมวชิรโสภณ ขณะดำรงสมณศักดิ์พัดยศพระเทพวรมุนี(ในขณะนั้น) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ว่า พญาศรีสัตตนาคราช  สร้างขึ้นด้วยโลหะทองเหลือง เป็นพญานาคขดตัวชูเศียรพ่นน้ำ จำนวน 7 เศียร มีความสูงตั้งแต่ฐานลำตัว 9 เมตร ขดลำตัวกว้าง 6 เมตร และตั้งบนแท่นประดิษฐานสูง 5 เมตร มีน้ำหนักรวม 9 ตัน

โดยองค์พญาศรีสัตตนาคราช ประดิษฐานหันหน้าไปทางแม่น้ำโขง ใช้งบสร้างเฉพาะองค์พญานาค ประมาณ 9 ล้านบาท ถือเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ ที่มีความสวยงาม โดดเด่น เชื่อมกับเส้นทาง 3 ที่สุดของ จ.นครพนม ประกอบด้วย คือ 1.ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด คือ องค์พระธาตุพนม

2. สวยที่สุด คือ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 นครพนม – คำม่วน และ 3.งามที่สุด คือวิวทิวทัศน์ 2 ฝั่งโขง รวมถึงเทือกเขาหินปูนของประเทศลาว และองค์พญานาคแลนด์มาร์คที่จะเป็นจุดขาย ประชาสัมพันธ์กระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว ดึงดูดประชาชน นักท่องเที่ยว สนใจมาเที่ยวชม ทำให้ปัจจุบันนครพนม มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวพักผ่อน เพิ่มหลายเท่าตัว

จากข้อมูลในอดีตเคยมีนักท่องเที่ยว เฉลี่ยปีละ 4 -5 แสนคน เพิ่มเป็นปีละเกือบ 2 ล้านคน ในช่วง 2-3ปี ที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อภาคเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยว ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม ที่พักถูกจับจองเต็ม ทุกวันหยุดยาว หรือช่วงวันสำคัญต่างๆ

ทั้งนี้ ในวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี (7 กรกฎาคม) จังหวัดนครพนม ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน จัดงานประเพณีสำคัญขึ้น คือ งานบวงสรวงบูชาองค์พญาศรีสัตตนาคราช นอกเหนือจากงานประจำปี ประเพณีไหลเรือไฟออกพรรษา รวมถึงงานนมัสการองค์พระธาตุพนม โดยทุกปีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-13 กรกฎาคม  ส่วนไฮไลท์ของการจัดกิจกรรม ทุกวันจะมีการจัดรำบวงสรวง เพื่อเป็นสิริมงคล โดยมีสาวงามจากชนเผ่าต่างๆ รวม 9 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ(จีน เวียดนาม) ทั้ง 12 อำเภอ เข้ารวมวันละกว่า 500 คน ในชุดพื้นเมืองประจำชนเผ่า  แสดงออกถึงขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่เป็นเอกลักษณ์ของ จ.นครพนม    ให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ได้ ชื่นชม ถึงความสวยงาม อลังการ และความอ่อนช้อยงดงาม อีกทั้งเป็นการเชิญชวนประชาสัมพันธ์กระตุ้น เศรษฐกิจการท่องเที่ยว ให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย ชาวลาว มาร่วมกราบไหว้ขอพร แสดงออกถึงความเคารพศรัทธา

ตลอดช่วง 8 ปี ที่ผ่านมา หลังการก่อสร้าง มีประชาชน นักท่องเที่ยว ที่เคารพศรัทธา ได้โชคลาภถูกรางวัลที่ 1 มาหลายครั้ง มากสุดได้รับรางวัลมากกว่า 90 ล้านบาท เมื่อปี 2561ที่ผ่านมา

สำหรับปีนี้มีความพิเศษกว่าทุกปี ได้จัดพานบายศรีบวงสรวงขนาดความสูง 7 เมตร 70 เซนติเมตร เท่าที่ทราบมาถือว่าเป็นพานบายศรีที่สูงที่สุด ใช้งบส่วนตัวของเอกชนประมาณ 2 แสนบาท ใช้เวลาประดิดประดอยอย่างประณีตนานกว่า 1 เดือน รวมทั้งสาวงามโดย นางสาวศุภพานี โพธิ์สุ นายก อบจ.นครพนม ส่งทีมงานคัดสรรมามากกว่าทุกปีราว 700 คนเป็นอย่างต่ำ ไม่รวมนักท่องเที่ยวที่ทางจังหวัด จัดสถานที่ให้ร่วมรำบวงสรวงไว้

ด้าน นายธนพัต ทีฑธนานนท์ หรือเสี่ยบิ๊ก ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า งานบวงสรวงองค์พญาศรีสัตตนาคราช กลายเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ จัดขึ้นทุกปีในวันที่ 7 เดือน 7 ต้องยอมรับว่าคนในพื้นที่รวมถึงประชาชนนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศ เดินทางมาร่วมงานจึงส่งผลต่อเศรษฐกิจการค้าการท่องเที่ยวในพื้นที่ ทั้งนี้เกิดจากพลังศรัทธาทั้งสิ้น ส่งผลดีต่อร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรมที่พักถูกจับจองเต็ม

อีกส่วนหนึ่งสถานที่ตั้งมีความเหมาะสมเป็นแลนด์มาร์กศักดิ์สิทธิ์อย่างมาก สวยงาม ทางธรรมชาติริมฝั่งแม่น้ำโขง นอกจากนี้องค์พญาศรีสัตตนาคราช ยังเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐเอกชน ในการกำหนดทิศทางการพัฒนา ส่งเสริมการท่องเที่ยวมีความชัดเจนมากขึ้น มองเห็นว่านครพนมจะเติบโตในทิศทางไหน ที่จะส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวยกระดับจากเมืองรองเป็นเมืองหลัก

ที่สำคัญตั้งแต่ปี 2559 องค์พญาศรีสัตตนาคราช ได้สร้างความเชื่อมั่นความศรัทธาให้กับคนนครพนม รวมถึงประชาชนนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นปาฏิหาริย์จากพลังศรัทธา ที่เรามองไม่เห็น แต่ที่จับต้องได้คือความเติบโตด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว อีกทั้งเป็นพลังบวกทำให้จังหวัดนครพนม เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น จากที่มีแค่องค์พระธาตุพนม ทำให้มีพลังศรัทธามากยิ่งขึ้น ฝากเชิญชวนพี่น้องประชาชนมาร่วมงานบวงสรวงองค์พญาศรีสัตตนาคราช ระหว่างวันที่ 7-13 กรกฎาคม 2567 จะได้เห็นถึงความสมัครสมานสามัคคีของชาวนครพนม รวมถึงพลังศรัทธาของประชาชนนักท่องเที่ยว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทึ่ง! พระปิ๊งไอเดียใช้ยางรถยนต์ มุงหลังคาแทนกระเบื้อง ลวดลายพญานาค

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่วัดถ้ำศรีพรหม บ้านโนนสา ต.ท่าดอกคำ อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ หลังมีผู้ใช้ TikTok โพสต์คลิปเรื่องราวของวัดที่ใช้ยางรถยนต์เก่ามามุงหลังคาแทนกระเบื้องและสังกะสี โดยวัดถ้ำศรีพรหม ตั้งอยู่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว เป็นสถานที่แห่งนี้เป็นที่ปฏิบัติธรรม

ยึดรายวันยาบ้าริมโขง ทหารพรานสกัดได้กว่า 2 แสนเม็ด

ที่กองร้อยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 2101 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 21 กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี (ร้อย ทพ.2101 ฉก.21 กกล.ฯ) บ้านปากห้วยม่วง ต.นาเข อ.บ้านแพง จ.นครพนม พ.อ.อินทราวุธ ทองคำ ผบ.กรม ทพ.21/ผบ.ฉก.ทพ.21 ร.ท.วันชาติ

สรุป 38 รายชื่อ สว.นครพนม เข้าสู่ระดับประเทศ  ‘อดีตสส.7สมัย’ ตกรอบไขว้

ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดนครพนม ได้ประกาศบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือก เพื่อเข้าไปสู่รอบชิงระดับประเทศ ในวันพุธที่ 26 มิถุนายน นี้  ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี

เลขาฯปปส. สั่งเพิ่มแอนตี้โดรน สกัดส่งยาบ้าทางอากาศตามแนวชายแดน

หน่วยงานความมั่นคงตามแนวพรมแดนประเทศเพื่อนบ้าน ยังมีมาตรการเข้มอย่างต่อเนื่อง ในการสกัดกั้น ปราบปราม จับกุม ขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ โดยมีพื้นที่เป้าหมายสำคัญ ที่มีการลักลอบลำเลียงยาเสพติด ในพื้นที่ชายแดน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.บ้านแพง อ.ท่าอุเทน อ.เมืองฯ