ร้องนายกฯช่วย 17 ชาวโมร็อกโกเหยื่อจีนเทาถูกหลอกมาประเทศไทยก่อนส่งข้ามแดนไปยังแหล่งอาชญากรรมริมแม่น้ำเมยตรงข้าม อ.พบพระ “กัณวีร์” จี้รัฐบาลเร่งช่วยด่วน เผยเดินทางผ่านสนามบินไทย
28 มิ.ย.2567 - มูลนิธิเพื่ออิสรภาพ (The Exodus Road) ประเทศไทย ได้ทำหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อขอความช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ชาวโมร็อกโก จำนวน 17 คน โดยระบุว่า มูลนิธิฯได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากผู้เสียหายและครอบครัวชาวโมร็อกโกจำนวน 17 คน ถูกขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติจีนร่วมมือกับชาวโมร็อกโกหลอกเข้าไปทำงานแต่เมื่อเดินทางมาถึงพบว่าตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ ถูกบังคับกักขัง ทำร้ายร่างกาย รวมทั้งเรียกค่าไถ่ 6,000-8,000 เหรียญสหรัฐฯต่อคนโดยข่มขู่ว่าหากไม่สามารถนำเงินมาจ่ายได้จะถูกส่งไปขายยังพิกัดอื่นๆ เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจำนวน 5 คนได้พยามติดต่อขอความช่วยเหลือครอบครัวให้ส่งเงินค่าไถ่แต่ก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว ทั้งหมดถูกกักขังในพื้นที่เมียนมาอยู่ตรงข้ามกับ ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก และรอความช่วยเหลือนับตั้งแต่เดือนเมษายนพ.ศ.2567 เป็นต้นมา
“มูลนิธิฯได้ประสานสถานเอกอัครราชทูตโมร็อกโก ประจำประเทศไทย เพื่อทำหนังสือขอความช่วยเหลือไปยังสถานเอกอัครราชทูตเมียนมา ประจำประเทศไทย และกระทรวงการต่างประเทศของไทย เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา แต่เมื่อประสานติดตามกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อ.แม่สอด และที่ว่าการอำเภอพบพระ จ.ตาก เพื่อสอบถามความคืบหน้า พบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้รับการประสานส่งต่อข้อมูลการขอความช่วยเหลือดังกล่าว”หนังสือระบุ
ในหนังสือระบุด้วยว่า หลายภาคส่วนได้พยายามร่วมมือกันประสานทุกช่องทางและได้รับการรายงานจากเหยื่อชาวโมร็อกโกในพิกัดว่าคืนวันที่ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทางกองกำลัง The Democratic Karen Buddhist Army (DKBA) ซึ่งเป็นกองกำลังที่มีอำนาจปกครองเหนือพิกัดดังกล่าวได้เข้าไปตรวจสอบรายชื่อเหยื่อชาวโมร็อกโกทั้งหมดแล้ว ขอความอนุเคราะห์จากท่านเพื่อเร่งประสานสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เป็นการเร่งด่วนเพื่อเร่งดำเนินการติดตามช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ชาวโมร็อกโก จำนวน 17 คนดังกล่าว
ขณะที่นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊ก กรณีที่ได้รับการประสานจากภาคประชาชนให้ช่วยเหลือการค้ามนุษย์ว่ามีชาวโมร๊อกโก จำนาน 17 คน และทราบจากแหล่งข่าวอื่นว่ามีชาวศรีลังกา จำนวน 41 คน ถูกหลอกลวงไปทำงานและตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในประเทศเมียนมา สถานที่คนในพื้นที่เรียกว่าช่องแคบฝั่งเมียนมา ตรงข้าม อ.พบพระ
นายกันวีร์ ระบุว่า นี่เป็นอีกครั้งที่ธุรกิจจีนสีเทา/ดำ ได้ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคน ทำคนเหมือนไม่ใช่คน บริษัทจัดหางานนายหน้าจากโมร็อกโก และคงรวมถึงศรีลังกา เป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดหาและนำพา พวกเขามายังพื้นที่ชายแดนเมียนมา ตรงข้าม อ.พบพระ สุดท้ายกลายเป็นการค้ามนุษย์ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้อยู่บริเวณชายแดนติดกับไทยและอยู่ในความดูแลของกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ โดยพวกจีนสีเทา/ดำ รู้ดีว่าสถานที่ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ที่อาจถูกเรียกว่าเป็น No Man Land เพราะยังเป็นพื้นที่สู้รบในเมียนมา จึงใช้จังหวะให้เป็นโอกาสการทำธุรกิจหลอกลวงทั้งคนไปทำงาน และคนบริสุทธิ์นับล้านคนผ่านคาสิโนออนไลน์ คอลเซนเตอร์ และทุกอย่างที่ผิดกฎหมาย
“จนสุดท้ายมีทั้งเหยื่อที่ถูกค้ามนุษย์ถูกหลอกไปทำงานและทำร้ายร่างกาย บีบคั้นให้ทำงานหากไม่ทำก็ประทุษร้าย และคนนับล้านอย่างเราๆ ท่านๆ ก็ถูกคอลเซนเตอร์หลอกลวงเงินรวมกันหลายร้อยล้านบาท” นายกัณวีร์ กล่าว
นายกัณวีร์ กล่าวว่า กรณีชาวโมร๊อกโก 17 ราย และ ศรีลังกา 41 รายนี้สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือ 1.เอาตัวเหยื่อทั้งหมด ออกจากสถานที่ที่ถูกกักขัง ง่ายที่สุดคือการข้ามแดนมาไทย โดยการขอความร่วมมือจากกองกำลังชาติพันธุ์ที่ดูแลพื้นที่ มอบให้ทหารไทยช่วยประสานงาน 2.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รับหน้าที่ต่อ ผ่านกระบวนการ National Referal Mechanism (NRM) ทำการคัดแยกเหยื่อการค้ามนุษย์ ตามกระบวนการที่มีอยู่ 3.สถานทูตโมร็อกโกและศรีลังการับตัวเหยื่อกลับประเทศ 4.นายหน้าและผู้กระทำความผิดถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
"จริงๆ แล้วได้มีการร้องขอผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปเป็นแรมเดือนแต่กลับนิ่งอยู่ ไทยก็มักบอกว่า มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะรัฐบาลไทยไม่สามารถประสานกับกองกำลังที่ไม่ใช่ฝั่งรัฐบาลของประเทศอื่นได้ เราต้องทำเป็นแค่ G to G เท่านั้น นี่ชีวิตคนครับ หากท่านไม่กล้าประสานและติดต่อกองกำลังชาติพันธุ์เพราะเกรงว่าศักดิ์ศรีของรัฐบาลไทยจะถูกด้อยค่าไป เพราะเราไม่สามารถคุยกับพวกไม่ใช่รัฐได้ บอกผมครับ ผมไม่ถือตัวและยอมที่จะคุยกับทุกคนเพื่อคืนศักดิ์ความเป็นมนุษย์ให้มนุษย์โดยเร็ว รีบทำเถอะครับ ทุกวินาทีสำคัญมากเพราะชีวิตและลมหายใจพวกเค้ารอคนเค้าไปช่วยอยู่" นายกัณวีร์ กล่าว
แหล่งข่าวด้านความมั่นคงชายแดน เปิดเผยว่าชาวโมร็อกโกกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ถูกหลอกมาทำงานตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยระบุว่า มาทำงานในประเทศไทยซึ่งมีรายได้เริ่มต้นเดือนละ 1,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯในตำแหน่ง E-Commerce และเมื่อมีประสบการณ์จะได้รายได้เพิ่มขั้นเป็น 2,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยทยอยเดินทางกันมา บางรายเดินทางมายังประเทศมาเลเซียก่อนแล้วต่อเครื่องมาลงที่สนามบินดอนเมืองและนั่งเครื่องบินต่อไปยังสนามบินแม่สอด จากนั้นมีรถตู้มารับและพาข้ามแม่น้ำเมยโดยเรือหายาวในช่องทางธรรมชาติ โดยมีคนจีนคอยควบคุมดูแลจนถึงแหล่งที่ทำงานบริเวณตรงข้ามกับบ้านช่องแคบ อ.พบพระ ชายแดนเมียวดี-ไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศาลอาญาทุจริตภาค 6 พิพากษาจำคุกอดีตนายอำเภทท่าสองยางกว่า 1.2 พันปี!
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 มีคำพิพากษาลงโทษ จำคุก1,269 ปี 1,692 เดือน อดีต นอภ.ท่าสองยาง-พวก ทุจริตโครงการช่วยเหลือน้ำท่วม พายุโซนร้อนนกเตน
สปส. ขับเคลื่อนงานสร้างหลักประกันคุ้มครองอาชีพอิสระสู่เครือข่าย 'บวร' จ.ตาก
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประกันสังคมสู่เครือข่าย “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน/โรงงาน) จังหวัดตาก ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดตาก พร้อมด้วย นายบุญช่วย หอมยามเย็น รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม คณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน และเจ้าหน้าที่ โดยมี เครือข่ายประกันสังคม และผู้ประกันตนในพื้นที่ เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
ไทยดูแลปลอดภัย! ชาวเมียนมาหนีตายกว่า 200 คน อพยพข้ามชายแดนระนอง
เมื่อช่วงเช้าวันนี้ เจ้าหน้าที่ความมั่นคงจังหวัดระนอง ได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ ม.5 บ.น้ำแดง ต.น้ำจืด อ.กระบุรี จ.ระนอง ซึ่งอำเภอกระบุรี เป็นอำเภอเขตติดต่อกับ
'อดีตบิ๊กข่าวกรอง' เชื่อชนกลุ่มน้อยไม่มีวันลืมเหตุการณ์ ผู้นำไทยส่งซิกทหารเมียนมาบุกเข้าตี
นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า
'นพดล' ป้อง 'ทักษิณ' คุยชนกลุ่มน้อยเมียนมา หากทำให้เกิดสันติภาพเป็นสิทธิแต่ละคน
นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีข่าวระบุว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เข้าไปพูดคุยช่วยเจรจากับชนกลุ่มน้อยในเมียนมา ว่า ตนยังไม่ทราบข้อเท็จจริง และตอนนี้ยังไม่มีข้อมูล
'กสม.' เสนอเร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบ ต่อผู้หนีภัยการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราว
'กสม.' เสนอเร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อผู้หนีภัยการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราว -การแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบาย