คดีถึงที่สุด ชาวเลราไวย์ชนะคดีพื้นที่หน้าหาด ศาลฎีกาชี้อยู่มานาน

คดีถึงที่สุด-ชาวเลราไวย์ชนะคดีพื้นที่หน้าหาด ศาลฎีกาพิพากษายืนชี้อยู่มานาน ชาวบ้านดีใจเผยมั่นใจขยายแผงขายปลา แต่ยังหวั่นเอกชนรุกเส้นทางเดินดั้งเดิมสู่ “บาลัย”

16 พ.ค.2567 - นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาคดี นายสมศักดิ์ เจริญทรัพย์ และพวกรวม 10 คน เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่ นางสาวอ้อมใจ กันเสนาะ, นายเจริญ ดำรงเกษตร, นางสอน หาดทรายทอง, นางสาวเย็นจิต หมิเด็น และนางสาวสมพอง แซ่ชั่ว เป็นจำเลยที่ 1-5 โจทก์อ้างว่าเป็นผู้จัดการมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 8324 ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต แต่จำเลยทั้ง 5 ถือวิสาสะเข้ามาตั้งแผงค้าขายอาหารทะเลสดขนาดกว้างยาวแผงละประมาณ 3 เมตร โดยจำเลยที่ 1 และ 2 มีคนละ 2 แผง และจำเลยที่ 3 ถึง 5 มีคนละ 1 แผง จึงขอให้รื้อถอนและขนย้ายแผงค้าขายอาหารทะเลสด พร้อมทั้งบริวารออกไป และห้ามยุ่งเกี่ยวที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป ทั้งเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหาย จากจำเลยที่ 1 และ 2 จำนวน 12,000 บาทต่อเดือน และจำเลยที่ 3 ถึง 5 จำนวน 6,000 บาทต่อเดือน

นายสุรพงษ์กล่าวว่า ศาลฎีกาพิพากษายืนยกฟ้องตามที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา โดยศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาเชื่อในพยานหลักฐานของจำเลยที่สำคัญคือ การวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศบริเวณที่ดินพิพาท พ.ศ.2493, 2510, 2519, 2538, 2545 และ 2552 พบว่าหมู่บ้านชาวเลราไวย์ปลูกสร้างอยู่ในสวนมะพร้าว ตั้งแต่ปี 2493 แล้ว รวมทั้งการขุดค้นพบโครงกระดูกบริเวณที่พิพาทโดยนักโบราณคดีกรมศิลปากร และการตรวจดีเอ็นเอ โครงกระดูกที่พบกับชาวเลราไวย์ในปัจจุบันโดยสถาบันนิติวิทยาสตร์ พบว่ามีความเกี่ยวพันเป็นบรรพบุรุษของชาวเลราไวย์ในปัจจุบัน

ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีสำเนาทะเบียนนักเรียนของโรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้พื้นที่พิพาทมากที่สุด พบว่ามีชาวเลราไวย์เรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ตั้งแต่ก่อนปีพ.ศ.2498 และภาพถ่ายการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาที่ชุมชนราไวย์เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2502 มีภาพชาวเลราไวย์ร่วมรับเสด็จ มีบ้านพักอาศัยลักษณะเป็นหมู่บ้านและมีต้นมะพร้าวจำนวนมาก ศาลอุทธรณ์ ภาค 8 พิพากษายกฟ้องตามศาลชั้นต้น และเห็นว่าโฉนดที่ดินพิพาทออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

“คำพิพากษาของศาลฎีกาเป็นที่สุด จะเป็นบรรทัดฐานของการยอมรับสิทธิในที่ดินของชาวบ้านที่อยู่อาศัยและทำกินในบริเวณนั้นมาเนิ่นนาน ก่อนมีการออกเอกสารสิทธิใหม่มาทับ ซึ่งทำให้การออกเอกสารสิทธิใหม่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต้องดูการดำเนินการเพิกถอนเอกสารโฉนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้โดยกรมที่ดินต่อไป”นายสุรพงษ์ กล่าว

นายสนิท แซ่ชั่ว ชาวเลชุมชนราไวย์กล่าวว่า การชนะคดีเป็นเรื่องที่ชาวบ้านดีใจกันมากเพราะส่งผลให้เอกชนไม่กล้ารุกพื้นที่หน้าหาด และทำให้ชาวเลในชุมชนกล้าขยายแผงขายปลาออกไปได้เพราะมั่นใจในการมีพื้นที่ขายปลา อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้บริษัทเอกชนที่ต้องการพื้นที่บริเวณเส้นทางดั้งเดิมที่ชาวบ้านใช้เดินไปสู่บาลัย(พื้นที่ประกอบพิธีกรรม) ได้เชิญชาวเลไปหารือ 2 รอบเพื่อขอใช้พื้นที่แต่ชาวบ้านไม่ยินยอม

“ตอนนี้ชาวบ้านได้ใช้พื้นที่หน้าหาดบริเวณนี้เป็นที่นั่งพักเพราะการอยู่ในชุมชนอากาศร้อนและแอรัด พื้นที่บริเวณนี้พวกเราใช้ทำไซหาปลา ใช้ซ่อมเรือมาตั้งแต่รุ่นก่อนๆ เขาเข้ามาเคลียร์หลายรอบ บ้างให้ผู้นำท้องถิ่นเจรจา แต่ยังไม่มีข้อตกลง เขาต้องการรังวัดแนวเขต แต่เราไม่ลงนามเพราะต้องให้ส่วนกลาง เช่น ตัวแทนอำเภอ ตัวแทนเจ้าท่า และตัวแทนเทศบาล มาเป็นฝ่ายลงนาม”นายสนิท กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลฎีกานักการเมือง ยกฟ้อง 'กิตติรัตน์' ไม่ผิดระบายข้าวเอื้อบริษัทเอกชน

ศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง ศาลอ่านคำพิพากษา ในคดี อม.17/2565 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง จำเลย ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ (กรณี ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด

องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ ยืนคุก 6 ปี 'อนุรักษ์' อดีต สส.เพื่อไทย เรียกเงินกรมน้ำบาดาล

ศาลฎีกา อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ.5/2567ที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องนายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ อดีต ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย จำเลย ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ (คดีเรียกร้บสินบน 5 ล้านบาทจากอดีต อธ.กรมทรัพยากรน้ำบาดาล)

'สมชาย' ไล่บี้ กกต. นับคะแนนใหม่ชุดบล็อกโหวต จับแก๊งฮั้วเลือก สว.

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า