กมธ.แรงงานติดตามกรณีแรงงานปางช้างเดวิด เตรียมเพิกถอนใบอนุญาตทำงานเดวิด ส่วนอดีตลูกจ้างเดวิดเข้าพบขอความช่วยเหลือเหตุเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
11 มี.ค.2567 - นายสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร และคณะศึกษาดูงานเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านแรงงานในจังหวัดภูเก็ต โดยมี นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และ หน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง อดีตลูกจ้างของนายเดวิด เข้าร่วมประชุมฯ ณ ห้องประชุมเจ้าฟ้าชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
นายสฤษฎ์พงษ์ กล่าวว่า ตั้งใจมาตรวจเยี่ยมหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของกระทรวงแรงงานและติดตามคดีชาวต่างชาติทำร้ายร่างกายแพทย์หญิง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน และติดตามชาวต่างชาติแย่งอาชีพคนไทยในจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งประเด็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย
โดย กรณีปางช้างของชาวต่างชาติที่มีปัญหาลูกจ้าง คือ น.ส.ประนอม สุขพรหม ที่ไปถอนฟ้องศาลแล้วนั้น กรณีต้องใช้หลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์และหลักเมตตาธรรม ถ้าเขาไม่เดือดร้อนจริงคงไม่มาพบและพวกผมไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ไม่นึกว่าจะเข้ามาพบกรรมาธิการฯในวันนี้ แสดงว่า ช่องทางกฎหมายบกพร่อง
ด้าน นางสาววรวลัญช์ วริษฐ์พุฒิเมธ แรงงานจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การตรวจติดตามบริษัท Elephant Sanctuary Park Phuket จำกัด เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 พนักงานตรวจแรงงานได้เข้าตรวจสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน ณ บริษัท Elephant Sanctuary Park Phuket จำกัด ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานได้รับข้อเท็จจริงจากบริษัทไม่ครบถ้วน จึงมีหนังสือเชิญพบพนักงานตรวจแรงงานในวันที่ 7 มีนาคม 2567 เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและตรวจสอบเอกสาร โดยมี นายมนตรี ราชัย ผู้รับมอบอำนาจจากกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจมาพบพนักงานตรวจแรงงานตามหนังสือเชิญพบปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้
บริษัท Elephant Sanctuary Park Phuket จำกัด ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพุทธศักราช 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผลการวินิจฉัยมีคำสั่งให้บริษัท Elephant Sanctuary Park Phuket จำกัดปฏิบัติให้ถูกต้องตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้ปฏิบัติภายใน 15 วันและข้อ 2 ให้ปฏิบัติภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งเป็นต้นไป
บริษัทได้รับคำสั่งในวันที่ 7 มีนาคม 2567 ด้านการตรวจความปลอดภัย ผลการตรวจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พรบ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ผลการวินิจฉัย มีคำสั่งให้บริษัท Elephant Sanctuary Park Phuket จำกัดปฏิบัติให้ถูกต้องภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งเป็นต้นไปบริษัทได้รับคำสั่งในวันที่ 7 มีนาคม 2567
กรณีการยื่นคำร้องปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพรบ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จำนวน 1 ราย ที่มาร้องเรียนคือ น.ส.ประนอม สุขพรหม ลูกจ้าง ซึ่ง สวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ได้รับคำร้องเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นเคสเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ผลการวินิจฉัย คำสั่งพนักงานตรวจรายงานที่ 79/2566 ลงวันที่ 24 เมษายน 2566 มีคำสั่งว่า น.ส.ประนอม สุขพรม ลูกจ้างได้ยื่นคำร้องไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ความคืบหน้าจากนั้น น.ส.ประนอม สุขพรหม ลูกจ้างได้ไปดำเนินการยื่นคำร้องถอนฟ้องผ่านระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรมที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรีและส่งเอกสารมาที่ศาลแรงงานภาค 7 โดยศาลแรงงานภาค 7 อนุญาตให้นางสาวประนอม สุขพรหมลูกจ้างถอนฟ้องและจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ
การประกันสังคมบริษัทดังกล่าวมีลูกจ้างจำนวน 70 รายเป็นคนไทย 100% เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ระยะเวลาการทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์เริ่มงาน 7 โมงครึ่งถึง 5 โมงเย็น มีสิทธิ์ลากิจและลาป่วยตามที่เป็นจริงโดยได้รับค่าจ้าง โดยนายจ้างส่งเงินสมทบ 5% เงินค่าจ้าง 15,000 บาทเงินสมทบจากลูกจ้าง 750 บาท
ด้านการจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับจัดหางานซึ่งสำนักงานจัดหางานได้ดำเนินการไปแล้ว ตามที่เป็นข่าวปรากฏคือ Mr. URS BEAT FEHR หรือ เดวิด สัญชาติสวิสเซอร์แลนด์มีใบอนุญาตทำงานเลขที่ 4070/60 ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและผู้จัดการทั่วไป นายจ้างคือบริษัท Elephant Sanctuary Park Phuket และมีการต่อใบอนุญาตทำงานถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 และเมื่อ 4 มีนาคม สำนักงานจัดหางานได้ร่วมกับ 5 หน่วยงานกระทรวงแรงงานได้ไปตรวจสอบที่ปางช้างดังกล่าว ปรากฏว่าไม่พบการกระทำผิด มีนายเดวิดเป็นคนต่างด้าวเพียงคนเดียวของบริษัทและบริษัทไม่มีการจ้างงานคนต่างด้าว 4 สัญชาติ และปัจจุบันได้มีการเพิกถอนวีซ่าของนายเดวิดแล้ว สำนักงานจัดหางาน ได้มีหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 8 มีนาคม เพื่อขอทราบรายละเอียดจาก ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดภูเก็ตเพื่อประกอบการพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตทำงานต่อไป
ด้าน นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการแรงงาน กล่าวว่า เหตุลูกจ้างของนายเดวิด เกิดขึ้นก่อนที่จะเป็นเรื่องใหญ่ในปัจจุบันจะมีส่วนช่วยเหลือลูกจ้างของนายเดวิดอย่างไรบ้าง ที่ทราบมามี มากกว่า 1 คน แต่ไม่กล้ามาร้องเรียน ต้องให้ความเป็นธรรมและต้องมีการถอดบทเรียนต่อกรณีดังกล่าว ในการจัดการแก้ปัญหา ซึ่งปางช้างแห่งนี้มีลูกจ้างเป็นคนไทย 70 คน จะให้ประกอบกิจการต่อหรือไม่ ถ้าประกอบการต่อต้องทำอย่างไร และถ้าไม่ประกอบกิจการต่อ ยกเลิกแล้วจะเป็นอย่างไร คือสิ่งที่ต้องคิดต่อ สิ่งสำคัญที่สุด เรื่องปางช้าง ไม่อยู่ในอาชีพต้องห้าม 40 อาชีพ ทำให้คนต่างชาติมาประกอบกิจการแบบนี้ เอาช้างไทยไปหากินกับคนไทย และคนต่างประเทศ สุดท้ายคนไทยได้อะไร ได้เศษเงิน ได้แค่ค่าแรง ซึ่งช้างเป็นของคนไทยคิดว่าไม่ถูกต้อง เมื่อก่อนไม่เคยเกิดแบบนี้ จึงไม่ระบุว่าอาชีพต้องห้ามเอาช้างเข้าไปเกี่ยว ซึ่งช้างไทยอยู่คู่กับบรรพบุรุษไทยมานาน แต่วันนี้กลายเป็นว่าเจ้าของที่เป็นคนไทย มีจำนวนกี่คน สุดท้ายเขาอยู่ไม่ได้ต้องมาขายให้ปางช้างฝรั่ง
ในเรื่องลูกจ้างของเดวิด ที่ได้รับผลกระทบและไปฟ้องไปขึ้นศาลมีค่าใช้จ่าย คือต้นทุนทั้งนั้น วันที่ต้องหยุดงานไปศาล ไปร้องเรียน เกิดค่าใช้จ่าย เพื่อไปทวงตังค์ แล้วต้องเสียต้นทุนด้วย คิดว่าไม่ยุติธรรม อยากให้กระบวนการยุติธรรม ทุกคนเท่ากันภายใต้กฎหมายเดียวกัน มีกองทุนยุติธรรมช่วยคนจน มีการช่วยเหลืออยู่แล้ว ปรากฎว่ากระบวนการยุติธรรมไม่สามารถช่วยเขาได้ จึงถอนคดีความจากศาล
ข้อเท็จจริงเขาลาไปทำบุญ 100 วันมารดาจริง ปรากฏว่านายจ้างไม่ให้ลาจริง ถามว่า คนลาไปทำบุญแม่ 100 วัน คุณไม่ให้เขาลา มองว่านายจ้างทำไม่ถูก แต่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนที่ David จะทำร้ายร่างกายแพทย์หญิง ดังนั้น การที่เขาบอกว่าเดวิดเป็นผู้มีอิทธิพล ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ดังนั้นจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ในเมื่อลูกจ้างของเดวิดถูกเลิกจ้างจริง และการที่เขาต้องถอนคดีออกจากศาลเพราะทนไม่ได้ต้องไปศาลหลายรอบ ใครจะไปศาลบ่อยๆ ในเมื่อรู้อยู่ว่า สู้ไม่ไหว ก็ยอมดีกว่า จึงถอนฟ้อง และตัวเขาเองนอนไม่หลับ รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงมาพบกรรมาธิการแรงงานสภาผู้แทนราษฎร ที่จังหวัดภูเก็ตในครั้งนี้ เงินชดเชยอาจไม่ได้มากแต่ศักดิ์ศรีความเป็นคนต้องได้รับเท่าเทียมกันทุกคน จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ดำเนินการช่วยเหลือ กรณีดังกล่าว และทำไมแรงงานจังหวัดในพื้นที่ไม่ช่วยเหลือแรงงานด้วยกันตามกลไก กระบวนการที่มีกองทุนยุติธรรมจัดหาทนายความ จัดหาค่ารถซึ่งมีอยู่แล้ว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่ทำไมเข้าไม่ถึงซึ่งยุติธรรมจังหวัดภูเก็ตก็มี จึงขอให้ดูแลในประเด็นรายอื่นๆให้ทั่วถึง
ด้าน นายธนพงศ์ อรชร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ข้อเท็จจริง กรณีคุณประนอม สุขพรหม ได้มายื่น คำร้อง ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ตเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ในกรณี เรียกร้องเงินค่าชดเชย ที่มีการประกอบการเลิกจ้าง ข้อเท็จจริงสรุปว่า คุณประนอม ขออนุญาตลางานไปทำบุญ 100 วันคุณแม่ที่จังหวัดกาญจนบุรี ที่ปรากฏแก่เจ้าหน้าที่ และการลาของบริษัทปางช้าง คือเป็นการลาไม่มีลายลักษณ์อักษรกัน พนักงานตรวจรายงานเมื่อรับเรื่องเสร็จแล้ว ได้สอบพยานเพิ่มเติม รวมทั้งหมด 5 ปาก แต่พยานส่วนใหญ่ ไม่ได้ให้การเป็นพยานชัดเจนว่าเลิกจ้างหรือลาออก ซึ่งไม่อนุญาตให้ไปแต่ยังไปแต่สุดท้าย พยานปากที่สำคัญที่สุดคือ นายเนตรนพพล ปั้นหยาซึ่งเป็นลูกชายของคุณประนอม ให้การกับเจ้าหน้าที่ว่า แม่ขอลาไปทำบุญ 100 วันยาย และทางคุณ David ไม่อนุญาตให้ลา หากจะลาให้ออกไปเลย แม่จึงตัดสินใจออกจากบริษัทไป
คุณประนอมออกไปแล้วไม่กลับเข้ามาทำงานที่บริษัทอีกเลย ตอนหลังมายื่นคำร้อง เรียกค่าชดเชย เจ้าหน้าที่ วินิจฉัยว่า คุณประนอมละทิ้งหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานคือ ออกไปเอง ไม่มีสิทธิ์ได้ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย
หลังจากนั้นคุณประนอมไปยื่นอุทธรณ์ ตามขั้นตอนตามกฎหมาย คำสั่ง พนักงานตรวจแรงงานที่ศาลแรงงานภาค 7 ซึ่ง คุณประนอมอยู่กาญจนบุรีไปยื่นที่ศาลแรงงานภาค 7 ได้รับคดี และ ประสานกับศาลแรงงานภาค 8 ทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต ฟ้องเจ้าหน้าที่และฟ้องบริษัทมีการไกล่เกลี่ยนัดแรกเมื่อ 26 กรกฎาคม 2566 แต่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยและตกลงกันได้ ศาลจึงเลื่อนนัดไปไกล่เกลี่ยครั้งที่ 2 วันที่ 6 กันยายน 2566 แต่ไม่สามารถตกลงกันได้เช่นเดิม สารจึงกำหนดประเด็น เพื่อนำสืบ คือวันที่ 1 พฤศจิกายนและ 2 พฤศจิกายน เมื่อถึงวันที่ 1 พฤศจิกายนคุณประนอม ได้ไปที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ขอถอนฟ้อง ทางศาลแรงงานภาค 7 อนุญาตให้ถอนฟ้อง จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ด้าน น.ส.ประนอม สุขพรหม อดีตลูกจ้างเดวิด กล่าวว่า นางสาวคนึงนิจ ภรรยานายเดวิดได้ส่งข้อความทางแชทไลน์ วันที่ 18 ตอนเช้าเรียกเข้าออฟฟิศให้ดิฉันออกงานเลย นี่คือความจริงทุกมูลเหตุแต่ที่ดิฉันกระเสือกกระสุนไปฟ้องร้องเพราะต้องการสิทธิ์ในความเป็นธรรมตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเรา เป็นแรงงานทำงานเพื่อเงินเพื่อเลี้ยงดู ตัวเองและครอบครัวทุกคนมีภาระ แต่ในความเป็นจริง เราต้องดิ้นรน เพื่อทวงสิทธิ์ แม่เพิ่งเสียและเป็นคนเดียวที่ต้องรับผิดชอบครอบครัวมาตลอด จนเหตุการณ์มาวันนี้ สุดท้ายต้องจำยอม เพราะกลัวและไม่มีเงินจะต่อสู้คดี ไม่มีทนายความที่ช่วยเหลือ วันนี้ขอบคุณกรรมาธิการแรงงานที่ให้ความช่วยเหลือตามกระบวนการ
ด้าน นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เคสนี้จบง่ายเกินไปอย่างที่คุณประนอมบอกคือไม่มีทางไปต้องจบ ทางจังหวัดจะขอรับเคสนี้ไปดำเนินการช่วยเหลือจัดการให้ ตามขั้นตอน และ การช่วยเหลือเยียวยา รวมทั้งจะให้ยกให้เป็นกรณีศึกษา ทางจังหวัดภูเก็ตรับดำเนินการ ในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เป็นเคสตัวอย่างให้กับจังหวัดอื่นด้วยในกระทรวงแรงงาน จึงขอฝากกรรมาธิการฯ คือถ้าท้ายที่สุด มันไปต่อไม่ได้ ต้องเดินตามกระบวนการก่อนแต่ถ้าท้ายที่สุดไปไม่ได้ ต้องไปหารืออัยการ กรณีเคสคุณประนอม สามารถยื่นฟ้องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้หรือไม่ และ ถ้ามีลูกจ้างที่ร้องเข้ามาเพิ่มเติม จะช่วยไปในคราวเดียวกัน เป็นมาตรฐานในการดำเนินการปฏิบัติต่อไปในกระทรวงแรงงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แต่งชุด 'เคบายา' ทั้งเมืองภูเก็ต ฉลองยูเนสโกขึ้นมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับจังหวัดภูเก็ตจัดงานเฉลิมฉลองการได้รับประกาศ ต้มยำกุ้ง และ ชุดแต่งกาย เคบายา เป็นรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประเภทบัญชี รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
ประเพณีถือศีลกินผักภูเก็ต อัตลักษณ์แห่งศรัทธาสืบทอดมา 199 ปี
จังหวัดภูเก็ต พร้อมหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน คณะกรรมการอ๊าม (ศาลเจ้า) และองค์กรต่าง ๆ พร้อมใจกันจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2567 โดยมี นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล
ทร. ส่งเรือ ต.111 ช่วยชีวิตนักท่องเที่ยว 143 คน กลับเข้าฝั่งหลังติดเกาะเหตุคลื่นลมแรง
พลเรือตรีภุชงค์ รอดนิกร รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 พร้อมด้วย นายหลี่ เฉิงหลง (Li Chenglong) หัวหน้าสำนักงานกงสุลจีนประจำจังหวัดภูเก็ตของสถานกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำสงขลา ให้การต้อนรับ เรือต.111
ฝนถล่มภูเก็ต เฝ้าระวังดินโคลนถล่มตำบลกะรน ผวาซ้ำรอยจุดเดิม
เรือเอกเจด็จ วิชรศรณ์ นายกเทศมนตรีตำบลกะรน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ตำบลกะรนหลายจุด และได้อพยพประชาชน พื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลกะรนอำเภอเมือง
ภูเก็ต ขยับเตรียมรับมือฝนถล่ม 13-17 กันยา
นายศรัทธา ทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปฏิบัติราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้อำนวยการจังหวัด เปิดเผยว่า ได้ลงนามหนังสือ
ศวอบ. ช่วยชีวิตเต่าทะเลเกยตื้น 4 ตัว ก่อนปล่อยกลับสู่ท้องทะเล
ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน(ศวอบ.) เปิดเผยว่า ในห้วงวันที่ 4-6 กันยายน 2567 พบเต่าทะเลเกยตื้นในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต รวม 4 ตัว ดังนี้