สาธุชนแห่สักการะ 'พระพุทธบาทกลางน้ำโขง'

23 ก.พ. 2567 – ที่วัดพระบาทเวินปลา หรือวัดโพธิ์ไชย์ หมู่ 1 ต.เวินพระบาท อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ซึ่งมีรอยพระพุทธบาทปรากฏอยู่บนโขดหินในแม่น้ำโขง จึงเป็นที่มาเรียกชื่อว่าวัดพระบาทเวินปลา ได้มีประชาชน นักท่องเที่ยวเดินทางมากราบไหว้เป็นระยะๆ แม้จะมีอากาศร้อนอบอ้าว ซึ่งจะเป็นเฉพาะในช่วงนี้เท่านั้น เนื่องจากระดับน้ำโขงลดลง และปัจจุบันน้ำโขงไม่ได้ขึ้นลงตามธรรมชาติเหมือนในอดีต ที่น้ำจะลดลงช่วงเดือนเมษายนของทุกปี สืบเนื่องจากมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ามากกว่า 10 แห่ง ทั้งในประเทศจีนและ สปป.ลาว จึงต้องกักเก็บน้ำไว้

ส่วนรอบบริเวณวัดบรรยากาศร่มรื่นจากแมกไม้ มีรูปปั้นพระพุทธเจ้าตั้งแต่ออกบวชถึงทรงตรัสรู้ ประดิษฐานใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ รวมถึงรอยพระพุทธบาทเวินปลาจำลอง พญานาค 7 เศียร และมณฑปหลวงพ่อหมอก อดีตเจ้าอาวาสวัดฯ เกจิอาจารย์ชื่อดัง ซึ่งเป็นสหธรรมมิกของหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ อดีตเจ้าอาวาสวัดธาตุมหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม นอกจากนี้ใกล้ศาลาพักร้อน มีพระพุทธรูปปางนาคปรก ที่มีสาธุชนจุดธูปขอโชคลาภ และยังมีเซียมซียักษ์ตรวจดวงชะตาอีกด้วย

ทั้งนี้ รอยพระพุทธบาทเวินปลา อยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 100 เมตร ระหว่างทางเดินมีเนินดินเล็กๆ ชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่าดอนพระบาท และมีโขดหินเป็นที่ตั้งรอยพระพุทธบาท ลักษณะคล้ายรอยเท้ามนุษย์อยู่สองรอย รอยบนเป็นแนวนอน มีรูตรงกลาง มีรอยเหมือนนิ้วเท้า 5 นิ้ว รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 55 เซนติเมตร ยาว 2.05 เมตร รอยล่างเป็นแนวตั้งมีขนาดเล็กกว่ารอยบน โดยจะปรากฏชัดเจนในช่วงหน้าแล้งของทุกปี ชาวบ้านได้ร่วมใจกันสร้างสะพานเหล็กทอดยาวจากฝั่งไปสู่ดอนพระบาทในลำน้ำโขง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้มากราบไว้บูชารอยพระพุทธบาท และชมวิวแม่น้ำโขงอย่างเต็มอิ่ม โดยมีสะพานมิตรภาพไทยลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) เป็นจุดเช็คอินด้วย

รอยพระพุทธบาทเวินปลา ได้บันทึกไว้ในหนังสือใบลานตำนานพระอุรังคธาตุ สมัยก่อสร้างองค์พระธาตุพนม ปี พ.ศ. 8 หรือกว่า 2,500 ปี กล่าวว่าหลังทรงตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ได้เดินทางมาเผยแผ่พระธรรมเขตชมพูทวีป ล่องมาตามลำแม่น้ำโขง ได้มีเหล่าพญานาคแห่งเมืองบาดาล และพญาปลาปากคำ(ปลาตะเพียน)ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา นิมนต์พระพุทธองค์ลงไปแสดงธรรมใต้บาดาล และก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นมายังโลกมนุษย์ เหล่าพญานาครวมถึงพญาปลาปากคำ ได้ร้องขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์แทนพระองค์เพื่อสักการบูชา พระพุทธเจ้าจึงได้ประทับรอยพระบาทไว้บนโขดหินแห่งนี้

กล่าวกันว่าช่วงหน้าฝนน้ำโขงขึ้น รอยพระพุทธบาทจะจมอยู่ใต้น้ำ จึงเป็นที่กราบไหว้ของสิ่งลี้ลับใต้บาดาล พอถึงช่วงหน้าแล้งน้ำโขงลด ก็จะโผล่พ้นน้ำเพื่อให้ศาสนิกชนไทย-ลาว กราบไหว้ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปี โดยรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่บนโขดหินกลางลำน้ำโขง ซึ่งเป็นวังน้ำวนชาวบ้านเรียกว่าเวิน หมายถึงตั้งอยู่ในวังน้ำวน และเนื่องจากเป็นที่อยู่ของพญาปลาปากคำจึงเรียกว่าเวินปลา เมื่อนำสองคำมารวมกันเป็นชื่อพระบาทเวินปลา ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีงานนมัสการรอยพระพุทธบาทเวินปลา มีกิจกรรมสรงน้ำรอยพระพุทธบาท และประเพณีรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่

ส่วนอีกตำนานหนึ่งได้บันทึกว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาที่ภูกำพร้าหรือวัดพระธาตุพนมฯในปัจจุบัน โดยพระองค์ท่านได้เสด็จผ่านพระธาตุอิงฮัง ประเทศลาว เมื่อมาถึงที่ตั้งพระพุทธบาทเวินปลา พระพุทธองค์ได้แย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์เห็นเช่นนั้นจึงเกิดความสงสัย จึงได้ทูลถามว่า “พระองค์ทรงแย้มพระโอษฐ์เพราะเหตุใดพระเจ้าข้า“ พระพุทธองค์ตรัสตอบพระอานนท์ว่า “มีพญาปลาปากคำตัวหนึ่งอยากจะได้ของที่ระลึก” โดยพระพุทธองค์ทรงเล่าถึงประวัติของพญาปลาปากคำตัวนี้แก่พระอานนท์ฟัง ว่า เมื่อครั้งพระกัสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ที่ 3) พญาปลาปากคำตัวนี้อดีตชาติเป็นพระภิกษุ ได้นั่งเรือมาตามลำน้ำโขง พอมาถึงที่ตั้งรอยพระพุทธบาทเวินปลาเกิดกระหายน้ำ แต่ไม่มีภาชนะที่จะตักน้ำฉัน จึงไปเด็ดใบไคร้มาทำเป็นจอกตักน้ำฉันโดยไม่แสดงอาบัติ ด้วยผลกรรมตามที่กล่าวมานี้ เมื่อท่านมรณภาพจึงจุติมาเกิดเป็นพญาปลาปากคำ

ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ที่โขดหิน เพื่อให้ไว้เป็นที่กราบไหว้บูชาของเหล่าพุทธบริษัททั้งหลาย โดยมีพญาปลาปากคำเป็นผู้ขอและรักษา นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังตรัสต่ออีกว่า พญาปลาปากคำตัวนี้จะมีอายุยืนยาว ไปจนถึงยุคพระศรีอริยเมตไตรย จึงจะหมดอายุขัยก่อนจะไปเกิดเป็นพระอรหันต์

ขณะเดียวกัน วัดพระบาทเวินปลา เดิมมีชื่อเรียกว่าวัดโพธิ์ไชย์ ซึ่งพระอธิการอนุสรณ์ ปาภากโร เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน เปิดเผยว่าในอดีตบริเวณที่ตั้งวัดเป็นป่า มีต้นโพธิ์อยู่ 1 ต้น นายโคตรอาสา ไชยชนะศรี หรือพ่อโคตรอาสา เป็นผู้นำชุมชนเผ่าไทยกะเลิง ได้นำชาวบ้านมาแผ้วถางเพื่อสร้างวัด โดยตั้งชื่อว่าวัดโพธิ์ไชย์ ตามชื่อต้นโพธิ์ที่ปรากฏ และยืนต้นมาจวบปัจจุบัน มีเจ้าอาวาสมาแล้ว 8 รูป ได้แก่ 1.หลวงพ่อโคตรอาสา 2.พระอาจารย์บุญแพง 3.พระอาจารย์ทอก ศรีเพ็ง 4.พระอาจารย์ทอก อ่อนคำมา 5.พระครูพิมลชัยคุณ (หลวงพ่อหมอก สุรักโข) 6.พระครูประจักษ์ชัยคุณ (หลวงพ่อวรากร นิปโก) 7.พระอาจารย์สมนึก จันทธัมโม และ 8.พระอธิการอนุสรณ์ ปาภากโร

บริเวณวัดที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขง มีโขดหินโผล่ขึ้นช่วงหน้าแล้ง แต่ชาวบ้านไม่รู้ว่ามีรอยพระพุทธบาท กระทั่งมีพระธุดงค์มาจาก จ.กาฬสินธุ์ ได้ปักกลดใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ โดยนายเรือง ป้องกัน ปราชญ์ชาวบ้าน เล่าว่าตามวิถีของชนเผ่ากะเลิง รวมถึงการปฏิบัติของศาสนิกชน หลังเสร็จภารกิจงานประจำ ตกตอนเย็นถ้ามีพระมาจำวัด ก็จะพากันหาขันตอกดอกไม้มาฟังเทศน์ ซึ่งหลังเทศน์จบแล้วท่านก็ถามว่า ไม่เห็นอะไรที่เป็นรอย ในน้ำในหินกันบ้างหรือ ชาวบ้านตอบเห็นอยู่ แต่ไม่รู้ว่าเป็นรอยอะไร

พระธุดงค์กล่าวว่าเคยอ่านและศึกษาในตำนานพระอุรังคธาตุ ระบุว่ามีรอยพระบาทอยู่แถวนี้ ท่านธุดงค์ผ่านบ้านไหนก็ถามบ้านนั้น ดังนั้นวันรุ่งขึ้นหลังฉันเช้าแล้ว จึงพร้อมด้วยชาวบ้านพากันไปยังโขดหินกลางแม่น้ำโขง ก็พบรอยพระพุทธบาทตรงตามตำนานได้กล่าวไว้ ต่อมาได้เรียกชื่อวัดโพธิ์ไชย์ เป็นวัดพระบาทเวินปลาถึงปัจจุบัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จังหวัดแรกในไทย! นครพนมพบผู้มีอายุ 100 ปี ครบ 100 คน

นครพนมจัดงานเฉลิมฉลอง พบผู้มีอายุ 100 ปี ครบ 100 คนแห่งแรกในไทย "คุณตาวัย 101" เล่าภาคภูมิใจรับใช้ชาติ สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามอินโดจีน มีหลานเหลน 35 คน

ยิ่งใหญ่! งานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช 'น้ำตาล-กัปตันชมพู่' ร่วมรำถวาย

เปิดงานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช 'น้องน้ำตาล-กัปตันชมพู่' พร้อมสาวงามนับพัน รำถวายพ่อปู่ พลังศรัทธายิ่งใหญ่เหนือคำบรรยาย จัดพานบายศรีสูงสุดในไทย

วันที่ 7 เดือน 7 ฉลองยิ่งใหญ่ 'แลนด์มาร์กพญานาค'

ครบ 8 ปีกำเนิดแลนด์มาร์กพญานาค จากพลังศรัทธาสู่เมืองท่องเที่ยวหลัก ถือฤกษ์บวงสรวงวันที่ 7 เดือน 7 ทุกปี พานบายศรีสูงสุดในประเทศ และนางรำ 9 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ

ยึดรายวันยาบ้าริมโขง ทหารพรานสกัดได้กว่า 2 แสนเม็ด

ที่กองร้อยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 2101 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 21 กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี (ร้อย ทพ.2101 ฉก.21 กกล.ฯ) บ้านปากห้วยม่วง ต.นาเข อ.บ้านแพง จ.นครพนม พ.อ.อินทราวุธ ทองคำ ผบ.กรม ทพ.21/ผบ.ฉก.ทพ.21 ร.ท.วันชาติ

สรุป 38 รายชื่อ สว.นครพนม เข้าสู่ระดับประเทศ  ‘อดีตสส.7สมัย’ ตกรอบไขว้

ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดนครพนม ได้ประกาศบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือก เพื่อเข้าไปสู่รอบชิงระดับประเทศ ในวันพุธที่ 26 มิถุนายน นี้  ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี