นอภ.แม่สาย เร่งสอบเหมืองแร่ฝั่งพม่า ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำสาย ชาวบ้านผวาสารพิษ

เหมืองแร่ฝั่งพม่ามักง่ายชะล้างลงแม่น้ำทำแม่น้ำสายขาวขุ่น ชาวบ้านหวั่นสารพิษเหตุใช้ผลิตน้ำประปา นายอำเภอสั่งตรวจสอบแล้ว-ประสาน TBC เร่งแก้ไขด่วน

31 ม.ค.2567 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมาแม่น้ำสาย ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของชาว อ.แม่สาย จ.เชียงราย และเป็นเส้นแบ่งแดนระหว่างไทย-พม่า มีสีขาวขุ่นที่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุและพิสูจน์ได้ชัดเจนถึงที่มาและความปลอดภัย โดยน้ำสายสีขาวขุ่นนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม สร้างความวิตกให้กับประชาชนในอำเภอแม่สาย ที่ใช้น้ำประปาจากแม่น้ำสาย หวั่นจะมีสารพิษตกค้าง

ชาวบ้านรายหนึ่งเล่าว่าก่อนหน้านี้เคยมีสถานการณ์น้ำขุ่นเกิดขึ้น แต่จะไม่เป็นสีขาวขุ่น ส่วนใหญ่ขุ่นเป็นสีออกแดง และเกิดขึ้นเพียง 2-3 วันก็หายไป แต่ครั้งนี้เกิดต่อเนื่องกว่าสัปดาห์จึงทำให้ชาวบ้านกังวลใจว่าจะมีสารพิษปะปนในน้ำหรือไม่ และทราบว่าบริเวณพื้นที่เหนือแม่น้ำสาย มีการทำเหมืองทองคำด้วย จึงกังวลว่าจะมีสารไซยาไนด์ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ

ในวันเดียวกันนี้นายณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่สาย ได้เรียกประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประปาภูมิภาคแม่สาย สาธารณสุขอำเภอแม่สายและ TBC ฝ่ายไทย เพื่อประเมินสถานการณ์ โดยนายณรงค์พลเปิดเผยว่าได้สั่งการให้สาธารณสุขอำเภอแม่สายได้เก็บตัวอย่างน้ำส่งสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำว่ามีสารพิษปนเปื้อนหรือไม่ ส่วนการประปาภูมิภาคแม่สายจะให้หน่วยงานจากส่วนกลางมาตรวจสอบคุณภาพน้ำในวันจันทร์ ที่ 5 กุมภาพันธ์นี้

ทั้งนี้ได้ตรวจสอบข้อมูลไปยังแหล่งข่าวที่ใช้เส้นทางห่างจากอำเภอท่าขี้เหล็กไปเมืองต๋น ซึ่งเป็นเส้นทางที่เลียบลำน้ำสายตลอดเส้นทางเป็นระยะทางประมาณ 140 กิโลเมตรว่ามีการทำให้น้ำในลำน้ำสายขุ่นขาวเช่นเดียวกันหรือไม่

พ.อ.ณฑี ทิมเสน ผบ.ฉก.ทัพเจ้าตาก ประธาน TBC ฝ่ายไทย กล่าวว่าได้รับแจ้งจาก การประปาส่วนภูมิภาค สาขาแม่สาย ตรวจพบน้ำในแม่น้ำสาย จึงได้ไปตรวจสอบ และสั่งการให้ บก.ควบคุมผาทมิฬ ร่วมกับประปาแม่สาย เก็บตัวอย่างน้ำสาย ส่งตรวจหาสารปนเปื้อนที่หน่วยควบคุมคุณภาพน้ำที่ 2 เชียงราย และประสาน TBC เมียนมา เร่งตรวจสอบที่มา ข้อเท็จจริง และแก้ไขโดยด่วน เบื้องต้นคาดว่าสาเหตุมาจากทำเหมืองทองคำ และเหมืองแร่แมงกานีส พื้นที่บ้านแม่โจ๊ก และบ้านนายาว เมืองสาด จ.เมืองสาด ฝั่งพม่า ห่างจาก อ.ท่าขี้เหล็ก- อ.แม่สาย ประมาณ 90 กม. ปล่อยน้ำเสียจากกระบวนการผลิตลงสู่แม่น้ำสาย โดยไม่ผ่านการบำบัด ซึ่งในพื้นที่ จ.ท่าขี้เหล็ก ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

ชาวบ้านรายหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่เมืองต๋นห่างจากอำเภอท่าขี้เหล็ก 140 กิโลเมตร กล่าวว่า บ้านแม่โจ๊กและบ้านนายาวเขต อ.เมืองสาด ห่างจาก อ.ท่าขี้เหล็ก อ.แม่สาย ประมาณ 90 กิโลเมตร โดยหมู่บ้านทั้งสองติดกับลำน้ำสายตอนบนของ อ.ท่าขี้เหล็ก ไปทางทิศตะวันตก โดยบริเวณดังกล่าวมีการทำเหมืองทองคำ และเหมืองแร่แมงกานีส จำนวน 2 แห่ง ซึ่งเหมืองดังกล่าวเป็นของคนจีน ที่ได้สัมปทานจากรัฐบาลเมียนมาและมีการเสียภาษีอย่างถูกต้อง แต่เป็นที่น่าสังเกตน้ำในลำน้ำสาย ตั้งแต่บริเวณที่ตั้งเหมืองทอง หรือเหมืองแมงกานีส ลงมา จะมีสีขาวขุ่นมากกว่าตอนบนของลำน้ำสาย

“การทำเหมือง มีการสูบน้ำในลำน้ำ พ่นชะหน้าดิน เพื่อให้ดินตกในตะแกรง ส่วนน้ำที่ใช้แล้วทั้งหมดถูกปล่อยกลับลงลำน้ำโดยไม่มีบ่อพักหรือบ่อบำบัด นอกจากนี้ บ้านเมืองไฮ เขตเมืองสาด ยังมีบริษัทชาวจีนทำเหมืองแร่แมงกานีสและสังกะสีอีกจำนวน 2 เหมือง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ลำน้ำสาขาของแม่น้ำสาย คือ น้ำปุงหรือน้ำพุนี้จะไหลลงลำน้ำสายไหลลง โดยเหมืองนี้มีมาตั้งแต่เดือน ตุลาคม พ.ศ 2566 เหมือง และเหมืองทั้ง 4 แห่ง จะไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าออกโดยเด็ดขาด”ชาวบ้าน กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ครูแดง' ชี้มติ ครม. ลดขั้นตอนให้สัญชาติ 4.8 แสนคน ปฏิรูประบบสถานะบุคคลครั้งสำคัญ

"ครูแดง" ชี้มติ ครม.ลดขั้นตอนให้สัญชาติ 4.8 แสนคน ถือว่าปฎิรูประบบพัฒนาสถานะบุคคล จี้ "สมช.-มท." ออกกฎหมายเร่งช่วยคนเฒ่าไร้สัญชาตินับแสนคนที่กำลังเปราะบาง

ดิ้นหนัก! 'โรม' ชี้ 'พรรคประชาชนพม่า' เป็นเฟกนิวส์ ลั่นรักษาผลประโยชน์คนไทยมาตลอด

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน จัดแถลง Policy Watch ในเรื่องประเทศไทยควรทำอย่างไรกับปัญหาเมียนมา

'พีระพันธุ์' เยี่ยมบ้านหินลาดใน ถูกน้ำป่าซัดถล่ม โรงเรียน-บ้านเสียหายหนัก เร่งหาทางช่วยเหลือ

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน พร้อมด้วย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม พร้อมคณะได้เดินทางตรวจเยี่ยมชาวบ้านหมู่บ้านหินลาดใน

ขยะท่วมชุมชนริมน้ำกก ขนย้ายไม่ทันกลิ่นเหม็นโชย จี้บอร์ด คอส. สั่งแก้ปัญหา

นางไพวัลย์ เดชผล สมาชิกสภาเทศบาลนครเชียงราย และชาวบ้านเกาะลอย กล่าวว่า ไม่มีใครคาดถึงว่าน้ำกกจะทะลักท่วมสูงชุมชนได้ขนาดนี้ เพราะเป็นน้ำป่าที่ไหลแรงและเร็วมาก

ขยะท่วมเชียงรายหลังอุทกภัย นักวิชาการเสนอแผนจัดเก็บ หวั่นฟื้นฟูล่าช้ายิ่งเสียหายหนัก

นายสืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย และอาสาสมัครศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ จ.เชียงราย ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การช่วยเหลือ