จับตาสถานการณ์ความรุนแรงเหมืองทองเลยระลอกใหม่ กสม.ลงพื้นที่ จี้หามาตรการดูแลชาวบ้านหลังชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธปืนดักซุ่มหน้าบ้าน
21 ม.ค.2567 – องค์กร Protection International ( PI) ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ทำงานร่วมกับผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) นำโดย ศยามล ไกยูรวงศ์ , ไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาฯ และเจ้าหน้าที่ของ กสม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่บ้านนาหนองบง ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งเป็นที่ตั้งเหมืองทองคำของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เพื่อหารือร่วมกับ ผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (PPM) หน่วยงานรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยของสองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯในพื้นที่รอบเหมืองแร่ทองคำ หลังถูกข่มขู่คุกคามจากกลุ่มชายฉกรรจ์ ตามหนังสือที่ Protection International ( PI) ได้ส่งเรื่องไปยังกสม. เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา
สุธีรา เปงอิน ตัวแทนจาก PI กล่าวว่า ผ่านมากว่า 17 ปี แล้วที่ผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย ต้องต่อสู้และเรียกร้องให้มีการปิดเหมืองทองคำของ บริษัท ทุ่งคำจำกัด ต้องเผชิญการถูกคุกคามทั้งทางกายภาพ จิตใจ และถูกคุกคามโดยกระบวนการยุติธรรม มาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมานักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย PI และ PPM ได้มีการประเมินสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยต่างๆร่วมกันพบว่าขณะนี้มีสัญญาณเตือนถึงสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มฯ อย่างน้อย 2 คน ซึ่งทั้งสองเป็นผู้หญิงและเป็นกำลังหลักใน การดูแล การจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วม และการฟื้นฟูหลังจากการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ รวมถึงเป็นตัวแทนหลักในการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและการเคลื่อนไหวต่อสู้ในชุมชน ซึ่งจากสถานการณ์ความไม่ปลอดภัย ประกอบกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จึงมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย เราจึงทำหนังสือเรียกร้องให้ กสม. หามาตราการในการคุ้มครองอย่างเร่งด่วนและขอให้ประสานงานและดำเนินกาอย่างเป็นรูปธรรม 2 ข้อคือ
“ 1. ประสานงานกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อหามาตราการในคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีความเสี่ยง รวมทั้งให้มีการยุติการใช้ความรุนแรง ยุติการข่มขู่ และการคุกคาม และทำให้แน่ใจว่าประชาชนทุกคน สามารถใช้สิทธิในการปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ 2. จัดประชุมหารือร่วมกับ PI และผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ และ PPM เพื่อหามาตราการอื่นๆที่เหมาะสม รวมไปถึงการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการคุ้มครองผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิฯเพื่อหามาตการที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องคุ้มครองผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิฯในกรณีดังกล่าวและกรณีอื่นๆที่มีความเสี่ยงด้วย” ตัวแทนจาก PI ระบุ
ต่อมา กสม. ได้เปิดให้ทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมได้ชี้แจงการดำเนินงานในการปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิฯ โดยศยามลกล่าวว่า หลังจากที่เราได้รับหนังสือร้องเรียนจาก PI ก็ได้ลงพื้นที่วันที่ 19 มกราคม 2567 นี้ เพื่อจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหามาตรการเร่งด่วนในการคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีความเสี่ยงสูงทั้งสองคน และวันนี้มีหลายหน่วยงานที่เข้ามาร่วมประชุม จึงอยากทราบรายละเอียดว่าแต่ละหน่วยงานได้มีความคืบหน้าในการดำเนินการอย่างไรบ้าง
ในช่วงของการชี้แจงเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมดพยายามกล่าวอ้างถึงสิ่งที่ตนเองได้ทำในการปกป้องนักปกป้องสิทธิฯในพื้นที่ ซึ่งผู้ใหญ่บ้านระบุว่าได้จัดชุดลาดตระเวนตรวจตราช่วยชาวบ้านเพื่อช่วยเฝ้าระวังและดูความปลอดภัยภัยในพื้นที่ ส่วนนายอำเภอวังสะพุงระบุว่ามือปืนที่ยิงชาวบ้านเมื่อปี พ.ศ. 2564 ถูกให้ออกจากผู้ใหญ่บ้านแล้ว และกรณีล่าสุดเกิดเหตุไฟฟ้าไหม้ในการรื้อถอนเราได้นำเครื่องมือมาช่วยดับเพลิง ส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ชี้แจงว่าได้มีการติดตู้แดงและส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาตรวจตราให้
ขณะที่ รจนา กองแสง ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย ได้กล่าวในการประชุมว่า ตั้งแต่ที่บริษัทบริหารและการพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทเจนโก้ ประมูลสินแร่ได้ชาวบ้านยังทำหน้าที่ดูแลสินทรัพย์ในฐานะหนึ่งในเจ้าหนี้ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างที่บริษัทเจนโก้กำลังจัดการเรื่องหาพนักงานรักษาความปลอดภัย ช่วงนั้นมีกลุ่มคนที่เข้ามาลักลอบขโมยของในเหมืองประมาณช่วงเดือนกันยายน ซึ่งช่วงนั้นเราได้ขอความร่วมมือกับผู้ใหญ่บ้านให้จัดชุด ชรบ. เพื่อที่จะวนดูรอบเหมือง เมื่อเจอกลุ่มคนลักขโมยชุด ชรบ. ก็ต้องติดต่อมาที่เรา เรามีหน้าที่ในการดูแลอยู่ตรงนี้เลยไปแจ้งความดำเนินคดี และเราแจ้งบริษัทเจนโก้ว่าจะทำอย่างไรต่อ เพราะว่าตอนนี้ ผู้ต้องหาก็มองว่าเราแจ้งจับเขา แต่คนที่เป็นเจ้าของทรัพย์จริงๆ คือ บริษัทเจนโก้กลับไม่ทำอะไรเลย ตำรวจที่ดูแลคดีก็เรียกเราไปสอบปากคำเพิ่มเติม และบอกว่าเราเป็นคนแจ้งความต้องไปดำเนินคดีต่อและต้องเป็นพยานในชั้นศาล
“ความไม่สบายใจของเราคือเราจะต้องไปเผชิญหน้ากับผู้ต้องหา ทั้งที่เจ้าของทรัพย์เป็นบริษัทเจนโก้ แต่ทำไมถึงต้องให้เราไปเผชิญหน้า ซึ่งทำให้เราเสี่ยงต่อการถูกข่มขู่คุกคาม และที่เรามาเฝ้าตรงนี้เราไม่ได้เฝ้าทรัพย์ให้กับบริษัทเจนโก้ เรามีข้อตกลงที่ชัดเจนให้บริษัททำเอง เรามาเฝ้าดูพื้นที่ของเราที่อยู่บริเวณทางเข้าออกเหมือง เพื่อเป้าหมายหลักคือการฟื้นฟู เจนโก้ต้องเอาสารมลพิษออกไปด้วยตามเงื่อนไขการประมูล เราไม่สนใจอะไรทั้งนั้น” รจนา ระบุ
รจนา ระบุด้วยว่า ย้อนกลับไปตั้งแต่เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี 2564 ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐจากกรมการปกครองมายิงปืนใส่พวกเรา และแม้คนร้ายจะถูกจับกุมและให้ออกจากงานแล้ว หลังจากเหตุการณ์นั้นพวกเราก็โดนข่มขู่คุกคามมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในส่วนของพ่อค้าที่ต้องการเข้ามาดูสินทรัพย์ในเหมือง ตามไปหาไปข่มขู่เราถึงที่บ้าน เราบอกไม่สามารถอนุญาตให้เข้าไปดูได้เพราะต้องรอการประชุมและผู้มีอำนาจทุกภาคส่วนยินยอมก่อน เมื่อเราไม่ยอมก็โกรธและแสดงท่าทีข่มขู่คุกคามเรา บางวันก็มีชายฉกรรจ์มาซุ่มดูที่หน้าบ้านเรา ที่เราทำคือรักษาบ้านของเราอยากให้ทุกหน่วยงานเข้าใจว่าเราเจอการคุกคามอยู่แบบนี้ตลอดเวลา
รจนา ระบุว่า มีความกังวลในสถานการณ์ ที่บริษัทเจนโก้เข้ามาตอนนี้ทำให้เรารู้สึกว่าทำไมเขาไม่ทำตามแผนที่เราได้พูดคุยและวางร่วมกันไว้ ที่เราได้พูดคุยทำสัญญากันไปคือเขาต้องกำจัดสารพิษด้วย เพราะเขาเป็นบริษัทที่รู้เรื่องสารมลพิษดี ครั้งเมื่อตอนที่เกิดเหตุการณ์ระเบิดและไฟไหม้ในโรงงานขณะที่บริษัทดำเนินการรื้อถอนโครงสร้างเหมืองนั้นทำให้เห็นได้ชัดเจนเลยว่าไม่มีการวางมาตรการอะไรรองรับสถานการณ์ไฟไหม้เลย ไม่มีถังดับเพลิงเตรียมไว้ ส่วนมากมีแต่บริษัทผู้รับจ้างงานช่วงเท่านั้นที่ดูแลอยู่ พวกเราถึงได้ยกหูโทรให้มาดับเพลิง นอกจากนี้ในส่วนของการจัดการสารมลพิษที่เราเห็นคือไม่ได้มาตรฐานอะไรเลย ซึ่งหากเจนโก้ไม่ไปวางมาตรฐานในการรื้อถอนและการจัดเก็บสารมลพิษที่ปลอดภัยทั้งกับพื้นที่และคนงานเองให้กับบริษัทผู้รับจ้างงานช่วง และปล่อยให้ให้ชาวบ้านเผชิญหน้าเองกับบริษัทผู้รับจ้างงานช่วง ความโกรธก็จะมีมากขึ้นและการคุกคามที่จะมาถึงพวกเราก็จะมีมากขึ้นด้วย
ขณะที่ภรณ์ทิพย์ สยมชัย ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯกล่าวเพิ่มเติมถึงการข่มขู่คุกคามที่เกิดกับสมาชิกในกลุ่มว่า สมาชิกในกลุ่มของเราเองที่เป็นคนประสานงานและเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องให้เกิดการฟื้นฟูเหมืองก็โดนข่มขู่คุกคามมากขึ้น สมาชิกบางคนมีชายฉกรรจ์ขี่รถไปถามหาชื่อของเขาตอนกลางคืน ซึ่งชาวบ้านที่ไปเจอกลุ่มชายฉกรรจ์กลุ่มนี้พบเห็นว่าในรถมีอาวุธที่คล้ายลักษณะปืนวางอยู่ด้วย ชาวบ้านต้องประจันหน้ากับโจรเอง มีแต่ผู้หญิงที่มาเฝ้าเวรยาม ชาวบ้านต้องเฝ้าระวังการขนสารมลพิษหรือตะกอนกากแร่หกเรี่ยราดที่จะกระทบถึงชาวบ้าน ประตูแดงเป็นของชาวบ้านเราก็ต้องระวังเรื่องสารมลพิษ เราต้องกำกับการนำตะกอนกากแร่ออกจากพื้นที่เพื่อที่จะทำให้ที่นี่ไม่ปนเปื้อนไปมากกว่านี้
ด้านพนมวรรณ นามตาแสง ตัวแทนจากโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (PPM) กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้ามาติดตู้แดงและมีการลาดตระเวนเพื่อดูแลความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย แต่ไม่อยากให้ลาดตะเวนแค่ในช่วงสองเดือนนี้เท่านั้น อยากจะขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาช่วยดูต่อเนื่องจนกว่าบริษัทเจนโก้จะขนย้ายทุกอย่างออกจากพื้นที่และถี่ขึ้น 2 วันครั้งไม่ต้องถึง 3 วัน จะได้เห็นว่ามีการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อจะได้ให้ผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิฯมีความปลอดภัยมากขึ้น และในส่วนของหมู่บ้านผู้ใหญ่ก็ให้ความร่วมมือดีอยู่แล้ว เราขอให้ลาดตระเวนช่วงหนึ่งก็ทำให้เราได้อย่างดี ระหว่างนี้เราอยากขอให้เพิ่มลาดตระเวนสลับกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อจะได้เห็นถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยที่เป็นรูปธรรม
“อีกส่วนหนึ่งคือระหว่างที่บริษัทเจนโก้ทำการรื้อถอนและขนย้ายสินทรัพย์ออกไป อยากทราบว่าจะมีหน่วยงานไหนที่จะเข้ามารับผิดชอบในการตรวจสอบหรือดูแลขั้นตอนกระบวนการทั้งหมดร่วมกับชาวบ้าน เพราะว่าตอนนี้กลายเป็นชาวบ้านที่ต้องทำหน้าที่กำกับดูแลตรวจเช็คอย่างเข้มงวดเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นต้องมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาตรวจสอบร่วมกับชาวบ้าน” พนมวรรณ ตัวแทนจาก PPM กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการหารือนานร่วมสองชั่วโมง ศยามล ได้ออกมาเปิดเผยถึงผลสรุปในการหารือร่วมกันในครั้งนี้ว่า วันนี้เราได้บทสรุปในการหารือที่เป็นรูปธรรมหลายส่วน โดยส่วนของการคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย รวมทั้งนายอำเภอวังสะพุง ได้มีข้อตกลงที่ชัดเจนร่วมกันว่าหากมีเหตุความรุนแรงหรือการถูกข่มขู่คุกคามเกิดขึ้น ให้แจ้งเรื่องไปที่ผู้ใหญ่บ้านที่กำกับควบคุมชุด ชรบ. ได้เลย ซึ่งหลังจากนั้นผู้ใหญ่บ้านก็จะทำการแจ้งไปที่นายอำเภอ และสามารถสั่งให้คนมาลาดตระเวนได้ ส่วนในกรณีของ สภ.วังสะพุง ผู้กำกับมาเองและบอกว่าหากมีเหตุก็สามารถแจ้งไปที่ผู้กำกับได้เลย ซึ่งปกติจะมีตำรวจมาลาดตระเวนอยู่แล้ว แต่อาจไม่ทุกวัน เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างชาวบ้านและตำรวจ เรื่องนี้ทางรองผู้ว่าฯ ก็จะเข้าไปคุยกับคณะทำงานฟื้นฟูเหมืองแร่ ซึ่งรองผู้ว่าฯ รับปากว่าจะไปพูดคุยให้โดยเร็ว เน้นย้ำไปที่การรักษาความปลอดภัยและการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ
ประเด็นที่ 2 ก็คือ ชาวบ้านมีข้อเสนอให้รีบตั้งคณะกรรมการฟื้นฟู ซึ่งมีสัดส่วนของผู้แทนชาวบ้านครึ่งหนึ่ง คำสั่งแต่งตั้งก็มาแล้ว โดยแต่งตั้งตามที่ชาวบ้านเสนอมา มีทั้งนักวิชาการ ตัวแทนจากภาคประชาสังคม ทางรองผู้ว่าฯ รับปากว่าจะรีบจัดประชุมโดยเร็ว เพราะว่าการประชุมคณะทำงาน อำนาจหน้าที่กำหนดไว้ว่า ให้มีแผนจัดทำปฏิบัติการฟื้นฟูเรื่องพื้นที่เหมือง เพราะต้องมีการลงรายละเอียดว่า จะมีแผนฟื้นฟูอย่างไรและที่สำคัญ การฟื้นฟูเหมืองต้องอาศัยผู้มีความรู้ โดยมีอาจารย์จาก ม.นเรศวร มีนักวิชาการที่มีความรู้เรื่องมลพิษ และมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานควบคุมมลพิษเข้ามา ตรงนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะมีสารเคมี สารไซยาไนด์เข้ามาอยู่ในนั้น ต้องอาศัยองค์ความรู้ตรงนี้ว่าจะมาฟื้นฟูอย่างไร ” ศยามล ระบุ
ศยามล ระบุด้วยว่า ส่วนประเด็นบริษัทเจนโก้ มารับซื้อประมูลได้ แล้วพื้นที่ของกิจการบริษัท ทุ่งคำ จำกัดอยู่ในส่วนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งกรมบังคับคดีเป็นผู้รับผิดชอบ พนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้ข้อมูลเราว่า ก่อนที่เจนโก้ประมูลไปก็มีการให้ข้อมูลว่าจะมีการดำเนินการ กำจัดมลพิษของเหมืองอย่างไรบ้างและจะมีการฟืนฟูอย่างไร เขารับปากกับทาง กสม. จะทำรายงานส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวันนี้ แล้วต้องแจ้งว่าแต่ละหน่วยต้องทำอย่างไรบ้าง รวมทั้งกรมบังคับคดีต้องเร่งตามกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ไปกำกับให้บริษัทให้เจนโก้ดำเนินการตามที่ได้นำเสนอแผนการจัดการมลพิษของเหมืองแร่ระหว่างรื้อถอน เพราะที่ผ่านมาเขาไม่ได้ดำเนินการในเรื่องนี้
ศยามล ระบุว่า ส่วนเรื่องการดำเนินคดี ที่ชาวบ้านไปแจ้งความ เช่น มีการขโมยกองสินแร่ ชาวบ้านเสนอว่า ให้บริษัทเจนโก้ ต้องไปให้ปากคำกับตำรวจ โดยฝากไปยังผู้กำกับ สภ.วังสะพุงว่า ให้เรียกบริษัทเจนโก้มาให้ปากคำ ไม่ใช่ให้ชาวบ้านมาให้ปากคำ ทั้งนี้ทาง กสม. จะนัดประชุมกับเจ้าหน้าที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพราะหลังจากที่ศาลมีคำสั่งว่าล้มละลายแล้ว การฟื้นฟูเป็นหน้าที่ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ไปกำกับกับทางบริษัทเจนโก้ ในการที่จะจัดการมลพิษนี้อย่างไร เพราะตอนนี้ยังขนอุปกรณ์เรือนแต่งแร่ยังไม่หมด เพราะต้องอยู่อีกประมาณ 7 เดือน ซึ่งระหว่าง 7 เดือนนี้ ก็ขอให้มีการดูแลความปลอดภัยและกำกับให้เจนโก้ดำเนินการโดยเร็ว
และหากในอนาคต ถ้ามีการข่มขู่คุกคามนักปกป้องสิทธิ เราจะรีบลงมาเหมือนกรณีนี้ ซึ่งระยะเวลา ทาง กสม. จะเร่งลงมาภายใน 1 เดือน กรณีนี้ที่ลงมาเร่งด่วนเนื่องจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้มีการแจ้งไปที่ตำรวจ และทาง PI ก็ร้องไปที่กรม ก็มีการแจ้งไปยังตำรวจเพื่อเข้ามาดำเนินการ ถือเป็นสิ่งที่ดี ที่หลายหน่วยงานเร่งดำเนินการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดฉบับเต็ม! รายงานกสม. มัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพ-รพ.ตำรวจ เลือกปฏิบัติช่วยทักษิณ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่อง "การเลือกปฏิบัติและสิทธิของผู้ต้องขัง กรณีร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น" กรณีผู้ร้อง(ปกปิดชื่อ) ผู้ถูกร้อง เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่ 1โรงพยาบาลตำรวจที่ 2
กสม.แถลงค้าน ปิดศูนย์เรียนรู้เด็กข้ามชาติ ชี้สถานศึกษาในพื้นที่ ยังไม่มีความพร้อม
ตามที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีประกาศปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ บางกุ้ง ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
'ทวี' ขึงขัง! สั่ง 'กรมคุก' ตามดู 'นช.ทักษิณ' รักษาตัวชั้น 14 ละเมิดสิทธิผู้ต้องขังภาพรวมหรือไม่
ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ส่งเรื่องให้
เอาแล้ว! ป.ป.ช.รับข้อมูล กสม. พิจารณา ปมเอื้อ ‘ทักษิณ’ รักษาตัวชั้น 14
เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงรวบรวมพยานหลักฐานของคณะทำงานไต่สวนที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและทบทวนพยานหลักฐาน ซึ่งสุดตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ส่งรายงานการพิจารณาของกสม.มาให้ป.ป.ช.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
กสม. ชงแก้กม. ให้ผู้ติดยาเสพติดได้บำบัดรักษา โดยไม่ถูกจำกัดสิทธิ
'กสม.' ชงแก้ไข กม. ให้ผู้ติดยาเสพติด เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้ โดยไม่จำกัดสิทธิว่าเป็นผู้กระทำผิด ตามหลักสากล 'ผู้เสพคือผู้ป่วย'
เปิดผลสอบ 'กสม.' ชี้ชัด 'ทักษิณ' อภิสิทธิ์ชน ยื่น ป.ป.ช. ฟัน 'เรือนจำ-รพ.ตำรวจ'
กสม. สอบร้องเรียนปม 'ทักษิณ' ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ชี้ชัด 'เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ-รพ.ตำรวจ' เลือกปฏิบัติละเมิดสิทธิ ยื่น ป.ป.ช.ฟัน