สมช.เสนอเร่งแก้ปัญหาเขื่อนแม่น้ำโขง กระทบเส้นเขตแดน-การเมืองระหว่างประเทศ

สมช.เสนอเร่งแก้ปัญหาเขื่อนแม่น้ำโขง เผยส่งผลกระทบต่อเส้นเขตแดน-การเมืองระหว่างประเทศ แนะกำหนดหลักการใช้น้ำเท่าเทียม-สมเหตุสมผล-ผลักดันแนวปฎิบัติบริหารเขื่อน กลุ่มรักษ์เชียงของพายเรือคายัคจากสามเหลี่ยมทองคำ-ผาได สำรวจนิเวศน้ำโขงพบแหล่งวางไข่นก-ร่องรอยนากหวั่นสูญหากสร้างเขื่อนปากแบง

6 ม.ค.2567 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ได้จัดการประชุมเชิงสัมมนาทางวิชาการของศูนย์อาเซียนศึกษา โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นผู้จากหลายหน่วยงาน รวมทั้งมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมกว่า 40 คน ที่น่าสนใจคือระหว่างการเสวนาในหัวข้อ “การบริหารจัดการน้ำของจีนในลุ่มแม่น้ำโขง ผลกระทบต่อความมั่นคงของอาเซียนและไทย” ซึ่งผู้ร่วมเสวนาโดยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่ชาติ (สมช.) สำนักนโยบายและแผนกลาโหม กระทรวงกลาโหม ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers)

ผู้แทนสมช.ได้นำเสนอในประเด็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงว่า ด้านสิ่งแวดล้อม มีผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องด้วยการไหลของน้ำและการขึ้นลงของน้ำในแม่น้ำโขงไม่เป็นไปตามธรรมชาติทำให้ปลาและนกไม่สามารถวางไข่ได้ตามฤดูกาลส่งผลกระทบต่อประชาชน ด้านผลกระทบต่อบูรณภาพแห่งดินแดน การสร้างเขื่อนไฟฟ้าจะส่งผลให้เกิดตะกอน ดิน และส่งผลต่อเส้นทางไหลของน้ำ เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่องน้ำ สันดอน เนินทรายในแม่น้ำโขงซึ่งอาจกระทบต่อเส้นเขตแดนตามลำน้ำโขงระหว่างไทย-ลาว ที่ยังไม่มีความชัดเจนในการปักปันเขตแดน และผลกระทบด้านการเมืองระหว่างประเทศ ด้านอาชญากรรม เกาะ ดอน ในหลายพื้นที่กลายเป็นแหล่งพักพิงและเป็นเส้นทางลักลอบลำเลียงยาเสพติดและลักลอบเข้าเมือง

ทั้งนี้สมช. มีข้อเสนอแนะให้มีการหารือด้านการจัดการน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อเปิดโอกาสให้มีการกำหนดหลักการใช้แม่น้ำโขงอย่างเท่าเทียมและสมเหตุสมผล โดยไทยสามารถใช้กลไกอนุภูมิภาคและอาเซียนที่มีอยู่ เพื่อหารือ ประเด็นแม่น้ำโขง รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและการปกป้องสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ไขปัญหาช่องว่างการพัฒนาที่กว้างขึ้นระหว่างประเทศสมาชิก และควรผลักดันให้เกิดการจัดทำแนวปฏิบัติสำหรับการบริหารจัดการเขื่อน (Guidance for dam operations) ในแม่น้ำโขงสายหลักที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการควบคุมปริมาณการไหลของน้ำ เพื่อรักษาปริมาณการไหลของแม่น้ำโขงในช่วงเวลาต่างๆ ให้อยู่ในระดับที่เป็นที่ยอมรับได้

ด้านผู้แทนหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง (นรข.) ได้นำเสนอผลการศึกษาด้านปริมาณการไหลและระดับน้ำของแม่น้ำโขง โดยระบุว่าช่วงสถานีเชียงแสนมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงของน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติ โดยมีสาเหตุหลักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำและการไหลของน้ำโขงตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ประเทศไทย โดยมีข้อเสนอ 1. กำหนดนโยบายในการแก้ปัญหาผลกระทบจากเขื่อน 2. การไม่สร้างเขื่อนเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ 3. ศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงและปัญหาผลกระทบของลุ่มน้ำโขง 4.การแจ้งข้อมูลการระบายน้ำจากเขื่อนล่วงหน้า 5. การกำหนดสิทธิอธิปไตยในลำน้ำโขง 6. การยึดมั่นในข้อตกลงที่กำหนดไว้แล้ว

นอกจากนี้ ก่อนหน้าจัดเวทีเสวนาได้มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “การบริหารจัดการน้ำของจีนในลุ่มแม่น้ำโขง สถานการณ์ แนวโน้ม และความท้าทายในอนาคต” โดยนายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้กล่าวว่า มีโครงการพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในลุ่มน้ำโขงตอนบนและตอนล่าง จำนวน 22 โครงการ แบ่งเป็นกลุ่ม 1 แม่น้ำล้างช้างตอนล่าง (ในเขตจีน) เป็นเขื่อนประเภทกักเก็บน้ำ กลุ่ม 2 แม่น้ำโขงตอนล่างส่วนบน (ในเขตลาว) เป็นเขื่อนประเภทน้ำไหลผ่าน และกลุ่ม 3 แม่น้ำโขงตอนล่างส่วนล่าง (พรมแดนไทยลาว และกัมพูชา) เป็นเขื่อนประเภทน้ำไหลผ่านเช่นเดียวกัน เขื่อนที่ก่อสร้างเสร็จแล้วได้แก่ เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮง ส่วนเขื่อนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ ปากแบง หลวงพระบาง ปากลาย และโครงการเขื่อนที่อยู่ในกระบวนการ PNPCA คือสานะคาม ส่วนโครงการเขื่อนที่อยู่ในแผนการก่อสร้างในอนาคต ได้แก่เขื่อนปากชม บ้านกุ่ม ลาดเสือ/ภูงอย สตึงเตรง และสามบ่อ (ซำบอ)

ผู้แทน สทนช.กล่าวว่า การรักษาผลประโยชน์ของไทยในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ในฐานะรัฐริมฝั่งโขง (riparian state) ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์และผลกระทบโดยตรง 1. ด้านน้ำ เพื่อการบริโภคภายในประเทศ เพื่อเกษตรกรรมริมฝั่งและการประมงในแม่น้ำ 2. ด้านพลังงาน แหล่งพลังงานสะอาด/พลังงานทางเลือก นโยบายเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของอาเซียนภายใต้แผนพัฒนาด้านพลังงานของประเทศ พศ.2561-2580 3. ผลกระทบข้ามพรมแดน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจสังคมและคุณภาพชีวิต 4. การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการตามกรอบ MRC-LMC การติดตามสถานการณ์น้ำ 5. ความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดน การแข่งขันทางยุทธศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจ

ทางด้านกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย นำโดย “ครูตี๋” นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ได้จัดกิจกรรมพายเรือคายัคสำรวจแม่น้ำโขง ระหว่างวันที่ 5-7 มกราคม โดยเริ่มจากปากแม่น้ำกก อ.เชียงแสน ถึงผาได อ.เวียงแก่น ซึ่งจากการนสำรวจในวันแรกพบว่าเกาะดอนต่างๆ มีสภาพเปลี่ยนไป โดยเกาะดอนบางแห่งถูกใช้งานโดยชาวบ้านจากเพื่อนบ้าน มีการเลี้ยงสัตว์ และทำการเกษตร มีการปรับปรุงตลิ่งริมแม่น้ำโขง รวมทั้งปากห้วยต่างๆ ซึ่งการพายเรือทำให้สามารถเข้าถึงระบบนิเวศอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ที่หาดร้องฟาน หนึ่งในแก่งคอนผีหลง ซึ่งเป็นกลุ่มแก่งสำคัญบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ยังคงมีสภาพตามธรรมชาติ พบร่องรอยของสัตว์หลายชนิด เช่น นาก นก โดยเกาะแก่งเหล่านี้เป็นแหล่งอาศัยและวางไข่ที่สำคัญของนกอพยพ ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำโดยเฉพาะการสร้างเขื่อนปากแบง จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้โดยกลุ่มรักษ์เชียงของจะพายเรือสำรวจแม่น้ำโขงลงไปถึงสุดชายแดนไทย ที่แก่งผาได อ.เวียงแก่น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักวิชาการแนะทางแก้ 'ปลาหมอคางดำ' เชื่อแพร่พันธุ์ภาคอีสานยาก

ผศ.ดร.พรเทพ เนียมพิทักษ์ หัวหน้าสาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้ยังคงไม่พบการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำในภาคอีสาน

ชาวบ้านริมแม่น้ำโขง 8 จังหวัด ยื่นจดหมายถึงนายกฯ หวั่นผลกระทบเขื่อนปากแบง

นายทองสุข อินทะวงศ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย นายนิวัตน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ส่งจดหมายถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

นายกฯ รับฟังปัญหาชลประทาน ที่ดินทำกิน อ.เชียงแสน ชาวบ้านขอผ่อนปรนคนจีนข้ามแดน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาระบบชลประทาน เพื่อการอุปโภคบริโภค และพบปะประชาชน ณ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง

ยึดรายวันยาบ้าริมโขง ทหารพรานสกัดได้กว่า 2 แสนเม็ด

ที่กองร้อยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 2101 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 21 กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี (ร้อย ทพ.2101 ฉก.21 กกล.ฯ) บ้านปากห้วยม่วง ต.นาเข อ.บ้านแพง จ.นครพนม พ.อ.อินทราวุธ ทองคำ ผบ.กรม ทพ.21/ผบ.ฉก.ทพ.21 ร.ท.วันชาติ

'ดร.อานนท์' ยกพรบ.กลาโหมฟาด 'เตี้ยปีศาจ' กองทัพการสอนประวัติศาสตร์เป็นเรื่องความมั่นคง

ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล สาขาวิชาสถิติศาสตร์สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า

เหิมเกริม! แก๊งค้ากัญชาข้ามชาติ ยกพวกกว่า 30 คน รุมทำร้าย นรข.นครพนม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ สภ.บ้านแพง อ.บ้านแพง จ.นครพนม จ่าเอกปรเมษฐ์ ปุราชะโน อายุ 27 ปี หรือต๋อง พร้อมบัดดี้คือ จ่าเอก วรพิทูร เดชาเสถียร อายุ 30 ปี หรือเชฟ ได้เข้าแจ้งความต่อ พ.ต.ต.ปุญวัตน์ สุริยกุล ณ อยุธยา สว.สอบสวน สภ.บ้านแพง