ผู้แทนสถานทูตจีนแจงวิสัยทัศน์แม่น้ำโขงให้ชุมชนริมโขง เผย 5 ประเทศร่วมดื่มน้ำสายเดียวกัน ศ.สุริชัยชี้ความโปร่งใสในการสร้างเขื่อนไม่มีจริง สส.ก้าวไกลถามหามาตรฐานอีไอเอ
9 ธ.ค.2566 - ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ภายในงาน “ฮอมปอย ศรัทธาแม่น้ำโขง” ได้มีการจัดเสวนา “ภูมิรัฐศาสตร์แม่น้ำโขง” โดย มี ศาสตราจารย์กิตติคุณสุริชัย หวันแก้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นางหลี่ จิ้น เจียง ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ,นายศุภโชติ ไชยสัจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โดยมี น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ดำเนินรายการ ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ทางผู้จัดงานได้เชิญสถานเอกอัครราชทูตอเมริกา ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย เข้าร่วมฟังเสียงสะท้อนของชาวบ้านริมแม่น้ำโขงด้วย โดยสถานทูตอเมริกันและออสเตรเลียยืนยันว่าจะส่งผู้แทนเข้าร่วมงาน แต่เมื่อถึงเวลากลับไม่มีผู้แทนมาร่วม
นางหลี่ จิ้เจียง ผู้แทนสถานทูตจีนประจำประเทศไทย ที่ปรึกษาด้านการเมือง กล่าวว่าในฐานะที่เป็น ผู้แทนสถานทูตจีนเพียงคนเดียวบนเวทีเสวนานี้ อยากพูดถึง วิสัยทัศน์ในการทำงานของจีน ตั้งแต่ต้นน้ำโขงในจีนเรียกว่าแม่น้ำล้านช้าง จีนกับ 5 ประเทศลุ่มน้ำโขงร่วมดื่มน้ำสายเดียวกัน มีความเชื่อมโยงเป็นเพื่อนมิตรที่ดี
“ปี 2559 ได้มีการเปิดตัวความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (Lancang Mekong Cooperation หรือ LMC) วานนี้รัฐมนตรี 6ประเทศ ร่วมประชุมกันที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งจะมีความร่วมมือกันมากมาย ในฐานะที่มีกลไกร่วมหารือ พัฒนาแบ่งปันกัน ได้รับความร่วมมืออย่างดี ปีที่แล้ว มูลค่าการค้ากับจีน 510.17 แสนล้านดอลาร์ เพิ่มเป็น 2 เท่าจาก 7 ปีก่อน เทศกาลผลไม้ในลุ่มประเทศน้ำโขง มีการนำเข้าทุเรียน รังนก ลำไย มะพร้าวสดเข้าจีน” ผู้แทนทูตจีนประจำประเทศไทยกล่าว
นางหลี่ กล่าวอีกว่า กลไกด้านเกษตร มีการนำเข้าฝึกอบรมความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรกว่า 1พันคน ช่วยยกระดับด้านเกษตรแก่ประชาชน โดยไทยเป็นผู้ริเริ่ม LMC และจะเข้ารับตำแหน่งประธาน LMC ในอนาคตด้วย
“มีการอนุมัติกว่า 70 โครงการ มูลค่า 20 ล้านดอลล่าร์ ผ่านโครงการต่างๆของไทย LMC คือการพัฒนา สำหรับจีนการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ยกระดับชีวิตประชาชนคือความเร่งด่วนในปัจจุบัน สุดท้ายนี้ขออวยพรให้อนาคตลุ่มประเทศน้ำโขงมีอนาคตที่สดใส เชื่อว่าภายใต้ความร่วมมือ แม่น้ำ Mother River จะสดใส เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาชน ส่วนประเด็นเกี่ยวกับเขื่อนบนแม่น้ำโขง และเรื่องภัยแล้ง มีข่าวที่โทษจีนว่าเขื่อนบนแม่น้ำลานชางทำให้เกิดภัยแล้ง รัฐบาลจีนให้ความสำคัญเกี่ยวกับความคิดเห็นของเพื่อนมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง ทางจีนส่งผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมาร่วมกันศึกษาด้วยกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) เพื่อหาหลักฐานว่า เป็นผู้ก่อภัยแล้งให้ปลายน้ำไม่ใช่จีน ปริมาณน้ำโขงในส่วนล้านช้าง มี 13.5 % ที่แชร์กับแม่น้ำโขงตอนล่าง พื้นที่บริเวณของแม่น้ำล้านช้าง คือ 20 % ปีที่เกิดภัยแล้ง ที่จีนในยูนนานที่น้ำโขงไหลผ่านก็เกิดภัยแล้งเหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ มีการติดตั้งสถานีวัดน้ำที่ท้ายน้ำในแม่น้ำโขง เราแบ่งปันข้อมูลน้ำกับประเทศตอนล่าง ร่วมทั้งความพยามรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศต่าง ตอนนี้เขื่อนของเรามีการปล่อยน้ำในฤดูแล้ง เก็บน้ำในฤดูฝน ฟังทุกท่านแล้วคิดว่า รู้สึกว่า เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ต้องแก้ไขปัญหาด้วย แบ่งปันข้อมูลกัน เราต่างดื่มกินแม่น้ำสายเดียวกัน นางหลี่ กล่าว
ด้าน ศาสตราจารย์กิตติคุณสุริชัย หวันแก้ว จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม่น้ำโขงมีความหมายสำหรับคนพื้นที่ แต่ถ้าคนกรุงเทพฯ แล้วแม่น้ำโขงอยู่ไกลมาก
“ดังนั้นความรู้สึกรู้สากับแม่น้ำโขง จะต้องถามไถ่คนที่ผูกพันกับคนใกล้แม่น้ำให้มากขึ้น แต่ที่ผ่านมาการสร้างเขื่อนไม่ได้ถามไถ่คนใกล้แม่น้ำเลย เวลาเขาทำสัญญาก็เป็นสัญญาที่คนพื้นที่ไม่ได้รู้ ไม่ได้อ่านด้วยเลย มันสะท้อนใจมากว่าการตัดสินใจเรื่องการสร้างเขื่อนกับคน ที่ได้รับผลกระทบ ในโครงสร้างอำนาจ มันไกลกันเหลือเกิน กว่าจะได้ยินเสียง มันต้องใช้หลายช่องทางมาก ผมสะท้อนใจเวลาได้ฟังจากชาวบ้านว่ามันกระทบมาก ทั้งทางตรงทางอ้อม เราศึกษากันยังไง ถ้ากระทบใครจะดูแลกระบวนการ ผลกระทบบ้าง คนรับผิดรับชอบไม่มี มีแต่การสร้าง ทำสัญญา และอ้างแต่ข้อมูลว่าประเทศเราต้องการไฟฟ้า ปัจจุบันการสร้างเขื่อน ประเทศไหนสร้างก็เป็นอธิปไตยประเทศนั้น กลายเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศแบ่งเป็นเสี้ยวๆ แต่ผลกระทบมันกว้างไกลเกินกว่าประเทศนั้นจะดูแล” ศาสตราจารย์กิตติคุณสุริชัย กล่าว
อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวอีกว่า เกิดคำถามที่ผู้แทนทูตจีนพูดว่าใครจะตรวจสอบการตัดสินใจพัฒนาเหล่านี้ ว่ามีความยุติธรรมไหม มันไม่มีความชัดเจนและไม่ยุติธรรม วันนี้เราได้ยินกับหูว่าความโปร่งใสเรื่องสร้างเขื่อนปากแบงมันไม่มีจริง และการซื้อพลังงานทั้งที่เรามีพลังงานสำรองถึง 69%
“เมื่อรับผิดชอบไม่ได้ก็ผลักภาระไปสู่อนาคต กลายเป็นว่าเราจะสร้างระบบที่ตรวจสอบร่วมกันไม่ได้ ภาคประชาสังคมผู้ได้รับผลกระทบ ถ้าเรารู้สึกว่าแม่น้ำเป็นของเราทุกคนมันไกลกว่าอธิปไตยของใครของมัน ในความรับผิดชอบของความเป็นมนุษย์ มันต้องกว้างกว่านั้น กว้างกว่าระดับรัฐบาล พี่น้องข้ามพรมแดนได้แลกเปลี่ยนกัน ผ่านสังคมออนไลน์ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง” อ.สุริชัย กล่าว
อ.สุริชัย กล่าวว่า มีการประชุมเอ็มอาร์ซีครั้งหนึ่งที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รัฐมนตรีจากจีนมาประชุมด้วย จนมีการตอบสนองข้อมูลจากเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนในจีน เป็นครั้งแรกที่จีนได้แสดงท่าทีที่เป็นประโยชน์ในการแชร์ข้อมูล ให้คนแม่น้ำโขงตอนล่าง หลักอธิปไตยเป็นเรื่องหนึ่ง
“เพราะให้แต่รัฐบาลตัดสินใจ ชาวบ้านไม่มีส่วนตัดสินใจเลย การแชร์ข้อมูลจึงไม่เกิดขึ้น แต่ปัจจุบันมีออนไลน์ เราสื่อสารได้หลากหลายมาก เราจะแก้ปัญหาข้อมูลที่ล่าช้ายังไง ชาวบ้านจะยังรอคอยแบบน้ำตาไหลน้อยอกน้อยใจอีกไหม การสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบการตัดสินใจของประเทศลุ่มโขงสำคัญมากกว่าอธิปไตยของแต่ละประเทศ ระบบ MRC-LMC ต้องช่วยรองรับกลไกนี้ ภูมิรัฐศาสตร์ปัจจุบันมีจุดอ่อนสำคัญ ไม่ให้ความสนใจต่อความเสื่อมสลายของระบบนิเวศน์ และให้อำนาจกับเมืองหลวงในการตัดสินใจ ผลประโยชน์ของประเทศ กับผลประโยชน์ของประชาชน น่าจะรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” ศาสตราจารย์กิตติคุณสุริชัย กล่าว
นายศุภโชติ ไชยสัจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ได้ฟังความคิดเห็นของชาวบ้านแล้วมีความเห็นในทางเดียวกัน
“เราคิดเห็นแนวเดียวกันกับชาวบ้านว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนมีมากขึ้นอย่างไรแล้วจะทำอย่างไรต่อ ถ้าEIA ชี้ให้เห็นว่าไม่ผ่าน เขื่อนจะไม่ถูกสร้างหรือไม่ คำถามคือกระบวนการทำ EIA มาตรฐานในการจัดทำคืออะไร ถ้ากำหนดนโยบายระยะยาว มันสอดคล้องกับมาตรฐานระดับนานาชาติแค่ไหน ดังนั้นถ้าเราทำประเมินผลกระทบอย่างครอบคลุมทั้งแม่น้ำสายหลัก สายรอง ไปจนถึงอัตราค่าไฟต้นทุนพลังงาน สัญญาแบบ Take or Pay ไทยเรามีรูปแบบสัญญาซื้อไฟฟ้าที่แปลก คือไม่ว่าต้นทุนจะต่ำลงเพียงใด ไฟฟ้าที่ซื้อมาใช้หรือไม่ใช้รัฐจ่ายเงินทุกกรณี เราจะต้องจ่ายในอัตราที่สัญญากำหนด จึงเป็นเรื่องที่ต้องทบทวน ดังนั้นการศึกษาผลกระทบอย่างครอบคลุมเพียงพอจึงสำคัญต่อการสร้างเขื่อน” นายศุภโชติ กล่าว
ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า พรรคก้าวไกลมีกรรมาธิการ พัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษาผลกระทบครอบคลุม เราจะเชิญสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ปปช. เราจะรอดูว่านายกรัฐมนตรีจะมีแอคชั่นอย่างไรต่อ ถ้านิ่งเฉยก็จะถือว่าจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 187
ในขณะที่ศาสตราจารย์ ฟิลิปส์ เฮิร์ช จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า ถ้ามองกลับไปยาวๆ การเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงหลายร้อยปีเราคาดการณ์ได้ แค่ปัจจุบันเราไม่รู้แล้วว่าระดับน้ำขึ้นลงเป็นอย่างไร
“เราได้ยินผลกระทบจากเขื่อนมาตลอด การเปลี่ยนแปลงเกิดตลอดทั้งลุ่มน้ำ ไม่ได้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เราได้ยินปัญหาเรื่องประเมินผลกระทบ จากการมีส่วนร่วม ใช้ข้อมูลน้อยมาก ดังนั้น ทำอย่างไรให้กระบวนการศึกษาผลกระทบรอบด้านจริงๆ โดยเฉพาะประเด็นความจำเป็นด้านพลังงานของไทย” ศ.ฟิลลิปส์กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อีสานสกูตเตอร์ เลาะตามสายแม่น้ำ 8 จังหวัด ปลดพันธนาการเขื่อนแม่น้ำโขง
กลุ่มแม่โขงอีสานสกูตเตอร์รณรงค์ผลกระทบจากการพัฒนาในแม่น้ำโขง จากเขื่อนสานะคาม จ.เลย ถึง เขื่อนภูงอย จ.อุบลฯ ผ่าน 8 จังหวัดติดแม่น้ำโขงระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร
เปิดโปรแกรมทัวร์ 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรกที่เมืองเหนือ
เปิดโปรแกรม 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรก จัดที่แม่ริม เชียงใหม่ 29 พ.ย. ก่อนถก 'คลังสัญจร' เชียงราย ฟื้นฟูพื้นที่เศรษฐกิจ พร้อมพบประชาชน
'ครูแดง' ชี้มติ ครม. ลดขั้นตอนให้สัญชาติ 4.8 แสนคน ปฏิรูประบบสถานะบุคคลครั้งสำคัญ
"ครูแดง" ชี้มติ ครม.ลดขั้นตอนให้สัญชาติ 4.8 แสนคน ถือว่าปฎิรูประบบพัฒนาสถานะบุคคล จี้ "สมช.-มท." ออกกฎหมายเร่งช่วยคนเฒ่าไร้สัญชาตินับแสนคนที่กำลังเปราะบาง
แจงดราม่า! งานตักบาตรพระ 1 พันรูป ปล่อยนั่งตากแดด โยนออแกไนซ์รับผิด
จังหวัดนครพนม ได้รายงานข้อเท็จจริง กรณีงาน "มหาบุญแห่งศรัทธานครพนม" โดยตามที่ปรากฏข่าวบนสื่อสังคมออนไลน์ ประเด็น "ทัวร์ลงยับ นิมนต์พระ 1 พันรูป ปล่อยนั่งตากแดด" เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมานั้น
'ธีรรัตน์' ลงพื้นที่บ้านถ้ำผาจมสั่งเร่งฟื้นฟู
รมช.มหาดไทย ตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าการฟื้นฟูหมู่บ้านถ้ำผาจม กำชับเร่งเคลียร์พื้นที่ตลอดสองข้างทาง
สิ้นท่า 'ท้าวตู้' ตัวตึงค้ายาฝั่งโขง ยอมแฉหมดเปลือกแลกอิสรภาพ
นครพนม-จู่โจมจับกลางลำน้ำ “ท้าวตู้ตัวตึงฝั่งโขง” พร้อมชาวประมงคนไทยรวม 2 ราย ทำทีหาปลาแฝงขนยาบ้า ลูกเล่นอ้างจะแฉชื่อเอเยนต์ เพื่อแลกกับอิสรภาพ