ตั้งกก.สอบส่วย-หัวคิวค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละ ปลัดอำเภอขอย้ายพ้นหน้าที่เพื่อความสบายใจ

ตั้งกก.สอบส่วย-หัวคิวค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละ ปลัดอำเภอขอย้ายตัวเองพ้นหน้าที่เพื่อความสบายใจ นักวิชการ-กสม.แนะรัฐปรับนโยบายมุ่งการพัฒนามนุษย์มากกว่าสงเคราะห์

18 ธ.ค.2564 - ได้มีการเสวนาออนไลน์เรื่อง "ส่องค่ายผู้ลี้ภัย ปมปัญหา-ทางออก"โดยวิทยากรประกอบด้วย ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ และ ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร นักวิชาการจากศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มช. ซึ่งทำการวิจัยเรื่อง “ทางเลือกเชิงนโยบายการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยในค่ายพักพิงชั่วคราว” นางปรีดา คงแป้น และนายสุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายกัณวีร์ สืบแสง อดีตหัวหน้าสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ โดยมีผู้แทนผู้ลี้ภัยจากองค์กร Naw K’nyaw Paw Karen Student Network Group(KSNG) และ Karen Refugees Committee (KRC) ให้ข้อมูลแทนผู้ลี้ภัย

ผู้แทน KSNG กล่าวว่า สถานการณ์จลาจลที่เกิดขึ้นในค่ายบ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ไม่ได้มีการจัดตั้งขึ้นแต่อย่างใด แต่มีผู้ลี้ภัยมาร่วมมากเพราะพวกเขาต่างถูกกดทับและได้รับการปฎิบัติไม่เท่าเทียมตลอดระยะเวลานับสิบปีจึงได้ระเบิดความรู้สึกออกมา ผู้ลี้ภัยต่างรู้สึกขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ที่พักพิงมาเป็นเวลานาน แต่การอยู่มานานโดยไม่สามารถออกทำงานได้ทั้งๆที่ต้องเลี้ยงครอบครัว บางคนที่มีเงินสามารถออกมาทำงานได้โดยเฉพาะในช่วงโควิด แต่ส่วนใหญ่ออกมาไม่ได้ ทำให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรม เราเข้าใจมาตรการโควิดดี แต่ก็อยากให้มีการผ่อนปรนในบางข้อ อย่าวกรณีในค่ายแม่หละ ถ้าคนในครอบครัวคนใดคนหนึ่งได้รับเชื้อโควิดก็ต้องถูกกักตัวกันทั้งหมดทำให้เกิดปัญหาตามมา แม้เราจะขอผ่อนผันให้กักตัวคนเดียวหรือกักตัวที่บ้าน แต่ก็ไม่สามารถทำได้ ผู้ลี้ภัยเพียงแค่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ปฎิบัติอย่างเป็นธรรม และรับฟัง เราอยากออกไปทำงานโดยไม่ถูกจับกุม

ผู้แทน KRC กล่าวว่า ขออภัยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในค่ายบ้านแม่หละ สภาพโดยรวมคือผู้ลี้ภัยอยู่ในค่ายบ้านแม่หละมายาวนานพวกเขารู้สึกหมดหวังพึ่งพาตนเองและกฏระเบียบต่างๆในค่ายเกิดขึ้นใหม่ทุกปีแต่แทนที่จะเกิดสิ่งใหม่ๆดีๆกลับเป็นแรงกดดันเพิ่มขึ้น อยากให้สร้างความหวังให้ผู้ลี้ภัย หากมีการจัดการทางเลือกในวิถีชีวิตให้มีสิทธิพึ่งพาตัวเองได้

นายกัณวีร์ กล่าวว่า รัฐบาลทำถูกต้องที่ให้ความช่วยเหลือผู้ที่หนีภัย แต่ปัญหาสะสมกว่า 30 ปี การที่รัฐบาลไม่ยอมให้พวกเขาออกจากพื้นที่ ถ้าจะออกต้องขออนุญาตจากหัวหน้าแคมป์เท่านั้น พวกเขาต้องอยู่ในค่ายซึ่งอยู่ไกลมาก การแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยในเวทีระหว่างประเทศนั้น มีทางออก 3 ทาง คือ ออกไปประเทศที่ 3 ซึ่งตอนนี้ออกไปแล้วกว่า 1.2 แสนคน การเดินทางกลับประเทศต้นทางซึ่งเป็นทางออกที่ดีที่สุด ตั้งแต่ 2016-19 มีสมัครใจเดินทางเพียง 1,039 คน ยิ่งต้องเจอสถานการณ์โควิด ยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะส่งกลับพม่า ขณะที่ไม่มีประเทศใดกล้ารับคนที่เหลืออีกหลายหมื่นคน ซึ่งพวกเขาจำเป็นต้องมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รัฐบาลจำเป็นต้องคิดใหม่ทำใหม่ คนในศูนย์เหล่านี้มีศักยภาพมาก นโยบายของไทยควรปรับเปลี่ยนโดยปลดล็อคกฎหมายแรงงาน ใครที่มีศักยภาพและต้องการทำงานก็ควรอำนวยความสะดวกให้เขาได้ทำงาน

ดร.มาลี กล่าวว่าเนื่องจากรัฐไทยมองว่าคนเหล่านี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งรัฐและดูแลภายใต้หลักมนุษยธรรมโดยห้ามออกนอกพื้นที่โดยที่ค่ายแม่หละมีข่าวว่าหากออกนอกพื้นที่ต้องจ่ายเงิน ขณะเดียวกันก็ห้ามคนภายนอกเข้าไปในค่ายผู้ลี้ภัยโดยต้องขออนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น ขณะที่เขาอยู่มานาน หากมาเกิดในค่ายก็อายุ 37 ปีแล้ว ผู้ลี้ภัยพยายามช่วยเหลือตัวเอง หลังคาพังก็หาพลาสติกมากันฝนเพราะ 1 ปีได้รับวัสดุปรับปรุง 1 ครั้งเพราะรัฐไม่ยอมให้ปลูกบ้านแบบถาวร ตอนที่เราไปทำวิจัยได้ตั้งคำถามว่าจะให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้นอนรอความช่วยเหลืออย่างเดียวหรือ แต่จริงๆแล้วเขาพยายามช่วยเหลือตัวเองทั้งค้าขายกันภายในค่าย ปลูกผัก เขาพยายามลุกขึ้นมาเพื่อแสดงศักยภาพช่วยเหลือตัวเอง

“การมองผู้ลี้ภัยมักมองแบบเหมารวม ทั้งที่มีความแตกต่างด้านชาติพันธุ์ ศาสนาและระดับความรู้ บางคนเป็นแพทย์และจำนวนมากมีความรู้ แต่เรากลับมองข้าม ควรเอาคนเหล่านี้เข้ามาร่วมพัฒนา เวลาที่รัฐหรือคนภายนอกมองผู้ลี้ภัยยังมีฐานคติแบบเดิมๆ ควรมีการพูดคุยให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว บางส่วนยังไม่เข้าในเรื่องผู้ลี้ภัยเลย ยังอยู่กับความคิดเดิมๆที่คิดว่าผู้ลี้ภัยเป็นอันตราย ทั้งๆที่พวกเขาหนีร้อนมาพึ่งเย็น แต่มาเจอสถานการณ์ในประเทศไทยที่ไม่ให้โอกาส”ดร.มาลี กล่าว

นายสุชาติ กล่าวว่าสภาพปัญหาของคนในแคมป์มีมากมาย เช่น ด้านการศึกษาซึ่งรัฐบาลพม่าก็ไม่ให้การรับรองแม้จบปริญญาตรี ฝั่งไทยเองก็ไม่ให้การยอมรับ ทำอย่างไรถึงให้ออกมาเป็นที่ยอมรับ อาจารย์ก็เป็นคนในค่ายเท่านั้นเพราะคนในห้ามออกคนนอกห้ามเข้า เราจะพัฒนาศักยภาพคนที่อยู่ในแคมป์อย่างไร เพราะมีข้อจำกัดอยู่มากมาย รัฐบาลจำเป็นต้องปลดล็อค ซึ่ง กสม.จะเป็นสื่อกลางให้มีการพูดคุยในระดับนโยบายเพื่อเสริมศักยภาพของคนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่

นางปรีดา กล่าวว่า 9 ค่ายผู้ลี้ภัยเป็นหน้าที่ กสม.จะปกป้องคุ้มครองสิทธิ เราได้ยินเรื่องความไม่เป็นธรรมของกฎระเบียบและมีปัญหาเรื่องทุจริงคอรัปชั่นโดยเฉพาะการถูกเอารัดเอาเปรียบซึ่ง กสม.จะต้องหยิบยกมาเป็นประเด็นสำคัญ เราจะลงพื้นที่ติดตามดู ตนเห็นด้วยว่าการอยู่ในค่ายมากว่า 30 ปีควรเน้นเรื่องการพัฒนาศักยภาพแบบมีส่วนร่วมเพราะการสงเคราะห์มักกดทับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เขาไม่อยากเป็นภาระของใคร ถ้าเราจัดกระบวนการที่ดีและให้คนที่มีประสบการณ์เข้าไปส่งเสริมจะทำให้ประเทศไทยได้บุคลากรที่มีค่า ทำอย่างไรจะมีการสร้างโมเดลที่ดีของศูนย์พักพิง เพื่อให้พวกเขาอยู่ได้ในระบบเศรษฐกิจพึ่งพาตนเองได้ ถ้าเปิดโอกาสให้หลายองค์กรช่วยกันทำ จะเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้

ดร.ชยันต์กล่าวว่า ตนและอ.มาลีได้ทำวิจัยเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2556 แต่ไม่ได้เก็บข้อมูลทุกค่ายเพราะไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งวิกฤตที่เกิดขึ้นในค่ายแม่หละทำให้เป็นโอกาสในการทบทวนนโยบายการปฎิบัติต่อผู้หนีภัยสงครามในค่ายอพยพที่อยู่กันมานาน โดย กสม. องค์กรที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชน ควรหาคำตอบว่ามีเหตุผลใดที่รัฐบาลไทยไม่ยอมรับอนุสัญญาว่าด้วยสถานะภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 เรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ในค่ายอพยพนั้น คนรุ่นใหม่ไม่รู้จักเรื่องราวในพม่าเพราะเกิดในศูนย์อพยพ แนวคิดเรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมควรเปลี่ยนไปเป็นเรื่องการพัฒนา อย่าลืมว่าผู้ที่อยู่ในค่ายอพยพไม่ได้ทำผิดกฎหมายหรือเป็นอาชญากร พวกเขาหนีร้อนมาพึ่งเย็น เพียงแต่เขาไม่ได้เข้าประเทศตามกฎหมาย เขาอาจถูกมองว่าละเมิดกฎหมายในพม่าแต่เขาไม่ได้ทำผิดต่อประเทศไทย อยากให้เปลี่ยนมุมมองกันใหม่เพราะเกี่ยวข้องกับสิทธิขั้นพื้นฐาน เขาไม่ใช่แค่รอความช่วยเหลือหรือรออาหารปันส่วนจากUNHCR เท่านั้น เราอยากเห็นเขาออกไปทำงานและส่วนในการพัฒนาประเทศ มีรายได้มาจุนเจือครอบครัว

ดร.ชยันต์ กล่าวว่า หลังเกิดปฎิวัติในพม่าโอกาสที่จะส่งคนเหล่านี้กลับไปนั้นเป็นไปไม่ได้ ขณะที่ที่ดินเดิมถูกทหารพม่ายึดไปแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นคือหากมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน หมู่บ้านหรือที่ดินของเขาก็จะถูกน้ำท่วม ทางเลือกของเขามีน้อยมาก ทำอย่างไรให้คนเหล่านี้บูรณาการเข้ากับชุมชนในประเทศไทยโดยเฉพาะประเทศไทยกำลังขาดแคลนแรงงานถึง 3 แสนคน ทำอย่างไรเอาผู้ลี้ภัยในค่ายเกือบ 1 แสนคน ได้เป็นกำลังแรงงาน ขณะเดียวกันประเทศไทยกำลังเกิดวิกฤตเรื่องทรัพยากร เราน่าจะมองพื้นทีชายแดนเป็นบริเวณที่ฟื้นฟูระบบนิเวศขึ้นมาได้ อยากให้ผู้ลี้ภัยได้ใช้ศักยภาพแก้ปัญหาโลกร้อน ดังนั้นรัฐบาลไทยต้องทบทวนนโยบายพื้นที่ชายแดน ทำอย่างไรให้ผู้ลี้ภัยได้ฝึกฝนความสามารถทำให้บริเวณชายแดนไทยเป็นเขตเศรษกิจที่คนชายแดนมีส่วนร่วมกับการพัฒนา

“เรื่องความขัดแย้งในค่าย จะย้ายปลัดที่ดูแลหรือไม่ เป็นเรื่องที่หน่วยราชการต้องแก้ปัญหา แต่กสม.ควรมองปัญหาระดับนโยบายในการเปลี่ยนวิกฤตให้มีพลังในการแก้ปัญหาทำให้พื้นที่ชายแดน ค่ายอพยพมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

ทั้งนี้ ระหว่างการถ่ายทอดสด ผู้ดำเนินรายการคือน.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ได้เชิญนายนายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการและรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เข้าร่วมวงเสวนา โดยนายสมชัย กล่าวว่า ในภาพรวมสถานการณ์พื้นที่พักพิงบ้านแม่หละอยู่ในภาวะปกติ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้นำค่ายในเรื่องกิจกรรมที่ไม่สงผลกระทบต่อภาพรวม ส่วนเรื่องการปกครองดูแล เราเข้าพื้นที่ไปสำรวจสิ่งของที่เสียหายและมีคณะกรรมการซึ่งเป็นกองอำนายการร่วมพูดคุยกัน

ผู้ดำเนินรายการถามถึงกรณีที่มีคำสั่งโยกย้ายนายปรีดา ฟุ้งตระกูลชัย ปลัดอำเภอท่าสองยาง ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าพื้นที่พักพิงศูนย์อพยพบ้านแม่หละ นายสมชัยกล่าวว่า ได้มีการบันทึกขอโยกย้ายตัวเองเพื่อความสบายใจระหว่างที่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และไปทำหน้าที่ด้านอื่นก่อน

เมื่อถามว่าจะรวบรวมปัญหาต่างๆที่ผู้ลี้ภัยได้สะท้อนออกมาเพื่อผ่อนคลายมาตรการหรือไม่ รักษาราชการแทน ผวจ.กล่าวว่า ได้คุยกับนายอำเภอเพื่อตั้งคณะกรรมการร่วมหาข้อมูล เพราะอยากให้เรื่องต่างๆนำมาพูดกันบนโต๊ะ เพราะในพื้นที่บริเวณนั้นมีคนอยู่เกือบ 3 หมื่นคน ประเทศไทยมีหลักมนุษยธรรมแต่ต้องมีขอเขต จึงได้มอบให้นายอำเภอตั้งโต๊ะเจรจา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คุมเข้ม 'แม่สอด' จ.ตาก เฝ้าระวังอหิวาตกโรค

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากกรณีพบผู้ป่วย ติดเชื้อ “อหิวาตกโรค” ในพื้นที่เขตเทศบาลแม่สอด จังหวัดตาก รัฐบาลโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก กระทรวงสาธารณสุข

ผู้การฯตาก สั่งเด้ง ‘ผกก.อุ้มผาง’ ช่วยราชการ ศปก.ภาค 6 เซ่นบึ้มงานกาชาดอุ้มผาง

พล.ต.ต.สัมฤทธิ์ เอมกมล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตาก มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ 0021(ตก.)11./6186 หนังสือตำรวจภูธรภาค 6 ที่ 0021.112/11809

บึ้มงานกาชาด สอบเกียร์ว่าง! ตำรวจอุ้มผาง

"ผบ.ตร." สั่งสอบตำรวจพื้นที่ปล่อยปละละเลยหรือไม่ เหตุ 2 คนร้ายปาระเบิดกลางเวทีรำวงงานกาชาดอุ้มผาง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย เจ็บ 48 คน "อุ๊งอิ๊ง"

ผบ.ตร. สั่งสอบตำรวจพื้นที่ปล่อยปละละเลยหรือไม่ เหตุระเบิดอุ้มผาง

พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีเหตุระเบิดภายในงานกาชาด อะเมซิ่งแผ่นดินดอยลอยฟ้า อ.อุ้มผาง จ.ตาก ประจำปี 2567 นั้น ได้รับรายงานจาก สภ.อุ้มผาง จ.ตาก

ระเบิดตูมสนั่น 'อุ้มผาง' เสียชีวิต 3 เจ็บกว่า 50 ราย

เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อุ้มผาง จ.ตาก ได้รับแจ้งเกิดเหตุระเบิดในงาน "ดอยลอยฟ้า" และงานอะเมซิ่งอุ้มผาง อ.อุ้มผาง จ.ตาก ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-14 ธ.ค.