ชาวแม่ลาน้อย รวมพลังค้านเหมืองแร่ฟลูออไรต์

ชาวแม่ลาน้อยรวมพลังค้านเหมืองฟลูออไรต์ ผู้นำท้องถิ่น-ท้องที่-สส.ร่วมต้าน เผยเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ-ป่าสมบูรณ์แต่ถูกอ้างเสื่อมโทรม ชุมชนประกาศสู้ตายปกป้องแผ่นดินเกิด

7 ต.ค.2566 - ที่บริเวณป่าจิตวิญญาณ บ้านห้วยมะกอก ต.สันติคีรี อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอนภาคีเครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำลา จัดงาน ครบรอบ 2 ปี “สืบชะตาแม่น้ำแม่ลาหลวง สู่การคัดค้านเหมืองแร่ฟลูออไรต์” เพื่อปกป้องผืนป่าและทรัพยากรธรรมชาติไม่ให้ถูกทำลายจากการทำเหมืองแร่ฟลูออไรต์ โดยมีประชาชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและภาคีเครือข่ายกว่า 300 คน เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งภายในงานเริ่มด้วย พิธีกรรมสืบชะตาแม่น้ำแม่ลา ตามพิธีกรรมทางความเชื่อของชุมชนทั้ง 4 ความเชื่อ ได้แก่ ศาสนาคริสต์คาทอลิกและโปรเตสแตนต์ ศาสนาพุทธ และความเชื่อดั้งเดิม

นพวิทย์ โชติเกษตรกุล ตัวแทนเยาวชนแม่ลาน้อย กล่าวว่ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่พี่น้องมาร่วมงานในวันนี้ การจัดงานครบรอบ 2 ปี จัดขึ้นเพื่อสร้างความสามัคคีให้กับคนในชุมชนและเครือข่ายรักษ์ลุ่มแม่น้ำลา อนุรักษ์ทรัพยากรพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่แม่น้ำแม่ลาหลวง ทั้งนี้พื้นที่เหมืองแร่ถูกอ้างว่าเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมซึ่งตรงข้ามกับความเป็นจริงที่มันอุดมสมบูรณ์ หากมีการทำเหมืองแร่จะได้รับผลกระทบลุ่มน้ำ

“เพื่อแสดงออกว่าคนแม่ลาน้อยไม่ต้องการเหมืองแร่ฟลูออไรต์ ซึ่งเป็นเหมืองเคยทำเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ถ้ามันดีจริงพวกเราคงไม่ออกมาคัดค้าน” นพวิทย์ กล่าว

จากนั้นได้มีเวทีเสวนา เรื่อง“เหมืองแร่ฟลูออไรต์กับวิถีชีวิตคนลุ่มแม่น้ำลาหลวง” โดยนายจวน สิทธิจา สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)แม่ลาหลวง กล่าวว่า เป็นผู้นำต้องมีความกล้า เพื่อยืนยันเราต้องสู้เพราะทรัพยากรเป็นของคนแม่ฮ่องสอน น้ำมีความอุดมสมบูรณ์หล่อเลี้ยงชาวแม่ลาหลวง แม่ลาน้อย รวมถึงพี่น้องแม่สะเรียง ซึ่งหากสร้างเหมืองจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ในฐานะประชาชนไม่มีอาวุธไปต่อสู้กับภาครัฐ และไม่มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เราสู้ในฐานะมวลชน ภาครัฐเอื้อแต่นายทุน เราต้องระดมทุน แม้ว่ารัฐจะไปไกลแล้วแต่เราก็ไม่ย่อท้อ

วิชัย หยกรุ่งทิวากร ผู้ใหญ่บ้านสันติสุข กล่าวว่าตลอด 2 ปีที่ผ่านมาได้เห็นถึงความเดือดร้อน ความทุกข์ใจของพี่น้อง จึงได้ขอความร่วมมือและความคิดเห็นแต่ละในพื้นที่เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ได้แบ่งว่าใครเป็นพี่น้องต้นน้ำหรือปลายน้ำ เพราะทุกคนได้รับผลกระทบเหมือนกัน ถ้าเราไม่สู้พื้นที่แห่งนี้อาจจะเป็นป่าทรุดโทรม ป่าต้นน้ำก็ไม่สามารถเป็นแหล่งน้ำให้เราใช้ในแม่น้ำลา จึงอยากเป็นตัวแทนกลุ่มรักษ์แม่น้ำลาขอบคุณทุกคนที่คอยเคียงข้างแม้ผู้นำแต่ละคนที่โดนกดดันจากภาครัฐเมื่อเป็นตัวหลักในการต่อสู้

อุดม สุจา กำนันตำบลแม่ลาหลวงกล่าวว่า สายน้ำก็เหมือนสายเลือด ที่หล่อเลี้ยงชีวิตเรา ไม้ไผ่หลายอันรวมกันก็เป็นกอไผ่ที่แข็งแรง เราไม่สามารถทำเองได้ ควรที่จะร่วมมือร่วมใจกัน

สะท้าน วิชัยพงษ์ ตัวแทนสมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน กล่าวว่าในฐานะปกากะญอแม่ฮ่องสอน ถ้าเราไม่รักกันใครจะมารัก ถ้าเรามีพลัง ชัยชนะก็จะได้มา เราจะสู้ตามวิถี สันติวิธี เพราะรู้ว่าพื้นที่ป่าเคยถูกทำลาย หอมและกระเทียมจากแม่ลาหลวง และหัวลา เป็นที่ต้องการของตลาด ถ้าเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่สิ่งเหล่านี้คงจะหายไป ตนสู้ทั้งเรื่องเหมือง และเรื่องป่า พื้นที่ทำกิน เราเข้าร่วมทั้งนโยบายของรัฐแม้กระทั่งวิธีการของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.)แต่ท้ายที่สุดที่ดินก็ถูกยึด แต่เราก็จะสู้ด้วยกันเพื่อให้ลูกหลานมีกินมีใช้ มีศักดิ์ศรีไปพร้อมๆกัน เราจะอยู่ที่นี่ ตายที่นี่

สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่าทำอย่างไรให้รัฐปลดพื้นที่ตรงนี้ออกจากพื้นที่ทำเหมืองได้ ซึ่งรัฐต้องประกาศว่าเป็นพื้นที่เหมืองแร่แล้วจึงจะสามารถขอสัมปทานเหมืองแร่ได้ ถ้าเราสามารถทำได้จะเป็นการยกระดับในการต่อสู้ให้เห็นว่าเราจะไม่สามารถยกให้ใครมาทำลาย ต้องดึงอำนาจในการมีส่วนร่วมกลับมาสู่ชุมชน ต้องถามคนแม่ลาน้อยก่อนว่า ควรที่จะเป็นเหมืองแร่หรือไม่ ต้องสู้ตามสิทธิชุมชนซึ่งเป็นสิทธิที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าเรามีสิทธิจะกำหนดชีวิตของตัวเอง เสรีภาพในการรวมกลุ่ม สิทธิที่จะรณรงค์ เพื่อให้ภาครัฐต้องฟัง

“อยากให้พี่น้องเชื่อมั่นว่าเรามีอำนาจในการต่อกรอำนาจที่มันไม่ชอบธรรม” นักกฎหมายกล่าว

เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลกล่าวว่า ในเชิงกฎหมายนโยบายเราสามารถตรวจสอบได้ว่าการประกาศเป็นเหมืองแร่ถูกต้องหรือไม่ สามารถเรียกหรือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง และให้พี่น้องเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งมักได้ยินว่าจะทำเหมืองแร่เพื่อที่จะพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเป็นการพัฒนาแบบเก่าที่ต้องทำโครงการใหญ่ๆ การพัฒนาแบบนี้เป็นตามแผนพัฒนา 2504

“การพัฒนาเหมืองแร่จริงๆ ตกไม่ถึงชาวบ้าน สิ่งที่ชาวบ้านทำได้จริงๆ คือเป็นยาม คนขุดในเหมือง แต่สิ่งที่เรามีคือป่า มีเศรษฐกิจ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในประเทศที่เจริญแล้ว จะมีการกระจายอำนาจในการพัฒนา ท้องถิ่นเข้ามามีอำนาจในการตัดสิน รวมถึงอำนาจการตัดสินใจในทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเรื่องเหมือง อำนาจตัดสินใจต้องอยู่ที่ชาวบ้าน เช่น ผลกระทบแบบนี้เราจะรับยังไง ถ้ามีผลประโยชน์ถ้าเราจะเอาก็ต้องยอมรับผลกระทบที่ตามมา แต่ในระบบกฎหมายมันยังไม่ถึงขนาดนั้น ชาวบ้านได้รับแค่ผลกระทบ ยังไม่มีอำนาจตัดสินใจ

“อยากเสนอคือ การต่อสู้แค่ชุมชนเดียวไม่พอ ในโซนนี้อย่างน้อย 3 พื้นที่ มีทั้งโครงการเหมืองแร่แม่ลาหลวง โครงการผันน้ำยวม เหมืองแร่แม่สะเรียง แม้ว่าจะอยู่คนละที่ แต่มันคือความเป็นธรรมในการจัดการทรัพยากรที่รัฐกำลังเอาไปประเคนให้นายทุน ชุมชนที่โดนเหมือนกันต้องต่อสู้ร่วมกัน” สส.บัญชีรายชื่อ กล่าว

ต่อมามีการกล่าวให้กำลังใจชุมชน มีหลายคนร่วมกันกล่าวให้กำลังใจ อาทิ กมลศักดิ์ ซาววงศ์ นายก อบต.สันติคีรี กล่าวว่าตนเกิดสันติคีรี และจะตายที่สันติคีรี เราไม่ต้องกลัว เราต้องสู้เพื่อตำบลของเรา อย่างไรก็จะสู้ด้วยกัน ขณะที่พรชิตา ฟ้าประทานไพร ชาวบ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าบ้านตนเป็นพื้นที่ต่อสู้เหมืองแร่ถ่านหินมา 4 ปี ยังยืนยันว่าจะไม่เอา พื้นที่แม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่ที่มีพื้นที่ป่าเยอะที่สุดในประเทศ สิ่งหนึ่งที่เรายังไม่มีคือไฟฟ้า น้ำประปา แต่กลับต้องเสียสละพื้นที่ซึ่งสร้างผลกระทบมากมาย

จากนั้นผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมกันปลูกกล้าไม้บริเวณพื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่ฟรูออไรต์ และปล่อยปลาลงแม่น้ำแม่ลา เพื่อแสดงถึงการปกป้องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและผืนดินผืนป่าสายน้ำแห่งนี้สืบทอดให้ลูกหลานต่อไปในอนาคต

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปลูกพืชพันธุ์แห่งการต่อสู้ จารึกหายนะ 'เหมืองแร่ทองคำ'

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทอง จ.เลย” จัดกิจกรรม “ปลูกป่าฟื้นฟูภูเขาคืนมา” ครั้งที่ 2   ลุยเดินแผนฟื้นฟูภาคประชาชนคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถูกย่ำยี เผยแม้เหมืองจะปิดไปแล้วแต่ผลสุ่มตรวจเลือดชาวบ้าน ยังเจอโลหะหนักในเลือด หวังรัฐตรวจเลือดครบทุกคน ชนะคดีสิ่งแวดล้อมแต่ยังไม่มีใครได้รับเงินเยียวยาตามคำสั่งศาล

เยาวชนกะเหรี่ยง เดือดร้อนหนัก! วอนช่วยเหลือตกเป็นเหยื่อแก๊งต้มตุ๋นหลอกเปิดบัญชีม้า

น.ส.แยมุย สายชลพิมาน ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงจากหมู่บ้านกลอเซโล ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่าลูกสาวตนเป็นผู้เสียหายจากแก็งค์หลอกลวงทางอินเตอร์เน็ต (สแกมเมอร์) ถูกหลอกให้เปิดบัญชีธนาคารแล้วนำไปใช้เป็นบัญชีม้า

สท. โวยรัฐไม่จริงจังแก้ 'แม่น้ำสาย' ขุ่นขาว คาดเหตุขยายเหมืองทองคำฝั่งพม่า

มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (Shan Human Rights Foundation-SHRF ) ได้เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับสาเหตุที่แม่น้ำสายซึ่งไหลผ่านชายแดนอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และ เมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ขุ่นเป็นสีขาวมาว่า มลพิษในแม่น้ำสายอาจเป็นผลมาจากการขยายเหมืองทองคำภาคตะวันออกของเมืองสาด รัฐฉาน

นักวิชาการแนะแก้ 'แม่น้ำสาย' ขุ่นขาว หวั่นเปื้อนสารพิษ ติดตั้งจุดตรวจร่วมไทย-เมียนมา

กรณีประปาแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่มีปัญหาขุ่นขาวและมีความกังวลว่าจะสารพิษหรือโลหะหนักเจือปน อยู่ระหว่างการตรวจสอบของการประปาส่วนภูมิภาคที่คาดว่าใช้เวลา สัปดาห์ นักวิชาการแนะนำแก้ไขปัญหาระยะยาวร่วมกันในการติดตั้งจุดตรวจวัดร่วมกันของสองประเทศ เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน