เกษตรกรในที่ดิน ส.ป.ก.จังหวัดสระแก้ว 3 แปลงเกือบ 100 ครอบครัวโวย ผู้รับเหมาขุดสระน้ำขนดินถมทับที่ดิน-เพาะปลูกไม่ได้-มีน้ำแต่ไม่ได้ใช้-3 ปียังไม่มีไฟฟ้า

ที่ดิน ส.ป.ก.แปลงตำบลคลองหินปูนถูกผู้รับเหมานำก้อนหินดินทรายมาถมทับเต็มพื้นที่ 22 ไร่

สระแก้ว/ เกษตรกรยากไร้ในที่ดิน ส...จังหวัดสระแก้ว 3 แปลงเกือบ 100 ครอบครัวที่ บิ๊กตู่มอบที่ดินทำกินให้สมัย คสช.ปี 2560  โวยสารพัดปัญหา  ...แปลงคลองหินปูนโดนผู้รับเหมาขุดสระสร้างอ่างเก็บน้ำขนก้อนหิน-ดินขุดสระถมทับที่ดินทำกินที่ดินส่วนกลางเนื้อที่ 22 ไร่  กองพะเนินจนกลายเป็นภูเขาเพาะปลูกไม่ได้    แปลงบ้าน พร้าวขุดสระมีน้ำแล้วแต่ยังไม่ได้ใช้  พืชผลรอวันแห้งตาย  และแปลงหนองแวง 3 ปีแล้วยังไม่มีไฟฟ้าใช้  เด็กต้องใช้ไฟฉายส่องอ่านหนังสือ

ในสมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  หรือ ‘คสช.’  มีนโยบายยึดที่ดิน ส.ป.ก.คืนจากนายทุนหรือผู้ที่ครอบครองไม่ถูกต้องทั่วประเทศเพื่อนำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกิน  (อนุญาตให้เข้าทำกิน  แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์)   ที่จังหวัดสระแก้ว  พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น  ได้เดินทางมามอบหนังสือทำประโยชน์ในที่ดินให้แก่เกษตรกรที่ยากไร้เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2560  รวม 219 ครอบครัวๆ ละ 6 ไร่  เพื่อให้อยู่อาศัยและทำกิน  โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันพัฒนาพื้นที่  แหล่งน้ำ  ระบบสาธารณูปโภค  ไฟฟ้า  ฯลฯ  เพื่อให้ประชาชนที่ยากไร้มีชีวิตที่ดีขึ้น  แต่จนบัดนี้  เวลาผ่านไป 4 ปีเศษ  ชีวิตของพวกเขายังไม่ดีขึ้น  บางพื้นที่เดือดร้อนหนักกว่าเดิม

บิ๊กตู่สมัย คสช.มอบที่ดิน ส.ป.ก.ให้ชาวจังหวัดสระแก้ว

ตัวแทนชาวบ้าน (ขอสงวนชื่อ) ในที่ดิน ส.ป.ก.แปลงตำบลคลองหินปูน  อ.วังน้ำเย็น  จ.สระแก้ว  บอกว่า  ที่ดิน ส.ป.ก.แปลงนี้  รัฐบาลยึดคืนมาจากนายทุนเจ้าของโรงงานกระดาษชื่อดัง  เนื้อที่ประมาณ 300 ไร่เศษ   เดิมเป็นแปลงปลูกยูคาลิปตัส  นำมาจัดสรรให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินได้ 36 ครอบครัวๆ ละ 6 ไร่  (ชาวบ้านต้องรวมตัวกันจดทะเบียนเป็นสหกรณ์  เพื่อบริหารจัดการที่ดิน)  ที่เหลือแบ่งเป็นที่ดินสำหรับสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อเกษตรกรรมประมาณ 62 ไร่  และที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนกลางอีกประมาณ 22 ไร่ 

ชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกมันสำปะหลัง  ข้าวโพด  ถั่วลิสง  ผักสวนครัว  ส่งขายที่ตลาดวังน้ำเย็น  พอมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว  แต่พอมีการขุดสระสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นมาเมื่อกลางปีนี้  ผู้รับเหมาที่ขุดสระก็ใช้รถบรรทุกขนก้อนหิน  ดิน  ทรายที่ขุดมากองทิ้งในที่ดินส่วนกลาง  จนกลายเป็นภูเขา  บางส่วนก็นำมาทิ้งในที่ดินทำกินของชาวบ้าน  จนเพาะปลูกอะไรแทบไม่ได้  เพราะเป็นหินปูน  เป็นดินทราย  ไม่มีแร่ธาตุ  พืชผักที่ปลูกเอาไว้ก็ไม่โต ตัวแทนชาวบ้านรายนี้บอก

ตัวแทนชาวบ้านบอกว่า  ก่อนที่จะมีการขุดสระสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเนื้อที่ประมาณ  62 ไร่  เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.จังหวัดสระแก้วและชลประทาน  ได้เรียกประชุมชี้แจงชาวบ้าน  บอกว่าดินที่ขุดสระจะต้องนำมากองในพื้นที่   เพราะตามกฎหมายจะไม่สามารถนำดินไปถมหรือทิ้งนอกพื้นที่ได้  ชาวบ้านจึงต้องจำยอม  โดยใช้พื้นที่ส่วนกลางเนื้อที่ 22 ไร่ที่ชาวบ้านเตรียมจะใช้เป็นพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้น  ไม้ผลร่วมกัน  เพื่อนำผลผลิตมาขายและจ่ายเป็นค่าเช่าที่ดินให้แก่ ส.ป.ก. (อัตราไร่ละ 100 บาท/ปี)  และพื้นที่บางส่วนปลูกตะไคร้  กระชาย  ชะอมไปแล้วแต่โดนดินหินถมทับ

สภาพผืนดินที่ถูกถม  เพาะปลูกพืชไม่ได้ผล

“ตอนนี้อ่างเก็บน้ำสร้างเสร็จแล้ว  แต่ชาวบ้านเดือดร้อน  เพาะปลูกอะไรก็ไม่ผล  อย่างมันสำปะหลังปลูกไปแล้ว 4 เดือน  แต่ได้หัวแค่นิ้วก้อย   เพราะดินหินกองเต็มพื้นที่  ทั้งในที่ดินส่วนกลางและที่ดินทำกิน  บางครอบครัวไม่อยากจะให้ผู้รับเหมาเอาดินที่ขุดจากสระมาถมที่ของตัวเอง   แต่เมื่อที่ดินแปลงข้างๆ ถูกถมไปแล้ว  ตัวเองก็ต้องยอม  เพราะถ้าไม่ถม  ที่ดินของตัวเองก็จะอยู่ต่ำกว่าเพื่อน  เวลาฝนตกน้ำจะท่วมขัง  ชาวบ้านจึงอยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาขุดดินออก  หรือเกลี่ยหน้าดินให้เสมอกัน  และช่วยปรับปรุงดินให้มีความสมบูรณ์  จะได้เพาะปลูกได้  ไม่ใช่ปล่อยให้ดินหินกองเป็นภูเขาเหมือนอย่างทุกวันนี้”  ตัวแทนชาวบ้านในที่ดิน ส.ป.ก.แปลงตำบลคลองหินปูนบอก 

อ่างเก็บน้ำในที่ดิน ส.ป.ก.บ้านพร้าว  สร้างเสร็จแต่ชาวบ้านยังใช้ประโยชน์ไม่ได้

นายอรุณศักดิ์  มาสกุล   ผู้นำชุมชนในที่ดิน ส.ป.ก.แปลงบ้านพร้าว  อ.วัฒนานคร  จ.สระแก้ว  บอกว่า  ที่ดิน ส.ป.ก.แปลงนี้มีเนื้อที่ 326 ไร่  ชาวบ้านเข้าอยู่อาศัย 30 ครอบครัวๆ ละ 6 ไร่  ส่วนใหญ่ปลูกมันสำปะหลัง  และพืชผักสวนครัว  และแบ่งเป็นพื้นที่ขุดอ่างเก็บน้ำประมาณ  67 ไร่  ดินที่ขุดถูกผู้รับเหมานำมาถมในที่ดินส่วนกลางเนื้อที่ประมาณ 41 ไร่   แต่มีการเกลี่ยหน้าดิน   ไม่กองสูงเป็นภูเขาเหมือนแปลงตำบลคลองหินปูน  แต่ก็ปลูกอะไรไม่ดี  ไม่สมบูรณ์  เพราะดินส่วนใหญ่เป็นดินลูกรัง  เป็นหินปูน 

“แต่ปัญหาที่สำคัญก็คือ  อ่างเก็บน้ำขุดเสร็จตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมาแล้ว  แต่ยังใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้  เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ต่อท่อสูบน้ำขึ้นมาให้ชาวบ้านใช้   ยิ่งตอนนี้หมดฤดูฝนแล้ว  พืชผักที่ปลูกเอาไว้ก็รอวันแห้งตาย  เพราะไม่มีน้ำรด   ชาวบ้านจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยพวกเราด้วย”  ผู้นำชุมชนในที่ดิน ส.ป.ก.แปลงบ้านพร้าวบอกถึงข้อเรียกร้อง

สภาพที่ดิน ส.ป.ก.บ้านพร้าวที่แห้งแล้งเพราะผู้รับเหมาเอาดินหินก้นสระมาถม

นางสาวทองสอน  มุ่งสุข  ผู้นำชุมชนในที่ดิน ส.ป.ก.แปลงหนองแวง  อ.โคกสูง  จ.สระแก้ว  บอกว่า  ที่ดิน ส.ป.ก.แปลงหนองแวงเนื้อที่ประมาณ 600 ไร่เศษ  ส.ป.ก. ยึดมาจากแปลงปลูกยูคาลิปตัสของนายทุน  แล้วนำมาจัดสรรให้ชาวบ้านได้ 33 ครอบครัวๆ ละ 6 ไร่  ชาวบ้านเริ่มเข้าอยู่ตั้งแต่ปี 2561  ส่วนใหญ่มีอาชีพเลี้ยงวัว   แต่ยังเข้าอยู่ไม่หมด  มีประมาณ 20 ครอบครัวที่เข้าอยู่  เนื่องจากยังไม่มีไฟฟ้าใช้  เพราะที่ดินรอบข้างเป็นของนายทุน   ถ้าจะติดตั้งเสาไฟและเดินสายเข้ามา  ส.ป.ก.ในฐานะเจ้าของที่ดินจะต้องทำหนังสือขออนุญาตจากเจ้าของที่ดินรอบข้างก่อน

“ชาวบ้านปลูกสร้างบ้านและเข้าอยู่ตั้งแต่ปี 2561 แต่จนถึงวันนี้เป็นเวลา 3 ปีแล้ว  ยังไม่มีไฟฟ้าใช้  เราไปคุยกับ    ส.ป.ก.จังหวัดสระแก้วแล้ว เพื่อให้ทำหนังสือถึงเจ้าของดินข้างเคียง  แต่ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า  ชาวบ้านจึงต้องซื้อแบตเตอรี่มาใช้  ลูกนึงประมาณ 1,300-1,400  บาท  เพื่อต่อไฟให้แสงสว่างตอนกลางคืน  ส่วนใหญ่จะใช้ไฟได้แค่ดวงเดียว  เพื่อประหยัด   ถ้าใครอยากใช้พัดลมก็ต้องซื้อแบตฯ มาเพิ่ม   3-4 วันก็ต้องเสียค่าชาร์จแบตฯ   เด็กๆ ถ้าจะดูหนังสือเรียนตอนค่ำก็จะลำบาก  บางทีแบตฯ หมดก็ต้องใช้ไฟฉายมาส่องแทน  แต่ละบ้านจึงต้องทำกับข้าว  ทำธุระให้เสร็จก่อนจะมืด  จะได้ไม่ลำบาก   จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านด้วย”  ผู้นำชุมชนในที่ดิน ส.ป.ก.แปลงหนองแวงวิงวอนทิ้งท้าย

เด็กที่หนองแวงต้องใช้ไฟฉายมาส่องดูหนังสือ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงเกษตรฯ เคาะช่วยชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่! วงเงิน 3.8 หมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากกรณีมติของที่ประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิตครั้งที่

กษ.คิกออฟโครงการเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ

นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน Kick Off “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้

ชาวนาเฮ! กนช. เตรียมประกาศพื้นที่ทำนาปรังรวม 12 ล้านไร่ เกษตรกรได้ปลูกข้าวเพิ่ม

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 5/2567

'นฤมล' เผยข่าวดีครม.อนุมัติงบ 2.57 พันล้านบาท ฟื้นฟูอาชีพให้เกษตรกรที่ประสบอุทกภัย

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ถึงข่าวดีของเกษตรกรว่า ปีนี้อ่างกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทั่วประเทศ

ครม.อนุมัติงบกลาง 2.5 พันล้าน ฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินแผนงาน

โชว์ศักยภาพภาคเกษตรไทยด้านความมั่นคงอาหาร ในฐานะครัวของโลก

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก