ผู้ประกอบการร้านค้า วอนรัฐบาลใหม่สานต่อ 'สนามบินเบตง' เร่งจัดหาเที่ยวบินพาณิชย์

22 ก.ย.2566 - บรรยากาศร้านคีรีเบย์มีสภาพทรุดโทรม ถูกปล่อยรกร้าง มีวัชพืชนานาพันธุ์ขึ้นบดบังหน้าร้าน ข้างทางยังมีหญ้าขึ้นสูงและเริ่มลามเอนเข้ามาในทางเดินเท้าแล้ว หลังปิดกิจการชั่วคราว จากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จากเดิมเป็นร้านทันสมัยและขึ้นชื่อ ทำให้ชาวเบตงและนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาร้านแห่งนี้ เพื่อมาเช็คอิน ชิม ช้อป ภายในร้าน เนื่องจากร้านคีรีเบย์ มีบริการจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่ม จำหน่ายของฝากเมืองเบตง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจก่อนเดินทางไปขึ้นเครื่องที่สนามบินเบตง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างโอกาส สร้างรายได้ ให้กับคนในพื้นที่

ร.ต.ต.อุดม ลักษณะ เจ้าของร้านคีรีเบย์ เล่าว่า หลังทราบว่ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เห็นชอบในหลักการให้กรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม ดำเนินโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง เมื่อปี 2559 – 2561 เพื่อจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของอําเภอเบตง ตนจึงใช้อาคารห้องแถวของครอบครัวมาปรับปรุงเปิดเป็นร้านคีรีเบย์ โดยใช้งบ 4-5 ล้านบาท ในการทำธุรกิจเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยว อ.เบตง จ.ยะลา ทั้งทางรถยนต์ และเดินทางมากับสายการบินต่างๆที่ลงสนามบินเบตง เนื่องจากทำเลที่ตั้งของร้านอยู่ระหว่างทางไปสนามบินเบตง จะกลายเป็นจุดพัก แวะเติมพลังก่อนเดินทางไกล แต่เปิดบริการได้ไม่นานก็ต้องปิดกิจการชั่วคราว เนื่องจากได้รับผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 และยังไม่ความชัดเจนในเรื่องของสายการบินพาณิชย์จะเปิดทำการบินที่สนามบินเบตง

ขอให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งดำเนินจัดหาสายการบินพาณิชย์เปิดเส้นทางการบินดอนเมือง-เบตง อีกครั้ง หรือ หาดใหญ่-เบตง ก็ได้ และเร่งขยายรันเวย์ให้ได้ สร้างสนามบินให้มันใหญ่ รองรับเครื่องบิน ขนาด 200 ที่นั่งเพื่อรองรับสายการบินระหว่างประเทศ เปิดเส้นทาง กัวลาลัมเปอร์-เบตง ปีนัง-เบตง สิงคโปร์-เบตง จีน-เบตง หรือกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง-เบตง ในอนาคต ไม่ใช่มองว่าอำเภอเบตง เป็นเมืองเล็กแล้วก็ผู้โดยสารก็น้อยต้องมองถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย

นอกจากนี้ ตนได้ทำมินิบัสด้วย เพราะว่าเส้นทางสนามบินเราได้สัปทานเส้นทาง ด่านพรมแดน – สนามบินเบตง และได้สัปทานวิ่งรับส่งผู้โดยสารในสนามบิน โดยมีรถตู้ รถมินิบัส รถเก๋ง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเบตง ที่มากับเครื่องบิน เมื่อสนามบินหยุดบิน ไปก็ไม่มีนักท่องเที่ยวรถทั้งหมดก็ต้องคืนบริษัทไปที่กรุงเทพฯโดยไปให้บริการที่สนามบินดอนเมืองหากยังอยู่ที่นี่ก็ไม่ได้ใช้งาน ส่วนเส้นทางที่สัปทานไว้ระยะ 5 ปีกว่าสนามบินจะเสร็จก็ 6-7 ปีก็หมดอายุสัปทานพอดี เมื่อสายการบินมาบินแล้วไม่คุ้มทุน นักท่องเที่ยวไม่เพียงพอที่จะบินด้วยก็เลยต้องหยุดบิน รถทั้งหมดก็ต้องคืนให้กับทางบริษัทเพราะบริษัทฯมีเส้นทางสัปทานอยู่หลายที่หากทำอยู่ที่เบตงคงจะขาดทุนมาก

ส่วนที่ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา ยังคงมีนักท่องเที่ยวในพื้นที่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินทางมาเที่ยวชมท่าอากาศยานนานาชาติเบตง อย่างต่อเนื่อง พร้อมถ่ายรูปเช็คอินแลนด์มาร์กแห่งนี้ลงในโซเชียลมีเดีย แม้ป้ายตัวอักษรท่าอากาศยานนานาชาติเบตง และไม้ไผ่รอบอาคารสนามบินสีจะเริ่มซีดจางตามกาลเวลาแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตามสนามบินเบตงได้เปิดให้บริการปกติ มีเครื่องบินส่วนบุคคลของเอกชน และเครื่องบินของทางราชการ ขึ้น-ลง ต่อเนื่อง แต่ไม่มีสายการบินพาณิชย์ทำการบินแต่อย่างใด

นายคอร์ นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย เล่าว่า สนามบินเบตงมีสถาปัตย์กรรมที่สวยงามมาก ตนกับครอบครัวเดินทางมากกัวลาลัมเปอร์ ใช้เวลาเดินทางกับรถยนต์ 5-6 ชม. เพื่อมาเที่ยวเบตง และมาเช็คอินกับสนามบินแห่งนี้ แต่น่าเสียดายที่ไม่มีสายการบินพาณิชย์ทำการบิน อนาคตหากมีสายการบินระหว่างประเทศ เส้นทาง กัวลาลัมเปอร์-เบตง คงดี น่าจะย่นระยะเวลาเดินทาง.เหลือเพียง 1 ชม. เท่านั้น จะทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางสู่อำเภอเบตง และจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น 

สำหรับท่าอากาศยานเบตง เป็นท่าอากาศยานแห่งใหม่ล่าสุดลำดับที่ 29 ของ ของกรมท่าอากาศยาน ที่มีสโลแกนว่า “สวรรค์บนดิน สนามบินเบตง” ได้เริ่มก่อสร้างปี 59 วงเงินกว่า 1,900 ล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 62 มีความยาวรันเวย์ขนาด 1,800 เมตร และเตรียมจะขยายความยาวเป็น 2,500 เมตร เพิ่มขึ้น 700 เมตร โดยขยายไปทางทิศตะวันตก 375 เมตร และทางทิศตะวันออก 325 เมตร เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ 180-200 ที่นั่งได้ อาทิ แอร์บัส A320 และโบอิ้ง B-737 จากเดิมรองรับได้เพียงเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่ง อาทิ Q400 และ ATR 72

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ไปเมื่อวันจันทร์ที่ 14 มี.ค.65 ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าสนามบินแห่งนี้จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของอําเภอเบตง และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยมุ่งหวังให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมรองรับตลาดการท่องเที่ยว และการพาณิชย์ เพื่อการลงทุนภายในประเทศและต่างประเทศ และเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนแผนรองรับนักท่องเที่ยวระยะยาว ตามกรอบการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อให้เมืองเบตงเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความพร้อมของระบบสาธารณูปโภค และก้าวสู่เมืองท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานทั้งในระดับอาเซียน และระดับสากล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ยะลา' ชวนสัมผัสธรรมชาติ 'ป่าฮาลา-บาลา' ชื่นชมทะเลหมอก สกายวอล์คอัยเยอร์เวง

สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดยะลา ร่วมกับกลุ่มงานบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภายใต้ชายแดน และองค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง จังหวัดยะลา จัดกิจกรรม “เปิดประตูสู่ ป่าฮาลา-บาลา แฟมทริป ล่องเรือ ส่องสัตว์ สัมผัสธรรมชาติกลางผืนน้ำ”

ชาวเบตง-มาเลย์ ประสานสามัคคี วิ่งสู้มะเร็งซื้ออุปกรณ์การแพทย์

ชาวอำเภอเบตง นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ร่วมกิจกรรมวิ่งสู้มะเร็ง นำรายได้จัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์โรงพยาบาลเบตง

ชาวสวนเบตง เริ่มเก็บทุเรียน 'มูซานคิง' ยอดสั่งซื้อเพียบ กก.ละ 400 บาท

เกษตรกรชาวอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เริ่มตัดทุเรียนโอฉี่หรือหนามดำ มูซานคิงในสวนแล้ว โดยนำมาจำหน่ายทั้งหน้าสวน และช่องทางออนไลน์ โกยยอดสั่งซื้อทั่วประเทศ โดยพันธุ์มูซานคิง และโอฉี่หรือหนามดำ กก.ละ 350-400 บาท ล้งมาเลเซียบุกซื้อถึงสวน

จะอั้นไม่ไหวแล้ว! แม่ค้าไก่ทอดเมืองเบตง โอดกำไรหายหลังไก่สดราคาขึ้นพรวด

ที่ร้านไก่ทอดในเขตเทศบาลเมืองเบตง อ.เบตง จ.ยะลา ภายหลังไก่สดปรับราคาขึ้นยังคงเห็นลูกค้ามาเลือกซื้อไก่ทอดร้านดังกลางเมืองเบตงอย่างต่อเนื่อง

ราคาไก่สด ขึ้นพรวดเดียวจากกิโลกรัมละ 50 เป็น 80 บาท

แม่ค้าไก่สดตลาดสดเทศบาลเมืองเบตง “โอด” ราคาปรับขึ้น กก.ละ 80 บาท ยอมเฉือนเนื้อตัวเอง ลดปริมาณการสั่งไก่ลงครึ่งหนึ่ง ลูกค้าหายวอนรัฐบาลควบคุมราคาไก่สด เผยยอดซื้อไก่สดลดลง