ชาวเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ร้องศาลปกครองเพิกถอน 'อีไอเอ' โครงการแสนล้าน 'ผันน้ำยวม'

ชาวบ้านเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ร้องศาลปกครองอีไอเอฉบับ “ร้านลาบ” โครงการยักษ์แสนล้าน “ผันแม่น้ำยวม” บกพร่อง กระบวนการรับฟังความเห็นไม่ชอบ รวบรวมรายชื่อฟ้องชลประทาน-กก.สิ่งแวดล้อม-สผ.-กฟผ.

3 ก.ย.2566 - นายวันไชย ศรีนวน ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่าประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล (แนวผันน้ำยวม) ใน จ.เชียงใหม่ และ จ.แม่ฮ่องสอน ในนามเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน กำลังรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง โดยผู้ถูกฟ้องคือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีคำขอให้เพิกถอนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่มีความบกพร่อง และขอให้เพิกถอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

“ชาวบ้านได้หารือกันหลายรอบแล้ว และตัดสินใจว่าครั้งนี้เราจำเป็นต้องพึ่งศาลปกครอง เพราะเห็นมาตลอดหลายปีว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบนั้นทำหน้าที่บกพร่อง การจัดทำรายงานอีไอเอใช้ข้อมูลไม่ถูกต้องหลายประการ เช่น มีอาจารย์ขอมาพบชาวบ้านแค่เอาหน้ากากอนามัยมาให้ เอามะขามป้อมมาแจกชาวบ้าน แล้วเอาไปเขียนในรายงานว่ามาประชุม มีข้อมูลไม่ตรงตามความเป็นจริงมากมายจนชาวบ้านรับไม่ไหวแล้ว ชวนชาวบ้านไปกินอาหารร้านลาบก็เอาข้อมูลไปเขียนจนถูกเรียกว่าอีไอเอร้านลาบ การดำเนินโครงการนี้จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ชาวบ้านและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม โครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำยวม อุโมงค์ยักษ์ใต้ภูเขา และสายไฟฟ้าแรงสูง จะกระทบต่ออาชีพเกษตร ประมง ผืนป่า และหลายปีที่ผ่านมาโครงการนี้กดดันและกระทบต่อจิตใจของประชาชนเป็นอย่างมาก” ผู้ใหญ่บ้านกล่าว

น.ส.เฉลิมศรี ประเสริฐศรี ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และคณะทำงานด้านกฎหมายของเครือข่ายฯ กล่าวว่าหน่วยงานราชการมองผู้ได้รับผลกระทบน้อยเกินไป ข้อมูลโครงการไม่เพียงพอ แม้จะได้มีการร้องเรียนเรื่องการรับฟังความคิดเห็นแต่หน่วยงานก็เพิกเฉย เมื่อมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นก็เป็นไปไม่ครบถ้วนตามกระบวนการ เมื่อชาวบ้านขอสำเนารายงาน EIA จาก สผ. แต่ก็ต้องเสียเงินค่าคัดสำเนากว่าสองหมื่นบาท และได้ฉบับถมดำกลับมา ปกปิดชื่อและข้อมูลสำคัญๆ ทำให้ไม่ทราบว่าใครบ้างที่ทางการนับว่าได้รับผลกระทบจริงๆ นอกจากนี้ขั้นตอนการจัดทำรายงาน EIA ก็ยังมีโครงการสายส่งไฟฟ้าลำพูน-สบเมย ที่แยกออกมาเป็นโครงการของ กฟผ.ซึ่งก็ไม่ให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านเช่นกัน

“การฟ้องครั้งนี้เราคาดหวังว่ารัฐควรมีความจริงใจในการให้ข้อมูล ให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบในลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน” ทนายความกล่าว

นส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ภูมิภาค องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าวว่าก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2566 เครือข่ายชาวบ้านได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ขอให้เพิกถอนโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล (แนวส่งน้ำยวม) ขอให้เพิกถอนรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และขอให้ยุติการดำเนินการทุกโครงการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินโครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (4Ps) โดยพบว่าค่าใช้จ่ายโครงการ งานดำเนินงาน บำรุงรักษา และค่าลงทุนจะสูงถึง 2.1 แสนล้านบาท เครือข่ายฯ เห็นว่าโครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ ไม่มีความจำเป็น ไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับหลักการจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำ ไม่มีการศึกษาอย่างครอบคลุมรอบด้านในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ป่ารอยต่อ 3 จังหวัด คือแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีการเจาะอุโมงค์เพื่อส่งน้ำ การทำเขื่อนกั้นแม่น้ำ และสายส่งไฟฟ้าผ่านพื้นที่ป่าสงวน ป่าสมบูรณ์ ซึ่งอาจจะส่งผลให้มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างร้ายแรงในอนาคต และยังเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินที่จะไม่เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า

นส.เพียรพร กล่าวอีกว่าโครงการนี้ในอนาคตจะนำไปสู่การก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวินซึ่งจะส่งผลกระทบข้ามพรมแดน และผลกระทบต่อแม่น้ำเมยและสาละวิน อันเป็นเขตพรมแดนไทย-พม่า ซึ่งเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ ปัจจุบันสิทธิสิ่งแวดล้อมเป็นสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นสมาชิก แต่โครงการผันน้ำยวมจะก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม กระทบต่อสิทธิมนุษยชนในการที่จะมีสิทธิในการจัดการตนเองตามวิถีวัฒนธรรมแห่งตน โครงการดังกล่าวจึงถือเป็นการละเมิดทั้งต่อสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีและสงบและสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงด้วย

“รายงานอีไอเอโครงการผันน้ำยวม ได้รับการอนุมัติโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีลุงป้อม (ประวิตร วงศ์สุวรรณ) เป็นประธานในฐานะรองนายกรัฐมนตรี แม้จะมีการคัดค้านและตั้งคำถามถึงความถูกต้องของกระบวนการการจัดทำรายงานอีไอเอ ทั้งจากประชาชน วิชาการ และฝ่ายการเมือง ในเวลานี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) คือพลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ซึ่งต้องติดตามว่าจะมีนโยบายต่อโครงการระดับแสนล้านโครงการนี้อย่างไร จะมีการแก้ไขให้ถูกต้องเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และผืนป่าของภาคเหนือได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้มที่จะมีบริษัทจากจีนเข้ามาร่วมทุนกับภาครัฐ” น.ส.เพียรพร กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อันตราย! ทุนต่างชาติรุกเขมือบค้าไม้เถื่อน

หน่วยเฉพาะกิจพญาเสือ ติดตามไม้มีค่าจากแหล่งซุกซ่อน บุกรวบผู้ต้องหาค้าไม้เถื่อนคาโรงงาน ส่งดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด ขยายผลเอาผิดทุนต่างชาติ

วันนี้ 'วันครีษมายัน' กลางวันยาวสุดของปี พระอาทิตย์อยู่บนท้องฟ้าเกือบ 13 ชม.

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) หรือ NARIT กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แจ้งว่า ในวันที่ 21 มิถุนายน 2567 เป็น “วันครีษมายัน”

เชียงใหม่ผลเลือกตั้ง สว. ระดับอำเภอ คนดังเข้าวินตามคาด ‘อดีตนายกฯสมชาย’ ฉลุย

สรุปการเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภา(สว.)ระดับอำเภอที่จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากผ่านช่วงเช้าเพื่อมาสู่ช่วงบ่ายที่เป็นการไขว้สายรอบสองก่อนเอาผู้มีคะแนนอันดับ 1-3 ของแต่ละกลุ่มอาชีพ

นายกฯ เตรียมจัดงบทำท่อส่งน้ำให้ชาวสันป่าตอง 13 หมู่บ้านได้ประโยชน์

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ติดตามผลการดำเนินงานโครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทันทีที่มาถึงนายกฯได้ทักทายกับประชาชนที่มารอต้อนรับ