21 ก.ค. 2566 – นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงโครงการพัฒนาท่าเรือบริเวณแหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร ว่าเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างทะเลอ่าวไทยอันดามัน หรือโครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) คือท่าเรือฝั่งอ่าวไทย ในจังหวัดชุมพร เเละท่าเรือฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ การเงิน วิศวกรรม สังคม และการออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน โครงการพัฒนาโครงสร้างด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้
นายปัญญา เปิดเผยว่า เพื่อให้การจัดการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงาน EHIA เป็นไปตามประกาศสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้กำหนดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการพัฒนาท่าเรือบริเวณแหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร เพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ในวันที่ 18 สิงหาคม 2566 เวลา 08.30 น.-12.00 น. ณ ห้องประชุมโรงแรมอวยชัยแกรนด์ อ.หลังสวน จ.ชุมพร
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของโครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) คือท่าเรือนํ้าลึกฝั่งอ่าวไทย ในจังหวัดชุมพร เเละท่าเรือนํ้าลึกฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง โดยมีเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 เเห่ง ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร ได้แก่ ทางหลวงพิเศษขนาด 6 ช่องจราจร ทางรถไฟขนาดรางมาตรฐาน 2 ทาง โดยเกิดจากจุดได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของประเทศ การเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและการค้าของเอเชีย ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์สามารถลดระยะทาง ร่นระยะเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และอาจส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จนเป็นผลผลิตในรูปเเบบพร้อมใช้ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวนอกจากจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์แล้ว ยังถือเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ Southern Economic Corridor : SEC ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ และภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน (BIMSTEC) เป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปเกษตรมูลค่าสูง และเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่นานาชาติ
ทั้งนี้ ปัจจุบัน โครงการอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มต่างๆ เช่น นักลงทุนต่างชาติในสายการเดินเรือต่าง ๆ ผู้ประกอบการชาวไทยและชาวต่างชาติ และการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งยังดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ประเมินผลกระทบสิ่งเเวดล้อม เเละวิเคราะห์รูปเเบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน ควบคู่ไปกับการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอย่างรอบด้าน
โดยกระทรวงคมนาคมเล็งเห็นว่า หากโครงการ Landbridge แล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในพื้นที่ภาคใต้จาก 2% เป็น 10% เป็นระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ปี สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เกือบ 500,000 ล้านบาท รวมทั้งจะเกิดโอกาสการจ้างงาน เพิ่มอาชีพใหม่ ๆ ในชุมชน เพิ่มรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกพื้นที่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลพร้อมดูแลช่วงปีใหม่มอบความสุขครบทุกโหมดการเดินทาง
'ศศิกานต์' ย้ำรัฐบาลพร้อมดูแลประชาชนช่วงปีใหม่ 2568 มอบความสุขครบทุกโหมดการเดินทาง คาดปริมาณการจราจรเข้า - ออกกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาล 17.37 ล้านคัน
เดินตามแนวพระราชดำริ...ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมชุมพร
ในช่วงวันที่ 13-15 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมามรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงได้พัดปก คลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคใต้ตอนล่างเคลื่อนลงสู่ทะเลอัน
รฟท.จัด 4 มาตรการพิเศษรับช่วงเทศกาลปีใหม่
'ศศิกานต์' เผยการรถไฟแห่งประเทศไทย จัด 4 มาตรการพิเศษ ส่งประชาชนกลับบ้านปลอดภัยช่วงปีใหม่ 2568