ไม่ประมาท! ภูเก็ต ซ้อมแผนเส้นทางอพยพสึนามิ

อธิบดี ปภ. เปิดซ้อมแผนเดิน-วิ่งเรียนรู้เส้นทางอพยพสึนามิภูเก็ต ยืนยันประเทศไทยพร้อมระบบเตือนภัยสึนามิ พร้อมกระตุ้นปลุกฝั่งอันดามันรับมือ

16 ก.ค.2566 – เมื่อเวลา 16.00 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดกิจกรรมเดิน-วิ่งเรียนรู้เส้นทางอพยพเมื่อเกิดภัยสึนามิ Walk &Run for Tsunami Learning 2023 : Evacuation   Route   ทั้งนี้มีนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานเปิดกิจกรรมฯ โดยมี นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักเรียนและครู โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 36 จังหวัดภูเก็ตและประชาชนในพื้นที่  เข้าร่วมฯ ณ ศาลาไม้ขาวบีชรีสอร์ท  หมู่ที่ 3 ตำบลไม้ขาว อำภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

นายบุญธรรม กล่าวว่า กิจกรรม เดิน-วิ่ง เรียนรู้เส้นทางอพยพเมื่อเกิดสึนามิ Walk&Run for Tsunami Learning 2023 :Evacuation Route  เป็นการจัดขึ้นครั้งแรกของประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2566 จัดกิจกรรมที่จังหวัดพังงา ระนอง ตรัง และกระบี่ และ วันที่ 16 กรกฎาคม 2566 ที่จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสตูล โดยกำหนดเส้นทางเดิน-วิ่ง ตามเส้นทางอพยพเมื่อเกิดคลื่นสึนามิ ของแต่ละจังหวัด  

นายบุญธรรม กล่าวว่า สำหรับจังหวัดภูเก็ต เริ่มต้นเส้นทางเดิน-วิ่ง จากศาลาไม้ขาว บีชรีสอร์ท จนถึงจุดปลอดภัยที่ องค์การบริหารส่วนตำบลไม้ขาว รวมระยะทาง 3.5 กิโลเมตร  กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และจังหวัดภูเก็ต หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมนี้ จะถูกจัดขึ้นในทุกปี เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ในการเตรียมความพร้อมรับมือ เมื่อเกิดสึนามิ ในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน

นายบุญธรรม ระบุว่า การเตรียมรับมือภัยสึนามิเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเกิดขึ้นแล้วมีความรุนแรงมากกว่าภัยอื่นอย่างที่เคยเจอเมื่อปี 2547 ความสำคัญที่สุดคือต้องสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน และ นักเรียนได้มีความรู้เข้าใจใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับภัยได้ อย่างดีที่สุด ต้องรู้วิธีการรับมือ การแจ้งเตือน เมื่อมีภัยสึนามิเกิดขึ้นว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร 

“หลักสำคัญที่สุด ต้องอพยพเอาตัวรอด ไปยังเส้นทางที่ปลอดภัย ที่กำหนดไว้ เพื่อให้รอดพ้นจากอันตราย จากภัยสึนามิ สิ่งเหล่านี้ใช้กระบวนการหลายอย่าง ในด้านการร่วมมือกับสถานศึกษาในพื้นที่เสี่ยงทางฝั่งอันดามัน ตั้งแต่จังหวัดระนองถึงสตูล ต้องร่วมมือกัน ในการให้ความรู้กับนักเรียนในสถานศึกษา ว่าสึนามิคืออะไร จะเกิดขึ้นเมื่อไร เมื่อเกิดขึ้นแล้วรับมืออย่างไร” นายบุญธรรม ระบุ

นายบุญธรรม กล่าวว่า ดังนั้น กิจกรรมที่สำคัญ คือ ต้องมีการฝึกซ้อม อพยพ หนีภัยสึนามิรวมทั้งประชาชน ต้องเตรียมตัว ในเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งกิจกรรมวันนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งนอกจากสร้างความตระหนักรู้ เป็นการฝึกให้ประชาชนสังเกตป้ายเส้นทางการอพยพในพื้นที่เสี่ยง ปัจจุบันที่มีการติดตั้งป้ายสัญญาณไปยังจุดที่ปลอดภัย เมื่อเกิดเหตุต้องมีสติและวิ่งไปตามเส้นทางอพยพหนีภัยที่ปลอดภัย เนื่องจากภัยสึนามิ เป็นภัยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยมีเวลา ในการเตรียมรับมือการแจ้งเตือนประมาณ 2 ชั่วโมง ดังนั้นเมื่อได้รับการแจ้งเตือนทุกคนต้องเตรียมพร้อมเคลื่อนย้ายตัวเอง และคนในครอบครัว ไปสู่จุดที่ปลอดภัย

“ความพร้อมของประเทศไทยระบบเตือนภัยสึนามิ เราเป็นหนึ่งในประเทศเครือข่ายที่ใช้ระบบร่วมกับหลายประเทศในประเทศต่างๆโดยเฉพาะมหาสมุทรอินเดียมีทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิทั้งของอินเดีย อินโดนีเซียและหลายประเทศ    โดยประเทศไทยมี 2 ตัว เมื่อปีที่แล้วได้จัดพิธีปล่อยทุ่นตรวจวัดสึนามิ  ระยะไกลอยู่ที่มหาสมุทรอินเดีย ระยะทางห่างถึงฝั่งภูเก็ต  1,000 กิโลเมตร ระยะใกล้อยู่ในทะเลอันดามัน ห่างจากภูเก็ต ประมาณ 400 กิโลเมตร ทั้ง 2 ตัวนี้ เป็นเครื่องมือตรวจจับการเปลี่ยนแปลงระดับคลื่นในทะเล ที่บ่งบอกว่าเป็นสึนามิหรือไม่จะส่งสัญญาณดาวเทียมมาที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยส่งไปที่โนอาสหรัฐอเมริกา” นายบุญธรรม ระบุ

อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่า เมื่อตรวจพบทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีระเบียบปฏิบัติแจ้งเตือน จะเริ่มแจ้งตั้งแต่เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ตามเกณฑ์มาตรฐานที่ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ถ้ามีแผ่นดินไหวในทะเล 7.8 ละติจูดขึ้นไปจะเปิดแจ้งเตือนว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น จะเปิดสัญญาณ ที่หอเตือนภัยในภูเก็ตมี 19 หอ และหอเตือนภัยในพื้นที่จังหวัดอื่นๆฝั่งอันดามัน เฝ้าระวังติดตาม ข่าวสารที่จะเกิดสึนามิได้ เพราะบางครั้งแผ่นดินไหวรุนแรง พัฒนาไปสู่สึนามิ ทุ่นวัดคลื่นสึนามิส่งสัญญาณ และจะกดสัญญาณแจ้งเตือนประชาชน ว่าขณะนี้ได้ตรวจพบมีการเกิดคลื่นสึนามิในทะเล

“จากตัวไกลและมาตัวใกล้และมาสุดท้ายที่ สถานีวัดระดับน้ำทะเล ของ กองทัพเรืออยู่ที่เกาะเมียง  และแจ้งเตือน จากเกาะเมียงเวลาโดยประมาณถึงจุดแรกที่คลื่นจะเข้าประเทศไทย โดยประมาณ 30 นาที เป็นตัวเลขที่ใช้ในการจัดกิจกรรมวันนี้ ในระยะเวลาที่มีเวลาสุดท้ายในการแจ้งเตือน ว่าคลื่นกำลังจะเข้าสู่ฝั่ง ซึ่งมีระบบแจ้งเตือนที่มีความพร้อม” นายบุญธรรม กล่าว

ทางด้าน นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัด 1 ในพื้นที่ 6 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ด้านตะวันตก มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญและวิถีชีวิตชุมชนที่เป็นอัตลักษณ์ ที่ผ่านมาเมื่อปี พุทธศักราช 2547 จังหวัดภูเก็ต ได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิ สร้างความสูญเสียแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก ในวันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ชาวภูเก็ตและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ได้ร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ด้วยการร่วมเดินวิ่งเรียนรู้เส้นทางอพยพเมื่อเกิดสึนามิไปพร้อมกันกับจังหวัดสตูล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ แก่ประชาชน และภาครัฐเป็นอย่างยิ่งซึ่ง  การจัดกิจกรรมครั้งนี้  มี การบรรยายให้ความรู้การติดตั้งป้ายเตือนภัยสึนามิและความรู้เกี่ยวกับภัยสึนามิ โดย รองศาสตราจารย์ธงชัย สุธีรศักดิ์ คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตภูเก็ต.




เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อเมริโก เวสปุชชี เรือสำเภาในตำนานจอดเทียบท่าที่ภูเก็ต กระชับความสัมพันธ์ไทย-อิตาลี

เรือสำเภาอันทรงเกียรติสัญชาติอิตาลีที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดในโลก อเมริโก เวสปุชชี (Amerigo Vespucci) เข้าจอดเทียบท่าที่ภูเก็ตเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 6-10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดย

พะยูนยังเหลืออยู่ที่ไหน? อีกเท่าไหร่ในปัจจุบัน

ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์พะยูนเมืองไทย  กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขอความร่วมมือช่วยกันส่งจุดที่พบในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาในฝั่งอันดามัน   

จับหอยลายเถื่อน! เรือเมียนมา ลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำ 4.6 ตัน ปล่อยของกลางคืนสู่ทะเล

ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 (ศรชล.ภาค3) เปิดเผยว่า  ศรชล./ ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดระนอง (ศคท.จว.รน.) ได้รับแจ้งจากหน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเกาะสุรินทร์ (พังงา)