26 มิ.ย. 2566 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) สั่งการเร่งด่วนให้ นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษา รมว.ทส. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส.และนายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง นำกำลังเจ้าหน้าที่จากศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับรีสอร์ตหรูแห่งหนึ่งบนเกาะเต่า ท้องที่ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรณีก่อสร้างอาคารที่พักบนโขดหินติดริมทะเลบริการนักท่องเที่ยว โดยก่อนหน้านี้ได้มีการเผยแพร่บนโลกออนไลน์พร้อมตั้งคำถามว่า การสร้างสิ่งปลูกสร้างอาคารที่พัก และแนวเขตพื้นที่ของรีสอร์ต ดำเนินการถูกต้องหรือไม่
ปฏิบัติการครั้งนี้ นำโดย นายยุทธพล พร้อมด้วยนายชีวะภาพ นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำกำลังเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า โดยหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) ชุดปฏิบัติการพิเศษฉลามขาว เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามที่ 4 (ภาคใต้) เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสุราษฎร์ธานี เจ้าหน้าที่สำนักงานธนารักษ์พื้นที่สุราษฎร์ธานี เจ้าหน้าที่สำนักงานเทศบาลเกาะเต่า และเจ้าหน้าที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเกาะพะงัน ลงพื้นที่ขยายผลดำเนินการตามอำนาจ หน้าที่ ระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า รีสอร์ตตั้งอยู่ในเขตที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียน สฏ.588 (เกาะเต่า) ท้องที่ตำบลเกาะเต่า อำเภอพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีกรมธนารักษ์เป็นผู้ดูแลพื้นที่ และอยู่ในพื้นที่ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณท้องที่ตำบลตลิ่งงาม ตำบลบ่อผุด ตำบลมะเร็ต ตำบลแม่น้ำ ตำบลหน้าเมือง ตำบลอ่างทอง ตำบลลิปะน้อย อำเภอเกาะสมุย และ ตำบลเกาะพะงัน ตำบลบ้านใต้ ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2557
โดยอาคารที่พักและสิ่งก่อสร้างของรีสอร์ท มีการเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพของหาดไปจากเดิม มีการเคลื่อนย้ายหินที่มีอยู่ตามธรรมชาติ มีการตัดแต่งหิน มีการก่อสร้างทับหาดหิน ทำให้เสียทัศนียภาพบริเวณหาด และเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นชายหาดหิน (Rocky Share) เป็นลักษณะชายหาดในบริเวณเขตน้ำขึ้นน้ำลงที่มีหินเป็นโครงสร้างหลักทางกายภาพ ซึ่งจะพบหาดหินได้ตามเกาะต่างๆ หรือตามชายฝั่งทะเลที่เชื่อมติดต่อกับภูเขา หาดหินเกิดจากการผุพังหรือการกัดเซาะของน้ำทะเลทำให้เกิดซอกเล็กซอกน้อย และเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตมากมาย รวมทั้งยังเป็นแหล่งหลบภัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนได้เป็นอย่างดี
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ธนารักษ์พื้นที่สุราษฎร์ธานี พบว่าบริเวณพื้นที่ที่มีการตรวจสอบ ยังไม่ได้รับอนุญาต โดยเจ้าของรีสอร์ทได้ยื่นขออนุญาตเช่าที่ดินตามระเบียบจากที่ราชพัสดุ ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 ซึ่งอยู่ในขบวนการตรวจสอบรังวัด และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่เทศบาลเกาะเต่า พบว่าอาคารที่พักไม่ได้มีการขออนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และได้ดำเนินการสั่งระงับใช้อาคารสั่งห้ามมิให้บุคคลใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆ ของอาคาร ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป
จากการสอบถามหญิงคนหนึ่ง ซึ่งยอมรับเป็นเจ้าของรีสอร์ต และได้อ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่ได้ครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่อง โดยมี ภบท. 5 และภายหลังทางธนารักษ์ได้แจ้งว่า ที่ดินของโครงการอยู่ในเขตที่ดินในความรับผิดชอบของกรมธนารักษ์ ให้ไปดำเนินการขอเช่าที่ดินตามระเบียบ ซึ่งทางโครงการได้ไปยื่นขออนุญาตไว้แล้วตั้งแต่ปี 2661 ซึ่งรีสอร์ทได้ดำเนินการมาก่อนแล้ว ขณะที่ นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นทางด้านการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นให้เข้าใจ โดยเจ้าของรีสอร์ทรับทราบและเข้าใจ พร้อมเสนอยินยอมที่จะเร่งรื้อถอนอาคารหลังดังกล่าวออกไป
สำหรับพื้นที่ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในท้องที่เกาะเต่า ประกาศขึ้นมาเป็นข้อระเบียบ กฎหมาย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือของการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปอย่างสัมฤทธิ์ผล เกิดความยั่งยืนต่อระบบนิเวศน์ในพื้นที่ที่มีความเปราะบางทางระบบนิเวศน์ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในมิติต่างๆ การประกาศพื้นที่ดังกล่าวจะมีกำหนดระยะเวลาเป็นช่วงเวลา เมื่อไม่มีความจำเป็นต้องใช้ก็อาจยุติการใช้ประกาศดังกล่าว เช่นกรณีเกาะเต่ามีการประกาศครั้งแรกเมื่อปี 2557 และมีการต่ออายุประกาศฉบับดังกล่าวออกไปแล้วจำนวน 3 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี ล่าสุดเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา
เจ้าหน้าที่ได้ทำบันทึก พร้อมรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นำเรื่องส่งพนักงานสอบสอนสถานีตำรวจภูธรเกาะพะงัน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเทศบาลเกาะเต่า ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ทางอำเภอเกาะพะงัน ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
โดยหลังจากนี้ นายชีวะภาพ ได้สั่งการให้นายชาญชัย กิจศักดาภาพ หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) ประจำศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า พร้อมเจ้าหน้าที่จากศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า จะได้เข้าขยายผลตรวจสอบอาคารหลังดังกล่าวโดยละเอียดอีกครั้ง เพื่อเก็บบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชาวบ้านเกาะเต่า ร้องผู้ตรวจฯ ชงศาลปค. เพิกถอนกฎกระทรวงห้ามออกโฉนดบนเกาะ
นายอนันต์ชัย ไชยเดช ประธานมูลนิธิทนายกองทัพธรรม พร้อมด้วยชาวบ้านเกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบและมีความเห็นเสนอต่
“ดร.เฉลิมชัย” ชูโครงการธรรมจักรสีเขียว สร้าง “วัดต้นแบบ” - เพิ่มพื้นที่ป่าให้ประเทศ
ป่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งปวง รวมถึง “พระพุทธศาสนา” ที่มีความสัมพันธ์กับป่าไม้อย่างลึกซึ้ง
'ประเสริฐ' แจงม็อบพีมูฟ ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.ฎ. 2 ฉบับ แก้ที่ทำกินให้คนอยู่กับป่าได้
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ) นำโดย นายจำนงค์ หนูพันธ์ ประธานและที่ปรึกษาพีมูฟ รวมตัวจัดกิจกรรมคัดค้านการพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562
ครม. ไฟเขียวร่างพ.ร.ฎ. 2 ฉบับ แก้ปัญหาที่ดินทำกินในเขตป่าอนุรักษ์ ยันไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบทบทวนร่างพระราชกฤษฎีกา โครงการอนุรักษ์ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ มาตรา 64
ชาวบ้านลุกฮือ ค้าน พรฎ.ของกรมอุทยานฯ ชี้สร้างความขัดแย้งชุมชนกับภาครัฐ
ชมรมนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จ.แม่ฮ่องสอน ได้ทำหนังสือถึงนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อขอให้ยกเลิกการออกพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ