ชาวกระบุรีเดือดร้อนหนัก เหมืองแร่ฝั่งพม่าปล่อยน้ำสีขุ่น ผลกระทบรุนแรงยืดเยื้อ 4 ปี

ชาวบ้านริมแม่น้ำกระบุรีเดือดร้อนหนัก เหมืองแร่ฝั่งพม่าปล่อยน้ำพิษอาบแล้วคัน-สัตว์น้ำหาย-การท่องเที่ยวสูญ จี้หน่วยงานรัฐประท้วงทางการหม่อง

26 พ.ค.2566 - ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากชายบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำกระบุรี อ.กระบุรี จ.ระนอง ว่าไม่สามารถใช้น้ำในแม่น้ำกระบุรีซึ่งกั้นพรมแดนระหว่างไทย-พม่าได้ได้เนื่องจากมีการทำเหมืองในฝั่งประเทศพม่าทำให้น้ำขุ่นและคัน ริมตลิ่งตื้นเขิน สัตว์น้ำทยอยหายไปจากลำน้ำ เป็นปัญหายืดเยื้อยาวนานมาเกือบ 4 ปี

ชาวบ้านรายหนึ่งกล่าวว่า เหมืองดังกล่าวน่าจะเป็นเหมืองดีบุกหรือทองคำ อยู่ในพื้นที่ประเทศเมียนมาห่างจากชายแดนไทย 19 กิโลเมตร แต่เนื่องจากต้นแม่น้ำกระบุรีอยู่ในเมียนมา เมื่อมีการปล่อยน้ำจากเหมืองทำให้น้ำขุ่นทั้งปี ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านคือใช้น้ำแล้วมีอาการคันตามร่างกาย และทุกชุมชนริมแม่น้ำกระบุรีใช้น้ำประปาสูบจากแม่น้ำในการบริโภคอุปโภคจึงได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า

ชาวบ้านกล่าวว่า เคยทำหนังสือยื่นให้กับนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปากจั่น ไปแล้วให้ช่วยดำเนินการเอกสารส่งไปหน่วยงานราชการระดับจังหวัดว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองในประเทศเมียนมา แต่ทุกวันนี้สถานการณ์ยังย่ำแย่เหมือนเดิม

“ความช่วยเหลือที่ต้องการเร่งด่วนคืออยากให้น้ำขุ่นน้อยลงหรือใสไปเลย ตอนนี้ชาวบ้านไม่กล้าใช้น้ำ ไม่เฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบ สัตว์น้ำบางชนิดน้อยลงมาก เช่น หอย กุ้ง ลดลงเยอะใน 4 ปีที่ผ่านมานี้” ชาวบ้านกล่าว

ขณะที่แหล่งข่าวด้านความมั่นคงบริเวณชายแดน จ.ระนอง กล่าวว่า ช่วงนี้รัฐบาลทหารพม่ามีปัญหาภายในเพราะต้องต่อสู้กับฝ่ายต่อต้านและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้ความเดือดร้อนของชาวบ้านริมแม่น้ำกระบุรี ทางชุมชนไม่สามารถไปพูดคุยอะไรได้เลย ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร้องเรียนเพราะอยากให้หน่วยงานรัฐของไทยไปคุยกับทางการพม่า แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดรับเป็นเจ้าภาพ

ด้านนายพีระ ประสงค์เวช ชาวบ้านริมแม่น้ำกระบุรี ผู้กล่าวว่า ตนได้รับความเดือดร้อนจากการทำเหมืองในประเทศเมียนมา เพราะส่งผลกระทบกับชาวบ้านทุกกลุ่มตั้งแต่ผู้ใช้น้ำไปจนถึงเกษตรกร ส่วนการท่องเที่ยวก็ต้องปิดตัวชั่วคราวเพราะน้ำขุ่นเป็นโคลน

“พวกเราต้องการให้หน่วยงานรัฐทำหนังสือยื่นประท้วงไปยังทางการพม่า เนื่องจากชุมชนเคยยื่นไปเองแต่ทางพม่าไม่ให้ความสำคัญแค่รับเรื่องเท่านั้น ทั้งๆที่ปัญหานี้เกิดมาเกือบ 4 ปีแล้ว เขาคิดว่าเราเป็นกลุ่มคนเล็กๆ แต่จริงๆแล้วคนใน 3 อำเภอ คือ กระบุรี ละอุ่น และอำเภอเมือง ต่างได้รับผลกระทบ แม้บางพื้นที่ยังไม่ส่งผลกระทบชัดเจนแต่ก็เป็นแม่น้ำสายเดียวกัน ในขณะที่ อ.กระบุรี ไปจนถึงคอคอดกระ ส่งผลชัดเจนแล้ว ทั้งปัญหาน้ำขุ่น สัตว์น้ำสูญหาย พืชน้ำตาย ริมตลิ่งตื้นเขินมีโคลน เราเคยร้องเรียนซึ่งหน้ากับผู้ว่าราชการ จ.ระนอง เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2563 จนเดี๋ยวนี้ผู้ว่าฯ เกษียณอายุราชการแล้ว แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข”นายพีระ กล่าว

นายพีระกล่าวว่า ตนได้เข้าประชุมเอาปัญหานี้ไปพูดตลอดจนมีคนแนะนำให้ทำเป็นเอกสารยื่นกับองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) เมื่อ 1 ก.พ.2566 ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ยังเงียบสนิท แถมยังบอกด้วยว่าเพราะพม่ามีปัญหาการเมืองภายในประเทศจึงทำให้เข้าไม่ได้ แม้ช่วงที่ไม่มีสงครามบริเวณเหมืองก็ห้ามบุคคลภายนอกเข้า มีทหารพม่าคอยตรวจค้นตัวว่าพกกล้องถ่ายรูปเข้าไปหรือไม่

“แต่เท่าที่ทราบจากเพื่อนที่เป็นชาวพม่า คือในเหมืองมีการขนเครื่องจักรหนักเข้าไป มีแบ็คโฮ 8 คัน สิบล้ออีก 10 คัน นี่เป็นข้อมูลเมื่อปี 2564 คนเมียนมาเองก็เดือดร้อนเขาต้องใช้น้ำอาบจากแม่น้ำสายนี้แต่เขาไม่รู้จะร้องเรียนที่ไหน อาบแล้วก็คันต้องจำใจ” นายพีระ กล่าว

ทั้งนี้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านหาดจิก ได้ทำหนังสือถึงนางนฤมล บุญช่วย นายก อบต.ปากจั่น ลงวันที่ 1 ก.พ.2566 โดยระบุว่า เนื่องด้วยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มล่องแพลำน้ำกระบุรีและชาวบ้านบ้านหาดจิก หมู่ที่ 5 อาศัยอยู่ริมแม่น้ำกระบุรีและพื้นที่ข้างเคียงได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ฝั่งประเทศเมียนมา กระทบความเป็นอยู่ในการนำน้ำในแม่น้ำกระบุรีมาใช้ประโยชน์ สัตว์น้ำ เช่น กุ้ง ที่สามารถทำรายได้ให้กับชาวบ้านมีจำนวนลดลงมาก น้ำในแม่น้ำมีสีขุ่นตะกอนดินหนาแน่น แม่น้ำตื้นเขิน ระบบนิเวศเสียหาย ขอความอนุเคราะห์จากหน่วยงานท้องถิ่นแจ้งเรื่องผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ของฝั่งพม่าที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีพของชาวบ้านบ้านหาดจิกหมู่ 5

หลังจากที่ชาวบ้านร้องเรียนไป นางนฤมล นายก อบต.ปากจั่น ได้ลงนามแล้วส่งให้กองช่างดำเนินการ ต่อมา วันที่ 10 ก.พ.2566 ทางกองช่าง อบต.ปากจั่น ได้ทำหนังสือเชิญ 7 หน่วยงาน ได้แก่ ท้องถิ่นจังหวัดระนอง, นายอำเภอกระบุรี, ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ระนอง, สาธารณสุขจังหวัดระนอง, ผู้กำกับการ สภ.ปากจั่น, หัวหน้าชุดหน่วยปฏิบัติกิจการพลเรือน กองกำลังเทพสตรีที่ 402 และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านหาดจิก เพื่อเชิญหารือและบรรเทาความาเดือดร้อน อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ความเดือดร้อนของชาวบ้านลุ่มน้ำกระบุรี ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขบรรเทา

 

 

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชายแดนระอุ! ทหารเมียนมา ถล่มหนักในพื้นที่กลุ่มต่อต้าน เสียชีวิต 2 ราย

รายงานข่าวจากหน่วยเฉพาะกิจราชมนู กองกำลังนเรศวร (ฉก.ราชมนู กกล.ราชมนู) เปิดเผยว่า ช่วงเย็นวานนี้ (19 มี.ค.) ทหารเมียนมา จาก กองพลทหารราบที่ 55 (พล.ร.เบา 55) นำกำลังบุกโจมตี กองกำลังกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา

พบเพิ่มอีกจุด 'ปูไก่' สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในป่าสน หากินบนเกาะพระทอง

ที่เดอะมอแกน อีโก วิลเลจ เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา รีสอร์ตเล็กๆแนวอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่ชื่นชอบในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักผ่อนหลีกหนีจากความวุ่นวายของเมืองหลวง ตัดขาดจากความเร่งรีบในการใช้ชีวิตประจำวัน

กวาดล้างไทยเทา ภัยความมั่นคงชายแดนไทย-เมียนมา ตรวจยึดถนนเถื่อนขนสิ่งผิดกฎหมาย

กองทัพภาค 4 ประชุมคณะทำงานชุดเฉพาะกิจ กวาดล้างแก๊งไทยเทา ภัยความมั่นคง ปิดซีลชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน จ.ชุมพร - ระนอง ตรวจยึดทำลายถนนด่านเถื่อนต่อเชื่อมขนสิ่งผิดกฎหมาย ค้ามนุษย์ เข้าในราชอาณาจักร จ่อดำเนินคดีหัวโจ๊กกว่า 10 ราย

กมธ.ความมั่นคง แนะรัฐบาลหาทางช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชายแดน หวั่นเกิดปัญหาเป็นลูกโซ่

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะกรรมาธิการฯ

เริ่มแล้วฤดูกาลเก็บเม็ดกาหยี สร้างรายได้งามให้ชาวสวน คนรับจ้างเก็บบนเกาะพระทอง

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บ้านท่าแป๊ะโย้ย ม.2 ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเม็ดกาหยี หรือเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ แหล่งใหญ่ในจังหวัดพังงา พบกับคุณยายนางโบ่ย แซ่เอียบ อายุ 78 ปี เกษตรกรเจ้าของสวนกาหยีแปลงใหญ่บนเกาะพระทอง

งดงาม ต้นหูกวางสีแดงริมชายหาด 'เกาะละวะใหญ่' เพชรเม็ดงามแห่งอ่าวพังงา

เกาะละวะใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา มีธรรมชาติที่ยังคงความสมบูรณ์และเป็นจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ นักท่องเที่ยวสามารถเพลิดเพลินกับชายหาดที่สวยงาม น้ำ