"มีชัย ฤชุพันธุ์" แนะช่องช่วยเหลือคนเฒ่าไร้สัญชาติ หลายฝ่ายหวั่นผู้สูงอายุทนรอไม่ไหว กระบวนการล่าช้าค้างเติ่งอยู่ส่วนกลาง ยุคโควิดยิ่งลำบากเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยา
29 พ.ย.2564 - นางเตือนใจ ดีเทศน์ หรือ “ครูแดง” กรรมการและผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) อดีตวุฒิสมาชิก จ.เชียงราย เปิดเผยว่าได้ติดตามการแก้ปัญหาสถานะบุคคลของผู้เฒ่าไร้สัญชาติ กรณีแปลงสัญชาติชาวเขาและชนกลุ่มน้อย กรณีศึกษาบ้านป่าคาสุขใจ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย จำนวน 15 ราย เป็นชาติพันธุ์อาข่า ซึ่งได้ผ่านการสอบสัมภาษณ์จากคณะทำงานระดับจังหวัดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ถึงกรมการปกครอง และมีการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองสัญชาติ กระทรวงมหาดไทย ตามมาตรา 25 ของพระราชบัญญัติสัญชาติ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 ขณะนี้เป็นเวลา 3 เดือนแล้วแต่ยังไม่ทราบความคืบหน้า ว่ามีการเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาอนุมัติการแปลงสัญชาติตามมาตรา 12 ของพรบ.สัญชาติแล้วหรือไม่ ซึ่งข้อกังวลคือผู้เฒ่ากลุ่มนี้มีอายุเกิน 70 ปี มีภูมิลำเนาบนแผ่นดินไทยไม่ต่ำกว่า 40 ปี มีความกลมกลืนกับสังคมไทย ลูกหลานล้วนเป็นประชาชนไทย ผู้เฒ่าเหล่านี้ป็นกลุ่มเปราะบาง หลายสิบปีที่ผ่านมาได้ร่วมกันสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศไทย ด้วยการร่วมฟื้นฟูป่าต้นน้ำแม่จัน-แม่สลอง เป็นพื้นที่ป่ากว่า 3,500 ไร่ ในขณะที่เวลานี้แก่ตัวลงกลับยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิความเป็นพลเมืองไทยที่สมบูรณ์ เนื่องจากการแปลงสัญชาติยังไม่สำเร็จ
นางเตือนใจกล่าวว่าจากข้อมูลของสำนักทะเบียนกลาง พบว่ามีผู้สูงอายุที่เป็นชาวเขาและชนกลุ่มน้อย อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป อีกกว่า 110,000 คน ทั่วประเทศไทย ที่มีสิทธิเข้าสู่กระบวนการแปลงสัญชาติ ซึ่งหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เห็นชอบปรับแนวทางประกอบการใช้ดุลยพินิจ เรื่องหลักฐานการมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย โดยใช้หลักฐานการสำรวจทะเบียนราษฎรอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทางการออกได้ เช่น ทร.13 และแก้ไขขั้นตอนในกระบวนการแปลงสัญชาติที่ล่าช้า หลายกรณียื่นเรื่องไปมากกว่า 10 ปี ยังไม่รู้ผล จะสามารถทำให้กลุ่มคนเปราะบางเหล่านี้เข้าถึงสิทธิในการมีสัญชาติ ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และไม่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง
“ในกลุ่มกรณีศึกษานี้ ระหว่างการดำเนินการขอแปลงสัญชาติ มีผู้เฒ่าเสียชีวิตไปแล้ว 2 ราย หลายรายมีอาการเจ็บป่วย แก่ชราลงเรื่อยๆ ความล่าช้าในแต่ละวันหมายถึงโอกาสที่จะสูญเสียไป” นางเตือนใจ กล่าว
อดีตสมาชิกวุฒิสภากล่าวว่า อีกกลุ่มกรณีศึกษา คือผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ชาวกะเหรี่ยง บ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ อายุ 70-80 ปี เช่นกัน เป็นกลุ่มชาวเขาดั้งเดิม อยู่ในหมู่บ้านห่างไกล การคมนาคมยากลำบาก ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีหลักฐานว่าได้รับการสำรวจจากทางราชการ แม้ว่าจะเป็นชาวเขาดั้งเดิม เกิดและมีภูมิลำเนาอยู่ใน อ.อมก๋อย มาโดยตลอด เมื่อสอบถามไปยังศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง (เดิม คือ ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา) จ.เชียงใหม่ ทราบมาว่าเอกสารทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน ของกรมประชาสงเคราะห์ ช่วงปี 2528-2530 สูญหายไปทั้งหมดเนื่องจากไฟไหม้และการย้ายสำนักงาน จึงทำให้ผู้เฒ่ากลุ่มนี้ ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎร ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลาง พศ.2543
“ได้วางแผนว่าจะประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยจะขอให้มีการตรวจ DNA กับพี่ ซึ่งมีบัตรประชาชนไทยแล้ว น่าจะเป็นแนวทางที่ดีและใช้เวลาสั้นที่สุด เพราะเวลาของผู้เฒ่าเหล่านี้เหลือไม่มากแล้ว” นางเตือนใจกล่าว
ขณะที่ รศ.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนพร้อมด้วยนางเตือนใจและ ดร.ศิวนุช สร้อยทอง แห่งคลินิกกฎหมาย ได้เดินทางเข้าไปขอคำปรึกษาจากนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดย 1 ในหัวข้อที่ได้ปรึกษาคือปัญหาเรื่องคนเฒ่าไร้สัญชาติที่กระบวนการในการแปลงสัญชาติให้คนกลุ่มนี้มีความล่าช้ามาก และนายมีชัยได้ให้คำแนะนำในหลายประเด็น เช่นให้ติดตามดูว่ามีขั้นตอนใดบ้างที่ใช้เวลามากเกินสมควร
“ท่านเข้าใจปัญหาของผู้เฒ่ากลุ่มนี้มาก เพราะเป็นกลุ่มคนที่เปราะบาง ท่านถามถึงความล่าช้าเกิดจากอะไร และบอกให้เราทำจดหมายถึงอธิบดีกรมการปกครองหรือส่วนราชการ หากมีข้อติดขัดเป็นปัญหาที่กฎหมายก็ให้หารือคณะกรรมการกฤษฎีกา” รศ.พันธุ์ทิพย์ กล่าว
นายอาเจอะ หม่อโปกู่ ผู้ใหญ่บ้านป่าคาสุขใจ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้เฒ่าไร้สัญชาติกลุ่มนี้ยังคงรอฟังความคืบหน้าจากกรมการปกครองและกระทรวงมหาดไทย เพราะทุกวันนี้ต่างไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากภาครัฐเพราะไม่มีบัตรประชาชนโดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดที่ทำให้สภาพความเป็นอยู่ยิ่งยากลำบากมากขึ้นเพราะข้าวของราคาแพงและลูกหลานก็ตกงานทำให้มีรายได้มาจุนเจือคนเฒ่า ถ้าเป็นไปได้อยากวิงวอนให้กระทรวงมหาดไทยเร่งช่วยพิจารณาให้บัตรประชาชนกับคนเฒ่าไร้สัญชาติกลุ่มนี้เพื่อให้สามารถเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือจากภาครัฐ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ครูแดง' ชี้มติ ครม. ลดขั้นตอนให้สัญชาติ 4.8 แสนคน ปฏิรูประบบสถานะบุคคลครั้งสำคัญ
"ครูแดง" ชี้มติ ครม.ลดขั้นตอนให้สัญชาติ 4.8 แสนคน ถือว่าปฎิรูประบบพัฒนาสถานะบุคคล จี้ "สมช.-มท." ออกกฎหมายเร่งช่วยคนเฒ่าไร้สัญชาตินับแสนคนที่กำลังเปราะบาง
'ชาวไทลื้อเชียงราย' วอน มท.1 เร่งช่วยให้สัญชาติไทย ครูแดงแนะตั้งหน่วยเฉพาะกิจดูแล
มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้นำสื่อมวลชนจากส่วนกลางกว่า 10 คนลงพื้นที่ชุมชนชาวไทลื้อบ้านร่มโพธิ์ทอง จังหวัดเชียงราย เพื่อขับเคลื่อนประเด็นผู้เฒ่าไร้สัญชาติภายหลังจากที่ผู้เฒ่ากลุ่มใหญ่ได้ร้องเรียน
ผู้เฒ่าไร้สัญชาติสุดเศร้า ตายก่อนได้บัตรประชาชนนับสิบราย เหตุกระบวนการยังล่าช้า
นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ เลขาธิการ พชภ.และคณะเจ้าหน้าที่ด้านสิทธิ พชภ. ได้จัดเวทีกระบวนการเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพของผู้เฒ่าไร้สัญชา
ไทย-ลาว ร่วมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา
มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.) พร้อมเครือข่ายเด็กกายดี ร่วมกิจกรรมการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567
สส.เชียงราย จี้สอบชายชุดดำทำลายพื้นที่พิธีกรรมหมู่บ้านกะเหรี่ยง ครูแดงชี้ชุมชนดูแลป่าได้ดี
สส.ก้าวไกลจี้เร่งตั้ง กก.สอบข้อเท็จจริงชายชุดดำทำลายพื้นที่พิธีกรรมหมู่บ้านกะเหรี่ยงห้วยหินลาดใน “ครูแดง” การันตีเป็นชุมชนที่ดูแลป่าเป็นอย่างดี-เชิญ รมว.ทส.ลงพื้นที่
44 ผู้เฒ่าบนดอย ปลื้มได้ถ่ายบัตรประชาชน อีกนับหมื่นรอความหวังเป็นคนไทย
นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการที่ปรึกษาและผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา เปิดเผยว่า ขณะที่กลุ่มผู้เฒ่าในจังหวัดเชียงรายอีกนับหมื่นคน ต่างรอคอยความหวังที่จะได้เป็นพลเมืองสัญชาติไทยคือกลุ่มที่มีใบสำคัญถิ่นที่