พบตะเกียงทองเหลืองโบราณขนาดใหญ่ที่ใช้ในงานการพระบรมศพรัชกาลที่ 5 ในมัสยิดเก่าแก่เมืองนครศรีธรรมราช เผยเป็นเครื่องสังเค็ดพระราชทานจากล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 หลังการพระบรมศพรัชกาลที่ 5 เสร็จสิ้น เหลือเพียงไม่กี่ดวงในประเทศไทย มีอายุกว่าศตวรรษ บิหล่านขอช่วยบูรณะเป็นของสำคัญประจำมัสยิดให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษา
8 ก.พ.2566 - ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีรายงานว่านักวิชาการท้องถิ่นได้ค้นพบตะเกียงโบราณขนาดใหญ่ ที่ถูกใช้ในการพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ถูกเก็บไว้ในมัสยิดดารุลมุตตากีน หรือมัสยิดท่าเรือ ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าเรือ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นมัสยิดเก่าแก่หลายชั่วอายุคน ถูกบูรณะสร้างขึ้นใหม่ตามยุคสมัย
ส่วนตะเกียงดวงนี้ได้ถูกเก็บไว้ในมัสยิดแห่งนี้กว่า 100 ปี โดยที่คนรุ่นหลังไม่ได้ทราบถึงความสำคัญ จนกระทั่งนายสามารถ สาเร็ม นักวิชาการประวัติศาสตร์มุสลิมภาคใต้ เป็นผู้ค้นพบตะเกียงนี้เป็นคนแรกและนำข้อมูลไปศึกษา
ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อกับนายอาซาน บุญเกษม อายุ 65 ปี บิหล่านประจำมัสยิด ได้นำไปชมตะเกียงดวงนี้ซึ่งถูกเก็บไว้ในตู้ไม้มิดชิด พบว่าเป็นตะเกียงโลหะขนาดใหญ่ทำจากทองเหลืองกรอบดุนลายใบไม้อย่างงดงาม มีกระจกกันลมสีเขียว หลอมโบราณ ภายในมีจานใส้ตะเกียง ด้านข้างมีแผ่นทองเหลืองยึดหมุดติดกับตัวตะเกียงข้อความว่า “พระราชทานในงานพระบรมศพ ร.ศ.๑๒๙” และยังพบตุ้มเหล็ก 2 ลูก มีลวดลายงดงามแต่ถูกสนิมกัดกร่อน ส่วนโซ่สำหรับแขวนตะเกียงยังอยู่ในระหว่างการสืบค้นหา
สำหรับตะเกียงดวงนี้ทั้งอิหม่าม คอเต็ป บิหล่านประจำมัสยิด รวมทั้งผู้เฒ่าของมัสยิดต่างยืนยันว่าเมื่อจำความได้และเข้ามาประกอบศาสนกิจนั้นตะเกียงดวงนี้อยู่ที่มัสยิดอยู่แล้ว โดยถูกวางอยู่ใกล้กับแท่นมิมบัรของมัสยิด ภายหลังได้ถูกเคลื่อนย้ายมาเก็บไว้ในตู้
นายอาซาน บุญเกษม บิหล่าน เปิดเผยว่าเพิ่งทราบจริงๆว่าสิ่งนี้คือของสำคัญมากๆมีการใช้ในการพระบรมศพรัชกาลที่ 5 ที่มาอยู่ที่นี่อยากร้องขอให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยบูรณะให้เหมือนดังเดิม จะได้นำมาประดับไว้ที่มัสยิดไว้เป็นของสำคัญให้เยาวชนคนรุ่นหลังได้รู้จักได้ศึกษา
ขณะที่นายสามารถ สาเร็ม นักวิชาการประวัติศาสตร์มุสลิมภาคใต้ ระบุว่าตะเกียงนี้ถูกใช้งานในพลับพลาการพิธีพระบรมศพรัชกาลที่ 5 และมีหลักฐานภาพที่ปรากฏในสมัยนั้นอย่างชัดเจน ซึ่งปัจจุบันนั้นในภาคใต้พบเพียง 2 แห่งคือที่สงขลา 1 แห่ง และที่นี่อีก 1 แห่ง ตะเกียงนี้เป็นเครื่องสังเค็ดพระราชทานจากล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ภายหลังจากการพระบรมศพรัชกาลที่ 5 เสร็จสิ้น เครื่องใช้ต่างๆถูกส่งไปยังที่สำคัญๆทั่วประเทศ การมีอยู่ของตะเกียงในมัสยิดเก่าแก่ที่นี่ เป็นเครื่องยืนยันของความสัมพันธ์ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย กับคนไทยทุกศาสนาไม่มีเว้น หลังจากนี้อยากขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเชี่ยวชาญในการดูแลวัตถุโบราณนำไปบูรณะเพื่อเป็นของสำคัญให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้
สำหรับการพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เมื่อ 16 มีนาคม 2453 หลังจากที่มีพระราชพิธีเสร็จสิ้นแล้ว เครื่องใช้ต่างๆในการพิธี ได้มีการพระราชทานไปตามสถานที่สำคัญของทุกศาสนา ทั่วประเทศแต่หาพบในปัจจุบันได้ยาก หากนับอายุรวมถึงปัจจุบันราว 113 ปีแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รพ.ศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ สานพลัง สสส. ประกาศความร่วมมือเข้มแข็ง ผสานองค์ความรู้-สร้างนวัตกรรมฐานข้อมูล เตรียมพัฒนาหลักสูตรสร้างเสริมสุขภาพ บรรจุในการเรียนการสอน ม.วลัยลักษณ์
ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิชาการ ด้านการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราช
'ในหลวง พระราชินี' ทรงวางพวงมาลา พระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน โดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปทรงวางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โจ๋เมืองคอนสุดเหี้ยม! ยิงแสกหน้าหนุ่มสุรินทร์ ดับคาสวนมังคุด
พ.ต.อ.ประภาส ศรีสังข์จร ผกก. สภ.ลานสกา ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า มีกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรงคล้ายกลิ่นศพ ภายในสวนมังคุด
'นายกต้อย' ไขก๊อก! อบจ.เมืองคอน อ้างเหตุผลสุดอึ้ง
างกนกพร เดชเดโช นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ยื่นหนังสือลาออกแล้วจากการปฏิบัติหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช
คนคอนศรีฯมีหนึ่งเดียว สร้างพลังชุมชนเข้มแข็ง สู่“นครแห่งความสุข”
ระหว่างวันที่ 28-29 ส.ค. 67 ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับ 11 หน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการและเปิดตัวโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรรมราช