เดินหน้าเพิกถอนเอกสารสิทธิ 'เกาะหลีเป๊ะ' มท.สั่งสอบทุกแปลง กมธ.ที่ดินแนะ 8 ข้อ

เดินหน้าใช้ ม.61 ประมวลกฎหมายที่ดินเพิกถอน น.ส.3 ไม่ถูกต้องบนเกาะหลีเป๊ะ มท.สั่งจังหวัดสตูลเร่งดำเนินการโดยเร็ว-ตรวจสอบทุกแปลง ขณะที่ กมธ.ที่ดินช่วยขันน็อตแนะ 8 ข้อ พบพิรุธการออกเอกสารอื้อแถมมีการทำนิติกรรมอำพราง

3 ก.พ.2566 - ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้ากรณีการแก้ไขปัญหาที่ดินและชุมชนชาวอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะ อ.เมือง จ.สตูล ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริง กรณีปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ ที่มีพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.) เป็นประธาน ได้สั่งดำเนินคดีกับเอกชนที่รุกล้ำที่ดินของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา และได้ประสานกรมที่ดินเพื่อให้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ในบางแปลง พร้อมทั้งตรวจสอบ น.ส.3 ทุกแปลง

นายณฐพร โตประยูร ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งให้ทางจังหวัดสตูลตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ตามมาตรา 61 ของประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อเพิกถอน น.ส.3 แปลงที่ 11 เนื่องจากมีผลคำวินิจฉัยของศาลระบุว่าที่ดินแปลงนี้ออกเอกสารโดยไม่ถูกต้อง ซึ่งคาดว่าคงเสร็จสิ้นในเร็ววันนี้

“ก่อนออก น.ส.3 ต้องมีเอกสารรับรองว่าเจ้าของที่ดินแปลงนี้ได้ทำประโยชน์จริงหรือไม่ ถ้าแจ้งการครอบครองไม่ถูก ถือว่าได้มาโดยมิชอบ ตอนนี้ให้ที่ดินจังหวัดตรวจสอบใหม่แล้ว คาดว่าได้ผลเร็วๆนี้ ผมเองจะลงพื้นที่ไปกำกับด้วยตัวเอง เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เราจะตรวจสอบ น.ส.3 บนเกาะหลีเป๊ะทุกแปลง หากพบว่ามีการออกเอกสารโดยมิชอบก็ต้องเพิกถอน เพราะอยากให้ที่ดินตรงนั้นเป็นของชาวเลจริงๆ”นายณฐพร กล่าว

ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า ส่วนเรื่องถนนและลำรางสาธารณะ ก็ได้สั่งการให้มีการพิสูจน์ตามระวางที่ดินไปแล้วเช่นกัน หากพบว่ามีการถมหรือบุกรุกก็จะเพิกถอนเอกสารสิทธิ์นั้นทันที ส่วนกรณีที่ตรวจพบมีโรงแรมและรีสอร์ทกว่า 100 แห่งไม่มีใบอนุญาตนั้น ก็ต้องร่วมกันหาทางออก เพราะคงสั่งให้รื้อทั้งหมดไม่ได้ เพียงแต่ต้องตรวจสอบด้วยว่าโรงแรมหรือรีสอร์ทเหล่านั้นเป็นเจ้าของที่ดินจริงหรือไม่ หรือมีต่างชาติเข้ามาถือครองด้วย หากเป็นเช่นนั้นก็ต้องรื้อ

“เราอยากเห็นเกาะหลีเป๊ะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ไม่ต้องหรูหรา แต่นักท่องเที่ยวได้เข้ามาดูวิถีวัฒนธรรมของชาวเลในพื้นที่ ปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมากถูกทุนหลายชาติครอบงำ ขณะเดียวกันสถานประกอบการเหล่านี้ควรมีบ่อบำบัดน้ำเสีย และมีที่ทิ้งขยะถูกสุขลักษณะ เพราะอย่าลืมว่าชายหาดหลีเป๊ะสวยงามมาก แต่สิ่งปฎิกูลเหล่านี้ขัดกับความสวยงาม เรื่องนี้เป็นนโยบายของผู้ใหญ่ในรัฐบาลที่สั่งการมาด้วย”นายณฐพร กล่าว

ด้านคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ได้ออกรายงานผลการศึกษาเรื่องการแก้ปัญหาออกเอกสารสิทธิที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ โดยระบุว่าตามที่ได้รับหนังสือร้องทุกข์ของ นางสลวย หาญทะเล ราษฎรเกาะหลีเป๊ะ เรื่องขอให้เร่งดำเนินการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะและ กมธ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้แทนกรมที่ดิน ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้แทนจังหวัดสตูล และภาคประชาชน ชี้แจงต่อ กมธ. ผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการ มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

ปัญหาสิทธิที่ดิน ที่อยู่อาศัย และวิถีชีวิตชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ ในการแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) มีชาวเลจำนวนมากไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดิน เพราะความห่างไกล เดินทางลำบาก ความไม่รู้หนังสือ และชาวเลเองไม่ได้มีแนวความคิดในการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงมีเพียง 41 รายเท่านั้น ที่ขอแจ้ง ซึ่งต่อมาได้มอบอำนาจให้กำนันในสมัยนั้น และคนไว้ใจอีกรายหนึ่งยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส. 3) และพบข้อพิรุธการซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินจำนวนหลายแปลง

ในรายงานผลการศึกษาของ กมธ.ระบุว่า ต่อมาเกิดการการบุกรุกขยายที่ดินมากกว่าหลักฐานที่ดินที่เคยครอบครองและทำประโยชน์ เช่น น.ส. 3 เลขที่ 9, 10 และ 11 ไปทับที่ดินของชาวเลกว่า 200 หลัง และมีการฟ้องคดีขับไล่ชาวเลออกจากที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะแปลง น.ส. 3 เลขที่ 11 ซึ่งเป็นแปลงที่เกิดกรณีพิพาทจากการที่เอกชนสร้างรั้วปิดกั้นเส้นทางที่นักเรียนใช้เดินทางไปโรงเรียนรวมไปถึงการบุกรุกลำรางสาธารณประโยชน์ของเอกชนอีกด้วย

ในรายงานของ กมธ.ชุดนี้ได้พิจารณาศึกษาเอกสารข้อมูลผลการตรวจสอบเรื่องที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะของหน่วยงานต่างๆ โดยสรุปผลการพิจารณาศึกษาได้ดังนี้ 1.ปัญหาการออกเอกสารสิทธิที่ดิน พบข้อพิรุธการออก น.ส. 3 และกระบวนการทำนิติกรรมขายที่ดิน เมื่อผู้มีชื่อครอบครอง ส.ค. 1 มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจ ไปขอ น.ส.3 แต่กลับปรากฏว่าที่ดินได้ถูกขายให้กับผู้ที่รับมอบอำนาจในวันเดียวกัน ซึ่งจากการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบว่า มีข้อพิรุธในการจดทะเบียนนิติกรรมการขอออก น.ส.3 โดยการขายที่ดินให้กับผู้รับมอบอำนาจในคำขอออก น.ส.3 โดยมีข้อพิรุธทะเบียนบ้านหรือชื่อบิดามารดาของผู้ยื่นขอออก น.ส.3 ไม่ตรงกับความเป็นจริง และภรรยา หรือบุตร หรือญาติ ยืนยันว่าผู้ยื่นขอออก น.ส. 3 ดังกล่าว มิได้ขายที่ดินให้กับผู้ใด

ขณะเดียวกันมีปัญหาเอกชนบุกรุกขยายที่ดินมากกว่าหลักฐานที่ดินที่เคยครอบครองและทำประโยชน์เกือบทุกแปลง โดยเฉพาะ น.ส.3 เลขที่ 11 ซึ่งเป็นแปลงที่เกิดกรณีพิพาทจากการที่เอกชนสร้างรั้วปิดกั้นเส้นทางที่นักเรียนใช้เดินทางไปโรงเรียนในกรณีล่าสุด และปัญหาการบุกรุกลำรางสาธารณประโยชน์ และการออกเอกสารสิทธิทับเส้นทางสัญจรของเอกชนอีกด้วย

ในรายงานของ กมธ.ระบุว่า พิจารณาแล้วเห็นว่า ที่ผ่านมากรมที่ดินยังมิได้มีการดำเนินการอ่าน แปล วิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ มาใช้ประกอบผลการตรวจสอบความถูกต้องของการออกน.ส. 3 และส.ค.1 รวมถึงการดำเนินการตรวจสอบเกี่ยวกับข้อพิรุธในการจดทะเบียนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินให้กับผู้ได้รับมอบอำนาจ เพื่อขอออก น.ส.3 และการออก น.ส. 3 เกินกว่าหลักฐานเดิมจำนวนมาก รวมถึงการออกเอกสารสิทธิทับพื้นที่สาธารณประโยชน์ของชาวเล ได้แก่ เส้นทางสัญจรของชาวเล ลำรางสาธารณประโยชน์ และสุสานของชาวเล อันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับชาวเลที่อยู่อาศัยมาแต่ดั้งเดิม ต้องสูญเสียสิทธิในที่ดิน และต้องถูกขับไล่ หรือถูกฟ้องร้องคดีจากเอกชนจำนวนมากในปัจจุบัน ดังนั้น กมธ.จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมที่ดิน กรมอุทยานฯ กรมบังคับคดี จังหวัดสตูล และคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงคดีพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ พิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้

1.ตรวจสอบ น.ส.3 ทุกแปลงบนเกาะหลีเป๊ะ โดยเริ่มจากที่ดินแปลงที่มีเนื้อที่เกินกว่าหลักฐานเดิม หรือแปลงมีความขัดแย้งกับชาวเลจำนวนมาก เช่น แปลงที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 10, 11 และ ส.ค.1 เลขที่7 ว่าออกชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเร่งรัดให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว

2. ตรวจสอบ ส.ค.1 ที่ยังมิได้มีการนำไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ว่า มีทิศและตำแหน่งสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ 3 ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินให้กับผู้รับมอบอำนาจเพื่อขอออก น.ส. 3 ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ รวมถึงการออกเอกสารสิทธิทับพื้นที่สาธารณประโยชน์ เช่น ถนนหรือทางสาธารณะ ที่ใช้เป็นเส้นทางสัญจรของชาวเล และปัญหาการบุกรุกลำรางสาธารณประโยชน์ของเอกชน

4. ให้มีการอ่าน แปล วิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายสมควรที่จะใช้ภาพถ่ายทางอากาศที่เก่าที่สุด คือ ภาพถ่ายทางอากาศปี พ.ศ. 2493 เป็นเครื่องมือในการพิสูจน์การครอบครองการใช้ประโยชน์ ประกอบกับหลักฐานอื่น เช่น ผลอาสิน (ต้นมะพร้าว) ประวัติศาสตร์ เป็นต้น

5. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมที่ดิน กรมอุทยานฯ จังหวัดสตูล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ดำเนินการตรวจสอบร่วมกัน โดยเฉพาะการอ่าน แปล วิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อให้ได้ข้อยุติที่ยอมรับร่วมกัน 6. สำหรับที่ดินของรัฐที่ได้คืนมาจากการตรวจสอบเห็นควรนำมาจัดเป็นที่พักอาศัยตามวิถีชีวิตของชาวเล และมีมาตรการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553

7. ให้กรมอุทยานฯ ร่วมกับกรมบังคับคดี เร่งดำเนินการตรวจสอบบังคับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างสำหรับที่ดินที่คดีสิ้นสุดแล้ว รวมทั้งตรวจสอบ บังคับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ครอบครองเกินกว่าเอกสารสิทธิที่ดิน และนำไปจัดให้ชุมชนชาวเลอยู่อาศัย

8. กรมอุทยานแห่งชาติฯ ควรเร่งดำเนินการจัดทำโครงการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ตามความในมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 เพื่อให้ชุมชนชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะได้ประกอบอาชีพทำการประมงได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สส.ปชน.' จับตา 'ทักษิณ-อันวาร์' พบกันกลางทะเลในที่แปลกๆ น่าสนใจคุยอะไรกัน

นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า เกือบจะ 24 ชั่วโมงแล้ว เพจของนายกฯ อันวาร์ยังไม่ได้บอกเล่าเกี่ยวกับการพบปะกลางทะเล

สะพัด! 'ทักษิณ' พบ 'อันวาร์' บนเรือยอชต์ กลางทะเล

เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 09.30-11.30 น. นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และอดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางด้วยเรือยอชต์จากพื้นที่ จ.ภูเก็ต

กมธ.ที่ดิน ลุยตรวจ 'ไร่ภูนับดาว' มุ่งสอบหน่วยงานรัฐ ไม่โยงสาวคนสนิทบิ๊กการเมือง

นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า ที่ประชุมกมธ.ฯ มีมติให้ลงพื้นที่ในการตรวจสอบถึงประเด็นปัญหารีสอร์ท

กมธ.ที่ดินฯ วืดสอบเขากระโดง องค์ประชุมไม่ครบ

กรรมาธิการ(กมธ.)ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดยนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานกมธ. , นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส.ภูเก็ต พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกกมธ

กลุ่มอนุรักษ์ ยื่นกมธ. ค้านสร้างเขื่อนรอบป่ามรดกโลก ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กว่า 10 โครงการ

นายสุธีร์ รัตนมงคลกุล นายกสมาคมพลเมืองนครนายก ร่วมกับกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ ผนึกกำลังตัวแทนภาคประชาชนจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี รวมถึงเครือข่ายนักอนุรักษ์ ยื่นหนังสือต่อ คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทัพเรือภาค 3 ย้ายผู้ป่วยติดเตียง-ผู้สูงอายุ อพยพพื้นที่น้ำท่วมสตูล

ทัพเรือภาคที่ 3 ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจังหวัดสตูล โดนฝนถล่มอย่างหนักหลายวัน ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำได้เริ่มท่วมหลายพื้นที่