22 พ.ย.2564 - ที่ห้องประชุมอำเภอหนองหญ้าปล้อง อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี นายทวิช เที่ยวมาพบสุข ได้เป็นประธานในการประชุมโครงการพัฒนาแนวทางการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน โดยผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย นายอิทธิพล ไทยกมล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นายนริศ บ้านเนิน ผู้แทนมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และตัวแทนชาวบ้านรอบผืนป่าแก่งกระจาน อาทิ บ้านพุน้ำร้อน บ่านท่าเสลา บ้านพุพลู บ้านลิ้นช้าง ชุมชนห้วยกระซู่
ทั้งนี้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ดำเนินโครงการพัฒนาการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและดำเนินการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในกลุ่มป่าแก่งกระจาน โดยการสนับสนุนงบประมาณจากWorld bank ภายใต้โครงการ REDD+ ประเทศไทย โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างความเข้าใจ รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอของชุมชนทั้งในผืนป่าและบริเวณของป่า รวมถึงการทำความเข้าใจเรื่องสิทธิที่ทำกินตาม พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 เพื่อช่วยลดปัญหาความขัดแย้งของชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับป่า ขณะเดียวกันก็รักษาไว้ซึ่งความสมดุลและความหลากหลายทางชีวภาพของผืนป่าแก่งกระจาน
สำหรับประเด็นในการหารือครั้งนี้ มี 3 หัวข้อด้วยกัน คือ 1.ความภาคภูมิ ความโดดเด่นของพื้นที่ 2.ปัญหาที่เกิดขึ้น 3.แนวทางการแก้ไขปัญหาโดยแต่ละชุมชน ได้เสนอปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ และความโดดเด่นของพื้นที่ เช่น ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาแนวเขตเส้นระหว่างเขตป่าสงวนและเขตป่าอุทยาน ปัญหาเส้นแนวเขตอุทยานฯ ปัญหาการถูกดำเนินคดีจาก พรบ.อุทยานฯของชาวบ้านในแต่และชุมชน ปัญหาชาวบ้านที่ไม่เข้าร่วมโครงการฯตาม มติ ครม. 30 มิถุนายน 41 ที่ผ่านพ้นระยะเวลาที่กำหนด 240 วัน ตามมาตรา 64 ของ พรบ.อุทยาน ปี2562
ตัวแทนชาวบ้านได้กล่าวในที่ประชุมว่า ที่ชาวบ้านบางส่วนไม่เข้าร่วมโครงการฯ ตามมติ ครม. 30 มิถุนายน41นั้น เพราะบางรายที่เข้าร่วมโครงการฯ แต่พอทำไร่หมุนเวียน ยังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯจับกุมดำเนินคดี จนทำให้ชาวบ้านไม่กล้าที่จะเข้าร่วมโครงการฯ และชาวบ้านจากชุมชนห้วยกระซู่ บ้านสาริกา บ้านลิ้นช้าง ได้ยื่นขอการจัดการพื้นที่ทำกินดั้งเดิมในรูปแบบแปลงรวม ซึ่งจะไม่มีผู้ใดในชุมชนถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งเป็นของชุมชน และได้ยื่นขอให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานคนที่ก่อน ขอให้ทำการสำรวจร่วมกับชุนชนในรูปแบบแปลงรวมก่อนที่จะครบกำหนดระยะเวลา 240 วัน แต่ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ
นายอิทธิพล ไทยกมล หัวหน้าอุทยานฯกล่าวว่า โดยหลักการ ม.64 วรรคหนึ่ง แห่ง พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 กำหนดให้กรมอุทยานฯ สำรวจการถือครองฯ ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 240 วัน ภายใต้กฎหมาย ข้อระเบียบ มติ ครม. ที่ได้กำหนดหน้าที่และอำนาจของทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯไว้เท่านั้น หนังสือที่ราษฎรยื่นดังกล่าว เป็นการเรัยกร้องตาม มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 เรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยมีกระทรวงวัฒนธรรมฯ เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในขณะนั้น อาจไม่สามารถพิจารณาดำเนินการตามที่เรียกร้องได้ โดยมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 ได้แต่งตั้งคณะทำงานฯระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และวัฒนธรรมจังหวัด เป็นเลขานุการ ซึ่งจะต้องดำเนินการสำรวจ จัดทำข้อมูล เสนอคณะอนุกรรมการ คณะกรรมการฯ คทช. และ ครม.เห็นชอบ ตามลำดับต่อไป แล้วต้องพิจารณาเชื่อมโยงการจัดการพื้นที่ดังกล่าวกับช่องทางกฎหมายที่มีอยู่ต่อไป
นายนิยม เที่ยวพราย ชาวบ้านหนองหญ้าปล้อง ให้สัมภาษณ์ว่าชาวบ้านไม่พอใจตั้งแต่ต้นเพราะมีนัดประชุมอย่างกะทันหันโดยทางอุทยานฯมีหนังสือแจ้งมายังชาวบ้านเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน และให้มาประชุมในวันต่อมา ทำให้ชาวบ้านไม่แน่ใจวัตถุประสงค์ที่แท้จริงว่าอุทยานฯและมูลนิธิสืบนาคะเสถียรต้องการทำเพื่ออะไรกันแน่ หากแจ้งชาวบ้านแต่เนิ่นๆก็จะได้เตรียมการล่วงหน้า โดยอุทยาน-มูลนิธิสืบฯบอกว่าจะเข้ามาตรวจสอบที่ดินแปลงรวมในพื้นที่และจะมีการประชุมอีกครั้ง ส่วนเรื่องคดีความของชาวบ้านทุกพื้นที่ในเขตป่าแก่งกระจาน มูลนิธิสืบฯจะประสานไปที่อุทยานฯเพื่อหาทางช่วยเหลือ
“ชาวบ้านไม่รู้ว่าการประชุมจะได้เรื่องหรือไม่ คงเหมือนกับหลายครั้งที่ประชุมแล้วปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข ครั้งนี้ก็เหมือนเดิม ที่ผ่านมาเราได้ขอรังวัดแปลงรวมแล้วหลายรอบโดยที่อุทยานฯเพิกเฉย จนหมดระยะเวลาที่กำหนด”นายนิยม กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทยติด TOP 8 ประเทศร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผลสำเร็จการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไทย ในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นยกระดับศักยภาพของคนไทยและทุนทาง
สมัครชิง นายกอบจ.เพชรบุรี คึกคัก ‘อดีตนายกอบจ.’ ชน ‘อดีตสส.เพชรบุรี’
วันแรกในการเปิดรับสมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี ระหว่างวันที่ 14-18 ตุลาคม 2567
แปลงใหญ่กล้วยน้ำว้า เพชรบุรี วางแผนกู้วิกฤต
นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร เช่นเดียวกับเกษตรกรแปลงใหญ่กล้วย หมู่ 2,3,6
สปส.มอบสุข ตรวจเยี่ยมและติดตามคุณภาพชีวิตผู้ประกันตนทุพพลภาพ จ. เพชรบุรี
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ลงพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี โดยมี นางวันทนา ณัฐพูลวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม นางรัศมี สุจโต ประกันสังคมจังหวัดเพชรบุรี นางสาวสรันยา สุวรรณวัฒน์