หลายฝ่ายเชื่อแล้งนี้ทหารพม่ารบ KNU หนักแน่ ชุมชนชายแดนสาละวินเตรียมรับมือ สร้างบังเกอร์ให้เด็กนักเรียนหลบภัย จี้ภาครัฐสร้างกลไกช่วยเหลือมนุษยธรรมผู้หนีภัย กสม.ลงพื้นที่พร้อมเสนอแนะเชิงนโยบาย-เผยทูตอียูสนใจ
18 พ.ย.2564 - ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ซึ่งประกอบด้วยนายสุชาติ เศรษฐมาลินี และนางปรีดา คงแป้น ได้ลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อตรวจสอบเรื่องร้องเรียน โดยในวันแรกได้เดินทางไปยังบ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย และบ้านท่าตาฝั่ง อ.แม่สะเรียง เพื่อรับทราบสถานการณ์ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้มีการสู้รบอย่างรุนแรงงานระหว่างทหารพม่าและทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union: KNU) จนทำให้ชาวบ้านนับหมื่นคนต้องหนีตายมาอยู่ในป่าและริมแม่น้ำสาละวิน โดยมีชาวบ้านนับพันคนข้ามมาหลบภัยในฝั่งไทย ที่สำคัญคือความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากฝั่งไทยไม่สามารถเข้าไปถึงกลุ่มผู้หนีภัยการสู้รบเหล่านี้ได้เพราะถูกปิดกั้นจากทหารไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างลงพื้นที่บ้านแม่สามแลบ นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคลจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้พาผู้หญิง 2 รายซึ่งเป็นอาสาสมัครในการนำข้าวของจำเป็นไปบริจาคให้กับชาวบ้านที่หนีภัยการสู้รบ โดยทั้งคู่ได้เล่าถึงความยากลำบากในการหลบหลีกเจ้าหน้าที่ทางการที่ตั้งจุดสกัดโดยต้องใช้เรือลอยไปตามลำน้ำสาละวินเพราะหากติดเครื่องยนต์เจ้าหน้าที่จะได้ยินเสียง บางครั้งต้องเดินขึ้นดอยเพื่อนำข้าวของไปส่งในเวลากลางคืน และต้องทำงานแข่งกับเวลาเพราะผู้ที่อพยพหนีภัยเข้ามามีทั้งทารก เด็ก คนแก่และผู้ป่วยซึ่งต่างไม่มีอาหาร
“ถ้าช่วยเหลือพวกเขาได้ เราก็อยากช่วยเพราะเป็นเหมือนพี่น้องกัน เด็กๆบางคนไม่เคยได้กินขนม พอพวกเราเอาไปให้เขาดีใจมาก บางครั้งเราต้องขนไปที่ละนิดในตอนเช้าๆเพราะไม่อยากให้เจ้าหน้าที่ผิดสังเกต” จิตอาสาคู่นี้ กล่าว
ขณะที่นายสันติพงษ์กล่าวว่า ในช่วงที่มีการอพยพมาอยู่ฝั่งไทยนั้น แม้มีความพยายามประสานไปยังจังหวัดและสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อสร้างกลไกในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในช่วงทางต่างๆ ทั้งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด และผ่านสภาการชาดไทย แต่สุดท้ายไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรและต้องกลับมาใช้อาสาสมัครที่เป็นชาวบ้านช่วยกันขนของบริจาคเข้าไป ทำให้อาหารถึงมือผู้ที่อพยพหนีภัยเข้ามา
“เราควรหาแนวทางในการจัดการกันใหม่ เพราะเชื่อว่าในช่วงแล้งนี้จะเกิดการสู้รบขึ้นอีก ควรมีการเตรียมพื้นที่ปลอดภัยไว้หลายๆจุด และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปได้โดยสะดวก” นายสันติพงษ์ กล่าว
หลังจากนั้นคณะ กสม.ได้ล่องเรือเดินทางไปยังหมู่บ้านท่าตาฝั่ง ซึ่งเป็นหมู่บ้านได้รับความเดือดร้อนจากการสู้รบเนื่องจากฝั่งตรงกันข้ามเป็นฐานทหารพม่าซึ่ง KNU ต้องการขับไล่ให้ออกจากพื้นที่จึงเกิดการปะทะกันหลายระลอกโดยกองทัพพม่าได้ใช้เครื่องบินรบทิ้งระเบิด ทำให้ชาวบ้านท่าตาฝั่งต้องอพยพหนีไปยังพื้นที่ปลอดภัย โดยคณะกสม.ได้รับฟังข้อมูลจากผู้บังคับกองร้อยทหารพราน ผู้ใหญ่บ้านและผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง
ทั้งนี้นายทรงศักดิ์ จอมแก้วเกล้า ผู้ใหญ่บ้านท่าตาฝั่ง เล่าให้คณะ กสม.ฟังว่า เมื่อมีการสู้รบรุนแรงทำให้มีชาวบ้านอพยพหนีข้ามมาฝั่งไทยซึ่งรู้สึกเห็นใจเพราะเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่พอจะนำข้าวของไปช่วยเหลือก็ถูกสั่งห้าม จนกระทั่งมีลูกปืนใหญ่มาตกหลังหมู่บ้านซึ่งไม่รู้ว่าเป็นของทหารพม่าหรือทหารกะเหรี่ยง แต่โชคดีที่ไม่มีใครบาดเจ็บ
นายทรงศักดิ์กล่าวว่า ช่วงที่เกิดสถานการณ์ มีผู้อพยพจากฝั่งกะเหรี่ยงเข้ามาอยู่แถวหมู่บ้านกว่า 100 คนหรือ 22 ครอบครัว แต่อยู่ไม่กี่วันก็ต้องกลับไป การอยู่ในพื้นที่ชายแดนบางครั้งก็ทำใจลำบากเพราะการนำข้าวของไปบริจาคบางครั้งก็ยุ่งยากพอสมควร เรื่องที่ยุ่งยากที่สุดคือเรื่องการวางแผนช่วยเหลือ ผมเชื่อว่าช่วงหน้าแล้งนี้สถานการณ์การสู้รบจะเกิดขึ้นอีกแน่นอน ตอนนี้ทั้งทหารพม่าและทหารกะเหรี่ยงต่างเตรียมพร้อมกันเต็มที่
ขณะที่นนายสายัญ โพธิสุวรรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง กล่าวว่า ขณะนี้ที่โรงเรียนได้ทำบังเกอร์เพื่อให้เด็กๆ ได้หลบภัยหากเกิดสถานการณ์เฉพาะหน้า โดยล่าสุดได้ทำการซ้อมหนีภัยกันอย่างจริงจังเพราะต้องเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ จริงๆแล้วไม่อยากให้เด็กๆ ได้เห็นความรุนแรง แต่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้โดยปัจุบันมีนักเรียนอยู่ 132 คน ซึ่งในจำนวนนี้ 30 คนเป็นเด็กตัวจี อนาคตอยากขยายจากชั้น ป.6 ให้ไปถึงระดับ ม.3 เพราะเด็กๆ จะได้ไม่ต้องเดินทางไปเรียนในเมือง
“มีเด็กที่หนีภัยอยู่รายหนึ่ง เขาต้องว่ายน้ำข้ามแม่น้ำสาละวินมาพร้อมแม่ เขากลัวมากและอยู่ในพื้นที่ต่อไปไม่ได้ ตามแนวชายแดนไม่ใช่มีแต่ปัญหาด้านความมั่นคง แต่ยังมีปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บด้วย แม่บางคนมีอาการน่าตกใจคืออุ้มลูกเล็กๆอยู่ พอได้ยินเสียงระเบิดเขาเผลอโยนลูกเลย โชคดีที่เด็กไม่เป็นอะไร” นายสายัญ กล่าว
ขณะที่นางปรีดากล่าวว่า ได้รับทราบสถานการณ์ชายแดนมากขึ้น เมื่อได้ลงพื้นที่ทำให้เห็นนึกภาพออก หากใครมีข้อเสนอหรือข้อติดขัดอะไรที่ต้องการให้เสนอแนะทางนโยบาย กสม.ก็ยินดีที่จะดำเนินการให้ เพราะเห็นถึงสถานการณ์ยากลำบากของประชาชนในแนวชายแดน
นายสุชาติกล่าวว่า เมื่อไม่กีวันก่อนทูตของสหภาพยุโรป หรืออียู 12 ประเทศได้เข้าพบหารือกับ กสม. โดยเรื่องหนึ่งที่เขาได้ให้ความสนในคือสอบถามเกี่ยวกับการให้ความสำคัญของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยสงครามซึ่งเขาได้ถามว่าประเทศไทยดูแลคนเหล่านี้อย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการสร้างบังเกอร์ไว้ในโรงเรียนท่าตาฝั่งแล้ว ขณะนี้ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้นำกระสอบทรายมาส่งให้ชาวบ้านได้ทำบังเกอร์ไว้อีกหลายจุดเพื่อเป็นจุดหลบภัยในยามคับขัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สนธิญา' ยื่น 'กสม.' สอบ 'ทักษิณ' ละเมิดสิทธิ์ หานักร้องเป็นหมา
ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายสนธิญา สวัสดี เดินทางยื่นหนังสือ พร้อมหลักฐานภาพข่าวการหาเสียงนายก องค์การ
แม่ฮ่องสอน-ตรัง-อยุธยา ติดเทรนด์เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวทั่วโลก
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยข้อมูลแนวโน้มการท่องเที่ยวในประเทศไทยจาก Airbnb แพลตฟอร์มการจองที่พักยอดนิยมใน
'ปภ.' แจ้งเตือน แม่ฮ่องสอน - เชียงราย รับมือน้ำท่วมฉับพลัน
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM แจ้งเตือน รายงานคาดการณ์และแจ้งเตือนภัย ประจำวันที่ 4 มิถุนายน 2567 เวลา 08.00 น.
ชาวสาละวิน ร้อง กสม. หลังถูกอุทยานฯยึดที่ดิน-ดำเนินคดี เรียกค่าเสียหาย 2.3 แสน
ชาวบ้านหมู่บ้านแม่ก๋อน หมู่ที่ 5 ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน กว่า 20 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงซึ่งอาศัยอยู่และทำกินในป่าบริเวณนี้มาก่อนอุทยานแห่งชาติสาละวิน ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ