กสม.จี้ภูเก็ตเร่งแก้ปัญหาชุมชมแออัดเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐาน

กสม.แจงปี 2564-65 มีเรื่องร้องเรียน 5 เรื่อง ปมคนจนเมืองในชุมชนแออัด จ.ภูเก็ต 20 แห่ง เข้าไม่ถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน

10 พ.ย.2565 - นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2564 – 2565 กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวน 5 คำร้อง เกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและการจัดระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้แก่คนจนเมืองในชุมชนแออัด 20 แห่งของจังหวัดภูเก็ต ครอบคลุมประชาชนมากกว่า 2,400 ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่อาศัยและทำกินอยู่บนที่ดินของรัฐ ทำให้มีคู่กรณีเป็นหน่วยงานของรัฐ และต้องประสบปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หลายชุมชนถูกไล่รื้อที่พักอาศัย และไม่สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ถนน สะพานฯลฯ ได้ หรือต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงไฟฟ้าและประปาในอัตราสูงกว่าคนทั่วไปเนื่องด้วยเป็นผู้อาศัยในที่ดินของรัฐชั่วคราว คำร้องทั้งห้านี้จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในที่อยู่อาศัยและสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณะอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน

นายวสันต์กล่าวต่อว่า กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติรับรองให้บุคคลและชุมชนมีสิทธิใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสามารถเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใด ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชนได้ รวมทั้งการจัดให้มีระบบสวัสดิการของชุมชน และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และต้องดูแลมิให้มีการเรียกเก็บค่าบริการจนเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร นอกจากนี้ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ยังได้รับรองสิทธิของทุกคนในเรื่องการมีที่อยู่อาศัยอย่างเพียงพอด้วย ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐภาคีที่จะต้องจัดหาหรือให้ความช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัยแก่ประชาชน ให้มีสิทธิเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยโดยได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายในการที่จะไม่ถูกขับไล่รื้อถอน ขู่เข็ญหรือคุกคามใด ๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนด้อยโอกาสจะต้องได้รับและมีสิทธิเข้าถึงทรัพยากรสำหรับที่อยู่อาศัยที่เพียงพออย่างยั่งยืน

กสม.รายนี้กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบคำร้องหลายกรณีในประเด็นการจัดระบบสาธารณูปโภคให้แก่ประชาชนในชุมชน เห็นว่า ประชาชนในชุมชนซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินของรัฐในจังหวัดภูเก็ตส่วนใหญ่ยังคงไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้ โดยมีสาเหตุมาจากข้อจำกัดในเรื่องที่ดิน ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลพื้นที่ให้สามารถอยู่อาศัยได้เสียก่อน อันเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาว่าประชาชนจะมีสิทธิขอใช้สาธารณูปโภคจากรัฐหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีการขอใช้ไฟฟ้าและน้ำประปา ด้วยเหตุนี้ การเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนจึงยังคงไม่เกิดขึ้นจนกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาอนุญาตหรือจัดการปัญหาข้อพิพาทด้านที่ดินให้เป็นที่ยุติ ซึ่งต้องเป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ในแต่ละประเภทที่ดิน อีกทั้งต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ แม้จากการตรวจสอบจะพบว่า หลายชุมชนเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เป้าหมายที่อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการจัดที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดภูเก็ต (คทช. จังหวัดภูเก็ต) ได้มีมติอนุญาตให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยได้เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน แต่ในเรื่องของการจัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานก็ยังคงปรากฏข้อจำกัดที่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดภูเก็ต ยังคงยืนยันว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่หวงห้ามของทางราชการอันเกิดจากการเข้าครอบครองโดยไม่มีเอกสารรับรองตามกฎหมาย จึงไม่สามารถบริการจำหน่ายไฟฟ้าให้ได้ตามระเบียบ ประกอบกับเหตุผลเกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้ประชาชนเข้าไปบุกรุกเขตพื้นที่ป่าสงวนหรือป่าไม้ของทางราชการ ทำให้ประชาชนยังคงไม่มีสิทธิขอใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดภูเก็ต ส่วนกรณีของการประปาส่วนภูมิภาค สาขาภูเก็ต แม้จะปรากฏว่าสามารถดำเนินการจัดให้มีบริการน้ำประปาได้ แต่ตามข้อบังคับของการประปาส่วนภูมิภาคได้กำหนดให้มีการเรียกเก็บค่าประกันการใช้น้ำในลักษณะที่แตกต่างกันจากประชาชนผู้ขอใช้น้ำทั่วไป กล่าวคือ ประชาชนที่อยู่อาศัยในที่ดินซึ่งมีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดูแลและมีทะเบียนบ้านชั่วคราว ต้องจ่ายค่าประกันการใช้น้ำในประเภทการใช้น้ำชั่วคราวในอัตราที่สูงกว่าปกติหลายเท่า ประชาชนในชุมชนแออัดของจังหวัดภูเก็ตตามกรณีที่ร้องเรียนมายัง กสม. นี้จึงเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านสิทธิในที่อยู่อาศัย รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่เพียงพอที่จะทำให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งยังถูกจำกัดสิทธิในการเข้าถึงสาธารณูปโภคจากการที่หน่วยงานของรัฐกำหนดให้การได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินโดยการได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐ เป็นเงื่อนไขในการเข้าถึงสาธารณูปโภค จึงเห็นว่า กรณีดังกล่าวมีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าบางคำร้องอันเกี่ยวเนื่องกับการจัดสรรที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและการจัดระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้แก่คนจนเมืองในจังหวัดภูเก็ต จะอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาหรือมีการแก้ไขปัญหาโดยหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่แล้ว หรือเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องคดีอยู่ในศาลหรือศาลมีคำพิพากษาแล้วก็ตาม แต่เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 จึงมีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหา และข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้

1.ข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้จังหวัดภูเก็ตประสานการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคของประชาชนในชุมชนที่มีการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แล้วตามโครงการจัดที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) พร้อมกันนี้ ให้กำหนดมาตรการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ประชาชนในชุมชนที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทหรือการจัดสรรที่ดินด้วย และให้คณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค และการประปาส่วนภูมิภาค พิจารณาแก้ไขปรับปรุงระเบียบข้อบังคับการประปาส่วนภูมิภาคในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าประกันการใช้น้ำจากประชาชนที่อยู่อาศัยในที่ดินซึ่งมีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดูแลและมีทะเบียนบ้านชั่วคราว โดยให้เรียกเก็บในอัตราเดียวกับผู้ขอใช้น้ำทั่วไป เพื่อไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติและเป็นภาระแก่ประชาชนกลุ่มดังกล่าว ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่ที่ได้รับแจ้งรายงานฉบับนี้

2.ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดแนวนโยบายในภาพรวมโดยแยกระหว่างสิทธิในการจัดการที่ดินและสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณะ เพื่อเป็นการอนุญาตให้หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจสามารถจัดทำระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็น ให้แก่ประชาชนในชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของรัฐได้ ในระหว่างการจัดสรรที่ดินหรือแก้ไขปัญหาข้อพิพาท โดยให้เร่งรัดการดำเนินงานในภาพรวมของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ซึ่งคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติรับทราบแนวทางและมอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบแก้ไขปัญหา

และให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เร่งรัดการดำเนินโครงการจัดที่ดินทำกินหรือที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยในภาพรวมทั้งประเทศโดยเร็วและให้ชี้แจงหรือรายงานความคืบหน้าให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ทราบเป็นระยะ และให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จังหวัดภูเก็ต และคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดภูเก็ต (คทช. จังหวัดภูเก็ต) พิจารณาคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนของชุมชนที่มีกรณีพิพาทบางแห่ง โดยคำนึงถึงการบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน และร่วมกันดำเนินการจัดหาพื้นที่แห่งใหม่สำหรับจัดสรรเป็นที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนชุมชนในพื้นที่พิพาท

ทั้งนี้ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต พิจารณาเกี่ยวกับนโยบายขอคืนพื้นที่ซึ่งกำหนดไว้ใช้ประโยชน์ของชุมชนบางแห่งตามคำร้อง โดยคำนึงถึงการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืนด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มาแล้วงานหลัก! อุ๊งอิ๊งเปิดงานแสดงเรือนานาชาติ-ลักซ์ชูรี่ไลฟ์สไตล์

นายกรัฐมนตรีเปิดงาน Thailand International Boat Show ที่จังหวัดภูเก็ตต้อนรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนักลงทุน พร้อมทั้งผลักดันให้ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก

นายกฯ อิ๊งค์สั่งใช้กฎหมายเด็ดขาดจัดการ 'มาเฟีย-ผู้มีอิทธิพล'

นายกฯ นำคณะตรวจราชการภูเก็ต ผู้ว่าฯ ภูเก็ตรายงานเล็งใช้เอไอคุมจราจร ดึงน้ำจากสุราษฎร์ฯ 'อิ๊งค์' เร่งโครงการไหนอนุมัติแล้วต้องจบเร็ว ย้ำปราบผู้มีอิทธิพลให้ปชช.รู้สึกปลอดภัย

'แพทองธาร' ขนคณะลงพื้นที่ภูเก็ตตัดริบบิ้นเปิดงานพิธีแสดงเรือนานาชาติ!

'นายกฯ' ลงพื้นที่ภูเก็ตพรุ่งนี้ ขอแก้ไขปัญหาให้ครบทุกวงจร เพิ่มศักยภาพทุกมิติทั้งท่องเที่ยว ยกเป็นต้นแบบทำให้ได้ทุกจังหวัด

นักท่องเที่ยวต่างชาติ นำกระเช้าขอโทษตำรวจ สภ.กะรน หลังเมาแล้วก่อเรื่องวุ่นวาย

Mr.SIARHEI  ASYCHUK อายุ 39 ปี สัญชาติเบลารุสพร้อมทนายความส่วนตัวนำกระเช้ามอบเพื่อขอโทษกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.กะรน โดยมี พ.ต.อ.คุณเดช ณ หนองคาย ผกก สภ.กะรน พ.ต.ท วิวัฒน์ ชำนาญกิจรองผกก.สภ.กะรน ร่วมรับมอบฯ ณ สภ.กะรน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต