กสม.ซัดละเมิดสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์ในม่อมแจ่ม เพราะจับกุมก่อนตรวจสอบสิทธิครองที่ดิน!

กสม.ชี้กรณีสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 จับกุมดำเนินคดีราษฎรกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทำกินในพื้นที่ม่อนแจ่ม โดยไม่สำรวจสิทธิการครอบครองที่ดิน เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

03 พ.ย.2565 - นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากราษฎรกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ชุมชนม่อนแจ่ม ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ระบุว่า กลุ่มชาติพันธุ์ของตน อาศัยอยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่ก่อนปี 2447 โดยได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินก่อนการประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน และก่อนการประกาศเขตพื้นที่ป่าไม้ถาวร ป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติ โดยประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลักและประกอบอาชีพเสริมโดยการสร้างที่พักรองรับการท่องเที่ยวตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล แต่ในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) ในฐานะผู้ถูกร้องได้เข้าจับกุมดำเนินคดี ทำลายพืชผลอาสินของชาวบ้าน และห้ามชาวบ้านเข้าพื้นที่ประกอบอาชีพ ด้วยข้อพิพาทเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน โดยราษฎรผู้ร้องเห็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์ของตนไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 เรื่อง ผลการเจรจาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรภาคเหนือว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิชั่วคราวก่อนการพิสูจน์สิทธิในที่ทำกินและได้ข้อยุติ

กสม.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและรับฟังข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย รวมทั้งพิจารณาหลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินและการสืบมรดก และการรับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนเป็นหน้าที่ของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 43 (2) โดยรัฐมีหน้าที่ต้องบริหารจัดการให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และจัดให้มีมาตรการกระจายการถือครองที่ดินเพื่อให้ประชาชนสามารถมีที่ทำกินได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

ผลการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงสรุปว่า ชุมชนม่อนแจ่มมีการตั้งถิ่นฐานและอาศัยในพื้นที่มาก่อนการประกาศเป็นเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยปรากฏหลักฐานจากภาพถ่ายทางอากาศในปี 2498 ที่พบร่องรอยการใช้ประโยชน์จำนวน 568 แปลง เนื้อที่ 1,005–1–73 ไร่ ประกอบกับเมื่อปี 2505 ได้มีการตั้งโรงเรียนชายแดนสงเคราะห์ที่ 14 ในพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริมตามมาเมื่อปี 2507 ส่วนการทำประโยชน์ของราษฎรในพื้นที่ม่อนแจ่มเดิมคือการปลูกฝิ่น แต่ต่อมาได้หันมาปลูกพืชอื่นแทนตามแนวพระราชดำริในโครงการหลวงหนองหอย ซึ่งเกษตรกรจำนวน 600 ราย ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการ และเมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2546 โครงการหลวงฯ ได้ดำเนินการสำรวจแปลงที่ดินของสมาชิกเกษตรกรที่ทำกินในพื้นที่จำนวน 800 แปลง เพื่อการยื่นขอใบรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (Good Agricultural Practices: GAP) อย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่าการสำรวจดังกล่าวไม่ถือเป็นการสำรวจการใช้ประโยชน์ในที่ดินของราษฎรทั้งหมดทุกแปลงในพื้นที่ม่อนแจ่มตามที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 กล่าวอ้าง และไม่สามารถอ้างได้ว่ามีการสำรวจการครอบครองแล้ว

สำหรับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ด้านการท่องเที่ยวนั้น เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของจังหวัดภาคเหนือตอนบน ม่อนแจ่มจึงถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ให้ความสำคัญต่อวิถีชีวิตการผลิตดั้งเดิมของชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ ราษฎรชาวม่อนแจ่มจึงประกอบกิจการที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นรายได้เสริม เนื่องจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของครอบครัว โดยมีผู้ประกอบกิจการที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวจำนวน 122 ราย

ต่อมาในช่วงปี 2562 ถึงปี 2563 สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 ได้ดำเนินคดีผู้ประกอบการจำนวน 36 ราย จากปัญหาข้อโต้แย้งเรื่องสิทธิในการครอบครอง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า 32 รายที่ถูกจับกุมดำเนินคดี เป็นราษฎรที่ทำประโยชน์ในพื้นที่ตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยปรากฎตามหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศที่สำรวจการเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าไม้ตั้งแต่ปี 2498 จนถึงปี 2524 ว่ามีร่องรอยการทำประโยชน์ก่อนปี 2541 ซึ่งเป็นปีที่ ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ให้สำรวจการครอบครองที่ดินในเขตป่า ประกอบกับได้มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 ที่ให้ความคุ้มครองชั่วคราวแก่ผู้ที่จะได้รับการสำรวจการถือครองที่ดิน อย่างไรก็ดี ปรากฏว่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 ได้นำข้อมูลการสำรวจเพื่อการยื่นขอใบรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการหลวงหนองหอย มาใช้เป็นข้อมูลการเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าไม้ และจับกุมดำเนินคดีราษฎรรายที่ไม่มีรายชื่อเข้าร่วมการสำรวจ GAP ดังกล่าว โดยมิได้สำรวจการถือครองที่ดินทั้งหมดทุกแปลงที่มีการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ม่อนแจ่มตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เสียก่อน

นอกจากนี้ แม้การฟ้องร้องดำเนินคดีดังกล่าวจะมีขั้นตอนให้ผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานได้ก็ตาม แต่การที่ให้ราษฎรที่ถูกจับกุมดำเนินคดีต้องเป็นฝ่ายแสดงพยานหลักฐานในขั้นตอนการดำเนินคดีนั้น ถือเป็นการสร้างภาระเกินจำเป็นให้แก่ราษฎร การกระทำดังกล่าวจึงส่งผลให้ราษฎรในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถประกอบอาชีพเพื่อการเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัวได้อย่างปกติสุข และอาจไม่สามารถมีมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับตนเองและครอบครัวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ได้ ดังนั้น การกระทำของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 ที่จับกุมดำเนินคดีก่อนการสำรวจการครอบครองที่ดินมีผลเป็นการจำกัดสิทธิในทรัพย์สินของผู้ร้องและราษฎรในพื้นที่จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้องและราษฎรในพื้นที่ม่อนแจ่ม

กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 39/2565 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 จึงเห็นควรมีมาตรการการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้ ให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 ชะลอการดำเนินการตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เช่น การให้ออกจากพื้นที่ การจับกุม รื้อถอนทรัพย์สิน จนกว่ากระบวนการสำรวจการครอบครองที่ดินและพิสูจน์สิทธิในที่ดินจะแล้วเสร็จ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบ

นอกจากนี้ ให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์พื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอยและบริเวณโดยรอบ (ม่อนแจ่มและพื้นที่ใกล้เคียง) เร่งรัดดำเนินการสำรวจการครอบครองที่ดินและพิสูจน์สิทธิในที่ดินในพื้นที่ม่อนแจ่มและพื้นที่ใกล้เคียงให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้กรมป่าไม้ร่วมกับคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติดำเนินการจัดที่ดินให้แก่ราษฎรในพื้นที่ที่ไม่มีที่อยู่อาศัยหรือไม่มีที่ทำกินอื่น โดยให้ราษฎรมีส่วนร่วมและให้จังหวัดเชียงใหม่พิจารณากำหนดมาตรการการช่วยเหลือราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกินด้วย รวมทั้งให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 โครงการหลวงหนองหอย และจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ราษฎรในพื้นที่ องค์กรพัฒนาเอกชน และสถาบันการศึกษาที่มีความรู้ รวมถึงประสบการณ์ในการบริหารจัดการพื้นที่ม่อนแจ่มเร่งรัดดำเนินการจัดทำแผนแม่บท (Master Plan) การบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างราษฎรกับหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นครพนม ตกผลึก จัดงานประเพณีไหลเรือไฟ 67 ยิ่งใหญ่ 11 วัน 11 คืน

นครพนม-ตกผลึก ! งานประเพณีไหลเรือไฟ 67 ยิ่งใหญ่ 11 วัน 11 คืน ลุ้นเลขสลากกาชาด คว้ารถยนต์ 2 คัน แข่งเรือชิงจ้าวลำน้ำโขง กินข้าวพาแลงแยงเรือไฟ

เปิดฉบับเต็ม! รายงานกสม. มัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพ-รพ.ตำรวจ เลือกปฏิบัติช่วยทักษิณ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่อง "การเลือกปฏิบัติและสิทธิของผู้ต้องขัง กรณีร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น" กรณีผู้ร้อง(ปกปิดชื่อ) ผู้ถูกร้อง      เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่ 1โรงพยาบาลตำรวจที่ 2

กสม.แถลงค้าน ปิดศูนย์เรียนรู้เด็กข้ามชาติ ชี้สถานศึกษาในพื้นที่ ยังไม่มีความพร้อม

ตามที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีประกาศปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ บางกุ้ง ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

กสม. ชงแก้กฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม การเป็นข้าราชการตำรวจ

กสม. ชงแก้กฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ ย้ำต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ตามหลัก U=U ไม่เจอ=ไม่แพร่

เมืองโอ่งคึกคัก ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง นายกอบจ.ราชบุรี ‘ปธ.กกต.’ ลงตรวจใกล้ชิด

ประธาน กกต.ลงสังเกตการณ์หน่วยเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี เพื่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและถูกต้องตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ธำรงวินัยทหารเกณฑ์จนตายย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กสม.ร้องเอาผิด!

กสม.ชี้กรณีทหารเกณฑ์วัย 18 ปี ถูกธำรงวินัยจนเสียชีวิต ละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกาย เตรียมส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด - คกก.ป้องกันการทรมานฯ เอาผิดตามกฎหมาย