ชาวกะเหรี่ยงหลายร้อยเดินรณรงค์ในตลาดสะเมิงแสดงพลังปกป้องป่าจิตวิญญาณ-เวทีประชุมรับฟังคึกคัก เตรียมเสนอให้ กก.อุทยานฯกันพื้นที่ป่าชุมชน 2.4 หมื่นไร่ออกจากเขตเตรียมประกาศอุทยานออบขาน
18 ต.ค.2565 - ชาวบ้านชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่กับป่าในหลายหมู่บ้านของ ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ อาทิ หมู่บ้านแม่ลานคำ หมู่บ้านป่าคาใน หลายร้อยคน ได้ร่วมกันเดินรณรงค์ในตลาดสะเมิงเพื่อยืนยันข้อเสนอที่ต้องการให้กันพื้นที่ป่าจิตวิญญาณและป่าชุมชนที่ร่วมกันดูแลมายาวนานจำนวนกว่า 24,500 ไร่ออกจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติออบขาน ก่อนที่จะเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นที่อุทยานฯ จัดขึ้น ณ ที่ว่าการอำเภอสะเมิง
ทั้งนี้การเดินรณรงค์เป็นไปอย่างคึกคักโดยชาวบ้านส่วนใหญ่ได้แต่งชุดชาติพันธ์กะเหรี่ยง ซึ่งทั้งเด็ก สตรี และผู้สูงอายุต่างถือป้ายที่มีเนื้อหาคัดค้านการผนวกพื้นที่ป่าจิตวิญญาณและป่าชุมชนไว้ในเขตอุทยานเพราะจะสร้างความยากลำบากในวิถีประจำวัน โดยระหว่างการเดินรณรงค์แกนนำได้อธิบายเหตุผลต่างๆ ผ่านเครื่องขยายเสียง และเมื่อเดินไปถึงที่ว่าการอำเภอสะเมิง แกนนำยังได้ร่วมกันปราศรัยชี้แจงความต้องการการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน
นายพฤ โอ่โดเชา ชาวบ้านแม่ลานคำ กล่าวว่าแม้จะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นแต่ชาวบ้านกังวลใจว่าจะไม่มีส่วนร่วมที่แท้จริง เพราะข้อเสนอและข้อกังวลต่างๆ ของชาวบ้านจะไม่ถูกบันทึกส่งไปถึงผู้บริหารระดับอธิบดี รัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี
“เราเรียกร้องให้ป่าส่วนนี้เป็นป่าชุมชนมา 30 ปีแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เราหวังว่าเสียงของพวกเราจะไม่หล่นระหว่างทางเพราะเป็นข้อมูลสำคัญ จึงอยากให้ผู้บริหารอุทยานและคณะรัฐมนตรีได้รับทราบ เพราะขั้นตอนตามกฎหมายประกาศอุทยานฯ ไม่มีหลักประกันอะไรว่าเสียงของชาวบ้านจะถูกนำไปพิจารณาในระดับผู้บริหาร อาจแค่นำไปประกอบในกระบวนการ” นายพฤ กล่าว
พะตีตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอจากหมู่บ้านแม่ลานคำ ได้เล่าประวัติการอนุรักษ์ป่าตั้งแต่ยุคสัมปทานป่า โดยระบุว่าหลังยุคสัมปทานได้ประกาศเขตป่าสงวนโดยไม่ได้กันพื้นที่ชาวบ้านทำให้ชาวบ้านอยู่อย่างผิดกฏหมายโดยที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่องอะไรเลย และอยู่ๆ มาอุทยานฯ ก็โผล่มาอีก ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเพื่อให้กันพื้นที่ป่าชุมชนและหมู่บ้านออกจากอุทยานฯ จนกระทั่งได้มีการเดินสำรวจร่วมกับอุทยานฯ เพื่อชี้ให้เห็นป่าจิตวิญญาณที่ชาวบ้านต้องการกันไว้กว่า 300 จุด ซึ่งตอนนั้นอุทยานฯรับปากว่าจะกันพื้นที่ให้ แต่ตอนนี้จู่ๆ ก็จะผนวกเข้าไว้ในอุทยานฯ
นางพะมื่อ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ชาวบ้านแม่ลานคำ กล่าวว่า เราอยู่ป่าก็ต้องหาของป่า เราอยู่บ้านมีเสา บ้านเมืองก็มีขื่อมีแป แต่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ขับรถผ่านไปผ่านมาโดยไม่เห็นหัวเรา เขาจะทำอะไรเราก็ไม่รู้ เขามีอำนาจ ถ้าอยากได้ก็ให้มาคุยกัน ที่เคยเดินแนวเขตก็ขอให้มีความชัดเจน เราไม่อยากให้เขาเข้ามาในแนวเขตของเรา
ขณะที่ตัวแทนเยาวชน กล่าวว่า ชาวบ้านได้ร่วมกันดูแลและจัดการพื้นที่ป่าชุมชน 24,500 ไร่เป็นอย่างดีเห็นได้จากในช่วงไฟป่าจะไม่มีฮอทสปอต (จุดความร้อนจากการเผาไหม้) ในป่าบริเวณนี้ เราต้องการให้บริเวณนี้เป็นพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษหรือโฉนดชุมชน แต่ไม่ต้องการให้เป็นเขตอุทยานฯ
เวลา 13.30 น.ชาวบ้านได้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักอนุรักษ์ที่ 16 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทั้งนี้นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาเชียงราย และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เดินทางมาร่วมรับฟังด้วย ทั้งนี้ปลัดอาวุโส อ.สะเมิง กล่าวเปิดเวทีว่า ชาวบ้านคิดอย่างไรพูดออกมาได้เลยในวันนี้เพราะเป็นการมาแลกเปลี่ยนกันว่าพวกเราจะทำอย่างไร ซึ่งทางราชการจะนำความเห็นของชาวบ้านที่นำเสนอมาไปแจ้ง ดังนั้นหากมีความเห็นใดๆ ขอให้พูดได้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นคำพูดออกไมค์หรือเขียนลงกระดาษ เขารับทั้งหมด วันนี้เป็นวันของท่านแล้ว
ทั้งนี้ในที่ประชุมตัวแทนชาวบ้าน 7 หมู่บ้านต่างอธิบายเหตุผลความจำเป็นที่ต้องกันแนวป่าชุมชนออกจากเขตอุทยานฯโดยเฉพาะพื้นที่ป่า 14,500 ไร่ที่เป็นป่าจิตวิญญาณของชาวบ้าน
น.ส.นิภาพร ไพศาล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติออบขาน กล่าวว่าตั้งแต่เข้ามาทำงานที่อุทยานฯ ด้วยแผนที่เนื้อที่ 147,000 ไร่โดยกำหนดโจทย์ว่าทับที่ทำกินของชาวบ้านหรือไม่ซึ่งได้ทำงานร่วมกับชาวบ้านด้วยการเดินสำรวจในแนวเขตที่ทำกินและเอามาประชุมกันโดยตนได้ไปมาทุกชุมชนที่เกี่ยวข้องและตนไม่มีสิทธิตัดพื้นที่ไหนออกได้ ต้องไปเสนอคณะกรรมการอุทยานฯ โดยในส่วนของแม่ลานคำและป่าคานั้นโดยข้อมูลได้ถูกนำเสนออุทยานฯ ให้กันพื้นที่ออกจากอุทยานฯ เรียบร้อยแล้ว โดยข้อเรียกร้องขอให้กันพื้นที่ 24,500 ไร่ออกจากอุทยานฯนั้น ตนรับทราบและแก้ปัญหาร่วมกันตลอดตั้งแต่ปี 2560 ได้มีการจัดประชุมและตั้งคณะกรรมการระดับอำเภอให้มีการเดินสำรวจร่วมกัน
น.ส.นิภาพร กล่าวว่า เมื่อ 14 ตุลาคม 2561 ได้ร่วมกันเดินสำรวจโดยได้มีการวางแผนร่วมกัน แต่เมื่อเดินไปได้ระยะหนึ่งมีชาวบ้านอีกพื้นที่หนึ่งบอกว่าทำไมถึงเดินข้ามแม่น้ำขาน ทำให้นายอำเภอกลัวปัญหาชุมชนขัดแย้งกันจึงยุติการเดินสำรวจ และจัดประชุม 2 หมู่บ้านแต่ไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งคณะกรรมการชุดเล็กแก้ไม่ได้จึงเข้าสู่คณะกรรมการชุดใหญ่และไปเดินอีกรอบ แต่ก็ยังตกลงกันไม่ได้เพราะชุมชนต้องการให้เดินเป็นรายแปลงเพื่อกันออกจากแนวเขต แต่ชาวบ้านบอกว่าต้องการให้กัน 24,500 ไร่ การทำงานจึงไม่สำเร็จและนายอำเภอบอกให้เสนอให้เป็นการทำงานระดับกรมเป็นคนตัดสิน
“ตอนนี้เมื่อกันพื้นที่บางส่วนออกแล้ว ทำให้พื้นที่ที่จะประกาศเขตอุทยานฯ ลดลง การประกาศเขตอุทยานฯเพราะต้องการรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้และช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ และชั้น 2 และมีพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม” น.ส.นิภาพร กล่าว
น.ส.นิภาพรกล่าวว่าพื้นที่ทั้งหมดที่เตรียมประกาศอุทยานฯ ได้กันพื้นที่ทำกินของชาวบ้านออกหมดแล้ว และยังมีป่าสมบูรณ์ที่กันไว้แล้วที่ประชาชนยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ อย่างไรก็ตามความคิดเห็นของประชาชนยังสำคัญและยืนยันว่าทุกความคิดเห็นจะนำเสนอไปยังผู้บังคับบัญชาและคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ
ขณะที่สหพันสธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) ออกแถลงการณ์แสดงความ ไม่เห็นด้วยกับการเตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติออบขานทับพื้นที่ชุมชนบ้านแม่ลานคำ และบ้านป่าคาเนื่องจากเห็นว่ากฎหมายป่าอนุรักษ์สร้างข้อจำกัดและความเปราะบางให้กับสิทธิชุมชนในพื้นที่ป่า การบังคับใช้กฎหมายในอดีตไม่ต่างจากการบีบบังคับไล่ชุมชนดั้งเดิมออกจากป่า บั่นทอนวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั่งเดิมของชุมชนหายไป
ด้านนางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเดินทางมาร่วมสังเกตการประชุมในครั้งนี้กล่าวว่า ได้รับการเชิญชวนจากพะตีตาแยะ ผู้นำจิตวิญญาณแห่งบ้านสบลานขอให้ช่วยมาเป็นกำลังใจแก่ชาวบ้าน ภาพที่เห็นคือชาวบ้านมากันเต็มลานหน้าที่ว่าการอำเภอสะเมิง ราว 300 คน ทั้งเยาวชนผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกเทศบาลตำบล สรุปได้ว่าพลังความสามัคคีของชาวบ้านก่อให้เกิดความสำเร็จ ในการเจรจาวันนี้ 3 ประการคือ 1 คณะทำงานรับฟังความเห็นจะนำเสนอให้กันพื้นที่ 24,513 ไร่ออกจากเขตอุทยานตามที่ชาวบ้านเรียกร้องเพื่อดำรงวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกับป่ามาช้านานให้คงอยู่ต่อไป 2 การมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลรักษาป่า จะเป็นหลักการสำคัญในการดำเนินการของทุกอุทยาน 3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะไม่ถูกปิดกั้นเพื่อให้คุณภาพชีวิตของประชาชนไม่ถูกจำกัดมากเกินไป ทั้งนี้จะมีการสื่อสารกับทีมนักวิชาการที่ดำเนินการรับฟังความเห็นว่าสรุปสาระตรงกับข้อเสนอของชาวบ้านหรือไม่ และผู้บริหารระดับสูงจะนำไปปฏิบัติจริงหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ทักษิณ' ยันไม่ยุบ! รัฐบาลพ่อเลี้ยงอยู่ครบเทอม ปีหน้าม่วนแน่ จบทุกปัญหา เชียงใหม่จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
ที่ตลาดภูสุวรรณ ต.มะขามหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีปราศรัยช่วยนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร
'ทักษิณ' ถึงเชียงใหม่ ช่วยหาเสียงนายก อบจ. 'สว.ก๊อง' คึกมั่นใจชนะล้านเปอร์เซ็นต์
'ทักษิณ' ถึงเชียงใหม่ 'เจ๊แดง-สมชาย-พิชัย' ต้อนรับ แวะกินก๋วยเตี๋ยวร้านมิชเชอร์ลิน 7 ปีซ้อน ก่อนช่วงเย็นขึ้นปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก อบจ. 'สว.ก๊อง' ลั่นมั่นใจล้านเปอร์เซ็นต์
พรรคส้มดาวกระจาย สู้ศึกอบจ. ‘พิธา’ ชน ‘ทักษิณ’ ตรง ‘ประตูท่าแพ-ตลาดวโรรส’ จันทร์นี้
พรรคประชาชน(ปชน.)เตรียมตัวส่งผู้สมัครนายก อบจ.ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ในวันที่ 23 ธ.ค. โดยส่งระดับแกนนำและผู้ช่วยหาเสียงที่เป็นผู้นำจิตวิญญาณลงประกบตามพื้นที่ต่างๆ
สิงห์อาสา ร่วมกับ ม.เชียงใหม่ ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตรวจสุขภาพ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ต่อเนื่องเป็นปีที่ 37 โดยได้ลงพื้นที่แรกที่อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ร่วมกับ 3 มหาวิทยาลัย 7 คณะทางการแพทย์ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์, คณะทันตแพทยศาสตร์, คณะเทคนิคการแพทย์ ม.เชียงใหม่