17 ต.ค. 2565 – ผู้สื่อข่าวจังหวัดภูเก็ตรายงานว่า เมื่อเวลา 22.00 น. วันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พลเรือโท อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 เป็นประธานการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มจังหวัดภูเก็ตครั้งที่ 2/2565 โดยมีนายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์, นายอานุภาพ รอดขวัญ ยอดระบำ, นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมมุขหน้าชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต
นายอุดมพร กาญจน์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ด้วยเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2565 เวลาประมาณ 03.00 น. ได้เกิดสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังเส้นทางจราจร และบ้านเรือนประชาชน ในพื้นที่อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและได้รับผลกระทบจำนวน 3 อำเภอ 16 ตำบล 80 ชุมชน/หมู่บ้าน 6,080 คน 1,850 ครัวเรือน ไม่มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต
ถนนได้รับความเสียหาย จำนวน 5 สาย สะพานได้รับความเสียหายจำนวน 3 แห่ง ระบบไฟฟ้าและประปาได้รับผลกระทบจากการสไลด์ของดิน แยกเป็น อำเภอถลาง ได้รับผลกระทบ 6 ตำบล 29 ชุมชน/หมู่บ้าน 950 ครัวเรือน 2,800 คน อำเภอกะทู้ ได้รับผลกระทบ 3 ตำบล 11 ชุมชน/หมู่บ้าน 100 ครัวเรือน 280 คน และ อำเภอเมืองภูเก็ต ได้รับผลกระทบ 7 ตำบล 40 ชุมชน/หมู่บ้าน 800 ครัวเรือน 3,000 คน
แนวโน้มสถานการณ์ อยู่ระหว่างเฝ้าระวังสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่ ได้ระดมบุคลากรและทรัพยากรในการให้ความช่วยเหลือ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสั่งการให้เจ้าหน้าที่งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนำเครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ เข้าระบายน้ำในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ปิดกั้นเส้นทางจราจรที่ซำรุด และฉีดล้างบ้านเรือนประชาชน นายอำเภอได้ลงพื้นที่เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมจัดกำลังอาสารักษาดินแดน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จิตอาสา ช่วยเหลือประชาชน
ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยวาตภัย และดินโคลนถล่ม จังหวัดภูเก็ตขึ้น ณ ห้องประชุมสำนักงาน ปภ.จังหวัดภูเก็ต ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต พร้อมทั้งจัดประชุมคณะทำงานตามคำสั่งศูนย์บัญชาการฯ เพื่อบูรณาการประสานความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา
โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ลงพื้นที่ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอุทกภัย และดินสไลด์ทับเส้นทางจราจร พร้อมสนับสนุนรถแบ็คโฮ 3คัน เครื่องสูบน้ำ 3 เครื่อง รถ JCB 1 คัน รถบรรทุกยกสูง 4 คัน เจ้าหน้าที่ 20 คน และจัดตั้งโรงครัวของ อบจ.ภูเก็ต ณ ศาลาประชาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต
พร้อมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์พักพิง จำนวน 4 จุด คือ จุดที่ 1 วัดเทพกระษัตรี (บ้านดอน) อบต.เทพกระษัตรี โทร 076274573 จุดที่ 2 อาคารเอนกประสงค์ อบต.กมลา โทร 076385789 จุดที่3 โรงเรียนเทศบาล 2 (อาคารโดม) บ้านกะทู้ เทศบาลเมืองกะทู้ โทร 076322121 และ076322122 และจุดที่ 4 โรงเรียนเทศบาลพิบูลสวัสดี เทศบาลนครภูเก็ต โทร. 076211111 โทร. 199หรือสายด่วนเทศบาลนครภูเก็ต โทร. 1132
ด้าน นายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตได้ประสานกับ รพ.สต.ศรีสุนทร จัดทำข้อมูลรายชื่อผู้ป่วยติดเตียงและย้ายผู้ป่วยเข้าสู่โรงพยาบาลถลางจำนวน 1 ราย สำหรับผู้สูงอายุได้ย้ายไปยังศูนย์พักพิงโดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปดูแลอย่างใกล้ชิด
ผู้แทนชลประทานจังหวัดภูเก็ตรายงานข้อมูลสถานการณ์น้ำและผลกระทบในพื้นที่อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ มีดินสไลด์ 6 จุดทำให้รถยนต์ไม่สามารถสัญจรได้ เจ้าหน้าที่จะเร่งแก้ไขในวันที่ 17 ตุลาคม 2565 พบว่าในวันที่ 15 – 16 ตุลาคม 2565 บริเวณอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำสามารถวัดปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาได้ถึง 230 มิลลิเมตร ทำให้ระดับน้ำล้นอ่างเก็บน้ำ โดยยืนยันว่าทางชลประทานฯไม่ได้ปล่อยน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ
ผู้แทนผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคภูเก็ต รายงานสถานการณ์ผลกระทบที่ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าดับ โดยพบว่าในพื้นที่ตำบลกมลาอำเภอกะทู้เสาไฟฟ้าขนาด 115 kv ล้มจำนวน 9 ต้น ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกระแสไฟฟ้าดับรวม 6,000 ครัวเรือน โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดภูเก็ตได้ดำเนินการแก้ไขให้ประชาชนสามารถใช้ไฟได้แล้วเมื่อเวลา ประมาณ 21.00 น. สำหรับการซ่อมแซมเสาไฟฟ้าขนาด 115 kv ทั้ง 9 ต้นคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 วันโดยได้ประสานบูรณาการทีมช่างจากจังหวัดนครศรีธรรมราชเข้ามาช่วยเหลือ จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ พบว่าหากเกิดสถานการณ์น้ำท่วม และน้ำมีระดับน้ำสูงมากกว่า 40 เซนติเมตร การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำเป็นจะต้องตัดกระแสไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่
หากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทุกพื้นที่ในจังหวัดภูเก็ตต้องการขอรับความช่วยเหลือ สามารถแจ้งศูนย์ป้องกันและบรรเทาธารณภัย จ.ภูเก็ต (ปภ.)1784 หรือ076510098ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ตรับแจ้งเหตุ ขอความช่วยเหลือสถานการณ์ “น้ำท่วม” โทร 1567 ฟรี
นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ร่วมเป็นจิตอาสา ร่วมกิจกรรม ภูเก็ตรวมพล Big Cleaning และเคลื่อนย้ายสิ่งของช่วยเหลือประชาชนหลังสถานการณ์น้ำคลี่คลาย กำหนดรวมพลในวันที่ 17 ตุลาคม 2565 เวลาประมาณ 09.00 น. ณ ลานมังกรเทศบาลนครภูเก็ตเพื่อปล่อยขบวนจิตอาสาไปช่วยเหลือประชาชนในการเคลื่อนย้ายสิ่งของที่ชำรุดที่เสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมและทำความสะอาดบ้านเรือนประชาชนที่ประสบภัย และขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารพยากรณ์อากาศอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าสถานการณ์ฝนตกยังคงมีไปจนถึงวันที่ 22 ตุลาคม 2565
ทั้งนี้ พื้นที่ต่างๆ ที่ถูกน้ำท่วม ในตัวเมืองภูเก็ต สถานการณ์เริ่มกลับเข้าสู่ปกติ แล้วเมื่อคืนที่ผ่านมา สำหรับเช้าวันที่ 17 ตุลาคม 2565 ท้องฟ้ามืดครึ้ม ฝนตกลงมาเป็นระยะ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศปช. ส่งจนท.-เครื่องจักร เร่งช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อุทกภัย 3 จังหวัดใต้
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ในฐานะโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรง
ผอ.ศปช. สั่งเกาะติดฝนถล่มภาคใต้สัปดาห์นี้ เสี่ยงวาตภัยน้ำท่วมฉับพลันใน 10 จังหวัด
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า หลังวานนี้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อ.เมือง และ ศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง
โฆษกศปช. เผยกรณี 'น้ำผุด' อ.เชียงดาว มอบหน่วยงานลงพื้นที่ศึกษาแนวทางใช้ประโยชน์
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า ตามที่ ศปช. ได้เคยประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกหนักในพื้นที่ระหว่างวันที่ 20-24 พ.ย.ไปแล้วก่อนหน้านี้
จิตอาสาร่วมใจ แพ็กของส่งต่อกิจกรรม “หนาวนี้ทำดีเพื่อพ่อ”
วันนี้ (18 พ.ย. 67) นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ ได้ร่วมกับพลโทนายแพทย์อำนาจ บาลี ผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย และจิตอาสาอีกหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และเอกชน ร่วมกันแพ็กของอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ทั้ง ผ้าห่ม เสื้อกันหนาว ชุดวอร์ม น้ำดื่ม วอล์คเกอร์ และของใช้ในชีวิตประจำวัน