เนรมิตบ้านร่องกล้า เป็นดินแดนซากุระ แลนด์มาร์คท่องเที่ยวฤดูหนาว

พิษณุโลก  ชาวเขาเผ่าม้งบ้านร่องกล้าร่วมกับภาคเอกชนท่องเที่ยว ปลูกต้นซากุระญี่ปุ่นสร้างแลนด์มาร์คท่องเที่ยวรับฤดูหนาวในอีก 2 ปี 

16 ต.ค.2565 –  นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก  พร้อม นางศศิวัณย์ ศรีพรหม ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก และนายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดพิษณุโลก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก    ส่วนราชการ เอกชน นักศึกษา และชาวไทยเผ่าม้งบ้านร่องกล้ากว่า 100 คน  ได้ร่วมกันปลูกต้นซากุระญี่ปุ่น จำนวน 300 ต้น  พื้นที่ 5 ไร่ ที่ ป่าเนินเพิ่ม ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว จุดแลนด์มาร์คใหม่ให้กับพื้นที่และสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ แก่ชาวไทยม้งบ้านร่องกล้าในอนาคต โดยบรรยากาศงานได้มีเด็กนักเรียนมาเต้นรำทำแสดงอย่างสนุกสนาน ก่อนร่วมกันเปิดโครงการและร่วมกันปลูกต้นซากุระญี่ปุ่นอย่างพร้อมเพียง

นายภูสิต  เปิดเผยว่า ในวันนี้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนชาวเขาเผ่าม้ง ได้พร้อมในกันปลูกต้นซากุระญี่ปุ่น จำนวน 300 ต้น  บนพื้นที่ 5 ไร่ ซึ่งจุดดังกล่าวเป็นพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,000-1,500 เมตร และจากสภาพพื้นที่อยู่ร่องเขาภูขวางตะวัน ส่งผลทำให้สภาพอากาศบริเวณนี้หนาวเย็น เป็นจุดแข็งของพื้นที่ที่สามารถพัฒนาบ้านร่องกล้าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาว แต่เนื่องจากพื้นที่อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ ซึ่งกรมป่าไม้ได้อนุญาตให้มีการพัฒนาเสริมจุดแข็งทางการท่องเที่ยวเที่ยว บริเวณนี้เป็นจุดแลนด์มาร์คของหมู่บ้านอีกจุดหนึ่ง เป็นจุดปลูกซากุระญี่ปุ่น  ซึ่งเรื่องนี้มีการทำประชาคม คนในหมู่บ้านร่องกล้าเห็นด้วยในการปลูกซากุระญี่ปุ่นเป็นจุดท่องเที่ยวในอนาคต

ด้านนางศศิวัณย์ ศรีพรหม ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก และนายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดพิษณุโลก  กล่าวว่า ทาง สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลกและสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับ กลุ่มวิสาหกิจปลูกซากุระญี่ปุ่นบ้านร่องกล้า ดำเนินการโครงการปลูกซากุระญี่ปุ่นแบบประชาอาสา   บ้านร่องกล้า ต. เนินเพิ่ม อ. นครไทย จ.พิษณุโลกโดยจะปลูกต้นซากุระญี่ปุ่น จำนวน 300 ต้น ในพื้นที่ 5 ไร่ ณ ป่าเนินเพิ่ม ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและยกระดับการสร้างรายได้และบริการท่องเที่ยวให้กับชุมชน

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 อธิบดีกรมป่าไม้ ได้ลงนามในประกาศกรมป่าไม้ ฉบับที่ 54/2565 กำหนดให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดพิษณุโลก อบต.เนินเพิ่ม และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนซากุระญี่ปุ่นบ้านร่องกล้า สามารถปลูกต้นซากุระญี่ปุ่น จำนวน 300 ต้น ในพื้นที่ 5 ไร่  ที่ป่าเนินเพิ่ม ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก

ซึ่งในพื้นที่ชุมชนบ้านร่องกล้า เป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์(ชาวไทยภูเขาชาวม้ง) ที่อยู่ห่างไกลมีความทุรกันดารและยากจน ขาดแคลนที่ทำกินและขาดความรู้ในการเกษตรกรรมและประกอบอาชีพ จึงทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนของตนเองได้ ทางสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลกและสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดพิษณุโลกจึงได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการและสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนซากุระญี่ปุ่นบ้านร่องกล้า จำนวน 240 คน และร่วมวางแผนการบริหารจัดการพื้นที่ปลูกต้นซากุระญี่ปุ่น โดยจะได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิโครงการหลวงดอยอ่างขาง ที่จะมาเป็นพี่เลี้ยงดูแลและพัฒนาให้ต้นซากุระเติบโตออกดอกสวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีแก่ชาวบ้าน กลุ่มวิสาหกิจปลูกซากุระฯญี่ปุ่นบ้านร่องกล้า

นางศศิวัณย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังจะได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้และพัฒนาการปลูกซากุระญี่ปุ่นในพื้นที่บ้านร่องกล้า เพื่อเพิ่มและสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ให้เกิดขึ้นในชุมชน ช่วยยกระดับการสร้างรายได้และบริการท่องเที่ยวให้กับชุมชน ซึ่งคาดว่า หากทำการปลูกแล้วประมาณ 2 ปี ดอกซากุระญี่ปุ่นจะเบ่งบานสวยงามที่บ้านร่องกล้าจะออกดอกสีชมพูเบ่งบานเป็นจำนวนมากในฤดูหนาว ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าม้งที่มีอากาศเย็นสบายตลอดปี จะได้รับความสนใจและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงาม หากมองจากมุมสูงทำให้มีบรรยากาศงดงามชวนฝัน และมีทิวทัศน์คล้ายกับหมู่บ้านชนบทของประเทศญี่ปุ่นนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ท่องเที่ยวในชุมชนโดยชุมชนอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมดึงดูดการเดินทางของนักท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างรายได้ และก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกับชุมชนในพื้นที่ของจังหวัดพิษณุโลกอย่างทั่วถึงต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลคาดเที่ยวบินช่วงปีใหม่ทะลุ 1.8 หมื่นเที่ยวบิน

รัฐบาลเตรียมความพร้อมรองรับปริมาณเที่ยวบิน คาดมีเที่ยวบินรวมกว่า 1.8 หมื่นเที่ยวบิน เฉลี่ย  2,611 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้น 14% จากปี 67